686องค์กรฟ้อง สุริยะมติมิชอบ ยื้อแบนสารพิษ


เพิ่มเพื่อน    

    "มนัญญา" แจงกระทู้ ส.ว.เตรียมรับมือแบนสารพิษไว้แล้ว โบ้ยอำนาจยกเลิกอยู่ที่ "สุริยะ"  หมอระวีแนะ 3 พรรคเร่งเคลียร์ปัญหา หาข้อสรุปที่ลงตัว 686 องค์กรจ่อฟ้องศาลปกครอง-ศาลอาญาทุจริต เอาผิด "รมว.อุตสาหกรรม" ออกมติ 27 พ.ย.โดยมิชอบ
    ที่รัฐสภา เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม เวลา 10.00 น. ในการประชุมวุฒิสภา ที่มี พล.อ.สิงห์ศึก สิงห์ไพร  รองประธานวุฒิสภา เป็นประธานการประชุม ได้พิจารณากระทู้ถามของ นพ.อำพล จินดาวัฒนะ และนายสมชาย ชาญณรงค์กุล ส.ว. เรื่องรัฐบาลมีแผนยกเลิกการใช้วัตถุอันตราย 3 รายการ ได้แก่ พาราควอต, คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต อย่างไร และหากไม่มีการยกเลิก รัฐบาลมีข้อมูลเหตุผลใดรองรับ
    โดย น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ชี้แจงว่า คณะกรรมการวัตถุอันตรายได้ประชุมเมื่อวันที่ 27 พ.ย.ที่ผ่านมา ยังไม่มีผลทางกฎหมาย ขณะนี้ยังไม่ประกาศลงนามโดย รมว.อุตสาหกรรม จึงไม่อาจคาดการณ์และนำมาเป็นแนวทางปฏิบัติได้ แต่สำหรับกระทรวงเกษตรฯ ได้เสนอห้ามใช้วัตถุอันตรายไปแล้ว 89 ชนิด แต่การประกาศยกเลิกการใช้สารเคมีดังกล่าวต้องอาศัยอำนาจตามมาตรา 18 ของ พ.ร.บ.วัตถุอันตรายที่มี รมว.อุตสาหกรรมเป็นประธาน 
    อย่างไรก็ตาม รมว.เกษตรและสหกรณ์ได้ตั้งคณะทำงานโดยมีปลัดกระทรวงเกษตรฯ เป็นประธาน เพื่อรองรับการดำเนินการไว้แล้ว ซึ่งการจำกัดการใช้จะเข้าไปดูแลเป็นพิเศษ หากตนยังได้รับมอบหมายให้กำกับดูแลกรมวิชาการเกษตรอยู่ ซึ่งขอบคุณ ส.ว.ที่มีความห่วงใยสุขภาพของประชาชน เนื่องจากสารเคมี 3 ชนิดนี้หลายประเทศได้ยกเลิกการใช้แล้วเพื่อให้เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ดังนั้นจะดำเนินการเร่งรัดในเรื่องนี้
    ทางด้าน นพ.ระวี มาศฉมาดล ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ ในฐานะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการควบคุมการใช้สารเคมีในภาคเกษตรกรรม สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า หลังจากคณะกรรมการวัตถุอันตรายมีมติเลื่อนแบนสารเคมี 2 ชนิดคือ พาราควอตและคลอร์ไพริฟอส ส่วนไกลโฟเซตให้ใช้ได้ตามประกาศควบคุม ว่าเป็นความเห็นต่างใน 3 พรรคร่วมรัฐบาล คือพรรคประชาธิปัตย์, พรรคภูมิใจไทย และพรรคพลังประชารัฐ จึงกลายเป็นความขัดแย้งระหว่างประชาชน 2 ฝ่าย ระหว่างฝ่ายที่เห็นด้วยกับการแบนสารเคมีกับฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับการแบนสารเคมี
    นพ.ระวีกล่าวว่า สิ่งที่ควรเร่งให้เกิดขึ้นคือ พรรคร่วมรัฐบาลทั้ง 3 พรรคต้องเร่งเดินหน้าพูดคุยกันให้ชัดเจน ว่าจะมีมาตรการใดในช่วง 6 เดือนที่เลื่อนแบนสารเคมี หากฝ่ายการเมืองยังไม่มีข้อสรุปลงตัวชัดเจน สิ่งที่น่าห่วงคือจะเกิดความขัดแย้งในภาคประชาชน เพราะฝ่ายที่อยากให้แบนก็ต้องสู้ต่อ ส่วนฝ่ายเกษตรกรที่ไม่อยากให้แบนก็สู้ต่อเช่นกัน ซึ่งนายกรัฐมนตรีอาจจะตัดสินใจเรียกทั้ง 3 ฝ่ายมาพูดคุยกันว่าจะทำอย่างไรต่อไป แต่ส่วนตัวเห็นว่าไม่ควรกลับมติ ควรยืนยันการแบนสารเคมีทั้ง 3 ตัว โดยให้มีบทเฉพาะกาลช่วงเปลี่ยนผ่าน 6 เดือน กำหนดมาตรการผ่อนผันหาทางออกให้เกษตรกรปรับตัว และทุกอย่างก็จะราบรื่นมากขึ้น ทั้งนี้รัฐบาลควรตั้งคณะกรรมการร่วมเพื่อศึกษาวิจัยหาความจริง โดยมีตัวแทนจากทั้งสองฝ่ายเก็บตัวอย่างทั้งน้ำและดินว่ามีสารพิษตกค้างจริงหรือไม่ นอกจากนี้ขอให้รัฐบาลตั้งเรื่องเกษตรอินทรีย์เป็นวาระแห่งชาติ 
    ที่มูลนิธิชีววิถี เครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษอันตรายร้ายแรง 686 องค์กร ร่วมกับเครือข่ายผู้บริโภค นำโดยนายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี หรือไบโอไทย, น.ส.สารี อ๋องสมหวัง  เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค, นายสุนทร รักษ์รงค์ นายกสมาคมเกษตรกรชาวสวนยาง 16 จังหวัดภาคใต้ ในฐานะเลขาธิการสภาเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทย และคณะแพทยศาสตร์ ม.ขอนแก่น และประธานคณะทำงานวิชาการเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-Pan) ร่วมกันแถลงข่าวเดินหน้าขับเคลื่อนการแบน 3 สารพิษหลังมีมติสันนิษฐานล้มแบนไกลโฟเซต เลื่อนแบนพาราควอตและคลอร์ไพริฟอส
    นายวิฑูรย์กล่าวว่า มติของคณะกรรมการวัตถุอันตรายดังกล่าว ขอใช้คำว่าเป็นมติสันนิษฐานของนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม เพราะเป็นการดำเนินการที่ไม่มีเหตุผลรับรองในการทบทวนมติและกระบวนการไม่ชอบด้วยกฎหมาย เหตุผลที่มติไม่ชอบ คือ 1.ข้ออ้างการทบทวนมติเมื่อวันที่ 22  ต.ค.52 ไม่มีเหตุผลสนับสนุนอย่างเพียงพอ เช่น อ้างว่าไกลโฟเซตไม่เป็นอันตราย ซึ่งขัดแย้งกับข้อวินิจฉัยของสถาบันมะเร็งนานาชาติ (IARC) องค์การอนามัยโลก และคำตัดสินของศาลสหรัฐฯ ที่ให้บริษัทสารเคมีต้องจ่ายค่าเสียหายแก่ผู้ใช้และแก่รัฐ อ้างว่าขัดต่อความตกลงในองค์การการค้าโลกที่ต้องให้แจ้งล่วงหน้า 60 วันก่อนมีมาตรการ แต่ในความตกลงสุขอนามัยและอนามัยพืช (SPS) ระบุไว้ว่า กรณีที่เป็นเรื่องเร่งด่วนที่กระทบต่อสุขภาพ สามารถดำเนินการได้โดยไม่ต้องยึดกรอบเวลา
     นอกจากนี้ยังมีการอ้างว่ามีผู้คัดค้านจำนวนมาก 75% จากการเปิดรับฟังความคิดเห็นออนไลน์ ซึ่งเป็นไปโดยมิชอบ เนื่องจากนำรายชื่อผู้คัดค้านจากกลุ่มที่ได้รับการสนับสนุนจากบริษัทสารพิษ 17,527  รายชื่อมารวมด้วย และการลงมติทางออนไลน์ 1 คนก็ทำได้หลายครั้ง ส่วนข้ออ้างว่าไม่มีระยะเวลาเพียงพอและไม่มีวิธีการทดแทนนั้น จริงๆ แล้วกระทรวงสาธารณสุขเสนอให้แบนมากว่า 2 ปี 7 เดือนแล้ว กระทรวงเกษตรฯ กลับไม่เสนอทางเลือกที่เป็นรูปธรรม 
    2.กระบวนการลงมติเมื่อวันที่ 27 พ.ย.เป็นการลงมติที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เห็นได้จากการแถลงว่าลงมติแบบเอกฉันท์ และอ้างเป็นเสียงส่วนใหญ่หลังจาก รศ.ภญ.จิราพร ลิ้มปานานนท์ ลาออกจากกรรมการวัตถุอันตรายเพราะไม่ยอมรับผล เพราะยืนยันว่าเสนอยึดมติเดิม เช่นเดียวกับตัวแทนจากกระทรวงสาธารณสุข ขณะที่กระทรวงอื่นๆ ก็ไม่ทราบว่าจะลงมติแบบใด ทั้งที่กฎหมายเขียนไว้ชัดเจนในมาตรา 12 ของ พ.ร.บ.วัตถุอันตราย คือการวินิจฉัยชี้ขาดของที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมาก โดยที่ผ่านมาได้ใช้วิธีการลงคะแนนตลอด 3 ครั้งที่ผ่านมา ทั้งการลงมติเมื่อ พ.ค.61 เมื่อวันที่ 14 ก.พ.62  และวันที่ 22 ต.ค.62 ก็ลงมติชัดเจน 
     นายวิฑูรย์กล่าวว่า ข้อเสนอของเครือข่ายมี 5 ข้อ คือ 1.ยืนยันให้ทุกฝ่ายเคารพมติของคณะกรรมการวัตถุอันตรายเมื่อวันที่ 22 ต.ค.62 โดยกระทรวงอุตสาหกรรมต้องดำเนินการตามขั้นตอนในการออกประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา เพื่อให้การแบนพาราควอต, คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซตมีผลบังคับใช้ตามกฎหมายโดยเร็ว 2.เครือข่ายฯ ขอประกาศจะดำเนินการฟ้องศาลปกครอง และศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบต่อนายสุริยะที่ดำเนินการประชุมเมื่อวันที่ 27 พ.ย.62 โดยมิชอบ 3.เครือข่ายฯ ได้เริ่มดำเนินการตรวจสอบการตกค้างของ 3 สารพิษในสินค้าเกษตรและอาหาร เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถเลือกซื้อสินค้าจากผู้ประกอบการที่ใส่ใจและมีนโยบายคุ้มครองสุขภาพของประชาชน 
    4.เครือข่ายฯ จะดำเนินการฟ้องคดีแบบกลุ่มให้แก่ผู้ที่ได้รับอันตรายจาก 3 สารพิษนี้ คาดว่าจะดำเนินการได้ภายในเดือนนี้ โดยได้ความร่วมมือจากทีมทนายความที่ต่อสู้คดีให้นายดเวนย์ ลี จอห์นสัน  ที่ชนะคดีไกลโฟเซตในสหรัฐอเมริกา และ 5.เรียกร้องให้รัฐบาลสนับสนุนเกษตรกรในช่วงเปลี่ยนผ่าน  โดยดำเนินการตามมติและข้อเสนอของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการควบคุมการใช้สารเคมีในภาคเกษตรกรรม ซึ่งได้รับความเห็นชอบด้วยเสียงเอกฉันท์จากสภาผู้แทนราษฎร.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"