เจาะ "เงินนอกงบฯ" กองทัพ ทิ้งไพ่ใบสุดท้ายตี "จุดศูนย์ดุล"


เพิ่มเพื่อน    

    เรียกได้ว่าทีมงานทำข้อมูลของ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ในการเปิดโปงเงินนอกงบประมาณของกองทัพ ทำการบ้านมาดี และน่าจะเป็นคนวงในที่ร่วมและเข้าตีจุดศูนย์ดุลของโครงสร้างการเมืองไทย หลังจากที่ใช้ยุทธวิธีตีทุกจุดของกองทัพ ตั้งแต่เรื่องการเกณฑ์ทหาร การซื้ออาวุธ โดยครั้งนี้ธนาธรใช้โอกาสในการทำหน้าที่ กรรมาธิการพิจารณางบประมาณรายจ่ายปี 2563 ตั้งคำถามวันสุดท้ายก่อนลาออก มีตัวแทนจากกระทรวงกลาโหมได้มาชี้แจงต่อ กมธ. นำโดยผู้บัญชาการเหล่าทัพ รวมถึง พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก
    ธนาธรได้ตั้งคำถามประเด็นแรก เกี่ยวกับเงินนอกงบประมาณกระทรวงกลาโหม รวม 18,657 ล้านบาท ซึ่งมากเกือบเท่างบประมาณของกระทรวงการท่องเที่ยวฯ กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงดิจิทัลฯ รวมกัน (1.9 หมื่นล้านบาท) เอาไปเป็นงบสร้างรถไฟทางคู่กรุงเทพฯ-หัวหิน ได้เกือบครบเส้น (2 หมื่นล้านบาท) หรือเอาไปเฉลี่ยเป็นเบี้ยเด็ก 0-6 ปี ได้เดือนละ 300 บาท
    ตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ เงินนอกงบประมาณทั้งหมดต้องปฏิบัติตามกฎหมายกำหนด หรือเว้นแต่จะมีกฎหมายกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น หรือตกลงกับกระทรวงการคลังไว้เป็นอย่างอื่น ซึ่งระเบียบการคลังทำไว้กับกระทรวงกลาโหมกระทรวงเดียว ว่างบประมาณของกระทรวงกลาโหมให้ถือปฏิบัติการบริหารตามข้อบังคับกระทรวงกลาโหม เท่ากับให้อำนาจพิเศษแก่กระทรวงกลาโหมมากกว่ากระทรวงอื่นๆ ซึ่งข้อบังคับกระทรวงกลาโหมแบ่งเงินนอกงบประมาณเป็น 2 บัญชี เงินในบัญชีที่ 2 อนุญาตให้ตั้งในระบบบัญชีเอง และตั้งระบบตรวจสอบบัญชีเองได้ หมายความว่างบประมาณบางส่วนของกลาโหมมีความไม่โปร่งใส
    ธนาธรจึงขอให้กระทรวงกลาโหมเปิดเผยรายละเอียดของ 1.รายได้จากการใช้ทรัพยากรคลื่นวิทยุย้อนหลัง 10 ปี 2.รายชื่อบริษัทผู้รับบริหารสัมปทานคลื่นวิทยุ และสัญญากับทุกบริษัท 3.สัญญาระหว่างกองทัพบกกับช่อง 7 ย้อนหลังตั้งแต่ปี 2512, 4.รายได้จากการให้สัมปทานช่อง 7 ทุกปี ตั้งแต่ปี 2512 5.รายได้อัตราค่าเช่าโครงข่ายภาคพื้นดิน หรือ MUX 6.ข้อตกลงระหว่างกระทรวงกลาโหมกับกระทรวงการคลัง ว่าด้วยการบริหารจัดการงบประมาณ 7.รายละเอียดเงินนอกงบประมาณประเภท 1 และ 2 ว่าประกอบด้วยอะไรบ้าง ที่สำคัญคือเงินรายได้จากสนามมวย สนามกอล์ฟ สนามม้า ปั๊มน้ำมัน ฯลฯ มีการบริหารจัดการอย่างไร
    โดยธนาธรกล่าวว่า เหตุที่อยากทราบรายละเอียดเรื่องนี้ เพราะประชาชนตั้งคำถามว่าทำไมบรรดานายพลจึงร่ำรวยผิดปกติ โดยดูจากบัญชีทรัพย์สินหนี้สินที่แสดงต่อ ป.ป.ช. เมื่อเดือนพฤษภาคม 2562 รายได้ของนายพล 81 คน ที่อยู่ใน สนช. มีทรัพย์สินเฉลี่ย 78 ล้าน รายได้เฉลี่ย 12.72 ล้านบาทต่อปี หรือมีทรัพย์สิน 6.13 เท่าของรายได้ รายได้และทรัพย์สินเหล่านี้ไม่สามารถได้มาโดยลำพังเงินเดือนการเป็นทหารอย่างเดียว หมายความว่านายพลส่วนใหญ่มี “side business” หรือทำธุรกิจคู่ขนานกับการรับราชการ
    มีคำชี้แจงของพลเอกอภิรัชต์ในที่ประชุมเพียงเล็กน้อยที่ปรากฏเป็นข่าวว่าเงินนอกงบประมาณบางส่วนเป็นรายได้จากโรงพยาบาลของกองทัพ ซึ่งประชาชนก็เข้ารับการรักษาพยาบาลเหมือนโรงพยาบาลทั่วไป รายรับบางส่วนจะนำกลับมาหมุนเวียนในการบริหาร ส่วนกรณีค่า MUX ช่อง 5 และช่อง 7 ได้หมดสัญญาไปแล้วตั้งแต่ปี 2561 ส่วนในกรณีการปรับลดอัตรากำลังพล กองทัพมีแผนการปรับลดกำลังพลอยู่แล้ว ทั้งนายพลและพลทหาร
    ขณะที่ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี อธิบายเช่นกันว่า กองทัพทำเรื่องของสวัสดิการให้ประโยชน์กับข้าราชการทหาร ประชาชน และข้าราชการที่มีรายได้น้อยทุกคน โดยมีผู้บังคับบัญชาทุกระดับชั้นตรวจสอบ โดยมองจุดประสงค์ของการเคลื่อนไหวแฉข้อมูลครั้งนี้ว่าต้องการทำให้คนเข้าใจผิด โดยยืนยันว่าจะไม่มีการชี้แจงรายละเอียด อีกทั้งเรื่องการจัดซื้อยุทโธปกรณ์นั้นก็ไม่ต้องพูด เนื่องจากกองทัพมีการวางแผนงานเป็นระยะ 10 ถึง 20 ปี มีคณะกรรมการดำเนินการในทุกขั้นตอน ทั้งคณะกรรมการจัดหาและคณะกรรมการตรวจรับ
    เป็นเรื่องของ ”แดนสนธยา” ที่มีกฎ ระเบียบรองรับ อีกทั้งระบบการตรวจสอบดังกล่าวคือการกระทำกันเองภายใน ภายใต้ระบบการบังคับบัญชาที่เชื่อในเรื่องเกียรติศักดิ์ศรีเป็นที่ตั้ง แม้จะเป็นเรื่องที่สมเหตุสมผลภายในองค์กร แต่ก็อธิบายให้คนภายนอกเข้าใจในความต่างที่เกิดขึ้นได้ลำบาก และยากจะปฏิเสธว่าจะถูกมองเป็นเรื่องของอภิสิทธิ์ชน ของกลุ่มคนมีสีที่เหนือกว่าคนกลุ่มอื่น แต่สิ่งที่น่าตกใจคือ ความพยายามในการอธิบายเรื่องการจัดหายุทโธปกรณ์ และการพัฒนากองทัพ ที่น่าจะเป็นเรื่องเชิงเทคนิค และเรื่องทางยุทธศาสตร์ มีตรรกะที่แปลกแปร่ง จนดูแล้วมีคนมา ”สิงร่าง” ธนาธรให้พูด
    กระนั้นกระทรวงกลาโหมและกองทัพต้องพยายามเลือกอธิบายจุดที่แข็งที่สุด โดยพลโทคงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม ตั้งคำถามการยกเลิกเกณฑ์ทหารเป็นคำตอบสุดท้ายที่ประเทศได้ประโยชน์จริงหรือ? โดยมองว่าไม่ใช่เรื่องใหม่ เป็นแนวทางการปฏิรูประบบงานกำลังพลระยะยาวที่ กห.มีอยู่เดิม โดยมีแผนงานต่อเนื่องในลักษณะค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งดำเนินการควบคู่กับการพัฒนาระบบกำลังสำรองและการฝึกวิชาทหาร   การดำเนินงานตาม พ.ร.บ.รับราชการทหาร พ.ศ.2497 ได้มีการปรับปรุงให้ทันสมัยต่อเนื่องมา ทำให้กองทัพสามารถบริหารจัดการระบบการเข้าประจำการให้สอดคล้องกับสถานการณ์ด้านความมั่นคง โดยใช้การผสมผสานระหว่างระบบการเกณฑ์และระบบสมัครใจควบคู่กันไป
    ซึ่งที่ผ่านมาจากสถิติผู้สมัครใจเข้าเป็นทหาร ยังคงมีจำนวนไม่เพียงพอต่อความต้องการของกองทัพในแต่ละปี เช่นเดียวกับหลายประเทศที่เคยยกเลิกการเกณฑ์ทหาร กำลังเตรียมผลักดันให้กลับมามีการเกณฑ์ทหารเช่นเดิม โดยเฉพาะประเทศในยุโรป เนื่องจากยังไม่สามารถสร้างแรงจูงใจเยาวชนให้เข้าเป็นทหารได้มากเท่าที่จำเป็น และมองว่าเป็นโอกาสที่คนหนุ่มสาวจะได้ทำประโยชน์คืนแก่ประเทศและสังคม และเชื่อว่าเป็นความภาคภูมิใจของทุกคน
    ในภาพรวมจึงเร็วเกินไปที่จะปรับเปลี่ยนมาใช้ระบบดังกล่าว โดยจำเป็นต้องศึกษาถึงผลกระทบด้านความมั่นคงและประเด็นปัญหาต่างๆ อย่างรอบด้าน เช่น การขาดแคลนกำลังพลสำรอง ซึ่งอาจเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งเป็นกำลังทางยุทธศาสตร์ของระบบเตรียมความพร้อมของประเทศยามวิกฤติ การเพิ่มค่าตอบแทนและสวัสดิการพลทหาร ซึ่งเป็นเรื่องดี แต่อาจเป็นปัญหาภาระงบประมาณของประเทศระยะยาว ซึ่งอาจมีผลเชื่อมโยงต่อการปรับขยายฐานเงินเดือนและสวัสดิการของข้าราชการระดับต่างๆ ทั้งประเทศในอนาคต  
    อีกทั้งการเปลี่ยนแปลงเวลารับราชการ ซึ่งจะมีผลให้พลทหารมีอายุมากขึ้นและมีช่วงอายุห่างกันมาก (21-40 ปี) อาจเป็นปัญหาต่อขีดความสามารถของกำลังพลโดยรวม และโอกาสทางอาชีพหลังปลดประจำการ โดยเฉพาะการเรียกเกณฑ์ในเวลาที่จำกัดยามที่อาจเกิดสงคราม จะมีผลอย่างมากต่อระบบความพร้อมรบของประเทศในภาพรวม อีกทั้งการกำหนดบทนิรโทษกรรม จะกระทบต่อหลักนิติธรรม ความเท่าเทียมกันและเป็นช่องทางของการไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย และที่สำคัญต้องไม่ขัดกันในข้อกฎหมาย เรื่องสิทธิและหน้าที่
    กระนั้นโฆษกกระทรวงกลาโหมยังระบุว่า ในภาพรวมถือเป็นเรื่องที่น่ายินดี ซึ่งกองทัพก็พร้อมเปิดกว้างรับแนวคิดต่างๆ มาปรับปรุงสู่การเปลี่ยนแปลงกองทัพให้มีความทันสมัยขึ้นไปด้วยกัน ผ่านการพูดคุยแลกเปลี่ยนข้อมูลร่วมกันอย่างสร้างสรรค์ด้วยกลไกรัฐสภา เนื่องจากเกี่ยวข้องกับกฎหมายหลายฉบับและสถานะเสถียรภาพความมั่นคงของประเทศในภาพรวม แต่กองทัพยังมีความกังวลอยู่บ้างต่อการนำเรื่องความมั่นคงไปใช้ประโยชน์ทางการเมืองผ่านกิจกรรมต่างๆ ด้วยข้อมูลที่ไม่ถูกต้องและครบถ้วน ซึ่งอาจสร้างความสับสนและความเข้าใจผิดกับสังคมได้  
    น่าสนใจว่าปฏิบัติการทิ้งไพ่ใบสุดท้าย จะส่งผลในการเร่งอุณหภูมิในกองทัพ ซึ่งเป็นหัวใจหลักของรัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เดือดขึ้นได้หรือไม่ เพราะดูเหมือนการตั้งรับของกองทัพไม่ใช่การฮึ่ม หรือตอบโต้แบบดึงดัน แต่มีการถอยร่น เพื่อรุกกลับ และพร้อมปรับทัพรับกระแสสังคมที่เปลี่ยนไปอย่างแยบยล.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"