กว่า 2 เดือนแล้วที่ผู้ชุมนุมนับแสนประท้วงรัฐบาล ทั้งที่กรุงแบกแดดและอีกหลายเมืองทางตอนใต้ ซึ่งเป็นเขตอิทธิพลชีอะห์ การชุมนุมเริ่มต้นด้วยเรื่องทั่วไป ตั้งแต่เงินทองไม่พอใช้ หางานทำไม่ได้ น้ำไฟไม่พอ การทุจริตคอร์รัปชันของเจ้าหน้าที่รัฐ ผู้มีอำนาจ ทั้งที่เป็นประเทศผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ของโลก และผูกโยงว่าต้นตอปัญหาทั้งหมดมาจากอิทธิพลรัฐบาลอิหร่านที่ครอบงำอิรัก บทความนี้จะนำเสนอการชุมนุมต่อต้านรัฐบาลอิรักในแง่อิทธิพลรัฐบาลอิหร่าน
อิทธิพลของอิหร่านในอดีต :
ปฏิเสธไม่ได้ว่าอิหร่านมีอิทธิพลต่ออิรักโดยเฉพาะพวกชีอะห์ด้วยกัน ถ้ามองย้อนอดีตนับจากสมัยต่อต้านระบอบซัดดัม ฮุสเซน รัฐบาลอิหร่านให้การสนับสนุนพวกชีอะห์ทุกกลุ่มที่ต่อต้านซัดดัมในขณะนั้น จนกระทั่งระบอบซัดดัมถูกโค่นล้ม กล่าวได้ว่า รัฐบาลอิหร่านช่วยชีอะห์อิรักปลดแอกจากซัดดัม
เมื่อผู้ก่อการร้ายไอซิสปรากฏตัว อิทธิพลไอซิสแผ่ขยายอย่างรวดเร็วทั้งในซีเรียกับอิรัก สถาปนารัฐอิสลาม (Islamic State) เมื่อปลายเดือนมิถุนายน 2014 ครองพื้นที่ฝั่งตะวันตกของอิรัก ในช่วงนั้นสถานการณ์ของชีอะห์อิรักตึงเครียดมาก เพราะเป้าหมายต่อไปคือพวกตน ไอซิสประกาศและแสดงออกชัดเจนว่าต้องการกวาดล้างทำลายชีอะห์
ชีอะห์อิรักทุกหมู่เหล่าในช่วงนั้นจึงรวมตัวสร้างป้อมค่าย ระดมประชาชนเป็นกองกำลังป้องกันประเทศ ต่อมากองกำลังชีอะห์ต่างแดนที่รัฐบาลอิหร่านสนับสนุนเข้ามาอีกแรง ยับยั้งการรุกคืบจากไอซิส ในสงครามต่อต้านไอซิสชาติตะวันตกกับพวกช่วยเรื่องการโจมตีทางอากาศ แต่กองกำลังติดอาวุธที่รัฐบาลอิหร่านหนุนหลังต่างหากที่รบเคียงบ่าเคียงไหล่กับกองทัพอิรัก ปราบปรามไอซิสยึดเมืองต่างๆ คืนกลับมา
พวกเหล่านี้ส่วนหนึ่งคือคนชีอะห์อิรัก บริหารจัดการกันเอง ทั้งเรื่องสายบังคับบัญชา การส่งกำลังบำรุง ได้เงินเดือนจากรัฐบาลอิหร่าน รวมทั้งสิ้นหลายหมื่นคน
เป็นอีกครั้งที่รัฐบาลอิหร่านเข้าช่วยเหลือไม่ให้ชีอะห์อิรักถูกกวาดล้าง อิทธิพลของรัฐบาลอิหร่านเพิ่งสูงขึ้นมาก
ชีอะห์อิรักที่ไม่ต้องการชีอะห์อิหร่าน :
อย่างไรก็ตาม ไม่นานต่อมาชีอะห์อิรักบางพวกหวังลดทอนอิทธิพลรัฐบาลอิหร่าน ในการประท้วงปีก่อน (2018) แสดงท่าทีต่อต้านอิหร่านชัดเจน ถึงขนาดเผารูปภาพผู้นำอิหร่าน รวมทั้งผู้นำจิตวิญญาณอิหร่าน ชี้ว่าอิหร่านแทรกแซงกิจการภายในอิรัก เป็นต้นเหตุทำให้รัฐบาลอิรักอ่อนแอ
อิหร่านที่ช่วยเหลือครั้งแล้วครั้งเล่ากลายเป็นตัวปัญหา แม้กระทั่งรัฐบาลอิรักเรียกร้องให้กองกำลังต่างๆ ที่อิหร่านหนุนหลังเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของกองทัพ หลังไอซิสไม่เป็นภัยอีกแล้ว
ประเด็นนี้อธิบายว่าเมื่อพ้นภัยไอซิส ผู้นำชีอะห์บางกลุ่มอย่าง มุกตาดา อัล-ซาดาร์ (Moqtada al-Sadr) ต้องการให้กองกำลังจากอิหร่านออกจากประเทศทันที กันไม่ให้รัฐบาลต่างชาติมีอิทธิพลในประเทศมากเกิน กลุ่มของอัล-ซาดาร์ประกาศท่าทีนี้อย่างชัดเจน มักชุมนุมประกาศให้ “อิหร่านออกไป”
อันที่จริงแล้วตระกลูอัลดาร์ใกล้ชิดอิหร่านมานาน บิดาของมุกตาดา อัล-ซาดาร์ ใกล้ชิดกับอิหร่าน ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลอิหร่านในสมัยต่อต้านระบอบซัดดัม ฮุสเซน หลักการของอัล-ซาดาร์ คือ ต้องการอิรักที่เป็นอิสระ ปลอดจากแทรกแซงจากต่างชาติ ไม่ว่าจะเป็นประเทศใด ไม่ได้จงเกลียดจงชังอิหร่าน
กระแสต่อต้านอิหร่านรอบนี้แรงมาก ต้นเดือนพฤศจิกายนผู้ชุมนุมโจมตีสถานกงสุลอิหร่านที่เมืองการ์บาลา (Karbala) ทำลายธงชาติอิหร่านและชักธงอิรักขึ้นแทน ปลายเดือนเดียวกันบุกเผาสถานกงสุลอิหร่านที่เมืองนาจาฟ (Najaf) ตะโกนว่า “Iran out!”
การเผาสถานกงสุลไม่ช่วยแก้ปัญหาใดๆ แต่สำคัญในเชิงสัญลักษณ์ต่อต้านรัฐบาลอิหร่าน
กลุ่มต่อต้านชี้ว่านับจากโค่นล้มซัดดัม อิรักได้อธิปไตยใหม่อีกรอบ รัฐบาลอิหร่านประสบความสำเร็จในการแทรกแซง มีอิทธิพลต่ออิรักมากกว่าประเทศอื่นๆ แม้กระทั่งสหรัฐ
กลางเดือนพฤศจิกายน มีเอกสารลับหลายร้อยหน้าที่อ้างว่ามาจากเจ้าหน้าที่หน่วยข่าวกรองอิหร่านชี้ว่ารัฐบาลอิรักอยู่ใต้อิทธิพลอิหร่าน “อิรักเป็นทางผ่านอำนาจของอิหร่านสู่ประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ เช่น ซีเรีย เลบานอน การปล่อยเอกสารลับอาจเป็นแผนการของใครบางคน แต่เนื้อหาบ่งชี้อย่างนั้น
ข้อมูลอีกชิ้นชี้ว่าแท้จริงแล้วรัฐบาลอิหร่านคือผู้บงการรัฐบาลอิรัก ควบคุมลงลึกถึงระดับหน่วยงานในรัฐบาล ในรัฐสภา ตัวการใหญ่ คือ นายพลกอเซม โซเลมานี (Qasem Soleimani) ผู้บัญชาการกองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิสลาม (Islamic Revolutionary Guards Corps) หรือ Qods Force ของอิหร่านนั่นเอง
แนวคิดนี้เห็นว่าการล้มรัฐบาลอิรักคือการล้มอำนาจอิหร่าน โยนความผิดต่างๆ ที่เกิดขึ้นแก่อิหร่าน ดังนั้นหากจะแก้ปัญหาต้องเริ่มต้นด้วยการขจัดอิทธิพลอิหร่าน ไม่ว่าเรื่องนี้จริงเท็จเพียงไร พวกชีอะห์อิรักบางส่วนคิดเห็นเช่นนี้
ข้อโต้แย้งคือรัฐบาลอิหร่านเป็นต้นเหตุปัญหาหรือไม่ สมควรหรือไม่ที่จะโทษอิหร่านฝ่ายเดียว ในเมื่อการคอร์รัปชันเกิดในทุกภาคของประเทศ ในประชาชนทุกกลุ่มทุกระดับ ปัญหาขาดแคลนสาธารณูปโภค คนว่างงานเป็นมานับสิบปี (เริ่มนับตั้งแต่อิรักยุคประชาธิปไตย) จริงหรือที่หากปราศจากอิหร่านแล้วอิรักจะเป็นประชาธิปไตยที่น่าชื่นชม
ใครกันแน่ที่มีอิทธิพลต่ออิรัก :
ถ้าจะพูดถึงต่างชาติแทรกแซง ควรเอ่ยถึงรัฐบาลสหรัฐกับเพื่อนบ้านซาอุฯ ด้วย
เริ่มจากบทบาทรัฐบาลสหรัฐต่อเคิร์ดอิรักที่ตอนนี้เป็นเขตปกครองตนเองโดยชอบธรรมแล้ว มีประธานาธิบดี นายกรัฐมนตรีของตัวเอง มีกองทัพที่อยู่ในสายบังคับบัญชาของเคิร์ดด้วยกัน สามารถบริหารเศรษฐกิจด้วยตัวเอง แม้ปากจะยังพูดว่าต้องการเป็นส่วนหนึ่งของประเทศอิรัก โดยพฤตินัยแล้วเป็นเขตปกครองตนเองที่สมบูรณ์มากขึ้นทุกที ทั้งหมดนี้ต้องยกความดีความชอบแก่รัฐบาลสหรัฐที่สนับสนุนการแยกตัวของเคิร์ดตั้งแต่สมัยซัดดัม และพัฒนาเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน
ส่วนที่เด่นที่สุดคือกองบัญชาการทหารสหรัฐในเขตกรีนโซนใจกลางกรุงแบกแดด อันเป็นพื้นที่เดียวกับสถานที่ตั้งหน่วยงานรัฐบาลสำคัญๆ ลองจินตนาการว่าทำเนียบรัฐบาลอิรัก กระทรวงต่างๆ อยู่ติดกับฐานทัพสหรัฐหรืออยู่ฝั่งตรงข้าม เท่านี้ก็เห็นอิทธิพลรัฐบาลสหรัฐต่ออิรัก
เมื่อไม่นานนี้รัฐบาลสหรัฐประกาศว่าจะคงกองกำลังของตนในอิรักต่อไป “นานเท่าที่จำเป็น” เพื่อช่วยดูแลความสงบในเขตที่ไอซิสเคยควบคุม ปัจจุบันมีทหารอเมริกัน 5,200 นายในอิรัก นับจากอิรักเข้ายุคประชาธิปไตยกองบัญชาการสหรัฐใจกลางกรุงแบกแดดก็ตั้งอยู่และอยู่เช่นนั้นจนบัดนี้
ด้านบทบาทของรัฐบาลซาอุฯ กับพวกต่อซุนนีอิรักก็มีไม่น้อย มิถุนายน 2014 นายนูรี อัลมาลิกี (Nouri Al-Maliki) ขณะดำรงนายกรัฐมนตรี อิรักชี้ว่าซาอุดีอาระเบียเป็นผู้ให้การสนับสนุนทางการเงินและขวัญกำลังใจแก่ไอซิส
มีนาคม 2015 นายไฮเดอร์ อัล-อาบาดี (Haider al-Abadi) นายกรัฐมนตรีอิรักในขณะนั้น เรียกร้องให้กองกำลังซุนนีอิรักเลิกสนับสนุนกองกำลังรัฐอิสลาม
ดังที่เคยเสนอในบทความก่อนว่าแท้จริงแล้วผู้ก่อการร้ายไอซิสส่วนใหญ่คือชาวบ้าน คือพวกซุนนีอิรักกับซีเรียนั่นเอง พวกซุนนีอิรักได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลซาอุฯ กับพวก แม้ว่ารัฐบาลซาอุฯ จะปฏิเสธก็ตาม
ในทางวิชาการเห็นว่าที่ผ่านมาการจะจัดตั้งรัฐบาลอิรักจะต้องผ่านการรับรองจากสหรัฐ ซาอุฯ และอิหร่าน เพราะบรรดาพรรคการเมืองทั้งหลายไม่ว่าจะใหญ่หรือเล็กมักอยู่ภายใต้การสนับสนุนจากรัฐบาลต่างชาติ
ว่าด้วยจันทร์เสี้ยวชีอะห์ :
ดังที่เคยนำเสนอในบทความ “มายาคติ จันทร์เสี้ยวชีอะห์” แม้ประชากรส่วนใหญ่จะเป็นมุสลิมชีอะห์ แต่นักการเมืองชีอะห์ไม่ได้อิงอิหร่านเสมอไป หลักนโยบายของอัล-ซาดาร์คือร่วมมือกับชาติตะวันตก เพื่อนบ้านอาหรับและอิหร่าน แต่อิรักคืออิรัก ประเทศที่มีลักษณะเฉพาะของตนเอง ไม่อยู่ใต้บังคับของรัฐบาลตะวันตก อาหรับหรืออิหร่าน สะท้อนให้เห็นว่าแท้จริงแล้ว “จันทร์เสี้ยวชีอะห์” ไม่แข็งแรงอย่างที่คิด
การชุมนุมประท้วงมองได้ว่าคือการปลดแอกอิทธิพลอิหร่าน แต่ปัญหาทั้งมวลไม่อาจโทษอิหร่านเพียงฝ่ายเดียว เป็นข้ออ้างมากกว่า.
---------------------------
ภาพ : นายพล กอเซม โซเลมานี (Qasem Soleimani)
ที่มา : https://twitter.com/PressTV/status/1179083310422745090/photo/1
---------------------------
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |