“บ้านดีมีดาวน์” ปัง-พัง!


เพิ่มเพื่อน    

                “รัฐบาล” ยังคงออกมาตรการเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในภาคอสังหาริมทรัพย์อย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติมาตรการลดภาระการซื้อที่อยู่อาศัย ภายใต้โครงการบ้านดีมีดาวน์ เพื่อเป็นการลดภาระและสนับสนุนให้ประชาชนทั่วไปมีที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเอง โดยมาตรการที่เกี่ยวเนื่องกับการลดภาระรายจ่ายในการซื้อที่อยู่อาศัยเป็นครั้งที่ 3 ในรอบปี 2562

                สำหรับโครงการบ้านดีมีดาวน์นั้น หลักการคือรัฐบาลจะสนับสนุนเงินดาวน์ (Cash Back) จำนวน 50,000 บาท ให้แก่ผู้ที่ซื้อที่อยู่อาศัย โดยที่ต้องการรับเงินสนับสนุนดังกล่าว จะต้องทำตามเงื่อนไขของโครงการ ด้วยการลงทะเบียนรับสิทธิผ่าน www.บ้านดีมีดาวน์.com ตั้งแต่วันที่ 11 ธ.ค.2562-วันที่ 31 มี.ค.2563 โดยผู้ลงทะเบียนจะต้องได้รับการอนุมัติสินเชื่อที่อยู่อาศัยจากสถาบันการเงินและจดจำนองตั้งแต่วันที่ 27 พ.ย.2562-วันที่ 31 มี.ค.2563 คนละ 1 สิทธิ์ (1 บัตรประชาชน ต่อ 1 สิทธิ์) ส่วนคุณสมบัติของผู้ที่จะได้รับสิทธิ์ตามโครงการ จะต้องมีสัญชาติไทย อยู่ในระบบฐานภาษีของกรมสรรพากร มีเงินได้พึงประเมินในปี 2561 ไม่เกิน 1.2 ล้านบาท

                ทั้งนี้ ต้องเป็นการกู้สินเชื่อประเภทสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย “บ้านใหม่” สร้างเสร็จแล้ว จากผู้ประกอบการบ้านจัดสรรเท่านั้น ทั้งแนวราบและแนวดิ่ง ทุกระดับราคาไม่จำกัด แต่ต้องไม่ใช่บ้านมือสอง ทรัพย์รอการขาย (NPA) และไม่สามารถรีไฟแนนซ์ได้ ทั้งนี้ ขอกู้ได้จากทุกสถาบันการเงินทั้งภาครัฐและเอกชน โดยหลังจากลงทะเบียนเรียบร้อยแล้ว จะมีการตรวจสอบข้อมูลความถูกต้องตามกระบวนการ โดยจะจำกัดผู้ได้รับสิทธิ์ 100,000 ราย หากผ่านการตรวจสอบเป็นผู้ได้รับสิทธิ์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) จะดำเนินการโอนเงิน 50,000 บาท ให้ภายใน 2 วันทำการ

                “ศูนย์วิจัยกสิกรไทย” มองว่า โครงการบ้านดีมีดาวน์นั้น จะกลายเป็นอีกหนึ่งปัจจัยบวกในจังหวะที่ตลาดยังต้องเผชิญความท้าทายที่หลากหลาย โดยโครงการนี้จะช่วยหนุนด้านการตลาดของผู้ประกอบการในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในการจัดทำแคมเปญเพื่อกระตุ้นการตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยในช่วงโค้งสุดท้ายปลายปี ทำให้เชื่อว่าโครงการบ้านดีมีดาวน์นั้น จะเป็นผลบวกต่อตลาดที่อยู่อาศัย

                ขณะที่นักวิชาการส่วนใหญ่ต่างก็มองสอดคล้องกันว่า  “โครงการบ้านดีมีดาวน์” นี้ จะกลายเป็นยาแรงพอสมควรสำหรับตลาดอสังหาริมทรัพย์ ทั้งในมุมของการการกระตุ้นยอดขาย และช่วยระบายสต๊อกที่อยู่อาศัยที่ยังคงตกค้างในระบบ ไปจนถึงเม็ดเงินที่จะหมุนเวียนในระบบธนาคารพาณิชย์ที่เกิดจากการให้สินเชื่อที่อยู่อาศัยที่จะเกิดขึ้นอีกจำนวนหลายหมื่นล้านบาท และด้วยเงื่อนไขที่ว่าจำกัดสิทธิ์ผู้เข้าร่วมโครงการที่ 100,000 ราย และระยะเวลาโครงการที่ไม่นานนัก อาจจะยังเป็นข้อจำกัด และทำให้ถูกมองว่าโครงการยังไม่แข็งแรงเพียงพอที่จะเรียกความเชื่อมั่นจากประชาชนได้

                ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวถูกจับตามองและมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหลากหลาย จากหลายฝ่าย โดยเฉพาะที่มองว่าชุดมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ที่ออกมาทั้งหมดนั้น อาจจะเป็นประโยชน์กับผู้ประกอบการมากกว่าประชาชนที่รัฐบาลระบุว่าเป็นกลุ่มเป้าหมาย อีกทั้งยังไม่สอดคล้องกับมาตรการ LTV ที่แม้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ได้มีการออกมาในช่วงก่อนหน้านี้ ด้วยวัตถุประสงค์ที่ว่า ต้องการดูแลประชาชนที่ต้องการกู้เงินเพื่อซื้อที่อยู่อาศัยให้สามารถซื้อบ้านได้ในราคาที่เหมาะสม และเพื่อเป็นการยกระดับมาตรฐานการพิจารณาสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยของสถาบันการเงิน อีกทั้งยังเป็นมาตรการเชิงป้องกันเพื่อดูแลความเสี่ยงเชิงระบบ เพราะที่ผ่านมาปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์เป็นสาเหตุสำคัญของวิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นทั่วโลก

                ขณะที่รัฐบาลเองก็ยืนยันว่า โครงการนี้ถูกจัดทำขึ้นมาเพื่อต้องการสนับสนุนให้คนไทยมีบ้าน อีกทั้งยังเพื่อต้องการช่วยเคลียร์สต๊อกบ้านสร้างใหม่ที่ตกค้างอยู่อีกกว่า 2.7 แสนยูนิต ทั้งแนวราบและแนวดิ่ง ซึ่งหากสามารถจัดการตรงนี้ได้ ก็จะช่วยทำให้ผู้ประกอบการมีเงินทุนหมุนเวียนเพื่อไปใช้ลงทุนใหม่ ก็จะเป็นผลดีกับระบบเศรษฐกิจของประเทศในที่สุด. 

ครองขวัญ รอดหมวน


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"