เขาว่า...ทฤษฎีสมคบคิด


เพิ่มเพื่อน    

   มีปัญหาก็ต้องแก้

          ถ้าไม่แก้ มีทางเดียว....

          ตายดาบหน้า!

          เดิมทีไม่คิดกันหรอกครับว่า จะต้องยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความ ร่างประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว.

          จิ้งจกทักยังต้องฟัง

          แล้วอาจารย์ใหญ่กฎหมายทักจะไม่ฟังกันเชียวหรือ

          เรื่องมันสืบเนื่องมาตั้งแต่วันอังคาร ย้อนกลับไปดู ประธาน กรธ. มีชัย ฤชุพันธุ์ แสดงความกังวลว่า   มีเนื้อหาในร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. ที่ สนช.ปรับแก้ หลายประเด็นที่อาจเข้าข่ายขัดกับรัฐธรรมนูญ

          อยากให้ สนช.ส่งตีความเพื่อให้เกิดความชัดเจน!

          แล้ว กรธ.ก็ทำความเห็นส่งไปยัง สนช.

          ทำไมต้องส่งตีความ

          คุณมีชัยให้เหตุผลว่า

          ...หากมีการประกาศใช้เป็นกฎหมายแล้วมีคนร้องและศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญจะเกิดปัญหาตามมามากมาย โดยเฉพาะหากมีการเลือกตั้งไปแล้ว จะทำให้ล้มทั้งกระบวนการ ต้องนับหนึ่งใหม่...

          ประเด็นสำคัญ  

          "หากวินิจฉัยในช่วงนี้ ก็ยังสามารถอยู่ในกรอบโรดแมปเลือกตั้ง"

          มาดูกันว่า ประเด็นไหนน่าเป็นห่วง

          ร่างกฎหมายลูก ส.ส.มี ๒ ประเด็น

          -การตัดสิทธิ์ผู้ไม่ไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง ห้ามดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมือง ผู้บริหารท้องถิ่น กำนัน  ผู้ใหญ่บ้าน

          อาจขัดรัฐธรรมนูญคือ เป็นการตัดสิทธิ์หรือตัดเสรีภาพ ซึ่งหากเป็นเรื่องเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญที่จะตัดไม่ได้

          -ประเด็นที่ให้คนอื่นลงคะแนนเสียงแทนผู้พิการได้

          เดิม กรธ.กังวลเรื่องนี้ จึงเขียนว่าให้เจ้าหน้าที่ช่วยเหลือเพื่อให้ผู้พิการลงคะแนนด้วยตนเอง

          แต่ สนช.ปรับแก้ไขใหม่กำหนดให้ เจ้าหน้าที่ลงคะแนนให้ได้ และถือว่าเป็นการลงคะแนนโดยตรงและลับ

          การเขียนเช่นนี้ จะขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่?

          ส่วนร่างกฎหมายลูก ส.ว. มีความกังวลเรื่องการแบ่งประเภทการสมัคร และเลือกเป็น ๒ ประเภท

          คือ "อิสระ" และ "โดยองค์กร" 

          จะเป็นการแยกแต่ละกลุ่มออกเป็น ๒ พวก

          รัฐธรรมนูญกำหนดให้ในแต่ละกลุ่มเลือกกันเอง การแยกแบบนี้ จึงไม่ใช่การเลือกกันเอง อาจจะขัดกับรัฐธรรมนูญ เพราะเท่ากับว่าให้องค์กรเลือกก่อนแล้ว จึงจะเลือกกันเอง

          แล้วสัญญาณที่ว่านี้ไปถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และรับรู้ในข้อห่วงใย

            "เขาคงไม่อยากให้มีปัญหา คือจริงๆ แล้ว มันก็ไม่อยากให้มีการไปฟ้องร้องอะไรต่างๆ แต่ผมว่าเขาเป็นห่วง สิ่งที่เขาชี้แจงมา ซึ่งผมฟังจากสื่อ ท่านพูดว่าเป็นห่วงว่าวันข้างหน้าจะถูกฟ้อง และถ้าถูกฟ้องขึ้นมา พ.ร.ป.สองฉบับนี้จะเป็นปัญหาการเลือกตั้งอะไรต่างๆ ก็จะทำให้เป็นปัญหาหมด มันจะทำให้วุ่นวายสับสนอลหม่านไปหมด เอาเสียให้ชัดในตอนนี้"

          จากประธาน กรธ. ผ่านนายกรัฐมนตรี ไปที่ ประธาน สนช. "พรเพชร วิชิตชลชัย"

          จึงเหลือเพียงคำตอบเดียว ต้องยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความ

            “ผมก็ไม่อยากจะพูดว่าทำไมไม่ยอมทำทุกอย่างให้จบก่อนกระบวนการทุกอย่างจะเสร็จสิ้นลง แต่เมื่อท่านส่งมาตอนนี้ทางแก้ไขก็มีทางเดียว คือยื่นศาลรัฐธรรมนูญ เป็นเรื่องที่สมาชิกต้องไปว่ากันเอง

            ผมไปชี้นำไม่ได้ ทุกคนจับจ้องว่าจะทำให้เลื่อนโรดแมปการเลือกตั้ง ยื้อการเลือกตั้ง ซึ่งการยื้อหรือเลื่อนโรดแมปทุกคนก็มองมาที่ตัวประธาน สนช.เป็นหลัก แต่ประธานไม่มีสิทธิ์บอกหรือบังคับสมาชิกว่าให้ยื่นหรือไม่ยื่น”

          ครับ...นั่นคือที่มาของการล่ารายชื่อ สนช.เพื่อยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความ ร่างกฎหมายลูก

          เท่าที่มีข้อสรุปออกมา ยื่นฉบับเดียวคือ ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง  ส.ว.

          ระหว่างที่ล่าชื่อกันอยู่นี้ มันเป็นเรื่องธรรมดา ที่จะมีการถ่มถุยกันตามอัธยาศัย.....

          ยกตัวอย่างมาสักคน

          ประมวล เอมเปีย อดีต ส.ส.ชลบุรี พรรคประชาธิปัตย์ ให้ความเห็นไว้ยาวยืด

            "เรื่องนี้น่าคิดว่าในขั้นตอนการพิจารณาก่อนหน้านี้ ซึ่งเป็นการหารือร่วมของปรมาจารย์ด้านกฎหมายและนักกฎหมายชั้นยอด ที่เข้าไปเป็นกรรมาธิการ ๓ ฝ่าย เพื่อปรับปรุงแก้ไขเนื้อหา ก่อนนำเสนอให้ที่ประชุมใหญ่ สนช.ให้ความเห็นชอบด้วยคะแนนเสียงที่ท่วมท้น

            แต่สุดท้ายกลับมาอ้างคำท้วงติงของ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เพื่อยื่นตีความ จึงอยากถามว่า ในขณะนั้น เหตุใด นายมีชัย ไม่ออกมาท้วงติงกฎหมายที่ตัวเองนั่งรับผิดชอบอยู่ แต่กลับมาส่งซิกหลัง สนช.มีมติโหวตผ่านไปแล้ว เช่นนี้หมายความว่าอย่างไร 

            เพราะมีการรวมชื่อ สนช.จาก ๔๑ คน ให้ได้ ๒๕  คนจากคนที่ขาดการประชุมและคนที่งดออกเสียง เหมือนแบ่งหน้าที่กันทำ โดยส่วนใหญ่โหวตผ่านตามสมาชิกผู้มีอำนาจ อีกส่วนรอรวมชื่อร้องให้ศาลตีความตามเสียงทักท้วง ทั้งที่คนเหล่านี้ส่วนใหญ่ขาดการประชุมไม่มาพิจารณาในวันโหวต แล้วยังมีหน้ามาเข้าชื่อส่งให้ศาลตีความ ไม่ละอายแก่ใจหรืออย่างไร

            ในเมื่อวันประชุมพิจารณากฎหมาย ๒ ฉบับนี้ พวกคุณยังลา ยังขาดประชุม แล้ววันนี้มารับลูกร่วมลงชื่อ รับใช้อำนาจโดยไม่สนใจสังคม จะเขียนด้วยมือแล้วจะลบด้วยปากหรืออย่างไร เข้าตำราถ่มน้ำลายรดฟ้าให้หล่นมาใส่หน้าตัวเองเช่นนั้นหรือ หากจะใช้แทกติกหรืออภินิหารทางกฎหมายแบบนี้ บอกกันตรงๆ ดีกว่าว่า เขาจะให้การเลือกตั้งต้องเลื่อนออกไปอีก ๕ ปี ๑๐ ปี นักการเมืองส่วนใหญ่ต่างทำใจกันได้นานแล้ว แต่ขอให้รัฐบาลเร่งลงมือแก้ปัญหาปากท้องครอบครัวชาวบ้านที่กำลังลำบากทั่วหน้าให้ได้ก่อนดีกว่า

            รวมทั้งปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันที่เบ่งบานเกือบทุกวงการที่ผุดขึ้นไม่แพ้รัฐบาลที่ผ่านมา หากไม่เชื่อผมลองลงพื้นที่ถามชาวชลบุรีดูก็ได้ว่า เป็นข้อเท็จจริงหรือไม่”

          อืมมมม......ถ้าอ่านข่าวมาต่อเนื่อง จะเห็นว่า ประธาน กรธ.เตือนเรื่องขัดรัฐธรรมนูญมาตลอด

          ประเด็นของ "ประมวล เอมเปีย" อยู่ที่ทฤษฎีสมคบคิดเลื่อนเลือกตั้งลากยาว ๑๐ ปี......

          หายใจลึกๆ......

          แล้วค่อยๆ ไตร่ตรองดู  

          การเห็นปัญหาก่อนแล้วแก้ไขทันที

          กับปล่อยให้เกิดปัญหาแล้วค่อยตามแก้ทีหลัง 

          ถ้าอยู่บนสมมติฐานว่า คสช.จะลากยาว เพื่อสืบทอดอำนาจ อย่างไหนจะลากยาวได้มากกว่ากัน

          ออกจากโลกแห่งจินตนาการ มาดูความจริงกันบ้าง

          เอะอะเป็นทฤษฎีสมคบคิดกันไปเสียหมด

          ถ้ากรุณาถ่างตาดูปัญหาที่มันกำลังเกิดอยู่ ก็อยากจะถามกลับไปยังพรรคประชาธิปัตย์ว่า ถ้ามีหน้าที่ต้องแก้

          จะเลือกแก้แบบไหน?

          ย้อนกลับไปในอดีตไม่นานมานี้ อย่างน้อยก็มีอยู่ ๒ เหตุการณ์ ที่พรรคประชาธิปัตย์จำต้องแก้ไขปัญหาทันทีที่เห็น ไม่ปล่อยให้ไปเกิดเหตุวุ่นวายทีหลัง

          รัฐบาลนายทักษิณ ประกาศ "ยุบสภา" ผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย โดยให้จัดการเลือกตั้งภายใน ๓๐ วัน!

          และออกพระราชกฤษฎีกา ยุบสภาผู้แทนราษฎร วันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๙

          วันรุ่งขึ้น พรรคประชาธิปัตย์ จับมือกับพรรคชาติไทย และพรรคมหาชน บอยคอต ไม่ส่งผู้สมัครลงเลือกตั้งในวันที่ ๒ เมษายน พ.ศ.๒๕๔๙

          ต่อมาศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยวันที่ ๘ พฤษภาคมปีเดียวกัน ให้การเลือกตั้งวันที่ ๒ เมษายน  พ.ศ.๒๕๔๙ เป็นโมฆะ

          ถามว่าขณะนั้นทำไมพรรคประชาธิปัตย์ ถึงตัดสินใจเช่นนั้น

          รอบ ๒ วันที่ ๒๑ ธันวาคม ๒๕๕๖ พรรคประชาธิปัตย์ประกาศไม่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง ซึ่งมีขึ้นในวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗          

          อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ให้เหตุผลในวันนั้นว่า

          "พรรคเห็นว่าการเมืองของประเทศไทยอยู่ในภาวะที่ล้มเหลวมาเป็นระยะเวลาไม่ต่ำกว่า ๘-๙ ปี สืบเนื่องจากระบอบประชาธิปไตย โดยเฉพาะกระบวนการประชาธิปไตยถูกบิดเบือนโดยบุคคลบางกลุ่ม ทำให้วันนี้ประชาชนขาดความศรัทธาในระบบพรรคการเมืองและระบบการเลือกตั้ง หากสภาพดังกล่าวยังดำรงต่อไปหมายความว่าการเมืองไม่มีการเปลี่ยนแปลง บ้านเมืองไม่มีการปฏิรูปก็จะตกอยู่ในสภาพการเมืองล้มเหลว ความขัดแย้ง สุ่มเสี่ยงต่อความรุนแรง ความสูญเสีย การทุจริตก็จะดำรงไปอย่างต่อเนื่อง

            พรรคต้องการหยุดภาวะการเมืองล้มเหลวนี้ พรรคจึงต้องหาทางออกที่แก้ปัญหาได้จริง เพราะประเทศไทยสูญเสียโอกาสมาอย่างต่อเนื่องทั้งการทุจริต นโยบายล้มเหลว ซึ่งเป็นการตัดโอกาสของประเทศที่จะพัฒนาให้ความเป็นอยู่ของคนไทยดีขึ้น

            แม้พรรคส่งผู้สมัครลงเลือกตั้งก็ไม่อาจคลายวิกฤติศรัทธาได้ ซึ่งนับตั้งแต่มีการยุบสภาเป็นต้นมาได้ใช้ความพยายามอย่างถึงที่สุดที่จะกอบกู้ศรัทธาประชาชนให้มาสนับสนุนการเลือกตั้งและรัฐบาลหลังเลือกตั้งที่จะนำไปสู่การปฏิรูปประเทศ แต่เราพบความจริงว่าการลงสมัครเลือกตั้งเป็นการช่วงชิงอำนาจแบบเดิมไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง”

          วันนั้นทุกคนรับรู้และเห็นว่านั่นคือสิ่งที่พรรคประชาธิปัตย์ พยายามแก้ปัญหา สำเร็จหรือไม่เป็นอีกเรื่อง

          แต่พรรคประชาธิปัตย์ไม่ใช่เอาแต่เดินแข็งทื่อไปตายเอาดาบหน้า

          วันนี้ก็เช่นกัน เห็นแล้วว่าข้างหน้าอาจมีปัญหาใหญ่เกิดขึ้น อาจทำให้การเลือกตั้งถูกเลื่อนออกไปอีก ซึ่งไม่มีใครตอบได้ว่า....เลื่อนไปเท่าไหร่

          แล้วจะงอมืองอตีน ไม่ทำอะไร เอาแต่จับผิดคนอื่น ทำไมทีประชุมไม่มา แล้วยังมีหน้าล่าชื่อส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความ

          คิดสักนิดซิครับ คนที่เขามาและยกมือโหวตให้กฎหมายผ่าน แล้วยังจะมาล่าชื่อ มิกลายเป็นการถ่มน้ำลายรดหน้าตัวเองหรือ

          ก็คนที่ไม่มาประชุมนั่นแหละเหมาะสุด

          แล้วไปถามเขาหรือยังว่า ลาประชุมเพราะอะไร

          บางคนอาจมีเหตุจำเป็นต้องลา

          บางคนป่วย

          ก็เหมือนกับสภาผู้แทนราษฎรในอดีต เห็นลากันบ่อยๆ บางคนมาแค่เซ็นชื่อเข้าประชุมแล้วหายหัว

          ได้เลือกตั้งกันแน่นอนครับ ไม่มีเหตุผลที่ คสช.จะลากยาวอีกแล้ว

          ส่วนศาลรัฐธรรมนูญท่านก็รู้ว่าจะต้องทำในส่วนของท่านอย่างไร ใช้เวลาเท่าไหร่ อย่าไปห่วงเลยครับ

          ถ้าจะบอกว่านี่คือ "ทฤษฎีสมคบคิด" ก็คงจะใช่

          สมคบคิดกันช่วยแก้ปัญหา.

                                                                                      ผักกาดหอม

  

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"