ภาพและคำบรรยายความประทับใจจาก 2 สาวสิงคโปร์-อินโดนีเซีย และคณะผู้สูงอายุจากฝรั่งเศสทำให้ผมตัดสินใจแน่วแน่จะต้องขึ้นไปยังจุดชมวิวผาแดง (Pha Daeng Viewpoint) ที่มีทางขึ้นห่างจากที่พักของผมฝั่งสบฮุน บ้านหนองเขียวเพียงไม่กี่ร้อยเมตร และพอได้คุยกับชายหนุ่มเจ้าของเอเยนต์ทัวร์หน้าปากซอยเกสต์เฮาส์ก็มีตัวเลือกเพิ่มขึ้นมา นั่นคือการขึ้นไปนอนค้างกางเต็นท์บนผาแดง เพียงแต่หากเลือกอย่างหลัง ผมก็ต้องออกจากหนองเขียวช้าไปอีกวัน เพราะเจ้าของเอเยนต์ทัวร์รายนี้บอกว่าต้องยืนยันภายในบ่าย 3 โมงของแต่ละวัน เวลานี้เกือบ 5 โมงเย็นเข้าไปแล้ว
ยามเช้าบนจุดชมวิวผาแดง บ้านหนองเขียว แขวงหลวงพระบาง
บนจุดชมวิวผาแดงไม่มีใครสามารถขึ้นไปกางเต็นท์ได้ ชายหนุ่มบอกว่าพ่อของเขาได้สัมปทานแต่เพียงผู้เดียว สามารถรับลูกทัวร์ได้คืนละไม่เกิน 10 คน ใช้เต็นท์ 5 หลัง มีไกด์ท้องถิ่นทำหน้าที่กางเต็นท์และเป็นพ่อครัวบนนั้นด้วย ที่ต้องคอนเฟิร์มภายในบ่าย 3 โมง เพราะจะได้มีเวลาเดินราวๆ 1 ชั่วโมงครึ่งขึ้นไปทันดูพระอาทิตย์ตก ก่อกองไฟ กินข้าวเย็น จิบเหล้าลาว เข้านอน ตื่นเช้ามาดูทะเลหมอกและวิวบ้านหนองเขียว กินมื้อเช้าง่ายๆ แล้วค่อยเดินลงเขา
“เมื่อคุณมาหนองเขียวแล้วก็ไม่ควรพลาดประสบการณ์นี้ เอาไปโม้ได้เลย มีไม่กี่คนหรอกที่จะได้ขึ้นไปนอน ลองคิดดูว่าอีกกี่ปีคุณถึงจะมีโอกาสกลับมาหนองเขียวอีก ไม่ขึ้นไปตอนนี้กลับมาใหม่บนนั้นอาจไม่เหมือนเดิมก็ได้” เขาเปลี่ยนมาพูดภาษาไทยอย่างคล่องแคล่วเพื่อให้ผมเข้าใจไม่ตกหล่น อีกทั้งเพื่อเพิ่มดีกรีโฆษณาเชื้อเชิญ สนนราคาประสบการณ์เหนือใครนี้อยู่ที่ 180,000 กีบ หรือประมาณ 700 บาท
“ไม่แพงเลย คุณนอนข้างล่างนี่ก็ต้องเสียค่าที่พัก คุณก็ต้องกินข้าว แต่ถ้าขึ้นไปพักข้างบนคุณจะได้วิวสวยๆ และสุดยอดประสบการณ์เป็นของแถม” ผมคล้อยตามเขาตั้งแต่ได้ยินคำว่าก่อกองไฟ กินข้าวเย็น และจิบเหล้าลาวแล้ว เสียดายอย่างเดียว วันนี้หมดโอกาส
ความจริงแล้วหากไม่เข้าไปสนทนากับเขาเรื่องเรือโดยสารจากหนองเขียวไปยังเมืองขัวเพื่อจะเดินทางต่อไปเมืองเดียนเบียนฟู ประเทศเวียดนาม ผมก็จะไม่รู้เรื่องทริปนอนผาแดงแบบเอ็กซ์คลูซีฟนี้เลย
อย่างไรก็ตาม พอมาคิดว่าหากอยู่ต่ออีกคืนเพื่อขึ้นไปนอนบนผาแดง ผมก็จะต้องตัดจำนวนวันและเวลาในการเที่ยวเมืองอื่นๆ ในทริป 3 ประเทศคอมมิวนิสต์นี้ออกไปอย่างน่าเสียดาย เพราะวันกลับนั้นขยับแทบไม่ได้ และจะทำให้เมืองท้ายๆ อาจต้องอยู่แบบคืนเดียวก็ต้องตื่นมารีบแพ็กกระเป๋าเดินทางต่อ จึงคิดลังเลอยู่ครึ่งคืน
จุดกางเต็นท์บนยอดผาแดงที่มีผู้ได้รับสัมปทาน กางได้วันละ 5 หลัง รองรับได้สูงสุด 10 คนเท่านั้น
ก่อนจะนอนราวๆ ตี 1 ก็เลยเก็บกระเป๋าเสื้อผ้าไว้ก่อนแบบหลวมๆ คิดว่าหากตื่นตี 5 ไหวก็จะเดินขึ้นผาแดงแล้วกลับมาลงมาเก็บที่เหลือเพื่อรีบเดินไปขึ้นเรือเวลา 10.30 น. เรือไปเมืองขัวมีวันละเที่ยวเท่านั้น
เช้าวันรุ่งขึ้นผมผ่อนผันกับนาฬิกาปลุกไปจนถึงตี 5 ครึ่งก็เอาชนะมันได้ ลุกขึ้นแต่งตัวสู้อากาศหนาวยามเช้าตรู่ ออกจากกระท่อมเกือบ 6 โมง ผู้หญิงเจ้าของที่พักตื่นแล้วเช่นกัน เธอทำงานบ้านเอง ความจริงนอกจากเธอและลูกน้อยวัยแบเบาะแล้วผมก็ไม่เห็นว่าในพื้นที่เกสต์เฮาส์แห่งนี้จะมีใครอีกเลย ผมถามเธอว่าขึ้นผาแดงแล้วลงมาจะทันขึ้นเรือไหม เธอยืนยันว่าทัน
ตรงตีนเขาทางขึ้นมีซุ้มเก็บค่าขึ้นผาแดง นักท่องเที่ยวต้องจ่ายคนละ 20,000 กีบ มีระเบิดตัวครอบลูกบอมบีส์ (ระเบิดดาวกระจาย) ตั้งอยู่ เขียนไว้เป็นภาษาอังกฤษ แปลได้ว่า “หนองเขียว บริเวณที่ถูกทิ้งระเบิดมากที่สุดแห่งหนึ่งในลาว ระหว่างปี ค.ศ.1964-1973
เส้นทางเดินสู่จุดชมวิวผาแดงถือว่าทำขึ้นมาได้อย่างน่าชื่นชม บางช่วงถากดินเป็นขั้นบันได เอาท่อนไม้มาวางและตอกตะปูทำให้เดินได้ง่ายๆ มีราวไม้และราวเชือกให้จับป้องกันการเดินเสียหลักหกล้ม หากไม่ใช่ช่วงหน้าฝนก็เดินขึ้นไม่ยาก จึงพอเห็นภาพว่าคุณยายชาวฝรั่งเศสพิชิตยอดผาแดงได้อย่างไร
เด็กชายวัย 10 ขวบ เพื่อนร่วมทางขึ้นเขาของผู้เขียนกำลังมองลงไปยังแม่น้ำและหมู่บ้านหนองเขียว น่าเสียดายที่หมอกบัง
ผมเดินแซงชาวลาวกลุ่มหนึ่งที่จุดพักจุดแรก ต่อมาพวกเขาบางส่วนตามมาทัน เพราะผมเริ่มเหนื่อย ขายังไม่ปวด แต่หายใจหอบถึงขั้นปล่อยให้อากาศเข้า-ออกทางปาก และที่จุดพักจุด 2 ซึ่งเป็นครึ่งหนึ่งของเส้นทางเดิน พวกเขาทั้งหมดก็ตามมาทัน พอผมออกเดินอีกครั้งก็มีเด็กน้อยหนึ่งเดียวจากกลุ่มเดินตามมา ถามเขาว่าอายุเท่าไหร่ เขานึกภาษาไทยอยู่ในใจครู่หนึ่งแล้วตอบว่า “ยี่สิบปี” ผมหันไปมอง เขาแก้ใหม่เป็น “สิบปี”
เดินไปสักพักเขาก็ตะโกนบอกพวกข้างล่างว่า “ฮอดแล้ว ฮอดแล้ว” วาจาหลอกๆ นี้คล้ายเป็นคำให้กำลังใจแก่ผู้เดินตามอยู่ข้างล่างในคราวเดียวกัน ความจริงตอนที่พวกเขาเดินนำหน้า ผมก็ได้ยินคนตะโกนคำนี้กันเป็นระยะๆ มาก่อน
ตอนที่ป้ายเขียนว่าเหลือ 200 เมตรสุดท้าย เด็กชายรู้สึกเหมือนว่ากำลังเดินลงมากกว่าเดินขึ้น ถามผมว่า “หลงบ่” ผมตอบไปว่าไม่ใช่หรอก เขาดูไม่มั่นใจ เดินช้าลง จนทางชันขึ้นอีกครั้งเขาก็ทั้งเดินและวิ่งให้ทันผม สุดท้ายเราก็ถึงจุดสูงสุดผาแดงพร้อมๆ กันในเวลา 07.15 น. เท่ากับใช้เวลาเดินนับจากจุดขายตั๋ว 1 ชั่วโมงพอดี คนไทยกลุ่มหนึ่งกำลังจะกลับลงไป พวกเขาบอกว่าเดินขึ้นมาตั้งแต่เช้ามืด ต้องใช้ไฟฉายส่องนำทาง อีกราว 15 นาทีกลุ่มผู้ใหญ่ที่มากับเด็กชายก็ขึ้นมาถึง มีชายหนุ่มคนหนึ่งในกลุ่มอาสาถ่ายรูปให้ผมกับวิวทะเลหมอก อีกทั้งมีคนส่งธงลาวให้ผมโบกด้วย
ระเบียงเคียงหมอกบนจุดชมวิวยอดผาแดง
อากาศที่หนาวเมื่อตอนเริ่มเดินขึ้น กระทั่งขึ้นมากลางเขาเหงื่อจากร่างกายขับออกมาสู้ เมื่อเจอแดดด้านบนนี้ใครๆ ก็พากันถอดแจ็กเกตออกเพื่อถ่ายรูป-ชมวิว 360 องศาได้อย่างถนัดถนี่ แต่ยามที่พระอาทิตย์ขึ้นมาแล้วเช่นนี้ก็ต้องหันหน้าไปทางทิศตะวันตกเป็นหลัก หมู่บ้านหนองเขียวอยู่ข้างล่างในทิศทางนั้นพอดี เสียแต่ว่าหมอกลอยขึ้นมาสูงพอสมควรแล้วทำให้บดบังแม่น้ำอูที่ไหลเป็นทางโค้งผ่านหมู่บ้านเป็นรูปอักษร “เอส” กลับหัว อาจต้องรอสักพักกว่าหมอกจะลอยสูงขึ้นไปอีกหรือจางลงไปจนเห็นทิวทัศน์ข้างล่าง และคงจะดีหากได้อยู่บนนี้เมื่อยามพระอาทิตย์กำลังจะลาลงหลังเขา เพราะสายน้ำ หมู่บ้าน ภูเขาหินปูนสลับซับซ้อน และพระอาทิตย์ล้วนวางอยู่ในทิศทางเดียวกัน
จุดชมวิวบนยอดผาแดงนี้มีอยู่ 2 บริเวณหลัก คือผาหินตะปุ่มตะป่ำโผล่ขึ้นด้านทิศเหนือ ตรงข้ามกับภูเขาอีกฝั่งน้ำที่มีลักษณะคล้ายพระปรางค์สามยอด ผู้รับสัมปทานได้โปะฉาบคอนกรีตลงบนหินทำให้ขึ้นไปยืนและเดินไปมาง่ายขึ้น บนลานหินกลมๆ แคบๆ ที่อยู่สูงสุดนั้นคือจุดที่ผู้มาเยือนจะยืนโบกธงชาติลาวเพื่อให้เพื่อนฝูงถ่ายรูป ตอนขึ้นไปยืนบนนั้นผมยอมรับว่ามีอาการเสียวบริเวณน่องขึ้นไปจนถึงบั้นเอวเลยทีเดียว กลัวจะตกลงไปในทะเลหมอกข้างหลัง
ส่วนอีกจุดคือลานซีเมนต์ที่ทำไว้สำหรับกางเต็นท์ มีโครงเรือนเล็กๆ มุงหลังคา พื้นที่ใต้หลังคาเก็บของได้ รวมถึงรั้วหินอย่างดี สามารถเรียกได้ว่าเป็น Observation Deck ดูปลอดภัยกว่าบริเวณก้อนหินสูงๆ ต่ำๆ นั้น
คนเกรงใจความสูงอย่างผู้เขียนถึงกับขาสั่นเมื่อต้องไปยืนบนลานหินแคบๆ ใกล้ธงชาติลาวตรงนั้น
เวลานี้ไม่มีนักท่องเที่ยวฝรั่งแม้แต่คนเดียว ได้ยินเสียงภาษาลาวคุยกันอย่างสนุกสนาน เห็นรอยยิ้มอยู่บนทุกใบหน้า หลายคนพากันถ่ายรูปและวิดีโอเก็บไว้เพื่อนำไปฝากคนทางบ้านและสังคมออนไลน์ หากไม่ติดเรื่องเวลาขึ้นเรือผมก็คงอยู่บนยอดผาแดงต่ออีกสักพัก
เวลาประมาณ 8 โมง จึงได้เวลาเดินลงเขา ซึ่งเป็นเส้นทางเดียวกับทางขึ้น พยายามรีบเดินจนเกือบวิ่ง เพราะกลัวจะเก็บกระเป๋าไม่ทันเรือ สภาพความชันของเส้นทางทำให้ใช้แรงเข่ามากกว่าขาขึ้นด้วยซ้ำจนปวดจี๊ดๆ ที่เข่าหลายครั้ง ยังดีที่สุดท้ายแล้วไม่มีปัญหามากไปกว่าอาการปวดน่องในวันต่อมาและอีกสอง-สามวันหลังจากนั้น
ทางขึ้น-ลงชมวิวบนยอดผาแดง ถือว่าอำนวยความสะดวกได้ดี
ขาลงใช้เวลาไปราวๆ 45 นาที ถึงซุ้มขายตั๋วก่อน 9 โมงเช้านิดๆ มี 3 หนุ่มรุ่นใหญ่กำลังตั้งวงครื้นเครงดื่มเบียร์ลาวรับอรุณวันอาทิตย์กันอยู่ในซุ้ม ผมแค่จะเดินไปถามความสูงของยอดผาแดงก็ได้รับคำตอบเป็นเบียร์ลาวที่เพิ่งรินลงแก้วใบใหม่ ลุงคนที่ยื่นเบียร์ให้ยกแก้วของแกขึ้นชน “จะได้ชื่นใจ ลงมาเหนื่อยๆ” แกว่างั้น แล้วลุงอีกคนก็ตักปลานิลเผาเกลือยื่นให้ ผมกินทั้งเบียร์และปลาหมดก็กล่าวลา ลุงคนที่ตักปลาให้รินเบียร์ให้อีกแก้ว “แก้วเมื่อกี๊สำหรับขาซ้าย แก้วนี้สำหรับขาขวา” ลุงคนที่ 3 ก็ตักปลาให้อีกช้อน
ผมถามลุงคนแรกว่าเป็นคนได้สัมปทานจุดชมวิวผาแดงใช่หรือไม่ เพราะตอนที่ผมเดินเข้าไปหานั้นแกพูดว่าลูกชายไม่รู้หายไปไหน ผมสงสัยว่าจะเป็นคนเดียวกับหนุ่มน้อยจอมโน้มน้าวเมื่อเย็นวาน แกก็อธิบายว่าอย่าเรียกว่าสัมปทานเลย เพราะแบ่งกัน 3 ส่วน ได้แก่ ผู้รับเหมา, หมู่บ้าน และเมือง ได้ประโยชน์ 4 ส่วน นอกจาก 3 ส่วนแรกแล้วก็ยังได้สุขภาพและความอิ่มเอมของผู้ปีนเขาขึ้นไปดูวิวอีกด้วย แกไม่ปิดบังว่าได้วิธีคิดมาจากการไปดูงานที่เมืองไทย แล้วก็ร้องเพลง “...ลาวกับไทยคือพี่น้องกัน...” ก่อนยกแก้วขึ้นชนอีกครา
ระหว่างที่ยังไม่หมดแก้ว ผมก็กังวลเรื่องเวลาขึ้นเรือ ลุงคนหนึ่งบอกว่าช่วงนี้ฝรั่งน้อย (ปลายตุลาคม) เรือที่ปกติออกเวลา 10.30 น. อาจจะออก 11.00 น. (หากซื้อตั๋วกับเอเยนต์จะต้องไปถึงหน้าสำนักงานเวลา 10.00 น.) แล้วก็เติมเบียร์ให้ผมอีกแก้ว คราวนี้ไม่ได้บอกว่าสำหรับอวัยวะส่วนใด กว่าจะลาออกมาจาก 3 หนุ่มรุ่นใหญ่ได้จริงๆ ก็เกิน 9 โมงครึ่งไปแล้ว
มองหนองเขียวจากกลางเขาขณะลงจากผาแดง
ข้อมูลเรื่องความสูงของผาแดงนั้นผมต้องมาค้นเอาเองจากอินเทอร์เน็ต เว็บไซต์ AllTrails ระบุว่ายอดผาแดงสูง 467 เมตร (หมู่บ้านหนองเขียวสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 350 เมตร) มีระยะทางจากตีนเขาถึงยอด 3.4 กิโลเมตร
เบียร์ 3 แก้วนั้นเป็นตัวเรียกน้ำย่อยจนท้องร้องได้ยินเสียง ผมจึงต้องแวะร้าน Mama Alex ของแม่สมจันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ สั่งอาหารเช้าชุด Farmers’ Breakfast อาหารเช้าของชาวนา มีไข่เจียวใส่ผักหลายชนิด, สาหร่ายลาวทอดเป็นแผ่นโรยงาขาว, น้ำพริกมะเขือ, ผักลวก 2-3 อย่าง และข้าวเหนียว 1 กระติ๊บ ผมกินอย่างรวดเร็ว เหลือข้าวเหนียวค่อนกระติ๊บและน้ำพริกเกือบทั้งหมด ก่อนจะลาออกมาแม่สมจันยังเอากล้วยใส่ถุงให้ 1 หวี และข้าวเหนียวคลุกมะพร้าวและเกลือในห่อใบตอง
ได้เวลาออกเรือจากหนองเขียวไปยังเมืองขัว ภูเขาขวามือคือผาแดง
“ไว้กินตอนเที่ยงนะลูก กับฝรั่งแม่ก็ห่อให้ถ้ารู้ว่าเขาจะเดินทางต่อ” แม่สมจันคงกลัวผมเกรงใจไม่กล้ารับ ผมขอบคุณด้วยความซาบซึ้ง แลกเบอร์ติดต่อกันแล้วไหว้ลา จากนี้ไปเสียงซีดีพระเทศน์เป็นภาษาไทย เสียงเพลงสวดภาษาจีน และเพลงธรรมะที่มาจากทำนองเพลงไทยฮิตๆ ที่แม่สมจันชอบเปิดยามเช้าคงจะกังวานในใจไปอีกนาน และก็หวังว่าจะกลับมาเยือนหนองเขียวในเวลาไม่ช้านัก
ผมเก็บกระเป๋าอย่างรวดเร็ว ออกจากกระท่อมตอน 10.27 น. ตอนคืนกุญแจและลาผู้หญิงเจ้าของที่พัก เธอไม่หันมามองหน้า ผมแปลกใจมาก แต่ด้วยความรีบก็จ้ำเดินไปบนถนน ข้ามสะพานคอนกรีตไปฝั่งหนองเขียว เดินลงไปยังท่าเรือ มองนาฬิกาเวลา 10.35 น. เรือยังไม่ออกจริงๆ ด้วย ซื้อตั๋วราคา 150,000 กีบ ถูกกว่าซื้อกับเอเยนต์ 20,000 กีบ แล้วเดินลงไปยังโป๊ะสวนกับคนขับเรือ
ฝรั่งนักท่องเที่ยวนั่งอยู่ในเรือแล้วเกือบเต็มลำ ผมไม่รู้ว่าจะวางกระเป๋าและแหวกนั่งตรงไหน จึงยืนตากแดดรอให้คนขับเรือลงมา เวลาเกือบ 11 โมง เขาก็ลงมาพร้อมกับฝรั่งอีก 2 คน ผมจะขอเล่าเรื่องการนั่งเรือจากหนองเขียวไปเมืองขัวในตอนหน้า โดยเย็นวันเดียวกันนี้ผมก็ถึงเมืองขัวโดยสวัสดิภาพ หาที่แลกเงินได้ในเวลาเกือบค่ำที่ร้านขายอุปกรณ์มือถือของคนจีน ล้วงเงินหยวนออกมาจากซอง พบว่าเหลือแค่ไม่กี่ใบ ซองใส่เงินอยู่ในเป้ใบเล็กและอยู่กับตัวผมตลอด ยกเว้นตอนขึ้นภูไปดูวิวเมื่อเช้านี้
ผมนึกย้อนกลับไปทันที ตอนที่คืนกุญแจและลาผู้หญิงคนนั้นที่เกสต์เฮาส์ เหตุใดเธอไม่หันมามองหน้า.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |