เปรียบเทียบจุดแข็ง-จุดอ่อน 'เวียดนาม' กับ 'ไทย'


เพิ่มเพื่อน    

      วันก่อนผมอ่านเจอข้อความของ ดร.อักษรศรี พานิชสาส์น แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่เพิ่งไปตั้งวงคุยกับเอกอัครราชทูตไทยประจำเวียดนามว่าด้วยจุดแข็งของประเทศนั้น ที่มีส่วนทำให้นักวิเคราะห์หลายสำนักมองว่ากำลังแซงหน้าประเทศไทยในหลายๆ ด้าน

                ตอนหนึ่งของ "คำเตือน" จากอาจารย์อ่านได้ความว่า

                "ตื่นเถิดชาวไทย!!! สรุปการบรรยายของท่านทูตไทยประจำเวียดนาม ท่านธานี แสงรัตน์ อะไรทำให้เวียดนามวิ่งฉิวและสามารถดึงดูดทุนต่างชาติ FDI ไหลเข้าจนแซงไทย แถมยังมีการพัฒนานวัตกรรมจนติดอันดับโลก Global Innovation Index (GII) ชนะไทยแลนด์!!!"

                อาจารย์อักษรศรีสรุปจากการพูดคุยกับท่านทูตไทยประจำเวียดนามว่า จุดแข็งของเวียดนามมีดังนี้

                -การเมืองนิ่ง/มีเสถียรภาพ (เหตุเพราะเวียดนามเป็นประเทศคอมมิวนิสต์)

                -มียุทธศาสตร์ชาติและนโยบายมีทิศทางชัด มี vision ว่าจะทำ Industrialization เป็นประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำของโลก

                -คุณภาพแรงงาน/ขยัน/วัยหนุ่มสาวกระตือรือร้นใฝ่เรียนรู้

                -เทคโนโลยีเริ่มพัฒนา

                -Location (ที่ตั้งทางภูมิศาสตร์) เชื่อมโยงการลงทุนจากประเทศอื่นในเอเชีย เช่น เกาหลี ญี่ปุ่น

                -นโยบาย FDI (Foreign Direct Investment หรือการลงทุนจากต่างชาติโดยตรง) จัดโปรโมชันแรง  ตั้งเขตนิคมฯ กระจายมากขึ้น

                อาจารย์เสริมว่าด้วยเหตุผลเหล่านี้ เวียดนามจึงกลายเป็นประเทศที่ได้รับอานิสงส์จากสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ แม้ว่าจะมีจุดอ่อนจากปัญหาโครงสร้างพื้นฐานที่ยังไม่ทันสมัยและทั่วถึง

                "แต่เวียดนามก็โตแบบวิ่งฉิว" คือข้อสรุปของอาจารย์อักษรศรี

                ในวันเดียวกันนั้น ผมก็อ่านเจอบทวิเคราะห์ของ ดร.สันติธาร เสถียรไทย หัวหน้าฝ่ายวิเคราะห์เศรษฐกิจของ Sea Group ใน The Standard เปรียบเทียบจุดอ่อนและจุดแข็งของไทยทางเศรษฐกิจกับประเทศอื่นๆ ในอาเซียน

                และหนึ่งในประเด็นคือ การเปรียบเทียบจุดแข็งและจุดอ่อนของไทยกับเวียดนามเช่นกัน

                ดร.สันติธารเขียนไว้ตอนหนึ่งว่า ไทยนั้นเมื่อเปรียบเทียบกับอาเซียนอื่นแล้วก็มีจุดแข็งที่ People  (ทักษะมนุษย์) แต่อ่อนที่ Analytical (ความสามารถทางวิเคราะห์)

                ตอนหนึ่ง ดร.สันติธารเขียนว่า

                จากข้อมูลแบบสำรวจคนรุ่นใหม่ในอาเซียนอายุ 15-35 ปี โดยบริษัท Sea และ World Economic  Forum ที่มีข้อมูลถึง 56,000 คน (เป็นเยาวชนไทยประมาณ 10,000 คน) มีคำถามหนึ่งให้คนเลือกว่าตนเองมีความเชี่ยวชาญในแต่ละทักษะระดับใด (เลือกได้ตั้งแต่ไม่มีทักษะนี้เลย มีบ้าง จนถึงเชี่ยวชาญมาก)

                ผลปรากฏว่าข่าวดีก็คือเยาวชนไทยเกิน 50% คิดว่าตนเองพอมีความเชี่ยวชาญอยู่บ้างในทักษะแห่งอนาคตทั้ง 3 กลุ่ม โดยเฉพาะด้านทักษะที่เกี่ยวกับ People Skills เราค่อนข้างโดดเด่นกว่าประเทศอื่นในอาเซียน

                โดยคนไทย 75% คิดว่าตัวเองมีความเชี่ยวชาญทักษะด้านนี้เทียบกับค่าเฉลี่ยอาเซียนอยู่ที่ 71%

                ซึ่งจุดเด่นที่สุดคือเรื่องของการสื่อสารและทักษะทางอารมณ์ ซึ่งสมกับการเป็นประเทศแห่งการท่องเที่ยวและบริการ อีกทั้งยังสอดคล้องกับการที่สังคมไทยมักถูกมองว่ามี Service Mindset ที่ดี แม้บางครั้งภาษาต่างประเทศอาจไม่แข็งแรงนัก

                แต่ข่าวร้ายคือคนไทยดูจะไม่ค่อยมั่นใจในทักษะอีก 2 กลุ่มเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของอาเซียน โดยเฉพาะกลุ่มเรื่องการคิดวิเคราะห์และเชิงวิพากษ์ โดยคนไทยเพียง 60% คิดว่าตนเองพอมีทักษะด้านนี้  ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของอาเซียนที่อยู่ 71% อย่างเห็นได้ชัด

                นอกจากนี้ในกลุ่มทักษะด้านการสร้างสรรค์นวัตกรรม เยาวชนก็ดูจะไม่มั่นใจเท่าคนในประเทศอื่นๆ  โดย 66% ของคนไทยบอกว่าเชี่ยวชาญทักษะนี้เทียบกับค่าเฉลี่ยของอาเซียนที่ 74%

                คำถามที่น่าคิดต่อคือ ทำไมทักษะแห่งอนาคต 2 กลุ่มนี้จึงดูเหมือนจะเป็นจุดอ่อนของเรา เช่น เป็นไปได้หรือไม่ว่ามันสะท้อนระบบการศึกษาที่ให้ความสำคัญกับ "การเชื่อฟัง ท่องจำ ทำข้อสอบ" แต่ไม่ได้สนับสนุนการคิดวิเคราะห์ การหามุมมองที่แตกต่าง การค้นคว้าพิสูจน์หลักฐาน การทดลองไอเดีย รวมไปถึงการคิดนอกกรอบแบบที่จะช่วยสร้างเสริม "กล้ามเนื้อ" การวิเคราะห์ คิดเชิงวิพากษ์ และสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ และอาจไม่ใช่แค่ระบบการศึกษาที่มีปัญหานี้ แต่เริ่มตั้งแต่แนวทางการอบรมสั่งสอนเด็กของบุพการีไปจนถึงวิธีการบริหารของผู้ใหญ่ในองค์กรต่างๆ หรือไม่

                อีกข้อสังเกตหนึ่งที่น่าสนใจคือ เยาวชนของประเทศอื่นๆ ส่วนใหญ่มักจะมีความมั่นใจในทักษะแต่ละกลุ่มใกล้เคียงกัน คือถ้าสัดส่วนคนที่คิดว่าตนเองเชี่ยวชาญทักษะด้านการวิเคราะห์สูง ก็มักจะมีสัดส่วนคนที่มั่นใจในทักษะด้านนวัตกรรมและ People Skills ไปด้วย

                แต่ประเทศไทยและเวียดนามเป็นสองกรณียกเว้นอย่างชัดเจน และในทางตรงกันข้ามกันโดยสิ้นเชิง

                "ในขณะที่เยาวชนไทยดูจะเชี่ยวชาญในทักษะด้าน People แต่ไม่ค่อยมั่นใจเรื่องการวิเคราะห์และการสร้างสรรค์นวัตกรรม คนรุ่นใหม่ของเวียดนามกลับมั่นใจในสองทักษะหลัง แต่กลับคิดว่าตนเองอ่อนปวกเปียกด้าน People Skills โดยมีสัดส่วนแค่ 55% ที่คิดว่าตนเองมีความเชี่ยวชาญด้านนี้ ซึ่งถือว่าต่ำที่สุดในอาเซียน"

                ดร.สันติธารเขียนต่อว่า

                "ในฐานะนักเศรษฐศาสตร์ที่วิเคราะห์เวียดนามด้วย ทำให้อดสงสัยไม่ได้ว่านี่อาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่แม้เวียดนามจะโดดเด่นในด้านอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีอย่างที่หลายคนคาดไม่ถึง แต่ในด้านบริการ เช่น บุคลากรท่องเที่ยว อาจถือว่ายังสู้ประเทศไทยไม่ได้ในวันนี้"

                แง่มุมจากทั้งสองท่านน่าสนใจมาก ควรแก่การวิเคราะห์ต่อเนื่องเพื่อนำมาปรับทิศทางการพัฒนาเยาวชนไทยกันต่อไป. 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"