ทำไมเด็กไทยแพ้เด็กจีน และสิงคโปร์มากมายขนาดนั้น?


เพิ่มเพื่อน    

    ทำไมเด็กจีนและสิงคโปร์จึงเก่งระดับโลกด้านวิทยาศาสตร์, คณิตศาสตร์ และการอ่าน?
    ทำไมเด็กไทยจึงแพ้เด็กจีนและเด็กสิงคโปร์มากมายขนาดนั้น?
    ข้ออ้างอาจจะเป็นว่าเพราะจีนเป็นประเทศใหญ่ เขามีคนมากกว่าเรามากมาย เฉลี่ยแล้วจึงมีเด็กเก่งกว่า
    ข้ออ้างเดียวกันนี้ใช้กับสิงคโปร์ไม่ได้ เพราะประชากรของสิงคโปร์มีน้อยนิด 
    จึงต้องถามต่อว่า น่าจะมีเหตุผลอะไรที่ไม่เกี่ยวกับจำนวนประชากร...
    จึงมาถึงข้ออ้างต่อมาว่า เพราะทั้งสองประเทศรวยกว่าเรา จึงสามารถสร้างเด็กให้ฉลาดกว่า
    ก็อาจจะมีข้อแย้งว่า เงินอย่างเดียวไม่ได้ตัดสินว่าประเทศไหนสามารถสร้างเด็กที่เก่งกว่า เพราะหลายประเทศที่ไม่ได้ร่ำรวยเท่าจีนและสิงคโปร์ก็ได้คะแนนการสอบสามหัวข้อนี้ดีกว่าไทย
    ไทยเราจึงต้องถามตัวเองใหม่ว่า อะไรคือเหตุผลที่แท้จริงที่ทำให้เด็กไทยเราโดยเฉลี่ยยังแพ้หลายๆ  ประเทศ
    คำถามและข้อคำนึงเหล่านี้มาจากการอ่านข่าวล่าสุด 
    ว่าด้วยผล PISA ที่พบว่าการอ่านของนักเรียนไทยแย่ลงอย่างต่อเนื่อง ส่วนวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์นั้นไม่กระเตื้องขึ้นแต่อย่างใด
    ข่าวหลายกระแสยืนยันตรงกันว่า ผลการประเมิน PISA รอบปี 2018 จาก 79 ประเทศทั่วโลกสะท้อนว่าไทยยังคงได้คะแนนต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในการสอบวัดความรู้ทั้ง 3 ด้าน คือ การอ่าน คณิตศาสตร์  และวิทยาศาสตร์ 
    แต่ที่น่าทึ่งคือ 4 เมืองใหญ่ของจีนแซงหน้าขึ้นมาครองอันดับ 1 แทนสิงคโปร์ 
    PISA คือโครงการประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากล (Programme for International  Student Assessment) นำเสนอโดยองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisation for Economic Co-operation and Development หรือ OECD) เพื่อประเมินนักเรียนอายุ  15 ปีในประเทศที่เข้าร่วมทุกๆ 3 ปี 
    ผลการประเมิน PISA 2018 บอกว่านักเรียนจาก 4 เมืองใหญ่ของจีน คือ ปักกิ่ง, เซี่ยงไฮ้, เจียงซู  และเจ้อเจียง มีคะแนนทั้ง 3 ด้านสูงกว่าทุกประเทศ
    อันดับสองและสามคือ สิงคโปร์และมาเก๊า 
    อันดับ 4 และ 5 ในด้านการอ่านคือ ฮ่องกงและเอสโตเนีย ด้านคณิตศาสตร์คือ ฮ่องกงและไต้หวัน  ด้านวิทยาศาสตร์ได้แก่ เอสโตเนียและญี่ปุ่น 
    เอสโตเนียเป็นตัวอย่างที่น่าสนใจ เพราะเด็กของเขาสามารถทำคะแนนได้ในอันดับต้นๆ ทั้งๆ ที่งบประมาณด้านการศึกษาน้อยกว่าค่าเฉลี่ยของ OECD ถึง 30%
    สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) รายงานว่า ในการวัดระดับครั้งล่าสุดในปี 2018 พบว่านักเรียนไทยมีคะแนนเฉลี่ยในด้านการอ่าน 393 คะแนน (ค่าเฉลี่ย OECD 487 คะแนน) คณิตศาสตร์ 419 คะแนน (ค่าเฉลี่ย OECD 489 คะแนน) และวิทยาศาสตร์ 426 คะแนน (ค่าเฉลี่ย OECD 489 คะแนน) 
    หากเปรียบเทียบกับ PISA 2015 จะพบว่าด้านการอ่านมีคะแนนลดลง 16 คะแนน ส่วนด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์มีคะแนนเพิ่มขึ้น 3 คะแนน และ 4 คะแนน ตามลำดับ 
    อย่างนี้ทางสถิติถือว่า ด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ไม่มีการเปลี่ยนแปลงเมื่อเทียบกับรอบการประเมินที่ผ่านมา 
    แต่เมื่อวิเคราะห์ผลการประเมิน PISA 2018 แบ่งตามกลุ่มโรงเรียน สสวท. พบว่ากลุ่มโรงเรียนเน้นวิทยาศาสตร์มีคะแนนเฉลี่ยอยู่ในระดับเดียวกับกลุ่มประเทศที่มีคะแนนสูงสุด 5 อันดับแรก และกลุ่มโรงเรียนสาธิตของมหาวิทยาลัยมีคะแนนสูงกว่าค่าเฉลี่ย OECD ส่วนกลุ่มโรงเรียนอื่นๆ ยังคงมีคะแนนต่ำกว่าค่าเฉลี่ย OECD 
    ทั้งนี้ คะแนนด้านวิทยาศาสตร์ของนักเรียนทุกกลุ่มโรงเรียนมีคะแนนเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับ PISA  2015
    สสวท.ประเมิน PISA ที่ผ่านมา มีข้อสังเกตที่สำคัญ 3 ข้อ คือ 
    ข้อแรก ผลการประเมินชี้ว่าระบบการศึกษาไทยมีส่วนหนึ่งที่มีคุณภาพและสามารถพัฒนานักเรียนให้มีความสามารถในระดับสูงได้ 
    แต่เงื่อนไขที่สำคัญคือจะต้องสามารถสร้างความเท่าเทียมกันทางการศึกษา
    นั่นหมายถึงการขยายระบบการศึกษาที่มีคุณภาพไปให้ทั่วถึงทั้งประเทศ
    ข้อสอง นักเรียนไทยทั้งกลุ่มที่มีคะแนนสูงและที่มีคะแนนต่ำมีจุดอ่อนอยู่ที่ด้านการอ่านเหมือนกัน
    ใน PISA 2018 เป็นการประเมินการอ่านเนื้อหาสาระที่มาจากทั้งแหล่งข้อมูลเดียวและหลายแหล่งข้อมูล 
    และที่น่าสนใจคือ สื่อที่นักเรียนได้อ่านส่วนใหญ่อยู่ในรูปแบบดิจิทัล นั่นแปลว่าธรรมชาติของการอ่านเปลี่ยนแปลงไปตามเทคโนโลยีและสอดคล้องกับการใช้ข้อมูลในชีวิตจริงของผู้คนทั่วโลก 
    จึงควรที่ระบบการศึกษาไทยต้องส่งเสริมการเรียนรู้ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลในทุกรูปแบบ 
    ข้อสามเป็นข้อที่สำคัญที่สุด นั่นคือแนวโน้มคะแนนการอ่านของไทยลดลงอย่างต่อเนื่อง 
    อีกทั้งความฉลาดรู้ด้านการอ่านมีความสัมพันธ์กับความฉลาดรู้ด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ไม่ต้องสงสัยว่าประเทศไทยจะต้องยกระดับความสามารถด้านการอ่านของนักเรียนอย่างเร่งด่วนและจริงจัง
    จะมาหาข้ออ้างต่างๆ เพื่อแก้ตัวว่าคนอื่นรวยกว่า คนเยอะกว่า ก้าวหน้ากว่าไม่ได้อีกต่อไป
    (การประเมิน PISA 2018 เน้นความสามารถในการอ่าน มีนักเรียนเข้าร่วมประเมินประมาณ 600,000 คน เท่ากับเป็นตัวแทนของนักเรียนอายุ 15 ปี ประมาณ 32 ล้านคนจาก 79 ประเทศและเขตเศรษฐกิจ สสวท.ทำหน้าที่เป็นศูนย์แห่งชาติ [National Center] ได้ดำเนินการจัดสอบเมื่อเดือนสิงหาคม  พ.ศ.2561 มีนักเรียนกลุ่มตัวอย่างจำนวน 8,633 คน จาก 290 โรงเรียนในทุกสังกัดการศึกษาเข้าร่วมการประเมินในรอบนี้ โดยนักเรียนได้ทำแบบทดสอบและแบบสอบถามทางคอมพิวเตอร์ผ่านแฟลชไดรฟ์ข้อสอบ นอกจากนี้ยังมีการเก็บข้อมูลจากผู้บริหารโรงเรียนผ่านทางแบบสอบถามออนไลน์ด้วย).


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"