กว่า “ฝ่ายรัฐบาล” จะคว่ำญัตติคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญเพื่อศึกษาผลกระทบจากการกระทำ ประกาศ และคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และการใช้อำนาจของหัวหน้า คสช. ตามมาตรา 44 ได้ ทำเอาที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรล่มถึง 2 ครั้ง
กว่าจะทำให้องค์ประชุมครบ เพื่อไม่ให้ล่มซ้ำครั้งที่ 3 “ฝ่ายรัฐบาล” ต้องจัด “มีตติ้งสมานแผล” เคลียร์ใจบรรดาพรรคร่วมรัฐบาล ที่สโมสรราชพฤกษ์ ในค่ำคืนก่อนปฏิบัติการคว่ำญัตติแทงใจอดีต คสช.
และกว่าจะผ่านพ้นไปได้ ต้องใช้เสียงของฝ่ายค้านเข้ามาช่วยถึง 10 คน จนทำให้ญัตติดังกล่าวตกไปอย่างถาวรบริบูรณ์
เสียงเฮกึกก้องจากฝ่ายรัฐบาล ในที่ประชุมสภาฯ วันที่ 4 ธันวาคม ประหนึ่งเป็นการประกาศชัยชนะเหนือฝ่ายค้านที่วอล์กเอาต์ออกจากห้องประชุมเป็นครั้งที่ 3
เหมือนเป็นชัยชนะของรัฐบาล ทั้งที่ความจริงแล้วเป็นเพียงญัตติหนึ่งของฝ่ายค้าน ที่ฝ่ายรัฐบาลไม่ควรปล่อยให้ยืดเยื้อจนสภาฯ ล่มถึง 2 ครั้งติดต่อกัน
เพราะแม้เสียงฝ่ายรัฐบาลจะอยู่ในลักษณะ “ปริ่มน้ำ” แต่ก็ยังมากกว่าฝ่ายค้าน ขณะที่ความพ่ายแพ้ในครั้งแรก ไม่ได้มีสาเหตุมาจาก “ฝ่ายค้าน” แต่เกิดจาก “ฝ่ายรัฐบาล” เอง ที่รักษาองค์ประชุมของตัวเองไม่ได้
เหตุการณ์เพลี่ยงพล้ำจนต้องแพ้โหวตที่เกิดขึ้น เป็นครั้งที่ 3 แล้ว นับตั้งแต่เปิดประชุมสภาฯ โดย 2 ครั้งแรกเกิดขึ้นในการพิจารณาข้อบังคับการประชุมสภาฯ
ปัญหาหลักของฝ่ายรัฐบาลคือ การขาดประชุม และการดำรงตำแหน่ง 2 ตำแหน่งในฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติ ของพวก ส.ส.ที่มาเป็นรัฐมนตรี
ซึ่งความหละหลวมของเสียงฝ่ายรัฐบาลมาปรากฏชัดเจน ในช่วงที่ฝ่ายค้านเสนอญัตติดังกล่าวในครั้งนี้ ดังนั้นมันจึงไม่ใช่ชัยชนะของฝ่ายรัฐบาล แต่อยู่ในลักษณะเอาตัวรอดมาได้มากกว่า
เพราะจริงๆ แล้วญัตตินี้ไม่ควรจะลุกลามบานปลายเป็นปัญหาใหญ่โตขนาดนี้ ถึงขั้น “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ต้องลงมาแก้ปัญหาด้วยตัวเอง แต่ควรจะจบได้ในมือของคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล)
มันไม่ควรจะเลยเถิดมาอยู่ในจุดที่ต้องขอร้องพรรคร่วมรัฐบาลให้ให้ความร่วมมือ แต่ในฐานะลงเรือลำเดียวกัน ย่อมต้องรู้โดยสัญชาตญาณว่า จะทำอย่างไร
และมันไม่น่าจะใหญ่โต ถึงขนาดต้องมีการภาคทัณฑ์หากปล่อยให้สภาฯ ล่มเป็นครั้งที่ 3 ระหว่าง “ปรับ ครม.” ไปจนถึงขั้น “ยุบสภาฯ”
ต้องถึงขั้นประกบ ส.ส. ไล่เช็กชื่อ เหมือนครูตรวจแถวนักเรียน เพื่อไม่ให้พลาดพลั้งอีกหน ทั้งที่เป็นหน้าที่ ส.ส.ต้องเข้าประชุมสภาฯ อยู่แล้ว
ครั้งนี้รัฐบาลโชคดี ที่ญัตตินี้ไม่ได้สำคัญถึงขนาดเดิมพันความเป็น-ตายของรัฐบาล ขณะเดียวกัน รัฐบาลไม่ได้อยู่ในช่วง “ขาลง” เพราะหากเรื่องนี้เกิดขึ้นในช่วง “วิกฤติศรัทธา” ของประชาชน ทุกอย่างอาจเป็นไปในทางตรงกันข้าม
ครั้งต่อๆ ไป หากยังไม่ได้รับการแก้ไขจริงจัง ก็อาจจะยากเย็นยิ่งกว่า
ในขณะที่วิธีการเอาตัวรอดในครั้งนี้ ก็ไม่ใช่วิธีที่จีรังยั่งยืน เพราะภาพที่ออกมาเหมือนการมัดมือ ล็อกคอ ให้ทำแท้งญัตติแสลงใจอดีต คสช.ให้ได้
กอปรกับกระแสข่าว 10 ส.ส.ฝ่ายค้าน ที่แหกมติ 7 พรรคฝ่ายค้าน มาร่วมลงชื่อจนครบองค์ประชุม ประกอบด้วย พรรคเพื่อไทย 3 คน ได้แก่ นายขจิตร ชัยนิคม ส.ส.อุดรธานี, น.ส.พรพิมล ธรรมสาร ส.ส.ปทุมธานี, นายพลภูมิ วิภัติภูมิประเทศ ส.ส.กทม. พรรคอนาคตใหม่ 2 คน ได้แก่ นายจารึก ศรีอ่อน ส.ส.จันทบุรี, พ.ต.ท.ฐนภัทร กิตติวงศา ส.ส.จันทบุรี
พรรคเศรษฐกิจใหม่ 4 คน ได้แก่ นายภาสกร เงินเจริญกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ, นายมนูญ สิวาภิรมย์รัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ, นางมารศรี ขจรเรืองโรจน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ, นายสุภดิช อากาศฤกษ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และพรรคประชาชาติ 1 คน ได้แก่ นายอนุมัติ ซูสารอ ส.ส.ปัตตานี ถูกกล่าวหาว่าเป็น “งูเห่า”
แม้ข่าวลือฝ่ายรัฐบาลใช้ “กล้วย” ล่อซื้อ “ลิง” เพื่อให้มาสนับสนุน ไม่มีหลักฐานหรือใบเสร็จมัด แต่หากเป็นความจริง ก็ไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหาที่ยั่งยืน
นั่นเพราะคนเหล่านี้มีเหตุผลในการแหกมติพรรคแตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องคดีความ เรื่องประโยชน์โพดผลต่างๆ ไม่ใช่ความสมัครใจ
ประกอบกับ “ปัญหาภายใน” ของแต่ละพรรคใน 7 พรรคฝ่ายค้าน ก็กลายเป็นจุดอ่อนให้ฝ่ายรัฐบาลฉกฉวยช่องว่างตรงนี้ อย่างเช่นกรณีของ 2 ส.ส.จันทบุรี ของพรรคอนาคตใหม่ ที่กระทบกระทั่งกับผู้บริหารพรรคเรื่องการส่งผู้สมัครลงนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดมาระยะหนึ่ง จนถูกบอยคอย
ในส่วนของพรรคเพื่อไทยเองมีความไม่ลงรอยกัน โดยเฉพาะกลุ่ม ส.ส.อีสาน กับ “เจ๊หน่อย” คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย
ส.ส.ในพรรคเพื่อไทย ตอนนี้ไร้หลักแหล่ง ต้องพึ่งพาตัวเองในการเอาตัวรอด หลังเจ้าของพรรคตัวจริงและผู้บริหารพรรคในปัจจุบันไม่มีศักยภาพในการดูแล ไม่ว่าจะเรื่องค่าใช้จ่ายหรือคดีความ ดังนั้นเมื่อขั้วตรงข้ามให้สิ่งที่ต้องการได้ มันจึงไม่แปลกที่จะเห็นปรากฏการณ์นี้
เพียงแต่ว่า การจะอาศัย “งูเห่า” เพื่อเอาตัวรอดเป็นครั้งๆ มันจะทำให้ฝ่ายรัฐบาลเหนื่อยและลำบากแบบนี้ไปตลอด
และการใช้วิธีแบบนี้ยังเป็นการสะท้อนว่า “เสียงปริ่มน้ำ” ของรัฐบาลกำลังสร้างปัญหา โดยเฉพาะรอยปริร้าวในพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกันเอง
การใช้ “งูเห่า” เป็นเครื่องตอกย้ำว่า ภายในพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกันเองก็ไม่ไว้วางใจต่อกัน จึงต้องหันไปหยิบจับ ส.ส.จากพรรคฝ่ายค้านเพื่อมาเป็นกำลังสำรอง เพราะถ้าฝ่ายรัฐบาลเองมีเสถียรภาพ ต่อให้เสียงปริ่มน้ำก็ยังมีมากกว่าฝ่ายค้านในสภาฯ อยู่ดี
และการใช้ “กล้วย” และ “กำลังภายใน” แก้ปัญหาทุกรอบไม่ได้ผลเสมอไป เพราะหากวันไหนสถานการณ์ของรัฐบาลเข้าขั้นวิกฤติ สิ่งเหล่านี้จะไร้ความหมาย
วันนี้หลายๆ ปัจจัยทำให้พรรคการเมืองต่างๆ ไม่ว่าจะฝ่ายค้าน หรือพรรคร่วมรัฐบาล ไม่กล้างัดกับ “3 ป.” เพราะดุลอำนาจในประเทศยังค่อนแข็งแกร่ง ประเมินแล้วการเดินหน้าชนตอนนี้ได้ไม่คุ้มเสีย
แต่หากวันข้างหน้า รัฐบาลมีปัญหาในเรื่องการบริหารประเทศ ทั้งในแง่ของฝีมือ หรือการใช้กลไกรัฐไปกระทำการอันไม่ถูกต้องชอบธรรม
อย่างเช่นตอนนี้ที่กำลังถูกโจมตีอย่างหนัก เรื่องความพยายามในการช่วยเหลือ น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ เรื่องที่รุกที่ดินป่าสงวน ซึ่งถูกนำไปเปรียบเทียบกับกรณีของชาวบ้านตาดำๆ ที่ต้องถูกโทษทัณฑ์ จนนำมาสู่คำติฉินนินทาเรื่อง “สองมาตรฐาน”
หรือเรื่องการพลิกมติไปมา เลื่อนการแบนสารพิษทางการเกษตร 3 ชนิด ออกไปอีก 6 เดือน ซึ่งถูกตั้งข้อสังเกตว่า มีลับลมคมในมากกว่าเหตุผลที่ชี้แจงแถลงไขออกมา
เหล่านี้ถ้าถูกสุมจนกองพะเนินมากๆ แม้แต่พรรคร่วมรัฐบาลบางพรรคก็อาจจะไม่กล้ามาหามเหมือนเช่นครั้งนี้
วันไหนสถานการณ์ของรัฐบาลแย่ วิธีการเหล่านี้จะไม่ได้ผลอีกต่อไป ดังนั้นชัยชนะในศึกคว่ำญัตติคณะกรรมาธิการฯ มาตรา 44 ดีใจได้ แต่เหลิงไม่ได้.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |