2ธ.ค.62-เตรียม ใช้ "หนี้สิน"เป็นตัวกำหนดคุณสมบัติ คัดเลือก ผู้บริหารสถานศึกษา ทั้ง ผอ. รองผอ.รร.และกลุ่มสพท. ต้องมีหนี้ไม่เกิน50% ของเงินเดือน ชี้ปัญหาหนี้ สะท้อนว่าบริหารจัดการตัวเอง ได้ดีแค่ไหน ก่อนไปบริหารจัดการโรงเรียน
นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) กล่าวถึงกรณีการปรับหลักเกณฑ์และวิธีการการคัดเลือกเพื่อบรรจุและแต่งตั้งตำแหน่งผู้อำนวยการสถานศึกษาและรองผู้อำนวยการสถานศึกษา ว่า ตนต้องการให้มีการปรับปรุงการเข้าสู่ตำแหน่งผู้บริหารใหม่ ซึ่งไม่ใช่แต่เพียงผู้บริหารสถานศึกษาเท่านั้น แต่รวมไปถึงผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ด้วย เนื่องจากกลุ่มคนเหล่านี้ถือเป็นนักบริหารที่สำคัญในการเป็นผู้นำของการขับเคลื่อนการศึกษาไทย ดังนั้นหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือก ตนจึงต้องการให้มีการดำเนินการแบบเข้มข้น และคุณสมบัติของการเป็นผู้บริหารโรงเรียนจะต้องมีความรู้ด้านดิจิทัล และภาษาอังกฤษ เพราะสิ่งเหล่านี้คือพื้นฐานของผู้บริหารสถานศึกษา ซึ่งต้องมีความรู้ที่ล้อไปกับการบริหารจัดการโรงเรียนตัวเองให้มีคุณภาพ
ส่วนประเด็นที่หลายฝ่ายถามถึงการวางรากฐานที่เหมาะสมของผู้บริหารโรงเรียนในอนาคตจะต้องมีหนี้สินไม่เกิน ร้อยละ 50 ของเงินเดือนนั้น เรื่องนี้ตนต้องการให้เป็นตัวมาตรฐานหนึ่งที่น่าจะมีไว้ เพราะถือเป็นการสร้างวินัยทางการเงินของผู้บริหารโรงเรียนจะต้องมีเงินเดือนเหลือติดในบัญชีให้ได้ครึ่งหนึ่งของเงินเดือน เช่น ได้รับเงินเดือนละ 50,000 บาทแต่เป็นหนี้อยู่ 45,000 และจะมาเป็นผู้บริหารโรงเรียน ตนถามว่าจะมีความเหมาะสมหรือไม่ เป็นต้น อีกทั้งสิ่งเหล่านี้ถือเป็นการวางระบบแก้ปัญหานี้สินครูในอนาคตด้วย
“สิ่งสำคัญที่ผู้บริหารสถานศึกษาจะต้องมีคือการบริหารจัดการตัวเองให้ได้ และมีทักษะด้านต่างๆ เพราะขณะที่ประเทศไทยก้าวไปสู่โลกศตวรรษที่ 21 แล้ว แต่ครูหรือผู้บริหารยังไม่มีการเรียนรู้ทักษะด้านภาษาและเทคโนโลยีเลยก็คงไม่ได้ ดังนั้นตอนนี้คณะทำงานอยู่ระหว่างการปรับปรุงหลักเกณฑ์ดังกล่าวอยู่ เพื่อจะออกแบบหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกที่มีความเหมาะสม มีความเข้มข้นในการคัดเลือกผู้บริหาร ซึ่งยังไม่รู้ว่าการคัดเลือกผู้บริหารจะออกมาในรูปแบบไหน” รมว.ศธ. กล่าว
ด้านนายอำนาจ วิชยานุวัติ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาฯกพฐ.) กล่าวว่า การปรับปรุงหลักเกณฑ์วิธีการคัดเลือกผู้บริหาร รมว.ศธ.ได้ให้นโยบายว่า หากจะเป็นผู้บริหารโรงเรียนเราต้องมีการวางแผนเรื่องการเงินที่ดี เพราะขณะนี้ปัญหาหนี้สินครูมีจำนวนมาก อีกทั้งเรื่องการเงินถือเป็นจรรยาบรรณหนึ่งของสังคมด้วย เช่น เราอาจจะดูว่าเงินเดือนในระบบของครูที่มีการเบิกจ่ายตรงกับกรมบัญชีกลางมีเงินเดือนเหลือถึงครึ่งหนึ่งของเงินเดือนหรือไม่ และบุคคลนั้นสมควรเป็นผู้บริหารโรงเรียนหรือไม่ เป็นต้น ซึ่งถือเป็นการเตรียมความพร้อมและเป็นต้นแบบให้แก่ข้าราชการครู โดยไม่ใช่คนที่อยากจะมาเป็นผู้บริหารมีหนี้ติดลบและได้มาเป็นผู้บริหารโรงเรียนแล้วแต่กลับมาทำเรื่องทุจริตขึ้น ถือเป็นภาพลักษณ์ที่ไม่ดี เพราะผู้บริหารต้องวางตัวให้ดีจะต้องเป็นกระจกเงาสะท้อนให้กับสังคม