เมื่อแม่น้ำโขงถูกล่ามโซ่! นักวิชาการชี้หายนะภัยพิบัตินิเวศครั้งร้ายแรง ประณาม นักลงทุนแสวงหากำไรฆ่าแม่น้ำทั้งสาย


เพิ่มเพื่อน    

2 ธ.ค.62- ดร.ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Chainarong Setthachua ระบุ หายนะแม่น้ำโขงเปลี่ยนสี จากสายน้ำที่สมบูรณ์สู่สายน้ำที่หิวโหย  โดยระบุว่า สีของน้ำในแม่น้ำโขงที่เป็นสีคราม แท้จริงแล้วเกิดจากน้ำในแม่น้ำโขงใส ไร้ตะกอนในน้ำ และการใสไร้ตะกอน ผิวน้ำจึงเป็นเหมือนกระจกที่สะท้อนแสงของท้องฟ้ากลายเป็นสีคราม แต่หากลงไปดูดีๆ น้ำในแม่น้ำโขงใสแจ๋วมากทางวิชาการเรียกภาวะแบบนี้ว่า "hungry river" แปลว่า "ภาวะไร้ตะกอน" แต่จะให้เข้าใจเลยก็คือเกิดภาวะ "สายน้ำที่หิวโหย"

ดร.ไชยณรงค์ ระบุว่า ตลอดประวัติศาสตร์ที่ผ่านมานับแต่แม่น้ำโขงเป็นที่รู้จักของชาวตะวันตก แม่น้ำโขงจะได้รับฉายาจากผู้สื่อข่าว นักทำสารคดี นักเขียนว่า "Mighty Mekong" สายน้ำโขงที่อุดมสมบูรณ์ สีของสายน้ำนี้จะเป็นสีปูน เพราะมีตะกอนที่เกิดจากการกษัยการ (หรือการพังทะลาย) ของหินและดินหอบมากับสายน้ำตะกอนที่พัดพามากับสายน้ำโขง เมื่อน้ำโขงไหลไปตามสายน้ำ และมีแม่น้ำสาขาไหลลงมาบรรจบ ก็จะทำให้เกิด "แม่น้ำสองสี" ในแทบทุกที่ เช่น ที่ปากมูลก็เกิดแม่น้ำสองสี "โขงสีปูน มูลสีคราม" คือน้ำสาขาจะมีสีคราม แต่น้ำโขงมีสีปูน

นักวิชาการผู้นี้ ระบุว่า ตะกอนหายไปไหน? วันนี้ แม่น้ำโขงไม่ได้เป็น Mighty Mekong อีกแล้ว แต่กลายเป็น "Hungry Mekong" เพราะหลังจากเขื่อนไซยะบุรีสร้างเสร็จ ก็มีการกักเก็บน้ำไว้เหนือเขื่อนตั้งแต่เดือนกรกฎาคมจนกระทั่งน้ำท้ายเขื่อนแห้งและปลาตาย มีหลักฐานมากมายที่แสดงให้เห็นว่าเหนือเขื่อนไซยะบุรีมีน้ำเต็มและนิ่ง ขณะที่ท้ายเขื่อนน้ำแห้ง หลายแห่งที่เคยมีน้ำ มองดูราวกับทะเลทราย เหลือแต่น้ำในร่องน้ำลึกที่ยังไหล ถ้าน้ำโขงกว้างก็จะไหลเอื่อย หากแคบมีแก่ง น้ำก็พอยังจะเชี่ยว แต่ไม่ได้ไหลแรงตามธรรมชาติ

"เขื่อนไม่ได้เก็บและปล่อยน้ำแบบที่โฆษณาว่า "ไหลมาเท่าไหร่ ปล่อยไปเท่านั้น" หรอกนะ คำพูดนั้นก็แค่หลอกเด็กและทำให้เขื่อนดูดีเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพราะแท้ที่จริงเขื่อนจะปล่อยน้ำในยามผลิตกระแสไฟฟ้า และผมเรียกมันใหม่ว่า "เขื่อนได้ควบคุมน้ำไว้" หรือให้เห็นภาพชัดๆ ก็คือ เขื่อนไซยะบุรีได้ "ล่ามโซ่แม่น้ำโขง" เรียบร้อยแล้ว" 

ดร.ไชยณรงค์ ระบุว่า เมื่อน้ำโขงถูกล่ามโซ่ น้ำเหนือเขื่อนที่ลึกและนิ่ง ทำให้ตะกอนที่พัดพามากับสายตกเหนือเขื่อนและอยู่ใต้อ่างเก็บน้ำของเขื่อน การปล่อยน้ำผ่านเทอร์ไบน์ต้องมีระดับน้ำที่ต่างกัน ซึ่งเรียกว่า head เขื่อนไหนๆ ก็มี เขื่อนไซยะบุรีที่เรียกว่าเขื่อนน้ำไหลผ่าน (run-off river dam) ก็ต้องมี head และ head ที่นี่ก็หลายสิบเมตร น้ำที่ไหลผ่านเทอร์ไบน์ลงท้ายเขื่อนจึงเป็นน้ำที่ไม่มีตะกอน

เขื่อนน้ำไหลผ่านก็มีการตกตะกอนได้เหมือนเขื่อนอื่นๆ บทเรียนก็คือ เขื่อนปากมูลซึ่งอ้างว่าเป็นเขื่อนน้ำไหลผ่านก็ตกตะกอน เพราะยามที่มีการเปิดประตูระบายน้ำ(sluice gate) เหนือเขื่อนตั้งแต่ตัวเขื่อนขึ้นไปอีกหลายสิบกิโลเมตรจนถึงแก่งสะพือก็เต็มไปด้วยตะกอน ตะกอนเหล่านี้ทับถมอยู่หน้าเขื่อน ต้องใช้เวลาเป็นปี สายน้ำจึงพัดพาตะกอนออกไป แต่ก็ออกไปได้ไม่หมด เพราะมันทับถมอยู่ตามร่องหินของแก่งที่เคยเป็นบ้านของปลา

"กรณีแม่น้ำโขง นอกจากตะกอนทับถมเหนือเขื่อนแล้ว ทางท้ายเขื่อน เมื่อน้ำไม่ไหลเชี่ยวเหมือนเดิม นับตั้งแต่เดือนกรกฎาคมเป็นต้นมา บริเวณที่เป็นหาดทราย แก่งหิน และป่าน้ำท่วม (ป่าไคร้) เช่น ที่พันโขดแสนไคร้ น้ำที่เคยไหลเอื่อยก็แทบไม่ไหล และบ่อยครั้งที่น้ำลดจนแห้งราวกับทะเลทราย บริเวณที่น้ำไหลเอื่อยๆ ตามธรรมชาตินี่แหละที่ทำให้หาดทราย ป่าไคร้ เป็นบ้านของสัตว์น้ำเล็กๆ ทั้งหอย ปู ปลา กุ้ง ที่อาศัยความอุดมสมบูรณ์ของสายน้ำที่ไหลมาจากข้างบนการที่น้ำโขงแห้งเพราะถูกล่ามโซ่ นอกจากทำให้ต้นไม้ตายเพราะไม่จมอยู่ใต้น้ำตามวัฏจักรแล้ว สัตว์น้ำจำนวนมากก็ตายด้วย และยังทำให้ตะกอนที่พอจะเหลือจากที่ถูกกักไว้เหนือเขื่อน เกิดการตะกอนอีกครั้ง ป่าไคร้ที่พันโขดแสนไค้จึงมีตะกอนทับถมสูง บางจุดตะกอนทับถมเหลือแต่ปลายต้นไคร้ บางจุดสูงมากกว่า 2 เมตรเมื่อตะกอนถูกกักไว้เหนือเขื่อนและยังตกตะกอนบริเวณที่เคยเป็นหาดทรายและป่าน้ำท่วม ยิ่งไกลจากท้ายเขื่อนน้ำก็ยิ่งใสราวกระจก และเมื่อสะท้อนแสงจากท้องฟ้าก็ยิ่งกลายเป็นสีคราม แต่คือสัญญาณอันตรายของแม่น้ำสายนี้" 

นักวิชาการผู้นี้ ระบุถึงความสำคัญของตะกอนด้วยว่า ตะกอนคือธาตุอาหารที่สำคัญสำหรับการเจริญเติบโตของพืชน้ำ เมื่อสายน้ำโขงเกิดภาวะไร้ตะกอน ความอุมดสมบูรณ์ของพืชน้ำก็ลดตามลง ที่บ้านม่วง อ.สังคม จ.หนองคาย ในเวลานี้ กลุ่มรักษ์แม่น้ำโขงได้สังเกตพบว่า แม่น้ำโขงบริเวณที่เคยมีตะไคร่น้ำที่ชาวบ้านเรียกว่าเทาไหรือไก ไม่เกิดขึ้นตามธรรมชาติอย่างที่เคยเป็น ในอดีตแม่น้ำโขงบริเวณที่เกิดเทาหรือไก จะมีปลามาเล่นน้ำ กินเทาหรือไกเป็นอาหาร และผสมพันธุ์ แต่ปีนี้กลับว่างเปล่า แม่น้ำโขงในภาวะไร้ตะกอน จะส่งผลเสียหายอย่างใหญ่หลวงต่อระบบนิเวศน์แม่น้ำโขง เพราะการขาดธาตุอาหารที่ไหลมากับน้ำ จะผลกระทบต่อสาหร่าย พรรณพืชขนาดเล็กๆ ไปจนถึงพรรณพืชขนาดใหญ่ ซึ่งอาจรวมไปถึงป่าน้ำท่วมแถบสตึงเตร็งในกัมพูชาเมื่อพรรณพืชไม่อุดมสมบูรณ์ ปลาที่กินพืชเป็นอาหารก็จะลดลง และปลาที่กินเนื้อก็จะขาดอาหารไปด้วย

"นี่คือหายนะที่เกิดกับแม่น้ำโขงอย่างแท้จริง ไม่ใช่เฉพาะปลากินพืชที่ได้รับผลกระทบเท่านั้น แต่ปลาทั้ง 1,300 สายพันธุ์ก็กระทบไปหมด พวกนักสร้างเขื่อนมักจะบอกว่า เห็นมั้ย เขื่อนมันดีนะ "มีการจัดการน้ำให้ดี หน้าฝนน้ำไม่ท่วม หน้าแล้งมีน้ำ" แต่การทำแบบนี้คือการกระทำที่โง่เขลามาก เพราะการล่ามโซ่แม่น้ำ ทำให้ไม่เกิดน้ำท่วมในฤดูน้ำหลาก และพื้นที่เพาะปลูกในฤดูน้ำลดจะขาดความอุดมสมบูรณ์นักสร้างเขื่อนไม่รู้หรอกว่า ตะกอนที่พัดพามาทับถมในฤดูน้ำหลากคือปุ๋ยธรรมชาติที่ดีที่สุด และทำให้ริมฝั่งโขงเป็นพื้นที่เพาะปลูกที่สมบูรณ์ที่สุดในอีสาน"

ดร.ไชยณรงค์ ระบุด้วยว่า ก่อนการสร้างเขื่อน แม่น้ำโขงแถบหนองคายจนถึงนครพนมคือพื้นที่ปลูกมะเขือเทศที่ดีที่สุดของประเทศ เพราะมะเขือเทศที่นี่ให้เนื้อมาก และผลผลิตมะเขือเทศที่นี่คิดเป็นร้อยละ 50 ของที่ผลิตทั้งประเทศ จนทำให้ประเทศไทยเป็นอีกประเทศที่ส่งซอสมะเขือเทศไปขายต่างประเทศได้ ในตอนนี้น้ำไม่ท่วม ไม่มีปุ๋ยจากธรรมชาติ การเพาะปลูกก็ต้องใช้ปุ๋ยเคมี และภาระก็จะตกกับเกษตรกรและผู้บริโภคในที่สุด

ตลิ่งพัง เพราะสายน้ำที่หิวโหย แม่น้ำโขงที่หิวโหยยังจะสร้างหายนะได้อีกมาก ที่น่ากังวลที่สุดอีกประการก็คือ การพังทลายของตลิ่งแม่น้ำโขง เพราะน้ำโขงที่หิวโหยจะดึงตลิ่งให้พังลงมา และปัญหานี้อาจจะยาวไกลนับพันกิโลเมตรไปจนถึงกัมพูชาและเวียดนามขณะที่บริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง น้ำที่เกิดภาวะไร้ตะกอนจะทำให้ไม่เกิดการทับถมของตะกอนปากแม่น้ำ ภาวะไร้ตะกอนก็จะทำให้ชายฝั่งของเวียดนามพังทลายตามมา

นักวิชาการผู้นี้ ยังอธิบายปรากฎการณ์อันตรายครั้งนี้ด้วยว่า ยังส่งผลกระทบถึงบ้านของนกหายไปเนื่องจากตลิ่งพังนอกจากการสูญเสียพื้นที่เกษตรกรรม สร้างความเสียหายต่อที่อยู่อาศัยแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ที่คาดไม่ถึง หากใครเคยล่องน้ำโขงในฤดูแล้ง หากมองตลิ่ง อาจเห็นรูเล็กๆ กระจายตามตลิ่งที่ชัน รูเหล่านั้นแหละครับคือที่วางไข่ของนกในลุ่มน้ำโขง ในฤดูแล้ง นกบางชนิดจะขุดรูตามตลิ่งของชายฝั่ง และวางไข่ ก่อนที่น้ำโขงจะท่วมตลิ่ง ลูกนกของมันก็จะเติบโตและโบยบินเพื่อสืบทอดเผ่าพันธุ์ของมันต่อไป

"นกเหล่านี้ คือนักปราบศัตรูพืชตัวยง และหากตลิ่งพัง บ้านของนกจะหายไป และส่งผลกระทบต่อประชากรนกตามมา ขณะที่คนสองฝั่งโขงที่ทำเกษตรกรรม จะต้องแบกรับภาระนั้นจากการที่ต้องมีต้นทุนในการทำเกษตรเพิ่มขึ้น" 

นักวิชาการผู้นี้ ระบุทางออกของปัญหาว่าเรามีหนทางที่จะเยียวยาแม่น้ำโขงไม่มากนัก แต่อย่างน้อยที่สุด กลุ่มทุนที่ยึดแม่น้ำไปทำเขื่อนต้องเสียสละ หยุดปั่นไฟ และต้องรีบปฏิบัติการระบายตะกอน แต่มาตรการนี้ ก็ไม่ได้หมายความว่าจะฟื้นฟูแม่น้ำโขงให้กลับมาอุดมสมบูรณ์ได้ดังนั้น ในระยะยาว ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับเขื่อนโดยเฉพาะเขื่อนไซยะบุรีต้องคิดถึงการยกเลิกการใช้เขื่อน (dam decommissioning) เพราะผลกระทบที่เกิดจากเขื่อนแห่งนี้มันขยายวงกว้างและสร้างผลกระทบที่เรียกได้ว่า "ภัยพิบัติทางนิเวศ" ครั้งร้ายแรงในอนุภูมิลุ่มน้ำโขง

"อย่าลืมว่า แม่น้ำโขงไม่ได้เป็นของทุนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งที่จะมีสิทธิในการล่ามโซ่แม่น้ำ แล้วปั่นไฟ เพื่อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ และรัฐทุกรัฐที่แม่น้ำโขงไหลผ่านก็ไม่มีสิทธิ์ที่จะกล่าวว่าแม่น้ำเป็นของรัฐนั้น จะปู้ยี่ปู้ยำอย่างไรก็ได้ ขณะที่รัฐอีกรัฐที่จะได้ประโยชน์จากการซื้อไฟฟ้า ก็ไม่มีสิทธิที่จะมีส่วนสำคัญในการทำลายแม่น้ำโขงเพียงเพื่อจะเอากำไรจากไฟฟ้าทีซื้อมาจากการทำลายแม่น้ำโขงเพื่อนำไปขายเอากำไรต่อ เช่นเดียวกับสถาบันการเงินที่ให้เงินกู้กับเขือนก็ไม่มีสิทธิที่จะแสวงหากำไรจากดอกเบี้ยที่เกิดจากการฆ่าแม่น้ำทั้งสายเพราะแม่น้ำโขงคือแม่ของสรรพชีวิต และแม่ของคนอีก 60 ล้านคน ที่พึ่งพาแม่น้ำสายนี้ตั้งแต่บรรพชน" ดร.ไชยณรงค์ ระบุ


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"