นางอองซาน ซูจี มนตรีแห่งรัฐของเมียนมา ออกเดินทางไปกรุงเฮกแล้วเมื่อวันอาทิตย์ เพื่อทำหน้าที่ตัวแทนประเทศต่อสู้คดีในศาลโลก หลังจากโดนแกมเบียยื่นฟ้องเมื่อเดือนที่แล้ว กล่าวหาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวมุสลิมโรฮีนจา
แฟ้มภาพ ป้ายข้อความสนับสนุนนางอองซาน ซูจี / AFP
รายงานรอยเตอร์และเอเอฟพีเมื่อวันอาทิตย์ที่ 8 ธันวาคม 2562 กล่าวว่า นางอองซาน ซูจี ผู้นำเมียนมาโดยพฤตินัยและเคยได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ สร้างความประหลาดใจเมื่อนางประกาศจะเดินทางมาต่อสู้ข้อกล่าวหานี้ที่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ไอซีเจ/ศาลโลก) ในกรุงเฮกประเทศเนเธอร์แลนด์ด้วยตนเอง ทั้งที่เสี่ยงจะทำให้ชื่อเสียงของนางในสายตาชาวโลกเป็นลบยิ่งขึ้นจากเดิมที่แย่อยู่แล้ว
รอยเตอร์กล่าวว่า นางซูจีมาถึงสนามบินในกรุงเนปยีดอเมื่อวันอาทิตย์ด้วยใบหน้าแย้มยิ้มโดยมีเจ้าหน้าที่ติดตามหลายราย
เมื่อวันเสาร์ ชาวเมียนมาหลายพันคนชุมนุมในเมืองหลวงแห่งนี้เพื่อแสดงความสนับสนุนนางซูจี และจัดพิธีสวดอวยพรให้นางด้วย คาดว่าประชาชนจะมารวมตัวกันอีกในช่วงบ่ายเพื่อส่งผู้สนับสนุนอีกหลายสิบคนที่จะขึ้นเครื่องบินเดินทางไปกรุงเฮกด้วย ศาลโลกนัดไต่สวนคดีระหว่างวันที่ 10-12 ธันวาคมนี้ ซึ่งชาวเมียนมาวางแผนจัดการชุมนุมกันอีก
"พวกเราภูมิใจที่นางซูจีรับผิดชอบด้วยการเดินทางไปกรุงเฮกเพื่อปกป้องภาพพจน์ของประเทศ" ทิน ลิน อู นักเขียนชื่อดังในเมียนมา กล่าวต่อฝูงชนผ่านไมโครโฟนขณะชุมนุมด้านหน้าป้ายข้อความขนาดใหญ่ที่เขียนว่า "เรายืนหยัดข้างผู้นำของเรา"
แกมเบีย ประเทศเล็กๆ ในภูมิภาคแอฟริกาตะวันตกซึ่งมีประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม ยื่นฟ้องเมียนมาต่อศาลโลกเมื่อเดือนพฤศจิกายน โดยกล่าวหาเมียนมาว่าละเมิดอนุสัญญาว่าด้วยการป้องกันและลงโทษความผิดอาญาฐานฆ่าล้างเผ่าพันธุ์แห่งองค์การสหประชาชาติ จากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวมุสลิมโรฮีนจาระหว่างการปราบปรามอย่างนองเลือดเมื่อปี 2560
ระหว่างการไต่สวนนาน 3 วัน แกมเบียจะร้องขอให้คณะตุลาการศาลโลกซึ่งมี 16 คน ประกาศ "มาตรการชั่วคราว" คุ้มครองชาวโรฮีนจาเป็นการชั่วคราวจนกว่าการไต่สวนจะเสร็จสมบูรณ์
ภายหลังกองทัพเมียนมานำการปราบปรามในรัฐยะไข่เมื่อปี 2560 มีชาวโรฮีนจามากกว่า 730,000 คนอพยพหนีข้ามแดนเข้าบังกลาเทศ พร้อมกับคำบอกเล่าความโหดร้าย การเข่นฆ่า, ข่มขืนและวางเพลิง ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่ยูเอ็นระบุว่าเทียบเท่ากับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์
ชาวเมียนมามองว่าโรฮีนจาเป็นคนต่างด้าวเข้าเมืองผิดกฎหมายจากบังกลาเทศ ไม่ใช่พลเมืองหรือชนกลุ่มน้อยของเมียนมา กองทัพอ้างว่าปฏิบัติการของกองทัพทำเพื่อกวาดล้างนักรบโรฮีนจาที่โจมตีสังหารเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงหลายนายก่อนหน้านั้น ขณะทางการเมียนมายืนกรานว่าได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นสอบสวนคำกล่าวหาเหล่านั้นแล้ว แต่กลุ่มสิทธิโต้ว่าเป็นความพยายามปกปิดความโหดร้ายที่เกิดขึ้น
ก่อนหน้าออกเดินทาง เมื่อวันเสาร์นางซูจีได้พบกับหวัง อี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของจีน ซึ่งมาเยือนกรุงเนปยีดอตามคำเชิญของนาง โดยจ้าว หลี่เจียน รองอธิบดีกรมข่าวสาร เผยว่า ทั้งสองประเทศให้คำมั่นว่าจะกระชับความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น
จ้าวเปิดเผยผ่านทวิตเตอร์เมื่อวันอาทิตย์ว่า นางซูจีขอบคุณจีนที่ให้การสนับสนุนและปกป้องอธิปไตยของเมียนมา, คัดค้านการแทรกแซงโดยต่างชาติ และส่งเสริมการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมของเมียนมา
นักวิเคราะห์หลายคนมองว่า การที่จีนเป็นสมาชิกถาวรในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งยูเอ็นซึ่งมีสิทธิวีโต้ข้อมติ ทำให้จีนเป็นชาติพันธมิตรที่มีคุณค่าสำหรับเมียนมาที่กำลังเผชิญการตรวจสอบอย่างละเอียดจากนานาชาติกรณีการปฏิบัติต่อโรฮีนจา.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |