หยุดพูดครั้งแรกให้ 50 ล้าน
ถ้าเลิกมีเสนอหลายร้อยล้าน
ผลการประชุมของคณะกรรมการวัตถุอันตรายเมื่อวันพุธที่ 27 พ.ย. สุดท้ายแล้วก็มีการเปลี่ยนแปลงมติของคณะกรรมการวัตถุอันตรายชุดก่อนหน้านี้ ที่ได้มีมติเมื่อ 22 ต.ค.ให้มีการแบนสารเคมีทั้ง 3 ชนิด คือ พาราควอต, คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต โดยให้มีผลตั้งแต่ 1 ธ.ค.62 เพราะผลประชุมกรรมการวัตถุอันตรายเมื่อ 27 พ.ย.ที่มีนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรมเป็นประธาน กลับพลิกท่าทีด้วยการอนุญาตให้มีการใช้ไกลโฟเซตต่อไป และยืดเวลาการบังคับใช้การแบนพาราควอตและคลอร์ไพริฟอสต่อไปอีก 6 เดือน
มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จากพรรคภูมิใจไทย ซึ่งรับผิดชอบกรมวิชาการเกษตรและผลักดันให้มีการแบนสารเคมีทั้ง 3 ชนิดมาโดยตลอด กล่าวให้สัมภาษณ์แสดงความเห็นกับสื่อหลายแขนง ถึงผลการประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตรายเมื่อ 27 พ.ย. ที่ทำให้การแบนสารเคมีทั้ง 3 ชนิดไม่เกิดผลในวันที่ 1 ธ.ค.นี้ว่า เมื่อมติของคณะกรรมการวัตถุอันตรายออกมาอย่างไรก็ต้องเคารพมติ แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่มีมติที่เป็นทางการออกมา เพราะฉะนั้นขณะนี้ต้องเดินหน้าไปตามมติเดิมที่มีผลทางกฎหมาย และส่วนตัวไม่ได้เคยคิดหักหลังใคร ก็เลยไม่ได้คิดว่าใครจะมาหักหลัง วันนี้ขอทำหน้าที่ให้ดีที่สุด และประชาชนจะเป็นผู้ให้คำตอบเองว่าใครทำหน้าที่อย่างไร และระบุตอนหนึ่งว่าพร้อมขอรับผิดชอบหน่วยงานใหม่ใน ก.เกษตรฯ โดยจะขอดูแลหน่วยงานอื่น เช่น กรมชลประทาน ส่วนกรมวิชาการเกษตรก็ให้นำคืนไปเพราะกำกับดูแลไม่ได้ คนที่คิดว่ากำกับและสั่งการได้ก็เอาไปดูแลเลย เพราะผู้มีอำนาจเบ็ดเสร็จอยู่ในกระทรวงเกษตรฯ อยู่แล้ว ส่วนหลังจากนี้จะเดินหน้าอย่างไร สุดท้ายก็ต้องขึ้นอยู่ที่ประชาชนว่าจะทำอย่างไรกับเรื่องนี้
ขณะที่ในการให้สัมภาษณ์พิเศษกับไทยโพสต์ ซึ่งสัมภาษณ์ก่อนที่คณะกรรมการวัตถุอันตรายจะมีท่าทีดังกล่าวเมื่อวันพุธที่ 27 พ.ย.ที่ผ่านมา มนัญญา-รมช.เกษตรฯ กล่าวถึงปัญหาและอุปสรรคในการผลักดันให้มีการแบนสารเคมีทั้ง 3 ชนิดให้ฟังว่า สำหรับปัญหาอุปสรรคถามว่าเยอะไหม ก็บอกได้เลยว่าเยอะ ถามว่าสะเทือนใจไหมก็ตอบว่าสะเทือนใจ คุณอนุทิน ชาญวีรกูล รมว.สาธารณสุขและหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย พูดกับคนใกล้ชิดว่า ต้องยอมรับว่า รมต.มนัญญาเป็นคนแข็งมาก คำว่าแข็งหมายถึง เพราะไหนจะโดนคนรอบข้าง คนที่ไม่เข้าใจ คนมาคอมเมนต์ต่างๆ ไหนจะผลประโยชน์ต่างๆ
"ต้องยอมรับว่าเรื่องนี้ผลประโยชน์มันหลายหมื่นล้านบาท จึงเป็นเรื่องธรรมดาอยู่แล้ว เพราะการที่มีผลประโยชน์หลายหมื่นล้านบาท มันก็ต้องมีวิธีการหลายวิธีการ อย่างน้อยๆ มาทางเราไม่ได้ ก็ไปหาอีกสิบคนที่ยอมรับ แล้วสิบคนนั้นก็มาลงอยู่กับเราคนเดียว เราก็เคยเข้าไปดูคอมเมนต์ต่างๆ ในโซเชียลมีเดีย แต่ก็พบว่าที่คอมเมนต์กันไม่รู้ที่มาที่ไป แต่เมื่อเราก้าวเข้ามาแล้ว เราก็พร้อมยอมรับสิ่งที่จะมาคอมเมนต์เรา แต่ขออย่างเดียวอย่าให้สะเทือนมาถึงครอบครัว และอย่าใช้คำหยาบ เราไม่ชอบให้มาคอมเมนต์ถึงครอบครัวเรา เราไม่ชอบ"
มนัญญา กล่าวต่อไปว่า หากจะว่าก็ขอให้มาลงที่เรา เราก็ติดตามตลอดความเห็นต่างๆ แต่เราอยากให้เกษตรกรออกมา ไม่อยากให้เซลส์ขายสารเคมีออกมา เพราะอย่างเราดูแล้ว คนที่ออกมาคัดค้านการแบนสารพิษ แล้วมาเคลื่อนไหวต่างๆ เช่น ที่หน้ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีอยู่ครั้งนักข่าวถามอธิบดีในกระทรวงว่าอธิบดีหายไปไหนมา อธิบดีบอกไปทำเกษตรอินทรีย์มา นักข่าวก็ถามต่อ แล้วท่านใช้สารเคมีไหม เขาก็ตอบไม่ได้ใช้ นักข่าวก็ถามต่อ เมื่อไม่ได้ใช้แล้วจะมาต่อต้านที่เขาจะแบนสารทำไม เขาก็ตอบก็ทำมันครั้งนี้ครั้งเดียวเท่านั้น เราก็งงเหมือนกัน
...แล้วบางคนแบบว่าทำผักปลอดสารเคมี ผักปลอดภัย แต่กลับมาต่อต้านเรา คือหากมีใครทำเกษตร แล้วถามว่าจะกล้าบอกไหม กล้าขึ้นป้ายเปิดเผยไปเลยไหมว่าที่ทำเกษตรดังกล่าว ใช้สารเคมีทั้ง 3 ชนิด เพราะอยากจะถามหากบอกแล้วใครจะทาน พืชผักผลไม้ในแปลงนั้น ใครจะเดินผ่านแถวนั้น หากมีการขึ้นป้ายแบบนั้น ผู้บริโภคเขาจะได้เลือกตัดสินใจ หรือพืชผักผลไม้ที่นำมาขาย ก็เขียนปิดไว้เลยว่า เป็นพืชผักผลไม้ที่มาจากพื้นที่ซึ่งใช้สารเคมีทั้ง 3 ชนิดดังกล่าว ก็อยากจะรู้แล้วใครจะซื้อหากเขียนปิดไว้ คือปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยชีวภาพ เป็นปุ๋ยที่ดี
บางคนชอบไปพูดกันว่า นักการเมืองท้องถิ่นมาเป็นรัฐมนตรีจะรู้อะไร ก็อยากบอกว่า นักการเมืองท้องถิ่น ไม่ใช่ว่าอยู่ดีๆ จะขึ้นมาได้เลย เพราะความจริง เราก็รู้เรื่องเหล่านี้อยู่แล้ว ก็เชื่อแล้วเหมือนพระเจ้าส่งเรามาอยู่กระทรวงนี้เลย บางทีเราก็คุยกับพี่ชาย ชาดา ไทยเศรษฐ์ ก็ถามเขา พี่ให้น้องแหม่มมาทำอะไรที่นี่ มาให้เราอยู่ตรงนี้ เขาก็ขำใหญ่เลย เพราะเราเป็นคนทำอะไรแล้วเราทำจริง
เบื้องหลังยื้อแบนสารพิษ
กับข้อเสนอเพื่อล้มแนวคิด
มนัญญา เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ก็ได้คุยกับพี่ชาย เขาก็เล่าให้ฟังว่า มีคนไปหาพี่ชาย เสนอยอดเงินผ่าน ส.ส.ชาดา ไทยเศรษฐ์ เป็นร้อยๆ ล้านๆ เลย แต่เขาบอกไปว่า คุณอย่ามาพูดเลย ผมไม่เอาอยู่แล้ว ผมไม่มีทางไปเสนอรัฐมนตรี ไม่กล้าพูดด้วย เพราะน้องสาวผม หากเขาคิดว่าสิ่งนั้นมีความถูกต้อง แล้วสิ่งไหนที่เขามุ่งมั่น เขาก็ต้องศึกษามาก่อนอยู่แล้ว เพราะผมก็เห็นว่ามันมีพิษ มันเหมือนยาพิษเลย
-แล้วส่วนตัวรัฐมนตรีมนัญญาเคยมีคนมาหา มาล็อบบี้ มายื่นผลประโยชน์อะไรให้ไหมในเรื่องการแบนสารพิษ?
มีค่ะ มี คือขอให้หยุดพูดครั้งแรก ก็ระดับห้าสิบล้านแล้ว เป็นร้อยล้าน ถ้าหยุดงานนี้ เลิกเรื่องนี้ได้ มีการเสนอกันเป็นหลักหลายร้อยล้านเลย แต่เราบอกไม่ได้ เพราะศักดิ์ศรีมันมากกว่าเงิน เพราะพี่น้องเกษตรกรสำคัญที่สุดอยู่แล้ว เราอยู่ตรงนี้ ชื่อก็บอกอยู่แล้ว รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดังนั้นเราก็ต้องทำในสิ่งที่เราได้รับมอบหมาย เราเป็น รมช.เกษตรและสหกรณ์ เราต้องช่วยเกษตรกร เราต้องดูแลเกษตรกร ชื่อบ่งบอกอยู่แล้ว
-ก็คือมาติดต่อ ยื่นเงื่อนไขเพื่อขอให้ล้มเลิกเรื่องการแบนสารพิษ?
ก็มาขอให้ล้มเลิกเรื่องนี้กันเยอะ บีบหลายอย่าง มีการบีบ และใช้วิธีการหลายๆ อย่าง บางคนไม่ให้ความร่วมมือ ทำกันเยอะ แต่คนที่เป็นเจ้านายคน ไม่มีใครทำลายลูกน้องตัวเอง เพราะบางอย่างก็ไม่สามารถพูดได้ เรากำกับดูแลอยู่ เราก็เจอหลายอย่าง แต่เราก็ไม่สามารถสื่อออกไปให้ทุกคนรู้ได้
-ช่วงที่ทำเรื่องนี้เคยเครียดถึงกับต้องเข้าพักรักษาอาการที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง?
วันนั้นเรารู้สึกปวดหัว มันกดดันหลายอย่าง เราก็ไปหาหมอ หมอตรวจแล้วบอกว่าความดันขึ้นเยอะมาก ขอให้นอนโรงพยาบาล เราก็บอกไม่ขอนอน แต่คุณหมอก็ยืนยันต้องพักดูอาการ แล้วเชื่อไหม ตอนที่ไปพักรักษาตัว เจอหมอที่โรงพยาบาล แต่ละคน หมอต่างมาบอกว่า "ขอบคุณรัฐมนตรี ขอบคุณมากเลยที่จัดการเรื่องนี้ให้ เพราะพวกหมอเองทำไม่ได้" เขาบอกหมอทำกันเองไม่ได้ ต้องยอมรับเลยว่าหมอทั้งประเทศไทยมีแนวทางเดียวกันหมดก็คือ ไม่อยากให้สารเคมีทั้ง 3 ชนิดมีอยู่ในประเทศไทยแล้ว มันนานเกินไปแล้ว
-ตัวเองเคยมีใครขู่อะไรไหม หรือคนรอบข้าง?
คนรอบข้างจะรู้เรื่องดี ก็จะแบบต่อๆ กันมา อย่างเราเอง มีผู้ใหญ่ระดับประเทศเลย ไปเจอที่งานหนึ่ง “เขาบอกรัฐมนตรีรู้ไหม สารพิษพวกนี้ งบประมาณของเขา แค่ปีหนึ่ง มากกว่างบประมาณประเทศเราสามปี” เราบอกขนาดนั้นเลยหรือ แล้วเขาก็บอก รัฐมนตรีก็ระวังจะเจอในสิ่งที่ไม่เคยเจอ เราก็บอกไปว่า “คงไม่หรอก เราไม่ได้คิดอะไร” และตอนใหม่ๆ ก็มีผู้ใหญ่ที่เราเคารพนับถือโทรศัพท์มาบอก “รัฐมนตรีระวังนะ จะไม่ได้อยู่ในตำแหน่งนี้นาน” เราก็บอกไม่เป็นไร เราก็ไม่ได้อะไรอยู่แล้ว เพราะเราคิดว่าหากเราทำสิ่งที่ดี แล้วหากจะเกิดอะไร ก็ไม่ได้อะไรอยู่แล้ว เขาก็บอกอีกว่า ”คนที่คิดจะทำเรื่องนี้ ไม่ใช่รัฐมนตรีคนแรก” ทุกคนทำเสร็จแล้วก็เงียบ
บางคนก็มาหาว่าเราทำเรื่องนี้ เพื่อจะตี เพื่อเอาผลประโยชน์เข้ามา ตีเหมือนจะเรียกเงิน หรือบางคนก็ไปพูดว่า เงินมาไม่ถึง เพราะเงินผ่านกันมาหลายทอด แต่เงินไม่มาถึงเรา เราก็เลยจะแบนสารเคมีทั้ง 3 ชนิด อะไรแบบนี้ แล้วก็มีอีกบอกว่า เดี๋ยวก็เงียบ เดี๋ยวเจอเงินเข้าไปหน่อย เดี๋ยวก็เงียบ อะไรแบบนี้ ตอนที่เราเริ่มทำเรื่องนี้หลายคนก็เฝ้าดู ยังไม่ค่อยมีใครอยากเข้ามาร่วมสักเท่าไหร่
เป็นคนรับผิดชอบในสิ่งที่ตัวเองทำทั้งหมด เพราะเราคิดว่าเวลาเราทำอะไร โดยเรามีจิตใจที่ดี มีความมุ่งมั่นที่ดี ก็คิดว่าผลตอบแทนก็น่าจะออกมาในแนวทางที่ดีอยู่แล้ว
ทำไมต้องต้านสารพิษ?
มนัญญาเล่าปมที่มา
หลายคนอาจสงสัยว่า ทำไม รมช.เกษตรฯ คนนี้ถึงออกมาเดินหน้าให้มีการแบนสารพิษ เราเลยถามถึงจุดสนใจในเรื่องนี้ว่าเกิดจากอะไร มนัญญา เล่าที่มาที่ไปให้ฟัง โดยเล่าย้อนหลังไปถึงชีวิตในวัยเด็กจนถึงช่วงเป็นนายกเทศมนตรีเมืองอุทัยธานี โดยบอกว่า เราไม่ได้เป็นคนเมือง เป็นเด็กต่างจังหวัด ตั้งแต่เด็กๆ เลย การพัฒนาเมืองก็ไม่ได้มาก เราเป็นเด็กอุทัยธานี ก็เห็นต้นข้าว เห็นท้องนา เพราะที่อุทัยธานี ทำนากันกลางเมือง แต่ทำนากันในตัวจังหวัดเลย อย่างบ้านก็ติดทุ่งนา ก็เห็นการทำนาตั้งแต่เด็ก เห็นปลาในนา แม้แต่ตอนน้ำท่วม ในต่างจังหวัดยุคสมัยเราเป็นเด็กๆ น้ำยังใสเลย เห็นขนาดเห็นปลาได้เลย
ต่อมาเมื่อเติบโตขึ้นแล้วกลับไปเป็นนายกเทศมนตรีเมืองอุทัยธานี ซึ่งแม้จะเป็นนายกเมือง แต่ก็ไม่ได้อยู่แต่ในเมือง เพราะก็มีการเชื่อมโยง ไม่ว่าจะเป็น อบต.หรือเทศบาล ก็จะมีการติดต่อประสานงานกันตลอด เพราะเรามีเครือข่ายกันเยอะ
ในตอนสมัยเราเป็นนายกเทศมนตรี เวลาเจอคนที่เสียชีวิตในโอกาสต่างๆ ว่าเป็นอะไรตาย เขาก็จะตอบว่า เป็นมะเร็งตาย ตอนแรก เราก็คิดว่าการเป็นมะเร็ง คือการเป็นมะเร็งแบบทั่วๆ ไป จนกระทั่งระยะเวลาผ่านไปร่วม 3 ปี เราก็เริ่มถามว่าทำไม คนในบางหมู่บ้านที่อุทัยธานีเป็นมะเร็งเสียชีวิตกันเยอะมากในบางหมู่บ้าน ก็มีคนในพื้นที่ เช่น นายก อบต. ก็บอกว่า นายกเทศมนตรีรู้ไหมบ้านเราเขาฉีดยากันเยอะ เราก็ถามกลับว่า “ฉีดยาอะไร” เขาก็ตอบว่า “ก็ฉีดยาฆ่าหญ้า ฆ่าแมลง” เราก็ถามกลับว่า แล้วฉีดทำไม เขาก็บอกว่า “มันเป็นวิถีของชาวบ้านเขาไปแล้ว” เราก็ถามกลับว่า ”แล้วทำไมไม่เลิก อย่างอื่นไม่มีใช้หรือ” เขาก็บอกว่า “มันง่าย และรัฐบาลสอนให้ทำแบบนี้”
...เราก็เห็นสิ่งนี้มานานมาก จนกระทั่งเด็กที่ใกล้ชิดกับเรา เขามาบอกว่าจะไปเผาศพญาติ เป็นมะเร็งที่ลำคอ เขาก็บอกว่าฉีดยา แม้แม่จะบอกแล้วว่าไม่ให้ฉีด แต่ก็ไม่เชื่อกัน ก็เห็นปัญหาแบบนี้มาตลอด จนเคยนึกอยู่วันหนึ่งว่า หากวันหนึ่งข้างหน้า หากเราได้เป็นใหญ่เป็นโตในรัฐบาล จะเข้าไปเลิกสารพวกนี้ให้ได้เลย เอามาฉีดกันได้อย่างไร อย่างเล่าให้ฟัง ตอนเป็นนายกเทศมนตรี เคยมีคนในพื้นที่นำผักมาให้กิน รู้ไหมเขาพูดกับเราว่าอย่างไร เขาบอก ท่านนายก อันนี้ไม่ได้ฉีดยานะ นำมาให้นายกฯ ทาน มีนำสับปะรดมาให้แล้วบอกว่าที่เก็บมา มาจากแปลงที่ไม่ได้ฉีดสารเคมี นำมาให้นายกฯ ทาน เราก็เริ่มเอะใจ เราก็ถามทำไมเอามาให้ทาน เขาก็บอก แปลงนี้ไว้ทานเอง ไม่ได้มีฉีดยา
เราก็เริ่มเห็นแล้วว่า มีการแบ่งแยกกันเกิดขึ้นว่าแปลงนี้ฉีดยา อีกแปลงไม่ได้ฉีด เพราะคนฉีดเองเขาก็เริ่มรู้ปัญหาแล้ว ซึ่งแม้จะมีความพยายามป้องกันอันตรายในการฉีด แต่ก็ไม่มีทางประสบความสำเร็จได้ แม้จะมีการอบรมความปลอดภัยให้เกษตรกร เช่น การใส่ถุงมือหรือการใส่ตัวคลุมขณะฉีดสารเคมี เหมือนในต่างประเทศ มันไม่มีหรอก มันเป็นไปไม่ได้
สารเคมีมันมีพิษทั้งหมด แต่จะมากหรือน้อย อยู่ที่ยอมรับได้แค่ไหน ก็เป็นจุดเริ่มต้นของเรื่องการพยายามให้แบนสารพิษที่เราสัมผัสได้ด้วยตัวเราเอง เพราะเราได้เห็นมันมาอยู่ตลอดเวลาอยู่แล้ว เราไปเผาศพคนที่เสียชีวิต จากเรื่องนี้ เราก็เผาด้วยมือเราเอง ประชาชน เกษตรกร ก็บอกเจ็บป่วย เสียชีวิต เพราะได้รับผลกระทบจากการใช้สารเคมี เขาก็พูดกันแบบนี้ บางครอบครัว เวลาไปเยี่ยมที่บ้านเขา เห็นกระทั่งยี่ห้อ มีการนำสารเคมีไปไว้ใต้เตียง
-หลังเข้ามาเป็นรัฐมนตรี กำกับดูแลกรมวิชาการเกษตร จุดเริ่มต้นในการผลักดันให้มีการแบนสารพิษ?
ก็พอเข้ารับตำแหน่ง รมช.เกษตรและสหกรณ์ ก็มีแนวคิดเรื่องนี้อยู่แล้ว แต่ก็กำลังคิดอยู่ว่าเราจะเริ่มต้นทำอย่างไร ก็คิดเรื่องการแบนสารเคมีพิษทั้ง 3 ชนิดจะเริ่มต้นอย่างไร ก็ทำงานอยู่ได้ประมาณไม่ถึง 1 เดือน วันหนึ่ง เลิกประชุม ครม.ที่ทำเนียบรัฐบาล ก็เดินลงมา ก็มีนักข่าวมาสัมภาษณ์เรื่องต่างๆ ก็เลยบอกกับสื่อไปว่า มีแนวคิดจะแบนสารเคมีทั้ง 3 ชนิดดังกล่าว นักข่าวก็งงกันมาก แล้วก็ถามกลับมาว่า จะทำหรือ แล้วจะใช้เวลานานขนาดไหน ก็บอกว่าปีหน้าช้าไป ขอเป็นสิ้นปีนี้แล้วกัน ก็มีความมุ่งมั่น แต่บางคนก็คิดว่า เร็วเกินไปกับการที่จะมาแบนสารเคมีทั้ง 3 ชนิด ทั้งที่เพิ่งมาเป็น รมช.เกษตรฯ ได้แค่ไม่นาน แต่คนที่พูดแบบนั้น เขาคงไม่ได้คิดว่า ก่อนหน้านี้เรามาจากนายกเทศมนตรี เราผ่านอะไรมาเยอะ เราเห็นจากเรื่องจริงก็มากมาย
ที่สำคัญคุณอนุทินก็เป็นแรงผลักดันที่ดีมาก ที่ยึดหลักเรื่องสุขภาพ มีข้อมูลต่างๆ เพราะเราสัมผัสจากเรื่องจริง เราเห็นจริง แต่คุณอนุทินใช้หลักทางวิชาการ เพราะอยู่กระทรวงสาธารณสุข อยู่กับหมออะไรต่างๆ ในกระทรวง ที่ก็จะนำข้อมูลต่างๆ มีนำภาพผู้ได้รับผลกระทบมาให้เห็น คุณอนุทินเห็นก็ตกใจ ตัวคุณอนุทินก็ถามเราหลายครั้งว่า รัฐมนตรีมนันยาจะแบนสารเคมีแน่นะ แน่ใจนะ แล้วหากมีใครมาขอกับรัฐมนตรี จะว่าอย่างไร เราก็ตอบยืนยันไปเลยว่า “เราทำแน่ รับรองไม่มี ทำแน่” คุณอนุทินยังตอบกลับ ”หากรัฐมนตรีทำได้ รัฐมนตรียอด” เพราะก็ต้องเข้าใจว่า เรื่องนี้การตัดสินใจเป็นเรื่องของแต่ละกระทรวง ก็ไม่อยากมาก้าวก่าย เพียงแต่หากมาแนวเดียวกันก็จะได้เดินคู่ไปด้วยกัน ก็ขับเคลื่อนกันมากับคุณอนุทิน
-เริ่มมีแนวคิด มีการหาข้อมูลอย่างไรกับกลุ่มองค์กรที่เคลื่อนไหวเรื่องนี้ เช่น Bio-Thai หรือ ThaiPan และกลุ่มแพทย์อย่าง นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา จากจุฬาฯ?
เชื่อไหม เราไม่เคยคุยกันก่อนหน้านี้เลย แต่เรามาแนวทางเดียวกัน เพราะมีความมุ่งมั่นมาในเส้นทางเดียวกัน คือเราต่างคนต่างก็ทำงาน แต่เราก็จะติดตามข้อมูลจากเพจของพวกเขา ก็พบว่าพวกเขามีความอดทนและรับฟังทุกความเห็น ก็เป็นเรื่องของคนที่มุ่งมั่นและรู้ว่าสิ่งนี้คืออะไร มันชั่วร้ายขนาดไหน เขาก็มุ่งมั่นที่จะไม่ให้มันมีอยู่
-ฟังจากที่พูดแล้วช่วงเจอแรงกดดันมากๆ อะไรคือสิ่งที่ทำให้คิดว่ายังไงซะต้องทำเรื่องนี้ให้ได้?
บางครั้งนอนหลับไปก็ไม่ได้คิด แต่พอตื่นขึ้นมาปั๊บก็คิดว่าเมื่อไหร่เรื่องนี้จะจบเสียที เราจะได้เดินหน้าเรื่องอื่น ก็โชคดีมีลูกๆ พวกลูกๆ ไม่เคยถามอะไร ก็จะมีแบบแม่กินข้าวไหม คอยให้กำลังใจ เป็นเพราะเรามองเกษตรกรเป็นหลัก เรามองพี่น้องประเทศไทยเป็นหลักมากกว่า พอเรามีกำลังใจ อย่างที่หมอหลายท่านและคนต่างๆ เริ่มเข้ามา ก็ทำให้เรามีกำลังใจมากขึ้น ก็เหมือนคนที่ยืนอยู่อย่างโดดเดี่ยว พอเรายืนโดดเดี่ยวนานๆ คนที่เขามีความรู้จริงๆ เขาเข้ามา เขายอมรับ แม้กระทั่งคนที่เคยมองเราติดลบเขาก็ยังเปิดใจรับเราได้ ก็เป็นแรงใจทำให้เราต่อสู้ต่อไป
เรื่องการแบนสารเคมีส่วนตัวก็ไม่เคยคุยกับท่านนายกฯ เพราะเป็นนโยบายรัฐบาลอยู่แล้วคือ ลดละเลิกสารเคมี หันมาใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ทำเกษตรอินทรีย์ โดยเรื่องของการเตรียมการ หลังมีการแบนสารพิษ ในฐานะกำกับดูแลกรมส่งเสริมสหกรณ์ สหกรณ์ก็มีรถตัดหญ้า เครื่องไถ รถไถเครื่องจักร แม้กระทั่งตัวโดรนที่จะพ่นยา เพื่อลงไปช่วยเกษตรกร เรามีงบประมาณให้อยู่แล้ว
ส่วนเกษตรกรที่เคยครอบครองสารไว้ ซื้อมาจากร้านไหนก็นำไปคืนร้านนั้น แล้วร้านค้าก็ต้องนำไปให้กับบริษัทนั้นๆ ส่วนบริษัทจะจัดการอย่างไรก็เป็นเรื่องของเขา แต่ก็มีบางบริษัทต้องการส่งออก เราก็ให้ส่งออก เพราะสต็อกจริงๆ แล้วเมื่อเทียบกับการขอ หากตรงกันมันน่าจะหมดแล้ว แต่ถ้าสต็อกมีเหลือมากแปลว่ามีการนำเข้ามาเกิน
จริงๆ ประเทศไทยสารเคมีมีเยอะ มันไม่มีการนำเข้ามาใหม่แล้ว จะมาขอว่าเอาสารบางอย่างเข้ามา แต่คำว่าทดแทนหากพบว่าเป็นสารมีพิษร้ายแรงเท่ากัน มันก็ทดแทนกันไม่ได้ คำว่า "ทดแทน" ต้องบอกว่าสรรพสิ่งในประเทศไทยมีเยอะแยะมากมายในการนำมากำจัดวัชพืช หรือเราจะอยู่กับมันแบบไหน จริงๆ มันมีมากมายตั้งแต่บรรพบุรุษเรา เรามีมากมาย เพียงแต่เราไม่ได้นำออกมาใช้ อย่างปุ๋ยอินทรีย์ก็อาจต้องนำมาปรับพิจารณากันใหม่เพื่อให้มีค่าทางสารอาหารมากขึ้น เพราะจริงๆ แล้วเราให้ค่าตัวสารอาหารในปุ๋ยอินทรีย์มันน้อยเกิน ก็ต้องมาดู คือทุกอย่างมันเหมือนกับมีการมาเริ่มต้นใหม่ทุกอย่าง จะต้องมาเริ่มต้นนับหนึ่ง แต่ถามว่ามันจะช้าไปไหม แต่ถ้าเราไม่ทำก็ไม่ได้ ก็ต้องทำทุกอย่างควบคู่กันไปทั้งหมด
อย่างสารเคมีที่จะให้แบน เราเคยถามเกษตรกร เขาก็บอกหากไม่มีก็ไม่ใช้ เขาก็บอกจริงๆ ก็ไม่อยากใช้อยู่แล้ว แต่เมื่อมันมีก็เลยใช้ หากเราลองไปดูตามต่างจังหวัด คนที่ใช้สารเคมีทั้งสามชนิดแทบจะไม่มีแล้ว ไม่เคยเจอเลย นโยบายการแบนสารเคมีทั้งสามชนิด หากถามว่าเราเข้ามาทำแล้วมันเร็วเกินไปไหม จริงๆ มันไม่ใช่เพราะเกษตรกรเขาเลิกใช้กันมานานแล้ว เพียงแต่ยังไม่รู้จะสิ้นสุดยังไง ก็เหมือนกับคำว่า "สารทดแทน" คำว่า "ทดแทน" เราไม่สามารถบอกได้หรอกว่าจะมาทดแทนตรงไหนได้ อะไรที่มีพิษเราก็ต้องแบนไปอยู่แล้ว อะไรที่ทำลายพี่น้องประชาชน กระทรวงสาธารณสุขก็ไม่ปล่อยให้มีอยู่แล้ว แต่อาจเป็นว่าสารเคมีทั้งสามชนิด เมื่อพิษมันร้าย มีการฉีดแล้วสารเข้ามาในร่างกายก็สามารถเสียชีวิตตอนนั้นได้เลย แต่สารตัวอื่นที่มันอ่อนกว่าอาจใช้เวลาถึงหกชั่วโมง
มนัญญา ย้ำว่าจริงๆ แล้วสารเคมีทั้งสามชนิด ตอนนำเข้ามาแรกๆ ราคาแพงมาก แต่พอมีการใช้กันมากขึ้นก็ทำให้ราคาเริ่มลดลงมา ก็เหมือนกับสารตัวอื่นๆ ตอนนี้บางชนิดสองร้อยกว่าบาท จากเดิมที่คนบอกขายกันแปดร้อยบาท แต่จริงๆ แล้วสารเคมีในประเทศไทยไม่มีเพิ่มแล้ว หมายถึงจะไม่มีสารเคมีตัวใหม่เข้ามาแล้ว ไม่มีการอนุญาตแล้ว และการที่จะมีสารเคมีใดๆ เข้ามาจะต้องมีการพิสูจน์โดยใช้เวลาพิสูจน์ถึงสองปี เช่นจะใช้กับพืชเกษตรแบบไหน หากจะใช้กับผลไม้ก็ต้องมีการทำแปลงทดลอง โดยกรมวิชาการเกษตรจะเป็นฝ่ายทำแปลงทดลอง จริงๆ แล้วหากทำตามกฎระเบียบ พวกสารเคมียาต่างๆ ที่จะเข้ามาจะมีการทดลองเยอะมาก แต่ตอนหลังก็จะใช้เอกสารของต่างประเทศรับรองมา แต่เอกสารของต่างประเทศกับวิธีการของบ้านเราก็จะแตกต่างกัน อย่างของเขาจะมีการควบคุมอย่างดี เช่นการแต่งกายรัดกุมในการทดลอง โดยสารเคมีในประเทศไทยตอนนี้มีร่วมกว่าห้าสิบชนิดแล้ว-เยอะมาก และที่เราไม่รู้อีกเป็นร้อย อันนี้คือที่ทราบกันเฉยๆ แล้วไหนจะที่ไม่ทราบอีก
สารเคมีในประเทศไทยตอนนี้มันเยอะมากแล้ว พอเสียทีกับการที่จะนำสารตัวอื่นเข้ามา มันเป็นไปไม่ได้ หากเรานำสารตัวอื่นเข้ามา คนก็จะไปเข้าใจกันว่าเดี๋ยวเราก็จะนำสารตัวอื่นเข้ามา ก็ยืนยันได้ว่า ไม่มีแล้ว
เรื่องนี้ไม่มีแพ้ไม่มีชนะ คือเรามาดูเรื่องสุขภาพและเห็นความสำคัญของสิ่งแวดล้อมมากขึ้น แล้วเราก็เดินไปด้วยกัน เรื่องนี้ไม่มีแพ้ไม่มีชนะ บนจุดมุ่งหมายคือเพื่อประเทศไทยของเรา เมื่อไทยอยากจะเป็นครัวโลก แล้วหากเกิดในอนาคตต่างประเทศเขาบอกว่าประเทศไหนใช้สารเคมีทั้งสามชนิดดังกล่าวจะไม่ให้ผักผลไม้เข้าไปประเทศเขา แล้วเราจะทำอย่างไร ถ้าไม่เริ่มตั้งแต่ตอนนี้ แล้วตอนนี้หลายประเทศก็เริ่มแบนสารกันแล้ว ต่างประเทศเขาเริ่มมองอะไรที่เป็นเรื่องสุขภาพมากขึ้น
-มองว่าที่ผ่านมาเหตุใดการแบนสารพิษถึงยืดเยื้อมานาน?
อาจเป็นเพราะว่าเขาก็มีความมุ่งมั่นกันทุกคน แต่อย่างเราพอเราออกมาชัดเจน แอคชั่นเราชัดเจน คนที่อยู่ข้างหลังเขาก็มองดูอยู่ ก็ไปในแนวทางนี้กันได้ง่ายขึ้น เพราะทุกคนมีใจกันมาอยู่แล้ว 70-80 เปอร์เซ็นต์ มีใจกันอยู่แล้ว แต่ก็ต้องดูว่าใครจะออกมานำ นำตรงนี้ออกมา ก็บังเอิญเราออกมาได้แรงหน่อยและกองหนุนก็ตามกันมาเยอะ ที่ผ่านมาเขาก็อาจเจออย่างอื่นปะทะ เลยหันไปดูอย่างอื่นเช่น เกษตรอินทรีย์ เพราะไม่อยากปะทะ แรงหนุนก็อาจยังไม่มาก
จริงๆ คนรู้เรื่องนี้ แต่ไม่รู้จะทำอย่างไร แต่ไม่รู้จะไปทางไหน เพียงแต่แค่เรามาขยับเปิดออก ทุกอย่างก็พร้อมอยู่แล้ว รู้อยู่แล้ว เรื่องการแบนสารพิษ ขอมอบให้กับทุกคนดีกว่า ทุกคนที่มีจิตใจแนวทางเดียวกับเรา เพราะหากเป็นเราทำคนเดียวเราคงเดินไปไม่ได้ หากเราได้อะไรมาเราก็มอบคืนกลับไปให้ทุกคนอยู่แล้ว ไม่ว่าฝ่ายนั้นจะแอนตี้เราหรือใช้คำพูดที่ไม่ดีกับเรา เราก็ติดตามอยู่ แต่ก็คิดว่าสักวันหนึ่งเขาก็ต้องรู้ของเขาเอง แต่ก็เห็นว่าบางเรื่องเขายังไม่เข้าใจกัน ชีวิตคนเราไม่สามารถบรรลุเป้าหมายไปได้ทุกอย่าง แต่เราก็ต้องมีความอดทน
มนัญญา บอกว่า หากเรามีความมุ่งมั่น มีจิตใจที่ดีแล้ว เราคิดว่าเราเชื่อในพระเจ้า เพราะเราเป็นคนที่ค่อนข้างอยู่ในศาสนา เป็นคนที่เชื่อมั่นในพระเจ้าอยู่แล้ว บางครั้งเราก็ขอพระเจ้า ก็เหมือนกับสวดมนต์ไหว้พระ เราก็ขอพรพระเจ้าว่าใครที่คิดไม่ดีกับเรา หรือว่ายังไม่เข้าใจในสิ่งที่เราทำ ก็ขอให้พระเจ้าเปิดใจเขา แล้วขอให้เขาเข้าใจด้วย เพราะเรามีความมุ่งมั่นอยากช่วยเกษตรกร อยากให้พื้นที่แผ่นดินในประเทศไทยในน้ำมีปลาในนามีข้าว เราอยากให้เป็นแบบนั้น
มนัญญา เปิดเผยว่า งานที่อยากจะเข้าไปต่อจากนี้คือเรื่อง ปราบปุ๋ยปลอม เพราะเรื่องปุ๋ยปลอม ทำลายเกษตรกรอย่างมาก เกษตรกรซื้อปุ๋ยปลอมมาห้าหมื่นบาท พอลงปุ๋ยไปแล้วในแปลงจึงเพิ่งมารู้ว่าปุ๋ยที่ซื้อมาปลอม ผลผลิตก็ไม่ได้ เสียเงินไปห้าหมื่นบาท แล้วต้องควักเงินไปซื้อปุ๋ยจริงมา ก็เท่ากับเกษตรกรเสียเงินไปกลับแล้วหนึ่งแสนบาท โดยพบว่าตอนนี้ในประเทศไทยมีปุ๋ยปลอมเยอะมาก ดังนั้นงานต่อไปจะจัดการแก้ปัญหาเรื่องปุ๋ยปลอม แต่จะแจ้งไปล่วงหน้าก่อนให้หยุดการทำปุ๋ยปลอม หยุดการทำร้ายเกษตรกรได้แล้ว เกษตรกรบอบช้ำกับเรื่องนี้มามากแล้ว
ปุ๋ยปลอมตอนนี้เยอะมาก มีการขายแบ่งเป็นถุง ถามว่าเราเจอไหม-ก็เจอ ก็เคยถามคนที่ซื้อปุ๋ยปลอมว่าซื้อมาได้อย่างไร เขาก็ให้ข้อมูลว่าคนที่มาขายบอกให้เอาไปแล้วผ่อนจ่ายได้ พอเก็บเกี่ยวแล้ว ค่อยมาเก็บเงิน แต่ตอนที่นำปุ๋ยปลอมมาลงให้ก็จะเก็บไปก่อนสองหมื่นห้าพันบาท แล้วบอกว่าจะมาเก็บทีหลัง แต่ก็พบว่าพอได้สองหมื่นห้าพันบาทไปแล้วก็หายไปเลย ไม่มาเก็บเงินส่วนที่เหลืออีกสองหมื่นห้าพันบาทแล้ว เพราะสองหมื่นห้าพันบาทก็กำไรเกินไปแล้ว ก็แค่เอาดินธรรมดามาขาย เราเห็นมาทุกอย่างเลย
.......................................
คนเข้าใจ 'ไทยเศรษฐ์' มากขึ้น
เราไม่ได้เป็นอย่างที่ทุกคนคิด
มนัญญา-รมช.เกษตรฯ อดีตนายกเทศมนตรีเมืองอุทัยธานี น้องสาวของชาดา ไทยเศรษฐ์ ส.ส.อุทัยธานี พรรคภูมิใจไทย เล่าให้ฟังถึงการพาสชั้นจากนักการเมืองท้องถิ่นมาเป็นเสนาบดีกระทรวงใหญ่ แทนพี่ชาย-ชาดาว่า ช่วงการตั้งรัฐบาลจัดตำแหน่งรัฐมนตรี ตอนแรกพี่ชายก็ยังไม่ได้บอกกับเราโดยตรงในการให้มาเป็นรัฐมนตรี โดยเขาให้คนโทรศัพท์มาบอกกับเราว่า "พี่ชาดาจะขอให้เรามาเป็นรัฐมนตรี" เราก็บอกคนที่ประสานมาว่า "ไม่เอา ไม่ต้องพูด หยุด จบ"
จากนั้นก็ยังมีคนมาบอกเรื่องนี้กับเราอีกสองสามคน ก็บอกเขาไปแบบเดียวกัน "หยุด จบ ไม่เป็น ยังไงก็ไม่เป็น" รวมถึงลูกชาย-เจเศรษฐ์ ไทยเศรษฐ์ ส.ส.อุทัยธานีสมัยแรก ก็มาบอกกับเราว่า "เขาจะให้แม่เป็นรัฐมนตรี แต่ให้ผมมาคุยกับแม่ก่อน" เราก็บอกลูกไปว่า "ไม่เอาๆ"
หลังจากนั้นพี่ชาย-ชาดาก็เข้าโรงพยาบาล ความดันสูงมาก เขาวัดความดันแล้วมัน Error เลยไปหาหมอที่โรงพยาบาลในอุทัยธานี ตอนนั้นเราไม่รู้เลย มารู้กันตอนหลังว่าเขาเครียด เครียดเพราะว่าน้องสาวคือตัวเราปฏิเสธจะไม่เป็นรัฐมนตรี และเครียดว่าแล้วหากน้องสาวเป็นรัฐมนตรีแล้วจะเกิดอะไรขึ้น ความดันเลยขึ้น ก็เลยไปหาหมอตอนกลางคืน แล้วหมอให้ฉีดยา แล้วพอฉีดยาเสร็จจะออกจากโรงพยาบาลกลับบ้าน หมอบอกว่ากลับไม่ได้ต้องนอนพัก สาเหตุตอนนั้นเพราะเขาเครียด แล้วต่อมาพอจะตกลงคุยเรื่องนี้กันในครอบครัว ก็มีการเรียกคนในครอบครัวทั้งหมดมาคุยกันทั้งลูกหลาน เขาก็บอกว่าจะให้เราไปเป็นรัฐมนตรี พอเขาบอกเสร็จเราก็นั่งอึ้ง เราก็ปฏิเสธไปว่าคงไม่เป็น แต่เด็กๆ ทั้งลูกทั้งหลานก็บอกว่าให้เราช่วย อยากให้เราเป็น เขาบอกว่าเราทำได้ ลูกๆ ก็บอกว่าเชื่อว่าแม่ทำได้ จนพี่ชาย ก็ย้ำว่าเชื่อว่าน้องแหม่ม (ชื่อเล่น) ทำได้อยู่แล้ว จนสุดท้ายก็ตอบรับเพราะด้วยแรงสนับสนุนจากครอบครัว
“และก็เป็นสิ่งที่ท้าทายอย่างหนึ่งในชีวิตว่าเราจะพิสูจน์ตัวเราเอง เหมือนคนเคยดูถูกครอบครัวเรา เคยว่าครอบครัวเราไว้เยอะ เหมือนกับว่าครอบครัวเรา อีกบทบาทหนึ่งที่มองไป ก็มองครอบครัวซึ่งแบบไม่ดีเลย ตามกระแสสังคมอย่างที่เคยเห็นอะไรแบบนั้น ในกระแสสังคมต่างๆ เราก็เห็นว่าเมื่อเราก้าวมาสู่ตรงนี้ อะไรที่เราช่วยสังคมได้ อะไรที่จะทำให้ทุกคนรู้ว่าเราไม่ได้เป็นอย่างที่ทุกคนคิด"
ถามถึงว่าจากการเป็นผู้บริหารท้องถิ่นมาสู่การเมืองระดับชาติ มาเป็นรัฐมนตรี การเมืองท้องถิ่นกับการเมืองระดับชาติมีความแตกต่างกันอย่างไรบ้าง มนัญญา เปรียบเทียบให้ฟังว่า มีหลายคนดูถูกกันว่า นักการเมืองท้องถิ่นจะรู้อะไร แต่ทราบไหมคนที่มาจากการเมืองท้องถิ่นเขารู้มาก การเมืองที่ถูกต้อง ต้องเลือกมาจากฐานรากแล้วไปสู่ข้างบน อันนั้นคือการที่เราเจอกับประชาชนจริงๆ เราเจอประชาชนจริงๆ เราเจอปัญหาจริงๆ เรารู้ปัญหาจริงๆ มาจากไหน มาจากท้องถิ่นทั้งนั้น ท้องถิ่นเป็นสิ่งที่สำคัญเลย เช่นการทำสิ่งต่างๆ ในท้องถิ่นเช่นเทศบาล จากนั้นก็ให้ชุมชนเป็นผู้ดูแล
-แรงเสียดทานทางการเมืองระหว่างการเมืองระดับชาติกับท้องถิ่นแตกต่างกันเยอะหรือไม่ ?
ท้องถิ่นก็จะเล็กกว่า อย่างหากเราเห็นว่าสิ่งไหนผิดเราก็สามารถเรียกขึ้นมาได้เลย ก็บอกเขาว่ามันผิด ทำแบบนี้ไม่ได้ การสั่งการในท้องถิ่นมันง่าย แต่การสั่งการในตำแหน่งรัฐมนตรีมันยาก การสั่งการในตำแหน่งรัฐมนตรีไม่ได้ง่ายอย่างที่คนคิด เพราะมีหลายกรม หลายกระบวนการ มีการคาบเกี่ยวกันเยอะ หากไม่แม่นจริง ไม่แม่นเรื่องเอกสาร ไม่แม่นเรื่องข้อกฎหมาย จะไม่สามารถก้าวอะไรได้รวดเร็ว คือต้องมีความแข็งแกร่งในตัวพร้อมกันทุกด้าน ถึงจะบริหารจัดการเรื่องได้เร็วและสำเร็จได้ด้วยดี มันต้องไปกันแบบสุดๆ ต้องสุดจริงๆ ตำแหน่งรัฐมนตรี ถ้าจะทำอะไรต้องทำให้สุด แต่หากทำอะไรที่มันไม่สุดแล้ว ไม่เข้มแข็งพอ ก็จะไปไม่ได้ลึกเต็มที่ รัฐมนตรีใน ครม.ทุกคนรู้ทั้งนั้นว่าต้องทำอะไร แต่ทุกคนก็ต้องต่อสู้ไปกันให้ได้ แต่อาจด้วยความที่เราเป็นนักสู้ มีเลือดนักสู้อยู่แล้ว คือสู้ทุกอย่างที่เรามองว่ามันไม่ใช่ มันผิด
มนัญญา เล่าถึงตอนสมัยเป็นนายกเทศมนตรีเมืองอุทัยธานีให้ฟังว่า สมัยเป็นนักการเมืองท้องถิ่นสมัยที่สอง มีคนเอาเช็คมาวาง ตอนนั้นเราไม่อยู่ มาวางไว้หน้าห้อง แล้วบอกว่าฝากไว้ให้ แล้วขอให้อย่าไปตีเส้นขาว-แดงตรงถนน ให้ลบเส้นขาว-แดงออกไปเพราะจะปลูกตึกแถว เพราะหากไม่มีเส้นขาวแดง แล้ววันรุ่งขึ้นเขาไปตีเส้นดำหมดเลยเพื่อจะสร้างตึก เราก็บอกให้นำเช็คไปคืนเขา แล้วเราก็ตีเส้นใหม่ เขาก็ไม่ยอม ก็สู้กันหลายศาล ฟ้องเราหลายศาล แต่เขาก็แพ้คดี แล้วเขายังไปบอกพี่ชายเราว่า หากไม่ยอมเปลี่ยนสีให้เขา ไม่จัดการเรื่องนี้ให้เขา ตัวเขาจะส่งคนลงสมัครรับเลือกตั้งท้องถิ่นแข่งกับเรา พี่ชายเราก็บอกว่าผมไม่ไปพูดให้ หากไปพูดแบบนี้ยิ่งไปท้าทายเรา
จนต่อมาเขาก็ส่งคนลงแข่งกับเรา ก็จ่ายกันเพื่อจะล้มเรา พยานหลักฐานเรามีพร้อม แต่เราก็ผ่านจุดนั้นมาได้ เพราะเราทำงานมาสี่ปี เรารับทุกเรื่อง แก้ทุกปัญหา คนในเขตเทศบาลก็รู้อยู่แล้วว่าเราทำอะไรให้กับเขาบ้าง เราไม่จ่ายเลย แต่เราสู้ด้วยผลงานที่ผ่านมา ฝ่ายเขาก็หมดไปหลายสิบล้านบาท จนกลายเป็นบุคคลล้มละลาย สิ่งที่เราพูดมาทั้งหมดไม่ได้พูดลอยๆ มีหลักฐานทุกอย่าง
-คิดว่าจากที่ทำงานมาจนถึงตอนนี้ ทำให้คนในสังคมโดยเฉพาะคนในเมืองเข้าใจตระกูลไทยเศรษฐ์มากขึ้นหรือไม่?
ก็ทำให้หลายคนเข้าใจ "ไทยเศรษฐ์" มากขึ้น ทำให้รู้ว่าจริงๆ แล้วเราไม่ได้เป็นอย่างที่คนอื่นคิดเลย เราไม่ได้มากอบโกยหรือมาทำร้ายใคร เราไม่เคยทำร้ายใคร เพียงแต่บางครั้งเราก็ต้องปกป้องตัวเราเอง เราไม่ไปเริ่มกับใครก่อนอยู่แล้ว ส่วนมากเป็นเราที่ถูกทำร้ายก่อนมากกว่า แล้วเราต้องปกป้องตัวเราเอง.
ต้องยอมรับว่าเรื่องนี้ผลประโยชน์มันหลายหมื่นล้านบาท จึงเป็นเรื่องธรรมดาอยู่แล้ว เพราะการที่มีผลประโยชน์หลายหมื่นล้านบาท มันก็ต้องมีวิธีการหลายวิธีการ...มีคนไปหาพี่ชาย เสนอยอดเงินผ่านส.ส.ชาดา ไทยเศรษฐ์ เป็นร้อยๆ ล้านๆ เลย แต่เขาบอกไปว่าคุณอย่ามาพูดเลย ผมไม่เอาอยู่แล้ว ผมไม่มีทางไปเสนอรัฐมนตรี
คือขอให้หยุดพูดครั้งแรกก็ระดับห้าสิบล้านแล้ว เป็นร้อยล้าน ถ้าหยุดงานนี้ เลิกเรื่องนี้ได้ มีการเสนอกันเป็นหลักหลายร้อยล้านเลย แต่เราบอกไม่ได้ เพราะศักดิ์ศรีมันมากกว่าเงิน พี่น้องเกษตรกรสำคัญที่สุด...ก็มาขอให้ล้มเลิกเรื่องนี้กันเยอะ บีบหลายอย่าง มีการบีบและใช้วิธีการหลายๆ อย่าง...บางคนก็มาหาว่าเราทำเรื่องนี้เพื่อจะตี เพื่อเอาผลประโยชน์เข้ามา ตีเหมือนจะเรียกเงิน หรือบางคนก็ไปพูดว่าเงินมาไม่ถึง เพราะเงินผ่านกันมาหลายทอด แต่เงินไม่มาถึงเรา เราก็เลยจะแบนสารเคมีทั้งสามชนิด
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |