วันก่อการที่หัวมุมถนนประดิพัทธ์ตัดทางรถไฟสายเหนือ 


เพิ่มเพื่อน    

              
    ที่นัดหมายผู้นำทหารของคณะผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ตอนเช้ามืดเวลา 05.00 น. ของวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2475 คือ ที่ตรงทางรถไฟตัดถนนห่างจากบ้านพระยาทรงสุรเดช ประมาณ 200 เมตร ตามที่ปรากฏใน บันทึกการปฏิวัติ 24 มิถุนายน 2475 ของพันเอกพระยาทรงสุรเดช สถานที่นี้ก็คือทางรถไฟสายเหนือตัดกับถนนประดิพัทธ์ ทางด้านเหนือสถานีรถไฟสามเสนนั่นเอง จุดนัดพบนี้ห่างจากบ้านพักพระยาทรงสุรเดช ที่อยู่ทางฝั่งซ้ายของถนนประดิพัทธ์เมื่อยืนอยู่บนถนนประดิพัทธ์และหันหน้าไปทางตะวันตกด้านทางรถไฟ ประมาณ 200 เมตรจริง 
    และจากจุดนี้จะไปสู่จุดเป้าหมายของคณะที่จะเข้าไปจู่โจมยึดกำลังอาวุธยุทโธปกรณ์และขนกำลังพลก็อยู่บนถนนทหารที่อยู่เบื้องหน้าต่อจากถนนประดิพัทธ์นั่นเอง เมื่อ 82 ปีก่อนบริเวณนี้น่าจะเปลี่ยวมาก แต่ถึงวันนี้ก็ไม่ได้มีบ้านเรือนชาวบ้านทั่วไปเพิ่มขึ้นมากแต่อย่างใด เพราะถนนทหารทั้งถนนก็มีหน่วยงานของทหารไปทั้ง 2 ฝั่งถนนไปตลอดผ่านสะพานแดงจนถึงเกียกกายที่อยู่ปลายถนนทางด้านตะวันตก สถานที่แห่งนี้ไม่มีอนุสาวรีย์หรืออาคารสัญลักษณ์อะไร ยังเป็นสถานที่โล่งแจ้ง กระนั้นก็มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ในการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2475 ดังที่ประวัติศาสตร์ได้มีการบันทึกไว้
    “สำหรับวันนี้ (24 มิถุนายน พ.ศ.2475-ผู้เขียน) ผู้อำนวยการฝ่ายทหาร (พระยาทรงสุรเดช-ผู้เขียน)  ได้นัดเวลาพบ 05.00 น. โดยกะว่าจะสั่งมอบหน้าที่ให้เสร็จภายในเวลาเพียงประมาณ 15 นาที แล้วจะได้รีบไปยังกรมทหารม้าซึ่งกะไว้เป็นที่หมายอันแรก ให้ถึงก่อนเวลาเป่าแตรปลุกทหารเพียงเล็กน้อย (เวลาปลุกทหาร 05.30 น.)
    นายร้อยเอกหลวงทัศนัยฯ นายทหารม้าชั้นนายร้อยโทและนายร้อยตรีอีก 3 นาย มาถึงบ้านพระยาทรงสุรเดชเป็นพวกแรกเวลา 04.00 น. เศษ”
    ข้างบนนี้เป็นข้อเขียนที่ พ.อ.พระยาทรงสุรเดช บันทึกเอาไว้ ส่วน พ.ท.พระประศาสน์ฯ ซึ่งเป็นผู้เอารถไปรับตัว พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา ที่บ้านพักและนำมายังจุดนัดหมายที่ถนนประดิพัทธ์นั้นได้เขียนเล่าสิ่งที่ท่านคิดและปฏิบัติในตอนเช้ามืดวันนั้น
    “ในคืนวันนั้น พวกเราทั้งหมดคงจะมีลักษณะการเตรียมตัวและจิตใจต่างๆ กัน สำหรับข้าพเจ้านั้น ข้าพเจ้ามั่นใจในความสำเร็จก็จริง แต่รู้สึกตัวว่าจะยอมตายในคราวนี้อย่างชายชาติทหาร ข้าพเจ้ายอมตายบูชาชาติในด้านอุดมคติ ใจข้าพเจ้าไม่หวั่นไหวสิ่งใด ข้าพเจ้ารู้ดีว่าตำรวจมาคุมบ้านข้าพเจ้า ถ้าเขากล้าเข้ามาพบ ข้าพเจ้าก็ควรจะต่อสู้อย่างทหาร ข้าพเจ้าเอากรรไกรเหล็กกล้าเตรียมไว้สำหรับเจ้าคุณพหลฯ จะได้ใช้ตัดกุญแจคลังกระสุนของกรมทหารม้ารักษาพระองค์ ข้าพเจ้าเตรียมดูรถยนต์ไว้ให้พร้อมไม่ให้บกพร่อง ข้าพเจ้าจะต้องใช้มันวิ่งอย่างเต็มที่”
    เมื่อถึงเวลาเช้ามืดของวันทำการปฏิวัติ คือวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2475 บรรดาแกนนำคนสำคัญได้กำหนดเวลานัดหมายไว้คือตีห้า ดังนั้นประมาณตีสี่ ท่านเหล่านี้ก็ต้องตื่นและเตรียมตัวออกมาปฏิบัติการ สมัยนั้นการเดินทางด้วยรถยนต์ไม่เสียเวลาอะไรมาก พ.ท.พระประศาสน์พิทยายุทธตื่นแต่เช้าตั้งแต่ตีสี่ เอารถยนต์ของตนออกเพื่อจะไปรับพระยาพหลพลพยุหเสนาที่บ้านเพื่อนำท่านไปยังจุดนัดหมาย สี่แยกตรงทางรถไฟไปดอนเมืองที่ใกล้บ้านเจ้าคุณทรง เพื่อจะได้เริ่มปฏิบัติการ

พระยาทรงสุรเดช
    “ตอนเช้ามืด ข้าพเจ้าตื่นตามเวลาที่กำหนดไว้ แต่งตัวเครื่องแบบเสร็จเรียบร้อย เอากรรไกรสำหรับตัดเหล็กใส่ในรถยนต์ของข้าพเจ้าและเตรียมพร้อมออกจากบ้านซึ่งอยู่ทางวัดราชาธิวาสเวลาราวตีสี่ครึ่ง  เขียนหนังสือสองสามตัวลาภรรยาว่าจะขอลาไปก่อน ขอฝากบุตรด้วย ถ้าชีวิตรอดมาจึงค่อยพบกัน แล้วสอดไว้ให้เขาทราบได้เวลาเช้า
    เวลาดึกสงัดใกล้รุ่งราวตี 4 ครึ่งเศษๆ รถยนต์ส่วนตัวของข้าพเจ้าแล่นอย่างรวดเร็วออกจากบ้านไป เห็นตำรวจที่มาคุมบ้านเดินอยู่หน้าบ้าน”
    คำให้การของพระประศาสน์ฯ ตรงนี้ดูจะตรงกันกับของท่านอื่น ๆ เรื่องว่าทางฝ่ายรัฐบาลคงจะรู้ระแคะระคายเกี่ยวกับการที่มีคณะผู้ที่จะคิดเปลี่ยนแปลงการปกครองหรือล้มรัฐบาล และได้ให้ตำรวจติดตามเฝ้าตามบ้านบุคคลที่สงสัย พ.อ.พระยาทรงสุรเดช เองได้เขียนเล่าถึงเรื่องนี้เอาไว้ว่า
    “...นายตำรวจชั้นผู้ใหญ่บางคนทราบล่วงหน้า ฉะนั้นก่อนหน้าวันที่ 24 จึงมีพลตำรวจมาคุมบ้านผู้อำนวยการฝ่ายทหาร (พระยาทรงฯ-ผู้เขียน) พระประศาสน์ฯ และหัวหน้าสำคัญๆ แต่ก็มิได้จับกุมอย่างไร  อาจเป็นเพราะตำรวจรู้สึกว่าถ้าทหารทำการปฏิวัติเขาก็มีเหตุผลเห็นสมควรด้วย”
    พระประศาสน์ฯ เล่าเรื่องต่อถึงการเดินทางจากบ้านไปรับ พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา ผู้ถูกวางตัวให้เป็นหัวหน้าว่า
    “...รถข้าพเจ้าแล่นเร็วไปยังบางซื่อถึงบ้านเจ้าคุณพหลฯ ข้าพเจ้าก็เข้าไปเคาะประตูเรียก คุณหญิงพิศออกมาถามว่าใคร ข้าพเจ้าบอกว่า 'ผมเอง พระประศาสน์ฯ' ซึ่งท่านจำเสียงได้ ก็เปิดประตูรับข้าพเจ้า เข้าไปพบเจ้าคุณพหลฯ ซึ่งแต่งเครื่องแบบเรียบร้อย พร้อมแล้วกำลังรอข้าพเจ้าอยู่ทีเดียว เราทั้งสองรีบขึ้นรถออกแล่นไปทางบ้านเจ้าคุณทรงฯ ทันที”
    เข้าใจว่าคุณหญิงพิศ ภริยาเจ้าคุณพหลฯ จะเป็นภริยาของผู้นำสำคัญเพียงท่านเดียวที่ทราบว่าสามีจะไปทำงานสำคัญอะไร
    รถยนต์ของ พ.ท.พระประศาสน์ฯ ได้แล่นไปยังที่นัดหมายโดยมิได้แวะไปบ้านพระยาทรงฯ อันที่นัดหมาย "สี่แยกถนนตรงรางรถไฟ" คือถนนประดิพัทธ์ตัดกับทางรถไฟสายเหนือ ซึ่งห่างจากบ้านพระยาทรงฯ ที่อยู่บนถนนประดิพัทธ์ประมาณ 200 เมตร และก็ได้พบผู้ก่อการฝ่ายทหารหลายคนรวมทั้ง พ.ต.หลวงพิบูลสงคราม
    “...เมื่อรถยนต์แล่นมาถึงสี่แยกถนนตรงรางรถไฟตามนัดก็เห็นมีคนหลายคนอยู่ก่อนแล้ว มีหลวงพิบูลฯ หลวงทัศนัยฯ หลวงพรหมโยธี ขุนปลดปรปักษ์ ขุนเรืองวีรยุทธฯ คุณไชย ประทีปเสน และคนอื่นๆ อีกที่เป็นศิษย์ข้าพเจ้าทั้งนั้น เรารีบสั่งการกันทันที ทุกๆ คนก็เข้าใจและรับงานอย่างไม่รีรอเลย พอดีใกล้เวลา 05.00 น. เจ้าคุณทรงฯ ก็ปรากฏตัวออกมายังที่นัดหมาย”

หลวงพิบูลสงคราม
    พ.อ.พระยาทรงสุรเดชนั้นเดินมาจากบ้าน ซึ่งห่างจากที่นัดหมายประมาณ 200 เมตร ก่อนหน้านี้ในเวลาตีสี่ ร.อ.หลวงทัศนัยฯ และ ร.ต.ไชย ประทีปเสน ก็ได้แวะไปหาท่านที่บ้านพักกับเพื่อนทหารอีก 2  คน จึงแสดงว่า ร.อ.หลวงทัศนัยฯ และ ร.ต.ไชย ประทีปเสน แยกออกมาก่อนที่จุดนัดหมาย พระยาทรงฯ  ได้มาเมื่อเวลาใกล้ตีห้ากับนายทหารที่เหลืออีก 2 คน ซึ่งคงเป็น ร.ท.น้อม เกตุนุติ กับ ร.ท.ทวน วิชัยขัทคะ
    ตรงที่นัดหมายนี่เอง เวลาประมาณตีห้าที่คณะผู้ก่อการฝ่ายทหารที่มาพบกันตามนัดได้ทราบแผนการที่จะปฏิบัติในนาทีต่อไป เราเผยแผนการให้พวกเหล่านี้ทราบ โดยสั่งให้ทำหน้าที่ต่างๆ
    จากคำให้การตรงนี้ของพระประศาสน์ฯ จึงแสดงว่า แผนการที่พระยาทรงฯ ได้กำหนดทุกขั้นตอนนั้นมีพระประศาสน์ฯ ร่วมรู้อยู่ด้วยตั้งแต่ต้น เพราะพระยาทรงฯ ได้เคยบอกว่าได้ให้พระประศาสน์ฯ ช่วย แต่คนอื่นๆ นั้นน่าจะไม่ได้ทราบรายละเอียดมากนัก
    เมื่อมากันพร้อม สั่งการทำความเข้าใจกันเสร็จแล้ว จึงเริ่มออกปฏิบัติการ โดยมุ่งไปที่กรมทหารม้าเป็นแห่งแรก เพื่อให้ได้รถยนต์เกราะและรถรบเล็กไว้ในมือ
    พระยาทรงสุรเดชได้บันทึกเล่าเอาไว้ตอนนี้อีกว่า
    “...พระยาพหลฯ มีหน้าที่งัดคลังกระสุนของกรมทหารม้ากับหลวงสฤษดิ์ยุทธศิลป์ แล้วผู้อำนวยการขนกระสุนมาขึ้นรถ...พระประศาสน์ฯ มีหน้าที่ไปปลุกและคุมตัวนายดาบพระองค์เจ้ากาณุพันธุ์ฯ มาที่หน้าที่ว่าการทหารม้าผู้อำนวยการ (พระยาทรงฯ-ผู้เขียน) จะรวมนายทหารม้าของกรมทหารม้าทั้งหมด  ณ ที่นั่น หลวงชำนาญยุทธศิลป์ หลวงสวัสดิ์รณรงค์และหลวงรณสิทธิพิชัยมีหน้าที่ขึ้นไปบนโรงทหารแล้ว ปลุกเร่งทหารแต่งตัวโดยเร็วไม่ให้ล้างหน้าและเรียกแถวคุมจากโรงม้าที่ถนนหน้ากรมทหารม้าและนำเดินไปกองทหารปืนใหญ่ (โรงม้าอยู่ห่างจากโรงทหารปืนใหญ่ระยะเดินทางประมาณ 10 นาที)”
    ระยะทางจากจุดนัดหมายไปที่เป้าหมายแรกคือ กรมทหารม้านั้นอยู่ไปทางเกียกกาย ซึ่งก็ไม่ไกลนักทางฝั่งตะวันตกของรางรถไฟนั้น สองข้างถนนก็เป็นบริเวณที่ตั้งของหน่วยทหารทั้งนั้น จากสะพานแดงบางซื่อจนถึงเกียกกาย ทุกวันนี้ก็ยังเป็นเขตที่ตั้งหน่วยทหารอยู่และจากกรมทหารม้าเมื่อได้อาวุธยุทโธปกรณ์และกำลังทหารส่วนหนึ่งแล้วใช้รถยนต์วิ่งกลับมาที่กรมทหารปืนใหญ่ที่ พ.อ.พระยาฤทธิ์อัคเนย์ และหน่วยกำลังของทหารปืนใหญ่กำลังฝึกซ้อมรอท่าอยู่ในตอนเช้ามืดนั้นก็จะเป็นเวลาที่น้อยไปกว่าสิบนาทีเสียอีก
    พ.อ.พระยาทรงฯ ยังเล่าต่อไปอีกว่า
    “เวลาสุดท้ายก่อนสั่งเสร็จ พวกหลวงพิบูลฯ มาถึง มีทหารมาด้วยอีกหลายนาย จำไม่ได้ว่ากี่คน ผู้อำนวยการฝ่ายทหารจึงได้มอบหน้าที่ให้ไปคุมบ้านผู้การทหารม้า และถ้าออกมาก็ให้เชิญตัวขึ้นรถคุมไว้ อย่าให้ติดต่อกับทหารได้เท่านั้น”

ประยูร ภมรมนตรี
    ตรงนี้ ร.ท.ประยูร ภมรมนตรี ที่ต่อมาได้ยศสุดท้ายเป็นพลโท ได้เขียนเล่าขยายความว่า
    “ส่วน พ.ท.พระปฏิยุทธอริยั่น ผู้บังคับการกรม ได้มี ดร.ตั้ว ลพานุกรม หลวงชำนาญนิติเกษตร กับคณะผู้ก่อการฝ่ายพลเรือนอีกบางคนที่มีอาวุธพร้อมได้ควบคุมตัวมิให้ลงจากบ้าน”
    ดังนั้นนอกจาก พ.ต.หลวงพิบูลสงคราม และนายทหารอื่นๆ แล้ว จึงยังมีพลเรือนได้ร่วมออกปฏิบัติการในการยึดอำนาจในภาคสนามได้หลายคนและหลายแห่ง ในการปฏิบัติการแรกที่กรมทหารม้านั้น พ.ท.พระประศาสน์พิทยายุทธได้บันทึกคำให้การว่าตัวท่านเองได้รับคำสั่งให้เป็นผู้ควบคุมการจัดการทั้งหมด และคำสั่งที่สำคัญและแสดงถึงความรอบคอบของผู้ออกคำสั่ง คือ พ.อ.พระยาทรงสุรเดช นั้นมีว่า
    “คุณพระประศาสน์ฯ ต้องเอารถออกมาให้หมดจนคันสุดท้ายนะ”
    ที่ว่าสำคัญนั้น คุณพระประศาสน์ฯ ก็ได้เป็นผู้อธิบายเอาไว้เองว่า
    “...เพราะรถยนต์แม้แต่คันเดียวก็อาจวิ่งแตกฝูงไป บอกปรปักษ์ให้รู้ตัว เตรียมต่อสู้เราได้ ฉะนั้นรถยนต์คันสุดท้ายคงดังก้องอยู่ในหูข้าพเจ้า จะต้องไม่มีรถยนต์เหลืออยู่ในกรมทหารม้าเลย และข้าพเจ้าจะมาในคันสุดท้าย”
    การปฏิบัติการแรกที่กรมทหารม้ารักษาพระองค์นั้นมีผู้ให้การอยู่หลายคน แต่รู้สึกว่าคำให้การของพระประศาสน์ฯ ดูจะมีความน่าสนใจ
    “ข้าพเจ้าตรงไปหานายทหารเวรรักษาการณ์ทันที เผอิญนายทหารคนนั้นเป็นศิษย์ข้าพเจ้า เขาจำข้าพเจ้าได้ดี จึงทำความเคารพทันทีพอเขาเห็นข้าพเจ้าเข้ามาทำการ ดังนั้นเขาก็ทราบได้ทันที คืนนี้น่าจะมีอะไรแน่แล้ว อาจารย์จึงได้มาทำอะไรในเวลาวิกาลเช่นนี้...”
    นับเป็นความบังเอิญที่ช่วยทางด้านผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง
    เมื่อนายทหารที่เข้าเวรรักษาการณ์เป็นศิษย์ของพระประศาสน์พิทยายุทธ และน่าจะเป็นศิษย์ที่มีความเคารพอาจารย์อย่างพระประศาสน์พิทยายุทธมากด้วย ทำให้พระประศาสน์ฯ สั่งเปิดประตูกรมทหารม้าได้ง่าย และพานายทหารชั้นผู้ใหญ่ของคณะผู้ก่อการเข้าไปในกรมทหารม้าได้ในเช้ามืดของวันที่  24 มิถุนายน พ.ศ.2475 ดังที่ท่านได้บันทึกเล่าเอาไว้
    “...โชคอำนวยข้าพเจ้าแล้ว ข้าพเจ้ารู้สึกทันทีว่า การยึดอำนาจปกครอง การทำการปฏิวัติ เปลี่ยนแปลงการปกครองครั้งนี้ ท่าจะไม่มีการนองเลือดแน่แล้ว เพราะศิษย์ข้าพเจ้าเข้าใจอุดมคติอันสูงโดยไม่ต้องบอกกันเลย”
    ต่อจากนั้นผู้นำทหารทั้ง 3 ท่าน คือ พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา พระยาทรงสุรเดช และ พระประศาสน์พิทยายุทธ ก็นำพวกเข้าไปในกรมทหารม้า และสั่งทหารที่รักษาการณ์ว่า
    “เฮ้ยรู้ไหม เวลานี้เกิดกบฏกลางเมืองขึ้นแล้วนะ เอารถเกราะ รถรบ ทหารม้าทั้งหมดออกช่วยเดี๋ยวนี้”
    โดยการลวงให้เข้าใจว่ามีเหตุการณ์กบฏ แล้วพระประศาสน์ฯ ก็ให้นายทหารเวรรักษาการณ์ที่เป็นศิษย์สั่งเป่าแตรสัญญาณเกิดเหตุ

พระยาฤทธิอัคเนย์
    “...นายทหารเวรรักษาการณ์ศิษย์ข้าพเจ้าก็สั่งเป่าแตรอาณัติสัญญาณเกิดเหตุสำคัญขึ้นทันที เสียงแตรเกิดเหตุสำคัญดังกังวานในยามดึกสงัด พร้อมทั้งทหารรักษาการณ์ แยกย้ายออกปลุกทหารทั้งกรม เสียงอึกทึกโกลาหลอย่างถึงขนาด...”
    ขณะที่ทหารในกรมทหารม้าถูกปลุกขึ้นอย่างสับสนอลหม่านนั้น พระประศาสน์พิทยายุทธได้เล่าถึงสิ่งที่ผู้นำทหารและท่านเองได้ปฏิบัติว่า
    “...ข้าพเจ้าก็ปราดเข้าไปในกรมทันที สั่งคนไปคุมผู้บังคับการกรมและพระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ไว้ได้ แล้วเข้าเร่งนายทหารทั่วไปให้เอารถออกจากโรงรถอย่างเร่งรีบ...ต่างเร่งต้อนทหารเข้าจัดการเอารถออกจากโรง เสียงรถยนต์ต่างๆ สตาร์ตเครื่องดังพรืดๆ แล่นดังสนั่นหวั่นไหว รถยนต์หุ้มเกราะ รถเกราะ และรถต่างๆ เริ่มแล่นออกเป็นสายๆ ตรงไปยังหน้ากรม...โชคดีแท้ๆ ที่รถยนต์หุ้มเกราะ รถเกราะ และรถบรรทุกต่างก็แล่นไปจอดอยู่หน้าคลังกระสุน และในรถคันสุดท้ายข้าพเจ้านั่งคุมมา...”
    ส่วนหัวหน้าใหญ่ พระยาพหลพลพยุหเสนา ที่ระบุว่าจะต้องเป็นผู้ตัดกุญแจ เพราะมีร่างกายล่ำสันแข็งแรงนั้น พระประศาสน์ฯ ก็บันทึกเล่าว่า
    “เจ้าคุณพหลฯ และหลวงสฤษดิ์ยุทธศิลปสามารถอย่างที่สุดสามารถตัดกุญแจเหล็กขาดได้ และสั่งการอย่างเด็ดขาดแก่ทหารเหล่านั้นให้ขนกระสุนทั้งปวงทั้งหมดในคลังกระสุนขึ้นรถยนต์ รถเกราะและรถบรรทุกจนหมดสิ้นในคืนนั้น เหลือแต่ตัวคลังตั้งตระหง่าน ยืนนิ่งทะมึนอยู่”
    สำหรับ พระยาทรงสุรเดช ซึ่งเป็นผู้สั่งการในการปฏิบัติการทางทหารนั้นพระประศาสน์ฯ ก็บันทึกเล่าไว้เช่นกัน
    “...เจ้าคุณทรงฯ ผู้อำนวยการฝ่ายทหารสั่งรถยนต์ทุกชนิดเข้าแถวเป็นประเภท สั่งทหารประจำขึ้นรถเหล่านั้น สั่งทหารเข้าไปขึ้นรถยนต์ที่กรมทหารปืนใหญ่ ซึ่งอยู่ไม่ไกลกันนัก มีหลวงชำนาญยุทธศิลป์  หลวงรณสิทธิพิชัย หลวงสวัสดิ์รณรงค์เป็นผู้นำ เสียงหลวงรณสิทธิพิชัยดังลั่นก้องกังวาน เร่งทหารน่าเกรงขาม...”
    สามผู้นำทหารสั่งปฏิบัติการจู่โจมยึดอาวุธยุทโธปกรณ์และขนทหาร โดยใช้เวลาประมาณครึ่งชั่วโมง ดังที่พระประศาสน์ฯ สรุปความว่า
    “ภายในครึ่งชั่วโมง ขบวนรถยนต์หุ้มเกราะ รถเกราะ รถบรรทุก และรถนั่งอันยาวเหยียด พร้อมด้วยทหาร และอาวุธยุทโธปกรณ์ บรรจุกระสุนพร้อมเพรียง ก็แล่นออกจากกรมทหารม้ารักษาพระองค์ ตามกันเป็นทิวแถวไปยังพระที่นั่งอนันตสมาคมเป็นส่วนใหญ่”

พระยาพหลพลพยุหเสนา
    ที่จริงตรงนี้คำให้การของพระประศาสน์พิทยายุทธอาจรวบรัดไปเล็กน้อย เพราะนอกจากทหารม้าแล้ว ยังมีทหารปืนใหญ่ด้วยจึงต้องไปสมทบเอาทหารปืนใหญ่กับ พ.อ.พระยาฤทธิ์อัคเนย์ที่รออยู่ในบริเวณใกล้เคียงมาด้วย ดังที่พระยาทรงสุรเดชบันทึกเอาไว้เกี่ยวกับตอนนี้ว่า
    “เมื่อขบวนเดินเท้าเหล่าทหารม้ามาถึงโรงทหารปืนใหญ่ ผู้อำนวยการฝ่ายทหารได้สั่งทหารทั้งหมดทั้งพวกทหารม้าและปืนใหญ่ขึ้นรถยนต์ของกรมทหารปืนใหญ่ ซึ่งเรียงแถวอยู่ในลานฝึกหัดของกรมทหารปืนใหญ่ของพระยาฤทธิ์อัคเนย์...”
    แม้จะได้ทหารปืนใหญ่มาอีกหน่วยแล้ว ก่อนจะไปที่ลานพระบรมรูปทรงม้า ยังต้องการทหารอีกหน่วยไปร่วมด้วย
    เมื่อได้ทหารปืนใหญ่กับ พ.อ.พระยาฤทธิ์อัคเนย์มาแล้ว ขบวนรถทหารของคณะผู้ก่อการฯ ก็แล่นผ่านมาที่กองพันทหารช่างที่ทหารกำลังฝึกซ้อมกันอยู่ พระยาทรงสุรเดชก็ตะโกนเรียกทหารช่างเหล่านั้นให้ขึ้นรถ
    ทั้งนี้คงจำกันได้ว่าในตอนต้นๆ ได้บอกเอาไว้แล้วถึงการนัดหมายในวันที่ 23 มิถุนายน ก่อนวันทำการจริงหนึ่งวัน ที่พระยาทรงสุรเดช "ได้ไปหาผู้บังคับกองพันทหารช่างที่บางซื่อ ขอร้องให้เขานำทหารของเขาทั้งหลายมาฝึกหัดที่สนามหน้าโรงทหารของเขา" และผู้บังคับกองพันทหารช่างก็นำมาฝึกซ้อมจริงๆ ในเช้าวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2475 เพราะเป็นเรื่องคุยนัดหมายกันเมื่อวานนี้นั่นเอง แต่ก็มิได้นัดหมายว่าจะเอาทหารไปปฏิวัติแต่อย่างใด
    พระยาทรงสุรเดช ได้บันทึกเล่าถึงการได้ทหารช่างมาร่วมขบวน
    “...ขบวนรถผ่านหน้ากองพันทหารช่าง ทหารกำลังฝึกหัดอยู่บนสนามหน้ากองพัน ด้วยการกวักมือประกอบด้วยเรียกตะโกนของผู้อำนวยการฝ่ายทหาร ผู้บังคับกองพันทหารช่างเข้าใจว่าถึงเวลาที่ผู้อำนวยการฝ่ายทหารต้องใช้ทหารของตัวตามที่ได้ตกลงกันไว้แต่เย็นวานแล้วจึงสั่งทหารขึ้นรถ พวกทหารวิ่งแข่งกันขึ้นรถด้วยความร่าเริง...รถบรรทุกขบวนยืดยาวเท่าที่มีมาเต็มเสียแล้ว ต่อไปนี้แล่นรวดเดียวถึงหน้าพระลาน โดยไม่หยุดเรียก ทหารในกรมทหารราบที่ 3 ซึ่งอยู่ติดกับกองพันทหารช่าง ขบวนรถยนต์ถึงหน้าพระลานเวลา 06.05 น.”

พระประศาสน์พิทยายุทธ
    ที่ลานพระบรมรูปทรงม้า เช้ามืดวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2475 มีทหาร 4 หน่วยมาพร้อมอยู่แล้ว  หน่วยแรกเป็นทหารเรือจำนวนประมาณ 100 นาย มีอาวุธครบมือ นำโดย น.ต.หลวงสินธุ์สงครามชัย  กับ น.ต.หลวงศุภชลาศัย หน่วยที่สองเป็นนักเรียนนายร้อยทั้งหมดของโรงเรียนที่นำโดย ผู้บังคับการโรงเรียน พ.ท.พระเหี้ยมใจหาญ ซึ่งพระยาทรงฯ ขอให้นำนักเรียนนายร้อยมา "ดูการฝึกหัดต่อสู้รถรบ โดยจะมีรถจริงๆ มาให้ดู" หน่วยที่สามกับหน่วยที่สี่เป็นทหารในกองพันทหารราบที่ 1 และที่ 2 ที่พระยาทรงฯ "ให้นำทหารของตัวไปฝึกหัดที่หน้าพระลานในเช้าวันที่ 24 เวลา 06.00 น. เพื่อจะได้ขอแรงให้ทหารเหล่านั้นได้มีส่วนช่วยเหลือเล็กน้อยเท่านั้น" ทั้งสามหน่วยหลังนี้ต่างกับหน่วยแรก คือ ไม่ได้ร่วมรู้ด้วยในแผนปฏิวัติ แต่ถูกขอให้มาที่ลานพระบรมรูปทรงม้าในเวลาเช้ามืดวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2475  และทั้งสามหน่วยนี้ก็มิได้มีอาวุธครบมืออย่างหน่วยแรกเลย
    ดังนั้นเมื่อเวลา 06.05 น. ทหารทั้งที่รู้ด้วยกับแผนปฏิวัติและที่มิได้รู้ด้วยมีจำนวนรวมกันค่อนข้างมาก จึงอยู่เต็มลานพระบรมรูปทางม้า ฝ่ายที่รู้ด้วยกับแผนการปฏิวัตินั้นมีอาวุธครบมือก็ได้เปรียบอยู่บ้าง ต่อเมื่อขบวนรถขนทหารและรถรบทั้งหลายมาถึงก็เท่ากับว่ามีอาวุธที่ได้เปรียบมากมาเสริม
    ถึงตอนนี้ พ.ท.พระประศาสน์พิทยายุทธ ได้เล่าว่า
    “พวกเราทั้งหลายที่เป็นผู้ก่อการกันมหึมานี้ขึ้น บัดนี้อยู่ไหนกันบ้างเล่า เจ้าคุณพหลกำลังอ่านประกาศเปลี่ยนระบอบการปกครองอยู่ท่ามกลางทหาร สนามพระที่นั่งอนันตสมาคม ท่านเป็นหัวหน้าของการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ในบัดนี้แล้ว เจ้าคุณทรงฯ เป็นผู้อำนวยการทหารทั้งปวง รับผิดชอบในการสั่งงานการใช้กำลังทั้งปวงอยู่ที่ศูนย์กลาง ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม”
    ประกาศเปลี่ยนระบอบการปกครองที่หัวหน้าคณะผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พระยาพหลพยุหเสนา ยืนอ่านวันนั้นคือแถลงการณ์ของคณะราษฎร ฉบับแรกที่ถึงประชาชนโดยขึ้นต้นนั้นใช้คำว่า  "ราษฎรทั้งหลาย" มีเนื้อหาสาระสำคัญที่โจมตีการปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และเสนอการปกครองแบบใหม่ที่ยังไม่มีชื่อแน่ชัดในวันนั้น แต่จะมีสภาผู้แทนราษฎร มีกฎหมายธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน และมีประมุขของประเทศเป็นกษัตริย์ที่อยู่ใต้กฎหมายธรรมนูญการปกครอง
    ส่วนพระยาทรงสุรเดช ผู้ที่สั่งให้นำทหารทั้งหมดเข้าไปในประตูรั้วเหล็กของพระที่นั่งอนันตสมาคม  หลังจากที่พระยาพหลฯ ได้อ่านแถลงการณ์ของคณะราษฎรฉบับแรกแล้ว ได้บันทึกเล่าเรื่องตอนนี้ว่า
    “...เมื่อทหารเข้าไปในรั้วแล้ว ผู้อำนวยการฝ่ายทหารได้สั่งให้เข้าแถวคละกันทั้งหมดทุกเหล่า เตรียมสำหรับที่จะสั่งใช้ได้ต่อไป การที่ให้เข้าแถวคละกันเช่นนี้ย่อมเป็นการป้องกันมิให้ผู้บังคับบัญชาคนใดคนหนึ่งสั่งการแก่ทหารของตัวได้สะดวก เพราะทหารของตัวมิได้รวมกันอยู่ กระจายแทรกอยู่ทั่วไป...”
    เมื่อดำเนินมาได้ถึงขั้นนี้ก็ถือว่าการปฏิบัติการตามแผนการขั้นที่หนึ่ง “ต้องรวบรวมทหารให้มากที่สุดเท่าที่จะรวมมาได้ จากกรมกองทหารในกรุงเทพฯ ไปรวมไว้พระที่นั่งอนันต์และบังคับทหารเหล่านั้นไว้ให้อยู่ในมือ” สำเร็จแล้ว
    ฉะนั้นคณะผู้ก่อการฯ ก็จะต้องดำเนินการต่อไปในขั้นที่สอง.
                -------------------
สถาบันพระปกเกล้า, ศาสตราจารย์พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"