30 พ.ย.62 - นายนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) นำเสนอผลสำรวจภาคสนาม เรื่อง แนวโน้มจุดยืนการเมืองประชาชน กรณีศึกษาประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ โดยดำเนินโครงการทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) และการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) จำนวน 1,098 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 20 - 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562 ที่ผ่านมา พบว่า
แนวโน้มฐานสนับสนุนของประชาชนต่อรัฐบาลเริ่มเงยหน้าสูงขึ้นหลังจากตกต่ำลงตั้งแต่ช่วงหลังเลือกตั้งเป็นต้นมาคือ ร้อยละ 23.3 ในเดือนเมษายน ร้อยละ 10.1 ในเดือนกรกฎาคม ร้อยละ 17.1 ในเดือนกันยายน ร้อยละ 14.1 ในเดือนตุลาคม และขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 25.6 ในการสำรวจล่าสุดเดือนพฤศจิกายน โดยสาเหตุหลักมาจากมาตรการชิมช้อปใช้และมาตรการต่างๆ ของรัฐบาลในการลดรายจ่ายเพิ่มรายได้ของประชาชน
ที่น่าพิจารณาคือ จำนวนของผู้ไม่สนับสนุนรัฐบาลลดลงจากร้อยละ 42.2 ในเดือนตุลาคม มาอยู่ที่ร้อยละ 25.4 ในการสำรวจล่าสุดเดือนพฤศจิกายน อย่างไรก็ตาม กลุ่มพลังเงียบยังคงเป็นกลุ่มที่ใหญ่ที่สุดในทุกช่วงเวลาของการวัดคือ ร้อยละ 56.1 ในเดือนเมษายน ร้อยละ 55.5 ในเดือนกรกฎาคม ร้อยละ 46.0 ในเดือนกันยายน ร้อยละ 43.7 ในเดือนตุลาคม และล่าสุดเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 49.0 ในเดือนพฤศจิกายน
เมื่อจำแนกออกตามกลุ่มช่วงอายุ หรือ Generation ต่าง ๆ พบว่า กลุ่มคนสูงอายุหรือ Gen Baby Boom+ เป็นกลุ่มที่สนับสนุนรัฐบาลมากที่สุดคือร้อยละ 28.6 ในขณะที่กลุ่ม Gen Z ยังเป็นกลุ่มที่สนับสนุนรัฐบาลน้อยสุดคือร้อยละ 17.9 อย่างไรก็ตาม ที่น่าสนใจคือ กลุ่ม Gen Y ที่สนับสนุนรัฐบาลมีสัดส่วนสูงกว่ากลุ่มไม่สนับสนุนรัฐบาลคือ ร้อยละ 26.8 ต่อร้อยละ 22.6 ในขณะที่ กลุ่ม Gen X กลับมีกลุ่มคนที่ไม่สนับสนุนรัฐบาลมากกว่าคือร้อยละ 28.0 ต่อร้อยละ 23.9
นอกจากนี้ เป็นที่น่าพิจารณาเช่นกันว่า กลุ่มคนรายได้น้อยคือรายได้ไม่เกิน 10,000 บาทต่อเดือน มีฐานสนับสนุนรัฐบาลมากกว่ากลุ่มไม่สนับสนุนรัฐบาลคือ ร้อยละ 28.3 ต่อร้อยละ 25.8 และกลุ่มคนเริ่มทำงานใหม่อัตราเงินเดือนช่วง 10,0001 – 15,000 บาท เกินกว่า 1 ใน 3 หรือร้อยละ 36.1 ที่สนับสนุนรัฐบาลมากกว่ากลุ่มไม่สนับสนุนรัฐบาลที่มีอยู่ร้อยละ 27.2 และเป็นที่น่าสังเกตว่า กลุ่มคนรายได้สูงตั้งแต่ 30,000 บาทขึ้นไปมีสัดส่วนของคนที่ไม่สนับสนุนรัฐบาลมากกว่ากลุ่มสนับสนุนคือร้อยละ 31.1 ต่อร้อยละ 14.8
ที่น่าสนใจอย่างยิ่งคือ กลุ่มคนต่างจังหวัดเริ่มสนับสนุนรัฐบาลมากกว่ากลุ่มคนกรุงเทพมหานคร คือร้อยละ 29.1 ต่อร้อยละ 22.0 ในขณะที่กลุ่มคนกรุงเทพมหานครร้อยละ 28.3 ไม่สนับสนุนรัฐบาลมีสัดส่วนมากกว่าคนต่างจังหวัดที่มีอยู่ร้อยละ 22.4
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพดล กล่าวว่า ผลโพลชิ้นนี้กำลังตอกย้ำ ทฤษฎีแก้วสามใบ ที่แต่ละแก้วมีนัยสำคัญทางการเมืองคือ สนับสนุนรัฐบาล ไม่สนับสนุนรัฐบาล และพลังเงียบ และแก้วแต่ละใบมีทั้งน้ำและตะกอนโดยในส่วนของน้ำไหลเวียนเปลี่ยนแก้วได้เพราะยังไม่ตกตะกอนขึ้นอยู่กับว่าประชาชนได้อะไรจากนโยบายและมาตรการต่าง ๆ ของรัฐบาล เช่น ชิมช้อปใช้ที่พรรคพลังประชารัฐผลักดัน การประกันราคาพืชผลทางการเกษตรที่พรรคประชาธิปัตย์กำลังทำให้เกิดผล เป็นต้น จึงมีความเป็นไปได้ว่าเมื่อประชาชนผู้มีรายได้น้อยได้ประโยชน์ที่จับต้องได้ย่อมส่งผลทำให้น้ำในแก้วไม่หนุนรัฐบาลไหลไปลงในแก้วใบอื่นคือ แก้วสนับสนุนรัฐบาล และแก้วพลังเงียบ แต่กลุ่มที่เป็นฮาร์ดคอร์ตะกอนเหนียวในแก้วไม่สนับสนุนรัฐบาลยังคงเหมือนเดิมไม่ไหลเวียนเปลี่ยนใจไปเป็นแก้วใบอื่น
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |