เทพไทจี้สอบบุคลากรสภา ปล่อย‘ไวพจน์’โผล่ประชุม


เพิ่มเพื่อน    

 "เทพไท" บี้สอบบุคลากรของรัฐสภา รวมถึง "ชวน หลีกภัย " โทษฐานปล่อย "ไวพจน์" ไปปรากฏตัวในอาคารรัฐสภา กางกฎหมายฟันธงใครเป็นคนช่วยให้ที่พักพิง หรือเห็นแล้วไม่แจ้งเจ้าหน้าที่ มีโทษจำคุก 2 ปี ปรับ 4 หมื่นบาท  

    เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม นายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช      พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณี พ.ต.ท.ไวพจน์ อาภรณ์รัตน์ ส.ส.กำแพงเพชร พรรคพลังประชารัฐ ซึ่งถูกออกหมายจับของศาลจังหวัดพัทยา เพื่อนำตัวไปฟังคำพิพากษาในวันที่ 15 ม.ค.2563  และได้มาปรากฏตัวในห้องประชุมสภาผู้แทนราษฎร ในวันที่ 4 ธ.ค.ว่า ถือได้ว่าเป็นผู้ต้องหาที่กระทำความผิดโดยมีหมายจับอย่างชัดเจน เมื่อมีการปรากฏตัวเกิดขึ้นเช่นนี้ ผู้มีหน้าที่ในการจับกุมก็ต้องเร่งจับกุมตัวผู้กระทำผิดส่งศาลจังหวัดพัทยาให้ได้ 
    แต่เมื่อ พ.ต.ท.ไวพจน์มาปรากฏตัวที่อาคารรัฐสภา จะต้องพิจารณาในข้อกฎหมายว่ามีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 189 หรือไม่ ซึ่งมาตรา 189 ได้มีบทบัญญัติไว้ว่า ผู้ใดช่วยผู้อื่นซึ่งเป็นผู้กระทำความผิด หรือเป็นผู้ต้องหาว่ากระทำความผิด อันมิใช่ความผิดลหุโทษ เพื่อไม่ให้ต้องโทษ โดยให้พำนักแก่ผู้นั้น โดยซ่อนเร้น หรือโดยช่วยผู้นั้นด้วยประการใดเพื่อไม่ให้ถูกจับกุม  ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
    นายเทพไทกล่าวว่า ถ้าการปรากฏตัวของ พ.ต.ท.ไวพจน์ที่อาคารรัฐสภา หากเป็นความผิดตามมาตรา 189 แห่งประมวลกฎหมายอาญา จะต้องตั้งคำถามว่า ใครจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบความผิดตามมาตรานี้ เพราะถือว่าเป็นการให้ที่พักพิง หรือพบตัวผู้กระทำผิดแล้วไม่แจ้งต่อเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบตามกฎหมาย จะมีความผิดหรือไม่ 
    "จะต้องสอบข้อเท็จจริงกับบุคลากรของรัฐสภาที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่เจ้าหน้าที่ รปภ. หรือตำรวจสภา จนถึงประธานวุฒิสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎรด้วยหรือไม่” นายเทพไทกล่าว
     ด้านนายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์  ให้ความเห็นสั้นๆ ว่า คนหนึ่งหนีหมายจับของศาลไปต่างประเทศ อีกคนหนึ่งหนีหมายจับของศาลเข้ามาลงมติในสภาผู้แทนราษฎร"
         นายไพศาล พืชมงคล อดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ระะบุว่า หมายจับคือคำสั่งของศาลให้เจ้าพนักงานของรัฐจับกุมบุคคลตามหมายจับนั้น การให้ที่หลบซ่อนก็ดี การช่วยเหลือไม่ให้ถูกจับก็ดี การไม่จับก็ดี เป็นความผิดทางกฎหมายร้ายแรง และมีโทษทางอาญาสถานหนัก การปล่อยให้ผู้ถูกหมายจับของศาลฎีกาเข้าร่วมประชุมสภาและลงคะแนนเสียง เป็นการกระทำความผิดกฎหมายอย่างเย้ยฟ้าท้าดินที่สุด เป็นเหตุการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนเลยในประวัติศาสตร์ของประเทศไทย เป็นการท้าทายอำนาจตุลาการอย่างโจ่งแจ้งที่สุด
    "เป็นเรื่องที่น่าสลดใจที่สุดของประเทศที่พูดว่าปกครองด้วยกฎหมาย แล้วเราจะบอกคนทั้งหลายว่าให้เคารพกฎหมาย ให้ปฏิบัติตามกฎหมายได้อย่างไร เรื่องนี้ต้องมีผู้รับผิดชอบแน่นอน" นายไพศาลระบุ
    แหล่งข่าวในศาลยุติธรรมให้สัมภาษณ์ถึงคำถามว่า ตำรวจศาล (คอร์ตมาร์แชล) สามารถจับกุม พ.ต.ท.ไวพจน์ได้หรือไม่ ว่า ตำรวจศาลมีอำนาจในการประสานงานไปที่ตำรวจในท้องที่ โดยใช้กำลังตำรวจท้องที่เป็นหลัก ไม่ได้ไปตัดอำนาจของตำรวจท้องที่ ทางศาลก็ส่งหมายจับให้ตำรวจภูธรของจังหวัดไปว่ากันก่อน ตำรวจศาลไม่ได้หักงานตำรวจ เป็นตัวกลางประสานงานเพื่อให้หมายจับนำไปสู่การปฏิบัติ โดยโมเดลของตำรวจศาลเป็นการประสานงานก่อน หากมีเหตุจำเป็นที่ตำรวจท้องที่ไม่ทำค่อยว่ากัน ซึ่งขณะนี้ตำรวจศาลยังมีกำลังไม่พอ
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กฎหมายเกี่ยวกับการจับตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยของตำรวจศาล อยู่ใน พ.ร.บ.เจ้าพนักงานตำรวจศาล พ.ศ.2562 มาตรา 5 เจ้าพนักงานตำรวจศาลมีหน้าที่และอำนาจ ดังต่อไปนี้ (4) ปฏิบัติตามคำสั่งศาลในการแจ้งให้พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจจับผู้ต้องหาหรือจำเลยที่ได้รับการปล่อยชั่วคราวโดยศาลแล้วหนี หรือจะหลบหนี หรือถ้ามีเหตุจำเป็นที่ไม่สามารถขอความช่วยเหลือจากพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจได้ทันท่วงที ก็ให้มีอำนาจจับผู้ต้องหาหรือจำเลยนั้นได้ และเมื่อจับได้แล้ว ให้นำผู้ถูกจับไปยังศาลโดยเร็ว (5) เมื่อศาลได้ออกหมายจับผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามหมายเรียกหรือคำสั่งศาล ให้ศาลมีคำสั่งตั้งเจ้าพนักงานตำรวจศาลเป็นผู้จัดการตามหมายจับ และหากศาลเห็นสมควร ศาลอาจให้พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจเป็นผู้จัดการตามหมายจับด้วยโดยมีเจ้าพนักงานตำรวจศาลเป็นผู้สนับสนุนก็ได้.
 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"