เราแพ้เพื่อนบ้านเพราะ เขามีวินัยและขยันกว่า


เพิ่มเพื่อน    

       เมื่อวานผมยกเอาข้อความจากสองนักวิชาการที่วิเคราะห์จุดอ่อนและจุดแข็งของไทยและเวียดนาม  เพื่อหาข้อสรุปว่าประเทศไทยเราจะต้องตั้งหลัก เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงที่กำลังถาโถมเข้ามาอย่างรุนแรงอย่างไร

                ผมเองถือว่าปัจจัยเรื่อง "ความขยัน" และ "ความอดทน" เป็นหัวใจของความแตกต่างระหว่างสองประเทศ

                หรือถ้าเปรียบเทียบกับสิงคโปร์และมาเลเซียในอาเซียนเอง เขาก็ขยันกว่าเรา

                ไม่ต้องเอ่ยถึงญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ที่ฟื้นจากความหายนะของสงครามได้ ก็เพราะความขยันและวินัยแห่งชาติเป็นหลัก

                ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้ และเวียดนามล้วนเจอสงครามยาวนานและหนักหน่วงที่ทำให้เศรษฐกิจและการเมืองหายนะไปเลยทีเดียว

                ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง หลายๆ ด้านเศรษฐกิจของญี่ปุ่นแย่กว่าไทย

                ผมเจอคนญี่ปุ่นรุ่นที่มีชีวิตอยู่ช่วงหลังสงครามใหม่ๆ พวกเขายังแสดงความขอบคุณไทยที่ส่งข้าวไปช่วยให้คนของประเทศเขารอดอดตายในช่วงที่ลำบากที่สุด

                คนญี่ปุ่นรุ่นนั้นยังจำรสชาติของข้าวไทยได้อย่างดี มีความทรงจำดีๆ เกี่ยวกับความเมตตาของคนไทยถึงวันนี้

                เศรษฐกิจญี่ปุ่นถูกทำลายเป็นผุยผงหลังพ่ายแพ้สงคราม โดยระเบิดปรมาณูทำลายเมืองฮิโรชิมาและนางาซากิอย่างรุนแรงและกว้างขวาง สหรัฐฯ เข้าไปยึดประเทศนั้น เขียนรัฐธรรมนูญใหม่ตัดแขนตัดขาทางทหารของญี่ปุ่นราบคาบ

                คนญี่ปุ่นกัดฟันสร้างชาติใหม่ด้วยความมานะบากบั่น ยอมก้มหน้ารับความพ่ายแพ้ เอาความอึด วินัย และความขยันขันแข็งเป็นหลักในการฟื้นฟูประเทศใหม่

                เขาเริ่มด้วยการประหยัด อดออม ถ่อมตน และสำคัญที่สุดคือความมีระเบียบวินัย ขยันขันแข็ง และซื่อสัตย์สุจริตต่อหน้าที่ของตนเอง

                เกาหลีใต้ก็เช่นกัน ครั้งหนึ่งเขาเคยล้าหลังกว่าไทยด้วยซ้ำ แต่ด้วยความมุมานะและขยันขันแข็ง  หนักเอาเบาสู้ จนสามารถสร้างสังคมใหม่ที่พร้อมจะก้าวกระโดดไปสู่ความเป็นหนึ่งใน NICs หรือ Newly  Industrialized Countries

                เคียงคู่กับญี่ปุ่น, ไต้หวัน และฮ่องกง

                ทั้งสองประเทศกำหนดทิศทางของการสร้างชาติด้วยวิสัยทัศน์แนวเดียวกัน

                นั่นคือการก้าวเข้าสู่ประเทศที่มีนวัตกรรมผ่านการสร้างสมเทคโนโลยี

                ตัวอย่างของการสร้างแบรนด์ระดับโลกผ่านการวิจัยและพัฒนาทางเทคโนโลยีคือ

                ญี่ปุ่นมียี่ห้อ Sony เกาหลีใต้มี Samsung

                ทั้งสองยี่ห้อประจำชาติเกิดได้ด้วยการทุ่มเทการศึกษาวิจัยและพัฒนาอย่างจริงจังต่อเนื่อง

                ทั้งญี่ปุ่นและเกาหลีใต้เริ่มด้วยการลอกเลียนแบบตะวันตกก่อน (เช่นเดียวกับจีนที่เดินตามแนวเดียวกันในอีกหลายสิบปีต่อมา...และเวียดนามก็กำลังเจริญรอยตามในทางเดียวกัน)

                สมัยผมเป็นเด็กๆ พ่อแม่จะบอกเสมอว่าสินค้าญี่ปุ่นมีคุณภาพแย่ ใช้ไม่กี่ครั้งก็จะเสีย สู้สินค้าจากเยอรมนีและอเมริกาไม่ได้

                ซึ่งก็เป็นความจริงอยู่หลายสิบปีหลังสงคราม

                แต่เขาตัดสินใจสร้างชาติด้วยการปฏิรูปการศึกษาครั้งใหญ่เพื่อสร้างคน

                เพราะการสร้างชาติต้องเริ่มที่สร้างคน

                เมื่อสร้างนักคิดนักประดิษฐ์นักวิทยาศาสตร์และวิศวกรได้จำนวนหนึ่งแล้ว เขาก็เริ่มให้วิจัยและพัฒนาสินค้านวัตกรรมของตนเองหลังจากเรียนรู้จากชาติอื่นที่ก้าวหน้ากว่า เช่น สหรัฐฯ และยุโรป

                จากการลอกเลียนและก๊อบปี้ ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ก็สร้างสินค้าของตนเอง

                เริ่มปรับปรุงคุณภาพอย่างจริงจังด้วยการตั้งเป้าว่าจะต้องเปลี่ยนภาพลักษณ์ของ "สินค้าคุณภาพต่ำ  ราคาถูก ใช้ไม่กี่วันก็เสีย" เป็น "สินค้าที่มีคุณภาพไม่แพ้ของตะวันตก แต่ราคาจะถูกกว่า"

                นั่นเป็นกระบวนการที่ต้องใช้ความพยายามปรับปรุงแก้ไขและพัฒนาตลอดเวลาอย่างเอาจริงเอาจัง

                ความสำเร็จเช่นนั้นไม่ได้มาง่ายๆ...ต้องเกิดจากวิสัยทัศน์และความมุ่งมั่นตั้งแต่ผู้นำระดับชาติ ไปถึงเอกชนที่แข็งขันกล้าเสี่ยงกล้าทดลอง และนักวิชาการที่ทำงานวิเคราะห์วิจัยอย่างทุ่มเทและกล้าวิพากษ์วิจารณ์และนำเสนอ

                การปฏิรูปการศึกษาและการเปิดกว้างสำหรับความคิดใหม่ๆ....พร้อมจะล้มเหลว พร้อมจะเรียนรู้จากความผิดพลาดและเริ่มต้นใหม่อย่างทรหด

                นั่นคือสูตรความสำเร็จของญี่ปุ่นและเกาหลีใต้กับไต้หวันในช่วงเปลี่ยนผ่าน

                ก่อนที่จีนและเวียดนามจะเดินตามรอยนั้น...พร้อมกับการเสริมด้วยเทคโนโลยีและการปรับตัวให้ทันกับ "ความป่วน" หรือ disruption ที่มาพร้อมกับยุค digital

                พรุ่งนี้วิเคราะห์เรื่องนี้ต่อเพื่อจะหาข้อสรุปว่า ประเทศไทยจะสามารถยกระดับความสามารถของการแข่งขันได้จริงจังอย่างไร? 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"