ขณะที่ไทยเรากำลังพยายามจะแก้กฎเกณฑ์ต่างๆ เพื่อให้สามารถก้าวพ้น "กับดักรายได้ปานกลาง" อยู่ เราต้องหันไปดูว่าเพื่อนบ้านเราทำอะไรบ้างเพื่อก้าวข้ามปัญหาของโครงสร้างเศรษฐกิจ
ทุกก้าวย่างของเพื่อนบ้านล้วนเป็นคำเตือนให้เราต้องตรวจสอบตัวเราเอง ว่าได้ทำอะไรเพื่อสลัดตัวเองให้หลุดจากกรอบของปัญหาเก่าๆ หรือไม่
ล่าสุด เราเห็นความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจจากเวียดนาม, อินโดนีเซีย, เมียนมา และ สปป.ลาว เช่น
เวียดนามประกาศปรับค่าแรงขั้นต่ำขึ้นประมาณ 5.7% ให้มีผลตั้งแต่ 1 มกราคมปีใหม่นี้
ค่าแรงขั้นต่ำเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 150,000-240,000 ด่อง หรือ 180-300 บาท
การขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำไม่เท่ากันทั่วประเทศ แยกเป็นพื้นที่เมืองฮานอยและโฮจิมินห์ซิตี ค่าแรงขั้นต่ำรายเดือนในปี 2563 จะเพิ่มเป็น 4,420,000 ด่อง หรือประมาณ 5,700 บาท จาก 4,180,000 ด่อง หรือ 5,400 บาท
ส่วนพื้นที่ชนบทเมืองฮานอย โฮจิมินห์ซิตี และดานัง ค่าแรงขั้นต่ำรายเดือนในปี 2563 จะเพิ่มเป็น 3,920,000 ด่อง หรือประมาณ 5,070 บาท จาก 3,710,000 ด่อง หรือ 4,770 บาท
ที่น่าสนใจคือ ในคำสั่งนี้ยังระบุว่าค่าแรงของแรงงานที่จบการศึกษาระดับอาชีวะจะต้องสูงกว่าเงินเดือนขั้นต่ำอย่างน้อย 7%
อีกทั้งยังห้ามบริษัทตัดค่าจ้างล่วงเวลาหรือโอทีหรือการทำงานกะกลางคืนลง
และห้ามตัดและลดค่าครองชีพอื่นที่ให้แก่ลูกจ้างหลังจากที่ค่าแรงงานขั้นต่ำใหม่นี้มีผลบังคับใช้ตามกฎหมาย
โดยเฉลี่ยแล้วค่าแรงขั้นต่ำของเวียดนาม แม้จะปรับขึ้นเร็วกว่าประเทศอาเซียนอื่นๆ แต่ก็ยังอยู่ในระดับต่ำ จึงยังเป็นข้อได้เปรียบเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในย่านนี้
ในปีที่แล้วค่าแรงขั้นต่ำมีการปรับขึ้น 5.3%
ข่าวดีสำหรับข้าราชการเวียดนามก็คือ จะมีการปรับเงินเดือน 7.3% เริ่มตั้งแต่เดือนกรกฎาคมปีหน้าอีกด้วย
อีกด้านหนึ่งอินโดนีเซียประกาศปฏิรูปภาษีครั้งสำคัญ...ด้วย
-ลดภาษีนิติบุคคลจาก 25% เหลือ 20%
-ยกเลิกการเก็บภาษีเงินปันผลสำหรับบริษัทที่ถือหุ้นต่ำกว่า 25%
-จะเก็บภาษีดิจิทัลจากบริษัทที่ทำธุรกิจดิจิทัล รวมถึง Netflix, Spotify และ Amazon เพราะมีกิจกรรมทางเศรษฐกิจในอินโดฯ ถึงแม้จะไม่มีที่ทำการในประเทศนั้น เพราะบริษัทข้ามชาติเหล่านี้ได้รับผลประโยชน์เป็นตัวเงินจากตลาดอินโดฯ
(อย่างหลังนี้แม้หน่วยงานรัฐบาลไทยหลายแห่งและพรรคการเมืองบางพรรคเคยแสดงความคิดเห็นเรื่องจะเก็บภาษีจากบริษัทเทคโนโลยีข้ามชาติเหล่านี้ แต่ก็ไม่มีนโยบายออกมาอย่างเป็นรูปธรรมเหมือนอย่างที่รัฐบาลอินโดฯ ได้ประกาศออกมาอย่างเป็นรูปธรรม)
อีกข่าวหนึ่งที่ควรจะเป็นตัวอย่างให้แก่ไทยเราเช่นกัน ก็คือเมียนมาได้ยกเอาข้อมูลที่ดินขึ้นระบบออนไลน์แล้ว
ข่าวบอกว่ารัฐบาลเมียนมาจะพัฒนาเอาข้อมูลเกี่ยวกับที่ดินทั้งหมดให้เป็นระบบดิจิทัล อีกทั้งพร้อมจะเปิดทางให้นักลงทุนเข้าค้นหาข้อมูล และยื่นขอใช้ที่ดินสำหรับการทำธุรกิจผ่านระบบออนไลน์
ประเทศไทยจะสามารถปรับระบบข้อมูลที่ดินทั้งหมดขึ้นระบบออนไลน์เพื่อความโปร่งใสและสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาชาติหรือไม่ เป็นคำถามใหญ่ที่ควรจะได้รับคำตอบในเร็วๆ วันนี้
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการปฏิรูประบบภาษี, การปรับค่าจ้างขั้นต่ำให้สอดคล้องกับความเป็นจริงของความเป็นอยู่ของแรงงานไทย หรือการเปิดเผยข้อมูลที่สำคัญๆ ทางเศรษฐกิจอย่างกว้างขวางและสะดวกต่อการค้นหาและตรวจสอบ ทั้งหมดนี้ล้วนแล้วแต่เป็นปัจจัยสำคัญของการสร้างชาติและสลัดประเทศออกจาก "กับดักรายได้ปานกลาง" ทั้งสิ้น
ตัวอย่างง่ายๆ อีกเรื่องหนึ่ง
ใครไปจดทะเบียนตั้งบริษัทที่สิงคโปร์จะบอกได้ว่าใช้เวลาครึ่งวันก็เสร็จ และสามารถทำทางออนไลน์ได้ด้วย
ใครลองไปจดทะเบียนตั้งบริษัทในประเทศไทยวันนี้ดูบ้าง...ก็จะเห็นภาพความแตกต่างอย่างชัดเจน.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |