“ปริญญา”ฟันธงข้อกฎหมาย อัด“สุริยะ”พลิกมติแบนสารพิษ


เพิ่มเพื่อน    

         การแบนสามสารเคมีคล้ายเป็นดราม่าที่ต่างคนต่างพูด  ท่ามกลางข้อสงสัยว่ามีอะไรเข้ามาเกี่ยวข้องหรือไม่ หลังจาก ”นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” รมว.อุตสาหกรรมจากพรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย ในวันที่ 27 พ.ย.2562 ที่ผ่านมาว่า ให้เลื่อนการแบนและจำกัดการใช้สามสารเคมี โดย 2 สารเคมี คือ คลอร์ไพริฟอส และพาราควอต ไปถึงวันที่ 1 มิ.ย.63 ส่วนไกลโฟเซต สามารถใช้ต่อได้แบบจำกัด 

                โดยนายสุริยะอ้างว่า “คณะกรรมการวัตถุอันตรายมีมติเป็นเอกฉันท์” แต่รองศาสตราจารย์เภสัชกร จิราภรณ์ ลิ้มปานานนท์ หนึ่งในคณะกรรมการฯ ที่ประกาศลาออกไปแล้ว ได้ออกมาแย้งว่า “ในการประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตรายครั้งนี้ ไม่มีการลงมติอย่างชัดเจนว่ากรรมการแต่ละท่านเห็นด้วยหรือไม่ในแต่ละประเด็น แต่เป็นภาวะจำยอม” 

                สอดรับกับข้อมูลอีกด้านหนึ่งของ 2 เสียงตัวแทนจากกระทรวงสาธารณสุข คือ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กับ นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ระบุว่า “วันนั้นไม่มีการลงมติ”

                จนกระทั่งมีการร้องกันไปมาในเหตุการณ์วันดังกล่าวจน  สังคมงุนงงกับปรากฏการณ์สามสารเคมีจากสิ่งที่ตัวละครหลักเรื่องนี้แสดงออกมาแตกต่างกัน

                “นายอนุทิน ชาญวีรกูล“ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข รวมทั้ง ”น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์“ รมช.เกษตรและสหกรณ์จากพรรคภูมิใจไทย ยืนยันว่าต้องแบนในวันที่ 1 ธ.ค. และยึดมติการประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตรายวันที่ 22 ต.ค. ซึ่งเป็นกรรมการชุดเก่า

                “รองนายกฯ อนุทิน” ยังย้ำกับสื่อหลายแขนงในดราม่าการเมืองเรื่องนี้ว่า “หากมีอำนาจจะแบนแน่นอน เพราะสิ่งที่ดำเนินการนั้นพวกผมสุดซอยแล้ว”

                “เวลามีอะไรที่กระทบสุขภาพประชาชนแม้นิดเดียว แม้จะเกี่ยวกับเศรษฐกิจขนาดไหน ผมก็แลกด้วยไม่ได้ เพราะชีวิตคนมีค่ามากกว่าและตีค่าเป็นเงินไม่ได้”

                สอดรับกับข้อมูลจำนวนผู้เสียชีวิตและเจ็บป่วยจากประชาชนที่สารเคมีอันตราย (ข้อมูลจากหลักประกันสุขภาพ หรือบัตรทอง มีผู้เสียชีวิตระหว่างปี 2559-2562 จำนวนผู้เสียชีวิตมากถึง 2,193 ราย ค่ารักษาพยาบาลเฉลี่ยปีละ 20 ล้านบาทต่อปี) 

                แต่สิ่งที่น่าให้น้ำหนักตอนนี้และหลายคนสงสัยว่าในการประชุมวันนั้นมีการลงมติหรือไม่.. หากไม่มีการลงมติ มันจะมีผลทางกฎหมายใด และใครพูดความจริงไม่ครบด้าน.. และทำไปด้วยเหตุผลใดกันแน่?

                นักวิชาการชื่อดัง “ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล  อาจารย์ประจำภาควิชากฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์เฟซบุ๊ก ในหัวข้อว่า “มติของคณะกรรมการวัตถุอันตรายที่เลื่อนการแบนสามสารพิษชอบด้วยกฎหมายหรือไม่?”

                นักวิชาการทางกฎหมายคนนี้ระบุใจความในเฟซบุ๊กว่า คำถามคือเมื่อไม่มีการให้กรรมการลงมติ จะถือว่าเป็นมติของคณะกรรมการวัตถุอันตรายที่ชอบด้วยกฎหมายได้หรือไม่? และยกตัวอย่างทางวิชาการทางกฎหมายและบรรทัดฐานจากคำตัดสินของศาลฎีกาว่า

                ข้อกฎหมาย ในเรื่องนี้เราต้องเริ่มด้วยการพิจารณากฎหมายที่เกี่ยวข้องคือ #พระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ.2535 ซึ่งมาตรา 12 วรรคสอง บัญญัติไว้ว่า “การวินิจฉัยชี้ขาดของที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมาก กรรมการคนหนึ่งให้มีเสียงหนึ่งในการลงคะแนน ถ้าคะแนนเสียงเท่ากันให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด..”

                นั้นหมายความว่าจะเรียกว่าเป็นการลงมติได้ จะต้องให้กรรมการแต่ละคนได้ออกเสียงในแต่ละประเด็น โดยให้กรรมการคนหนึ่งมีหนึ่งเสียง ทั้งนี้ มติที่ใช้คือเสียงข้างมาก ซึ่งหมายถึงเสียงข้างมากของผู้เข้าประชุม

                และเมื่อต้องมีการออกเสียงก็ต้องมีการตรวจสอบองค์ประชุมก่อนด้วย ซึ่ง พ.ร.บ.วัตถุอันตราย มาตรา 12 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “การประชุมของคณะกรรมการต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมดจึงจะเป็นองค์ประชุม”

                ข้อเท็จจริง : ตามข้อเท็จจริงจากอาจารย์จิราภรณ์ ระบุว่าการประชุมครั้งนี้ไม่ได้มีการให้กรรมการแต่ละคนได้ลงมติหนึ่งคนหนึ่งเสียงแต่ประการใด ซึ่งสอดคล้องกับที่คุณสุริยะได้ให้สัมภาษณ์ไว้ คือตนเอง “สันนิษฐานเอา” ทั้งไม่ปรากฏว่ามีการตรวจสอบองค์ประชุมว่ามีสมาชิกมาประชุมอย่างน้อยกึ่งหนึ่งแล้วหรือไม่ มตินี้จึงมิใช่มติที่ดำเนินการถูกต้องตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตราย

                ส่วนบรรทัดฐานของศาล แม้จะมีหลักฐานการเซ็นชื่อเข้าประชุมว่ามีกรรมการมาประชุมตอนเริ่มประชุมครบองค์ประชุม แต่เรื่องนี้ทั้งศาลรัฐธรรมนูญ (คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 3/2551) และศาลฎีกา (คำพิพากษาศาลฎีกา ที่ 3623/2527) ได้เคยวินิจฉัยเป็นบรรทัดฐานไว้แล้วว่า องค์ประชุมต้องครบตลอดเวลาไปถึงตอนลงมติ จึงต้องนับองค์ประชุมตอนลงมติว่าครบหรือไม่ โดยนับจากคะแนนเสียงทั้งหมดที่ออก แต่เมื่อไม่มีการให้กรรมการลงมติ จึงไม่อาจทราบได้เลยว่าองค์ประชุมตอนลงมติครบองค์ประชุมหรือไม่

                “อาจารย์ปริญญา” ฟันธงว่า เมื่อไม่มีการนับองค์ประชุมตอนลงมติ และไม่มีการให้กรรมการแต่ละคนออกเสียงในเรื่องที่ขอมติ จึงสรุปได้ว่ามติของคณะกรรมการวัตถุอันตรายที่เลื่อนการแบนสามสารพิษ #จึงไม่ใช่มติที่ชอบด้วยกฎหมาย หรือพูดอีกอย่างได้ว่า เท่ากับยังไม่มีมติใหม่ ครับ”

                ขณะที่ นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการไบโอไทย  หนึ่งภาคีเครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษร้ายแรง 686  องค์กร กล่าวว่า เครือข่ายฯ มีข้อเสนอ ประกอบด้วย 1.ยืนยันให้ทุกฝ่ายเคารพมติของคณะกรรมการวัตถุอันตรายเมื่อวันที่ 22 ต.ค.2562 โดยกระทรวงอุตสาหกรรมต้องดำเนินการตามขั้นตอนในการออกประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา เพื่อให้การแบนพาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต มีผลบังคับใช้ตามกฎหมายโดยเร็ว

                2.เครือข่ายฯ ขอประกาศจะดำเนินการฟ้องศาลปกครอง และศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบต่อนายสุริยะ ในฐานะประธานคณะกรรมการวัตถุอันตรายที่ดำเนินการประชุมเมื่อวันที่ 27 พ.ย.2562 โดยมิชอบ ซึ่งจะดำเนินการทันทีหากไม่มีหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องกับคณะกรรมการวัตถุอันตรายยื่นตีความว่ามติดังกล่าวมีผลหรือไม่ และหากศาลพิจารณาว่าดำเนินการประชุมโดยมิชอบ ก็จะทำให้มติในวันนั้นไม่มีผลบังคับ

                ล่าสุด นายสุริยะตอบคำถามเหล่านี้ที่ทำเนียบรัฐบาลโต้  อ.ปริญญาว่า การลงมติแบนสารเคมีถูกต้อง และทั้งเตรียมนักกฎหมายไปดูเพื่อฟ้องกลับเครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษอันตรายร้ายแรง 686 องค์กรว่าทำให้ตัวเองได้รับความเสียหายหรือไม่

                สุดท้ายแล้ว ต้องดูว่าใครจะต้องรับผิดชอบกับการกระทำครั้งนี้ เพราะเรื่องนี้มิใช่เพียงดราม่าการเมือง และผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจเพียงเท่านั้น แต่มีความเป็นความตายของประชาชนเดิมพัน.

/-/-/-

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"