โครงการอ่างเก็บน้ำคลองหลวง รัชชโลทร อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดชลบุรี
โครงการอ่างเก็บน้ำคลองหลวง รัชชโลทร อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดชลบุรี เป็นโครงการพระราชดำริในหลวง ร.9 ที่ทรงพระราชทานไว้อำนวยประโยชน์แก่ชาวไทยทุกพื้นที่ครอบคลุมการแก้ปัญหาทรัพยากรธรรมชาติทั้งดิน น้ำ และป่า สร้างชีวิตสร้างผลผลิตให้ดีขึ้น ช่วยให้ชาวบ้านรอดพ้นทุกข์จากภัยน้ำท่วมและมีน้ำกินน้ำใช้อย่างมีความสุข
เมื่อมีโอกาสศึกษาดูงานการบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บคลองหลวง รัชชโลทร โดยมูลนิธิปิดทองหลังพระสืบสานแนวพระราชดำริ เมื่อวันก่อน ยิ่งทำให้ภาพพ่อหลวงทรงงานหนักเพื่อคนไทยชัดขึ้นในหัวใจสมกับชื่อ " อ่างเก็บน้ำคลองหลวง รัชชโลทร” ที่มีความหมายลึกซึ้งว่า "ท้องน้ำของพระมหากษัตริย์"
น้ำจากอ่างเก็บน้ำคลองหลวง รัชชโลทร สร้างอาชีพปลูกผักไฮไดรโปนิกส์
อ่างขนาดใหญ่นี้เป็นเขื่อนดินสูง 21.85 เมตร กว้าง 8 เมตร ความยาวสันเขื่อน 3,829 เมตร เก็บกักน้ำได้ 98 ล้านลูกบาศก์เมตร สามารถส่งน้ำให้กับพื้นที่ชลประทานได้ถึง 44,000 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ 11 ตำบลในอำเภอเกาะจันทร์และอำเภอพนัสนิคม รวมถึงเป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำ วันนี้ชาวบ้านบริเวณรอบอ่างและในพื้นที่มีการรวมกลุ่มอาชีพทั้งเกษตรทฤษฎีใหม่ ประมง และแปรรูปผลผลิตมากมาย เกิดชุมชนเข้มแข็งสืบสานแนวพระราชดำริด้วยความเชื่อมั่นในหลักเศรษฐกิจพอเพียงของพ่อหลวง
วุฒิชัย นรสิงห์ ผอ.โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาอ่างเก็บน้ำคลองหลวงฯ
วุฒิชัย นรสิงห์ ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาอ่างเก็บน้ำคลองหลวง รัชชโลทร กล่าวว่า โครงการอ่างเก็บน้ำคลองหลวง รัชชโลทร สร้างขึ้นตามพระราชดำริในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงพระราชทานพระราชดำริเกี่ยวกับงานชลประทาน ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เมื่อวันที่ 12 พ.ค.2525 ทรงมีวัตถุประสงค์หลักแก้ไขขาดแคลนน้ำและบรรเทาอุทกภัยในฤดูน้ำ ต่อมาปี 2559 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ แทนพระองค์ทรงเปิดโครงการอ่างเก็บน้ำคลองหลวง รัชชโลทร ตัวเขื่อนหลักมีระดับเก็บกักปริมาณน้ำ 98 ล้าน ลบ.ม. มีระบบส่งน้ำฝั่งซ้ายและฝั่งขวาความยาวฝั่งละ 28 กิโลเมตร แม้ระบบส่งน้ำสองฝั่งอยู่ระหว่างก่อสร้าง ก็ยังเกิดประโยชน์ต่อพื้นที่
“ อ่างเก็บน้ำคลองหลวง รัชชโลทร เพิ่มพื้นที่ชลประทานในฤดูฝนกว่า 44,000 ไร่ ครอบคลุม 2 อำเภอ 11 ตำบล และส่งน้ำเพื่อการเพาะปลูกในฤดูแล้ง 8,500 ไร่ นอกจากนี้ ยังส่งเพื่อการอุปโภคบริโภคเกือบ 12 ล้านลบ.ม.ต่อปี สนับสนุนอุตสาหกรรมการเลี้ยงสัตว์และรักษาสมดุลระบบนิเวศ อ่างนี้ยังจัดสรรน้ำให้การประปาส่วนภูมิภาคสาขาบ้านบึงประมาณ 13 ล้าน ลบ.ม.ต่อปี สำหรับผลิตน้ำประปาให้ประชาชน คิดเป็นมูลค่า 7 ล้านบาทต่อปี แล้วยังมีการทำประมงในอ่างเก็บน้ำ สร้างรายได้ให้ชาวประมงรอบอ่าง มีการตั้งกลุ่มแพปลา 3 กลุ่มรับซื้อปลาจากอ่างมูลค่า 4 ล้านบาทต่อปี" วุฒิชัย กล่าว
ท้องน้ำของพระมหากษัตริย์แก้ขาดแคลนน้ำและหยุดอุทกภัย
สำหรับสถานการณ์น้ำปัจจุบัน (ณ วันที่ 25 พฤศจิกายน 2562) ผอ.โครงการส่งน้ำฯ ให้ข้อมูลว่า ปริมาณน้ำเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปี 61 ต่างกัน 35 ล้านคิวจากภาวะฝนทิ้งช่วง ปีนี้ปริมาณฝนภาคตะวันออกน้อยกว่าค่าเฉลี่ยร้อยละ 50 โดยมีปริมาณน้ำเข้ามาเพิ่มขึ้นเมื่อปลายเดือนกันยายน ฝนตกในพื้นที่เป็นหางของพายุโพดุล ยืนยันว่าไม่มีปัญหาการบริหารจัดการน้ำในอ่าง ล่าสุดเรียกประชุมกลุ่มบริหารการใช้น้ำเกษตรอำเภอท้องถิ่นและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อขอความร่วมมือเกษตรกรลดพื้นที่เพาะปลูกข้าวต่อเนื่อง เพราะน้ำจำกัดและปลูกพืชใช้น้ำน้อย โดยวางแผนจัดสรรน้ำรับมือจะสำรองน้ำไว้ 11 ล้าน ลบ.ม. สำหรับเพาะปลูกนาปีช่วงต้นเดือนพฤษภาคม จัดสรรน้ำไว้กินไว้ใช้ช่วงฤดูแล้ง 5 ล้าน ลบ.ม. ส่วนน้ำเพื่อเกษตรกรรม 25 ล้าน ลบ.ม. อย่างไรก็ตาม อุปสรรคขณะนี้งานก่อสร้างระบบส่งน้ำยังไม่เสร็จ ปัจจุบันโครงการส่งน้ำและระบายน้ำลงสู่คลองหลวงเป็นคลองธรรมชาติผ่านอาคารระบายน้ำลงสู่ลำน้ำเดิมเกิดการสูญเสียน้ำระหว่างทางมาก หากระบบเสร็จจะสามารถส่งน้ำมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ท่ามกลางการพัฒนาที่รุดหน้า ท้องน้ำของพระมหากษัตริย์แห่งนี้ยังเป็นแหล่งจัดสรรน้ำให้โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี เตรียมขยายผลต่อยอดโครงการ ทำให้การใช้น้ำมีความมั่นคงเพิ่มขึ้น วุฒิชัย กล่าวว่า จะติดตั้งฝายพับได้สูง 1 เมตร ตลอดความยาวสันฝายของอาคารระบายน้ำล้น ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพเก็บน้ำเพิ่มขึ้น 27 ล้าน ลบ.ม. รวมเก็บน้ำได้ 125 ล้าน ลบ.ม. ทั้งยังเพิ่มพื้นที่ชลประทานเป็น 70,000 ไร่ จะเริ่มก่อสร้างปีหน้า แล้วเสร็จกลางปี 2564
“ ปี 64 ภาคอุตสาหกรรมเสนอความต้องการใช้น้ำ 30 ล้านคิวต่อปี ฤดูฝน 20 ล้านคิว ที่เหลือเป็นฤดูแล้ง ทั้งนี้ รัฐบาลได้วางโครงข่ายใยแมงมุมเพื่อจะกระจายน้ำ ฉะนั้น อ่างเก็บน้ำคลองหลวงจะพิจารณาข้อเสนอนี้หลังงานเพิ่มประสิทธิภาพกักเก็บน้ำแล้วเสร็จ เพราะอ่างนี้ในหลวง ร.9 มีพระราชดำริจัดสร้างเพื่อช่วยเหลือราษฎร หยุดน้ำท่วม แก้น้ำแล้ง หากน้ำต้นทุนเพียงพอพร้อมสนับสนุนอุตสาหกรรม" วุฒิชัย เน้นย้ำ
ประจวบ สืบญาติ ราษฎรผู้เสียสละที่ดินสร้างอ่างเก็บน้ำ ภาคภูมิใจได้ตอบแทนคุณพระมหากษัตริย์
การพัฒนาอ่างเก็บน้ำคลองหลวง รัชชโลทร สำเร็จได้ เพราะมีเจ้าของที่ดินที่ยอมเสียสละที่ดินเพื่อสร้างอ่าง ประจวบ สืบญาติ ราษฎรผู้เสียสละที่ดิน กล่าวว่า หน้าน้ำที่นี่จะมีน้ำหลากเข้าท่วมทุกปี เมื่อโดนเวนคืน พื้นที่ก่อสร้างอ่างฯ 300 ไร่ ถามว่าเสียดายไหม ก็เสียดาย แต่ไม่ได้ค้าน เพราะมองเห็นความสำคัญของอ่างช่วยพื้นที่ ช่วยชาติ และสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณกษัตริย์ที่ทรงสร้างบ้านเมือง อ่างเก็บน้ำทำให้พื้นที่เจริญ ดีใจที่ได้เห็น และปลื้มใจที่ได้รับเสด็จในหลวงรัชกาลที่ 9 ถึง 2 ครั้ง และรับเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
วันนี้อ่างเก็บน้ำพลิกฟื้นชีวิตเกษตรกร กินดีอยู่ดีตลอดปี บุญมี สังวร เกษตรกรบ้านหนองพังพอน ต.ท่าบุญมี อ.เกาะจันทร์ ที่น้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงรัชกาลที่ 9 มาใช้ เล่าว่า เมื่อก่อนหน้าน้ำ น้ำท่วมถึงเอว น้ำมาปลากัดกินรวงข้าวเสียหาย ปลาก็เลี้ยงไม่ได้ ท่วมปีละ 2-3 ครั้ง แต่เมื่ออ่างเก็บน้ำคลองหลวงเกิด น้ำไม่ท่วมอีกเลย มีน้ำกินน้ำใช้พอเพียง ทำเกษตรทฤษฎีใหม่ตามที่พ่อหลวงแนะนำ แบ่งพื้นที่ 20 ไร่ เป็นที่อยู่อาศัย เลี้ยงปลา เลี้ยงไก่ ปลูกผัก ทำนา ทำให้มีรายได้ทุกวันจากการเก็บผักขาย ส่วนบ่อปลา มี 4 บ่อ ทำบ่อตกปลาฟิชชิ่งปาร์กด้วย มีปลาดุก ปลานิล ปลาสวาย ปลาจะละเม็ด ปลาบึก ปลา ไม่มีหนี้สิน รายได้เฉลี่ย 1,500 บาทต่อวัน แม้วันนี้พระองค์จะไม่อยู่แล้ว แต่อ่างเก็บน้ำให้ประโยชน์และหลักเศรษฐกิจพอเพียงยังส่งต่อลูกหลานต่อไป
บุญมี สังวร เกษตรกรผู้ยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงทำเกษตร สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ร.9
อ่างเก็บน้ำของพระราชายังสร้างสารพัดอาชีพให้ชาวชลบุรี ทั้งปลูกมะนาว เลี้ยงไส้เดือนดิน แปรรูปสมุนไพร ปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ มีกลุ่มสตรีทำคุกกี้มะมาว ฟักข้าว เค้ก เรื่องราวแจ่มชัดเมื่อได้เยี่ยมชมศูนย์เรียนรู้ตามศาสตร์พระราชาที่บ้านหนองมะนาว
กันนิกา ทีปรากร ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 10 ต.เกาะจันทร์ กล่าวว่า บ้านหนองมะนาวมี 289 ครัวเรือน ประชากร 1,200 คน กรมชลประทานได้เข้ามาส่งเสริมหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง ร่วมกับกรมพัฒนาชุมชนเพื่อพัฒนาเป็นหมู่บ้านต้นแบบ ชาวบ้านรวมกลุ่มขับเคลื่อนกิจกรรมอย่างเป็นรูปธรรมปี 62 จนได้รับรางวัลพระราชทาน เรามีการปลูกและขยายพันธุ์มะนาว ด้วยวิธีปลูกในขอบซีเมนต์ บังคับไม่ให้ออกลูกในช่วงราคาตกต่ำ บางครัวเรือนขยายพันธุ์มะนาวขายสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ นอกจากนี้ ยังได้งบปลูกมะนาวในพื้นที่สาธารณะประโยชน์ 10 ไร่ จำนวนเกือบ 200 ต้น ผลผลิตสมาชิกมาแปรรูปเป็นมะนาวดองและมะนาวสามรส ทำตามยอดสั่งซื้อแทบไม่ทัน ถือเป็นรายได้เสริมจากการทำเกษตร
“ ปัจจุบันมีกลุ่มแปรรูป 10 กลุ่ม อยู่ภายใต้กองทุนแปรรูปสมุนไพร ชีวิตดีขึ้น หมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงได้ใช้น้ำจากอ่างเก็บน้ำคลองหลวงปลูกพืชผัก ปลูกมะนาว มีน้ำประปาใช้ น้ำจากอ่างใช้ปลูกดอกพุด เป็นอีกอาชีพใหม่ เวลานี้ขยายไปกว่า 10 ครัวเรือน เก็บได้ทุกวัน วันละ 20 กิโลกรัม เราโชคดีที่มีกษัตริย์นักพัฒนา คิดถึงในหลวงรัชกาลที่ 9 ถ้าไม่มีอ่างก็คงไม่ลืมตาอ้าปากกันได้" ผู้ใหญ่บ้านหญิงนักพัฒนา กล่าว
เยี่ยมชมศูนยเรียนรู้ตามศาสตร์พระราชาที่บ้านหนองมะนาว
ไม่ต่างกับครอบครัว สุวิทย์ แซ่ฉื่อ อดีตหัวหน้างานบริษัทผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ที่หันหลังให้โรงงานมาทำเกษตรผสมผสานในตำบลเดียวกัน รวมถึงปลูกดอกพุด ได้อยู่พร้อมหน้าพร้อมตาไม่เหมือนเมื่อก่อน บอกว่าอ่างเก็บน้ำคลองหลวงรัชชโลทรเป็นแหล่งกักเก็บน้ำสำคัญของชาวบ้านเมื่อขาดฝน หากระบบคลองส่งน้ำเสร็จจะส่งน้ำครอบคลุมพื้นที่มากขึ้น พื้นที่ 6 ไร่ ตนปลูกไผ่ ทำนา ปลูกมะม่วง ส้มโอ เลี้ยงไก่ เลี้ยงปลา และเมื่อ 2 ปีก่อนเริ่มปลูกดอกพุด เก็บขายได้ทุกวัน กิโลกรัมละ 100 บาท เฉลี่ยได้ 5-10 กิโลกรัม รอบพื้นที่ยังเป็นไม้ป่า ตัดสินใจไม่ผิดที่ยึดเศรษฐกิจพอเพียง แน่นอนว่าชาวไทยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของในหลวงรัชกาลที่ 9 ตลอดไป
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |