เดือดแน่...เมื่อทรัมป์ลงนาม ผ่านกฎหมายฮ่องกงและจีนโวย!


เพิ่มเพื่อน    


    เรื่องใหญ่แน่ครับ...เมื่อประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ลงนามในร่างกฎหมายที่รัฐสภาสหรัฐฯ ผ่านด้วยเสียงล้นหลามเพื่อปกป้องการเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยบนเกาะฮ่องกง
    จีนโต้ทันทีว่านี่เป็นการก้าวก่ายแทรกแซงกิจการภายในของเขา
    สหรัฐฯ อ้างว่านี่เป็นการออกกฎหมายเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของสหรัฐฯ ในฮ่องกง
    และส่งเสริม "สิทธิมนุษยธรรมและประชาธิปไตย" ตามหลักการและค่านิยมของอเมริกา
    จึงเรียกกฎหมายฉบับนี้ว่า Hong Kong Human Rights and Democracy Act of 2019
    เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายฉบับเดิมในชื่อเดียวกันที่ออกมาเมื่อปี 1992 ซึ่งมีชื่อขณะนั้นว่า  Hong Kong Policy Act 1992
    แปลว่าอเมริกาออกกฎหมายว่าด้วยฮ่องกง 5 ปีก่อนที่อังกฤษจะส่งเกาะนี้คืนให้จีน
    เป็นการออกกฎหมายเพื่อป้องกันไม่ให้การลงทุนของสหรัฐฯ ในฮ่องกงถูกจำกัดทางใดทางหนึ่ง หากจีนมีอำนาจบริหารฮ่องกงหลังปี 1997 ในรูปแบบใดแบบหนึ่ง
    อังกฤษกับจีนลงนามกันในเอกสารที่เรียกว่า Basic Law หรือกฎหมายพื้นฐานซึ่งก็คือรัฐธรรมนูญสำหรับฮ่องกงนั่นเอง
    อังกฤษมองว่าข้อตกลงนี้น่าจะรับรองสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของคนฮ่องกงได้อย่างน้อย 50 ปีหลังจากจีนเข้ามาบริหารเกาะแห่งนี้
    จีนคงจะยอมลงนามขณะนั้น (หลังจากเติ้ง เสี่ยวผิงปฏิเสธข้อเสนอของนายกฯ อังกฤษ มาร์กาเร็ต  แทชเชอร์ขณะนั้นที่จะขอต่ออายุสัญญา 99 ปี) เพราะเห็นว่าอย่างไรเสียเมื่อเกาะนี้กลับมาสู่อ้อมกอดของจีนแล้ว อังกฤษก็หมดสิทธิ์ที่จะต่อรองอะไรได้
    แต่อังกฤษวันนี้ยังยืนยันว่า เงื่อนไขในข้อตกลงนั้นให้สิทธิคนฮ่องกงที่จะมีสิทธิ์มีเสียงในกระบวนการทางการเมืองของตัวเอง
    นั่นคือความเข้าใจของกลุ่มเรียกร้องประชาธิปไตยที่เริ่มเคลื่อนไหวมาเมื่อ 6 เดือนก่อนจนถึงวันนี้     แต่ปักกิ่งตีความไปอีกทางหนึ่ง ยืนยันว่าได้ให้สิทธิขั้นพื้นฐานแก่คนฮ่องกงพอสมควรภายใต้นโยบาย "หนึ่งประเทศสองระบบ" หรือ One Country, Two Systems ซึ่งเคารพในความแตกต่างของฮ่องกงที่ไม่เหมือนกับจีนแผ่นดินใหญ่ในทุกๆ เรื่อง
    กฎหมายใหม่ของอเมริกาที่ทรัมป์เพิ่งลงนามอนุมัติให้บังคับใช้นี้ระบุคำว่า autonomy สำหรับคนฮ่องกง
    แปลตรงตัวว่าเป็นสิทธิการปกครองตนเอง
    ฮ่องกงมีชื่อทางการว่า Hong Kong SAR ซึ่งย่อมาจาก Special Administration Region ซึ่งแปลว่าเป็นเขตบริหารพิเศษ
    อำนาจแห่งการ "บริหารพิเศษ" หรือ "ความเป็นอิสระในการบริหาร" นั้นอยู่ที่ใครจะตีความกว้างแคบอย่างไร
    นั่นคือปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นระหว่างจีนกับอเมริกาและอังกฤษ
    ผู้ประท้วงที่ฮ่องกงเรียกร้องสิ่งที่พวกเขาเรียกว่า universal suffrage ซึ่งแปลว่าสิทธิในการเลือกตัวแทนของตนเองอย่างสากลและกว้างขวาง
    ในทางปฏิบัติคำนี้หมายถึงการที่ประชาชนทุกคน ทุกเพศ ณ วัยที่บรรลุนิติภาวะแล้วมีสิทธิ์หย่อนบัตรเลือกตั้งตัวแทนของตนเข้าไปในสภาและฝ่ายบริหารเพื่อทำหน้าที่แทนตน
    แต่จีนมองไปคนละแบบ ไม่ยอมรับว่ามีการตกปากรับคำที่จะให้คนฮ่องกงมีสิทธิ์เลือกตั้งคนละหนึ่งเสียงเท่ากันที่ฝรั่งเรียก One Man One Vote 
    ปักกิ่งใช้วิธีเลือกตั้งทางอ้อมให้ฮ่องกง แต่คนฮ่องกงต้องการเลือกตั้งโดยตรง
    ระบบของฮ่องกงตั้งแต่กลับมาเป็นของจีนเมื่อปี 1997 หรือ 22 ปีก่อนคือ การเลือก ส.ส.และผู้บริหารสูงสุดผ่านระบบทางอ้อม
    สำหรับการเลือกผู้บริหารสูงสุดนั้น ตัวแทนของฮ่องกงจะถูกปักกิ่งกลั่นกรองเหลือ 1,200 คนที่มีสิทธิ์ในการหย่อนบัตรเลือกผู้บริหารสูงสุด
    พูดง่ายๆ ก็คือใครจะมาบริหารฮ่องกงจะต้องได้รับความเห็นชอบจากปักกิ่งเท่านั้น
    คำว่า "สิทธิในการปกครองตนเอง" อย่างที่สหรัฐฯ หรืออังกฤษอ้าง หรืออย่างที่ผู้ประท้วงที่ฮ่องกงเรียกร้องนั้นตีความกันไปคนละทางกับรัฐบาลกลางของจีนอย่างชัดเจน
    นั่นคือสาเหตุแห่งความขัดแย้งที่ระเบิดตูมตามขึ้นมาเมื่อทรัมป์จรดปากกาลงนามผ่านกฎหมายฮ่องกงฉบับล่าสุด
    จีนเดือด...ประกาศว่าสหรัฐฯ ไม่มีอธิปไตยเหนือจีน ไม่มีสิทธิ์ออกกฎหมายมายุ่มย่ามกับอำนาจบริหารของจีน
    สหรัฐฯ ก็อ้างว่ากฎหมายนี้เป็นการปกป้องผลประโยชน์ของนักลงทุนและคนอเมริกันในฮ่องกง
    อีกทั้งเพราะอเมริกาเป็นผู้ให้สิทธิทางการค้าพิเศษแก่ฮ่องกง ดังนั้นตนย่อมมีสิทธิ์ที่จะตั้งเงื่อนไขเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของตน
    มังกรปะทะอินทรีแล้วครับ...สงครามเย็นรอบใหม่ร้อนแรงกว่าสงครามเย็นรอบแรกแน่นอน
    โปรดติดตามตอนต่อไปอย่างกระชั้นชิด!


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"