ดันผุด‘เซฟเฮาส์’พักโทษ อักษราโทษสื่อตีความผิด


เพิ่มเพื่อน    

 

กรรมการอิสลามฯ จัดพื้นที่พูดคุยสันติสุข -ตั้งเซฟเฮาส์ พักโทษคดีมั่นคง 3 รายที่ปัตตานี อดีต ผอ.ข่าวกรองฯ ไม่เคยได้ยินเจ้าหน้าที่รัฐซื้อข่าวโจรใต้ ด้าน "อักษรา" แจงไม่มีเจตนาพาดพิง จนท.รัฐเอี่ยวไฟใต้ แค่ยกตัวอย่างในอดีต 

    เมื่อวันที่ 17 มี.ค. ที่สำนักงานคณะกรรมการอิสลามจังหวัดปัตตานี ต.บ่อทอง อ.หนองจิก จ.ปัตตานี  นายแวดือราแม มะมิงจิ ประธานคณะกรรมการอิสลามปัตตานี พร้อมคณะกรรมการฯ ได้แต่งตั้งที่ปรึกษาจำนวน 60 คน ที่มาจากหลากหลายอาชีพ ทั้งภาคราชการและเอกชน ที่มีประสบการณ์การทำงาน โดยผ่านการเห็นชอบของทุกฝ่าย เพื่อให้ข้อคิดเห็นแนะนำในการขับเคลื่อนการทำงานของคณะกรรมการอิสลามปัตตานี เป็นไปอย่างโปร่งใส ถูกต้อง และเป็นประโยชน์ต่อพี่น้องประชาชน  
     นายแวดือราแมกล่าวว่า นอกเหนือจากนโยบายของคณะกรรมการอิสลามจังหวัดปัตตานี นโยบายระดับชาติที่เป็นนโยบายเร่งด่วนหลังจากที่หลายคณะมาปรึกษาหารือ คือการจัดพื้นที่ที่สำนักงานคณะกรรมการอิสลามจังหวัดปัตตานี เพื่อเตรียมการในการจัดพื้นที่การพูดคุยระหว่างรัฐกับผู้เห็นต่าง ซึ่งเป็นหน้าที่ของรัฐ ส่วนทางคณะกรรมการฯ จัดสถานที่ให้เท่านั้น นอกจากนั้นเป็นการจัดพื้นที่เซฟตี้เฮาส์ให้กับผู้ที่มีคดีความมั่นคง จำนวน 3 รายที่จะพักโทษ โดย 2 รายมาจากนราธิวาส และอีก 1 รายมาจากจังหวัดยะลา เนื่องจากไม่กล้าที่จะกลับพื้นที่ จึงได้จัดสถานที่เพื่อเป็นพื้นที่พักโทษให้กับเขา โดยจะพักประมาณ 7-8 เดือน ซึ่งรัฐจะนำร่องโครงการนี้ที่ปัตตานี ซึ่งเราจะอำนวยความสะดวกในการใช้ชีวิตความเป็นอยู่ จัดสถานที่ สังเกตการณ์ รักษาความปลอดภัย
    นายแวดือราแมกล่าวอีกว่า สำหรับการจัดสถานที่ให้กับคณะการพูดคุยฯ และการตั้งเซฟตี้เฮาส์ที่สำนักงานคณะกรรมการอิสลามปัตตานี คณะที่ปรึกษาและคณะกรรมการเห็นชอบ เพื่อตอบสนองนโยบายของรัฐ ซึ่งเราปรับปรุงในเรื่องสถานที่ซ่อมแซมในส่วนที่สึกหรอให้เรียบร้อยเพื่อให้เกิดความสมบูรณ์ และตั้งคณะกรรมการ 1 ชุด เพื่อสังเกตการณ์กับโครงการทั้งสองเรื่องนี้ เพื่อต้องการให้โครงการของรัฐประสบความสำเร็จ และเพื่อต้องการให้บ้านเมืองเกิดความสงบสันติสุขยั่งยืนตลอดไป
    นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะอดีตผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ กล่าวถึงกรณี พล.อ.อักษรา เกิดผล หัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ เปิดเผยถึงกรณีเคยมีเจ้าหน้าที่รัฐซื้อข่าวจากผู้ก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เหมือนเป็นการสนับสนุนการก่อเหตุว่า ตนไม่มีข้อมูลเรื่องนี้ แต่คิดว่าทุกเรื่องที่เกี่ยวกับจังหวัดชายแดนภาคใต้จะต้องมีความชัดเจนว่าใครเข้าไปเกี่ยวข้องบ้าง และเรายังไม่ทราบว่าบุคคลดังกล่าวเข้าไปเกี่ยวข้องในฐานะส่วนตัวหรือองค์กร ฝ่ายความมั่นคงต้องให้ความชัดเจนได้ว่าอะไรเป็นอะไร อยากให้ติดตามจากฝ่ายความมั่นคง และ พล.อ.อักษรา แต่ในช่วงที่เป็น ผอ.ข่าวกรองฯ ตนไม่เคยได้ยินเรื่องนี้
    ขณะที่ พล.อ.อักษรา เกิดผล หัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ เปิดเผยถึงความกังวลใจต่อการเสนอข่าวของสื่อ กรณีเสนอเนื้อหาพาดพิงเจ้าหน้าที่รัฐมีส่วนสนับสนุนกลุ่มที่ใช้ความรุนแรงในพื้นว่า มีการตีความในบางประเด็นที่คณะพูดคุยฯ ได้ยกตัวอย่างให้เห็นถึงสิ่งที่เคยเกิดขึ้นในอดีต เช่น เจ้าหน้าที่รัฐยังมีแนวความคิดแบบเดิมๆ คือเชื่อว่าสามารถเข้าถึงขบวนการและกลุ่มติดอาวุธตัวจริงผ่านทางตัวแทนแหล่งข่าวได้ จึงอาจตกเป็นเครื่องมือของกลุ่มที่ใช้ความรุนแรงโดยไม่รู้ตัวนั้น โดยประเด็นนี้ถูกนำไปเผยแพร่โดยมีการตีความที่ไม่ตรงกับสาระที่แท้จริงที่คณะพูดคุยฯ ได้ให้ข้อมูลต่อสาธารณะ อาจส่งผลต่อความรู้สึกและความเข้าใจของสังคมโดยรวมได้ 
      "คณะพูดคุยฯ ไม่ได้มีเจตนาที่จะพาดพิงบุคคลหรือหน่วยงานใด และเชื่อว่าการทำงานอย่างตรงไปตรงมาของสื่อมวลชนในการช่วยกันเสนอข้อเท็จจริงเชิงบวก รวมถึงความตั้งใจจริงของทุกฝ่ายในการคลี่คลายปัญหาด้วยแนวทางสันติวิธี จะช่วยสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับสังคมได้อย่างชัดเจนในทุกประเด็น และขอให้มีความมั่นใจว่า กระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขจะเป็นเครื่องมือสำคัญตามแนวทางสันติวิธีในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งที่มีมาอย่างยาวนานได้ตามที่ทุกฝ่ายคาดหวัง" พล.อ.อักษรากล่าว
    พล.อ.อักษรากล่าวด้วยว่า ความคืบหน้าล่าสุด ทั้งสองฝ่ายได้ให้ความเห็นชอบร่วมกันในการกำหนดพื้นที่ที่จะจัดตั้งเป็นพื้นที่ปลอดภัยได้แล้ว หลังจากนี้จึงถือเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญที่ทุกกลุ่มทุกฝ่ายต้องปรับเปลี่ยนการต่อสู้จากการใช้ความรุนแรงมาเป็นแนวทางสันติวิธีและร่วมมือกันดับไฟใต้ที่มีมาอย่างยาวนาน แต่หากยังมีแนวความคิดแบบเดิมๆ ก็ยากที่จะทำให้ปัญหาความขัดแย้งนี้คลี่คลายลง
    เช่นเดียวกับ พล.ต.สิทธิ ตระกูลวงศ์ เลขานุการคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวว่า พล.อ.อักษราเพียงต้องการยกตัวอย่างในอดีตที่เจ้าหน้าที่รัฐยังมีแนวความคิดแบบเดิมๆ ที่เชื่อมั่นว่าสามารถเข้าถึงขบวนการและกลุ่มติดอาวุธตัวจริงผ่านทางตัวแทนแหล่งข่าวได้ จึงอาจตกเป็นเครื่องมือของกลุ่มที่ใช้ความรุนแรงโดยไม่รู้ตัว แต่ปัจจุบันนโยบายของนายกรัฐมนตรีต่อการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีความชัดเจนว่าไม่สนับสนุนการใช้ความรุนแรงจากทุกกลุ่มทุกฝ่าย และให้เน้นการพูดคุยอย่างมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน เพื่อแสวงหาทางออกจากความขัดแย้งโดยสันติวิธี และร่วมกันสร้างสันติสุขในพื้นที่ให้ได้โดยเร็ว ไม่ได้มีเจตนาที่จะพาดพิงบุคคลหรือหน่วยงานใด และขอให้มั่นใจว่ากระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขจะเป็นเครื่องมือสำคัญตามแนวทางสันติวิธีในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งที่มีมาอย่างยาวนานได้ตามที่ทุกฝ่ายคาดหวัง 
    พล.อ.ธารไชยยันต์ ศรีสุวรรณ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด กล่าวถึงการผลประชุมคณะกรรมการชายแดนทั่วไป ไทย-มาเลเซีย (General Border Committee : GBC) เมื่อวันที่ 15 มี.ค ว่า ได้หารือหลายประเด็น และมีความคืบหน้าอย่างเป็นรูปธรรม โดยจะมีการลงนามเอ็มโอยูเรื่องที่เป็นปัญหาระหว่างกันทั้งหมด ส่วนการแลกเปลี่ยนข้อมูลกลุ่มก่อการร้ายไอเอส ปกติมีการแลกเปลี่ยนข่าวกรองด้านอาชญากรรมข้ามชาติ รวมถึงเรื่องปัญหายาเสพติด การค้ามนุษย์อยู่แล้ว ส่วนการแก้ปัญหาบุคคล 2 สัญชาติ เริ่มมีการพูดคุยเรื่องความมั่นคงตามแนวชายแดน โดยสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) จะเป็นหน่วยงานหลักจัดทำเอ็มโอยูร่วมกัน และหาแนวทางที่ชัดเจนเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติ คาดว่าใช้เวลาไม่นาน เนื่องจากไทยและมาเลเซียตั้งใจและร่วมมือกันเพื่อให้เกิดเป็นรูปธรรม.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"