ศาลชั้นต้นลงดาบฟิลลิป มอร์ริส สำแดงเท็จราคาบุหรี่ สั่งปรับ 4 เท่า วงเงินรวม 1,225 ล้านบาท ส่วนคนไทย 7 คนรอด ผู้จัดการบริษัทเล็งอุทธรณ์ ชี้คำตัดสินไม่สอดรับที่องค์การการค้าโลกชี้ขาด
เมื่อวันศุกร์ที่ 29 พ.ย. ที่ห้องพิจารณา 910 ศาลอาญาได้อ่านคำพิพากษาคดีหมายเลขดำ อ.185/2559 ในคดีที่พนักงานอัยการคดีพิเศษ 4 เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องบริษัท ฟิลลิป มอร์ริส (ไทยแลนด์) ลิมิเต็ด ซึ่งเป็นนิติบุคคล ที่มีนายเจอรัลด์ มาโกลีส ชาวสหรัฐอเมริกา ผู้จัดการสาขาฟิลลิป มอร์ริสฯ เป็นผู้แทน กับจำเลยพนักงานชาวไทย ร่วมกันเป็นจำเลยที่ 1-8 ในความผิดฐานร่วมกันเกี่ยวข้องด้วยประการใดๆ ในการหลีกเลี่ยง หรือพยายามหลีกเลี่ยงค่าภาษีศุลกากร โดยเจตนาที่จะฉ้อค่าภาษีของรัฐบาล ตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 และ 115 จัตวา, พ.ร.บ.ศุลกากร (ฉบับที่ 11) พ.ศ.2490 มาตรา 3, พ.ร.บ.ศุลกากร (ฉบับที่ 17) พ.ศ.2543 มาตรา 10 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 และ 91, พ.ร.บ.ให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำผิด พ.ศ.2489 มาตรา 4-9 ซึ่งคดีมีอัตราโทษตามกฎหมายศุลกากร ให้ปรับเป็นเงิน 4 เท่า ราคาที่รวมค่าอากร หรือจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือทั้งปรับและจำคุก
ทั้งนี้ นายเจอรัลด์ กับจำเลยที่ 2-8 มาฟังคำพิพากษาพร้อมทีมทนายความและบุคคลใกล้ชิด
คำฟ้องอัยการโจทก์ เมื่อวันที่ 18 ม.ค.2559 บรรยายพฤติการณ์สรุปว่า เมื่อระหว่างวันที่ 28 ก.ค.2546-24 มิ.ย.2549 บริษัท ฟิลลิปฯ กับพวก ได้ร่วมกันนำเข้าบุหรี่ยี่ห้อมาร์ลโบโร (MARLBORO) และแอลแอนด์เอ็ม (L&M) เข้ามาในราชอาณาจักร และร่วมกันบังอาจสำแดงเท็จโดยฉ้อโกง ออกอุบายด้วยการยื่นใบขนส่งสินค้าขาเข้าต่อเจ้าหน้าที่ศุลกากรเพื่อผ่านพิธีการศุลกากร โดยสำแดงราคาอันเป็นเท็จไม่ตรงตามราคาที่แท้จริง เพื่อหลีกเลี่ยงค่าภาษีศุลกากร ซึ่งเป็นความผิดทั้งสิ้น 272 ครั้ง โดยรวมราคาของสินค้าบุหรี่บวกกับราคาภาษีอากรที่หลีกเลี่ยงเป็นเงินทั้งสิ้น 20,210,209,582.50 บาท ซึ่งศาลอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวไปด้วยหลักทรัพย์คนละ 1 ล้านบาท
ศาลพิจารณาแล้วมีปัญหาต้องวินิจฉัย ว่าจำเลยที่ 1-8 กระทำผิดตามฟ้องหรือไม่ โจทก์มีเจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) 3 ราย เบิกความเป็นพยานว่า จำเลยที่ 1 ตั้งสาขาในประเทศไทย นำเข้าบุหรี่ 2 ยี่ห้อ จากสหรัฐอเมริกามายังไทย แต่ในทางปฏิบัติเป็นการนำสินค้าบุหรี่มาจากฟิลิปปินส์ มีการเปลี่ยนกรรมการบริษัทหลายครั้งเพื่อให้เกิดความยุ่งยากในการเรียกมาสอบสวน ในการสำแดงสินค้าระบุราคาต้นทุนในการขนส่งและนำเข้า หรือราคาหน้าโรงงาน (ซีไอเอฟ) ลดลงเรื่อยๆ โดยสำแดงราคาบุหรี่ยี่ห้อมาร์ลโบโร ราคา 9.50 บาทต่อซอง ยี่ห้อแอลแอนด์เอ็ม ราคา 7 บาทต่อซอง ก่อนสำแดงในปีถัดมาช่วงระหว่างปี 2546-2547 สำแดงราคามาร์ลโบโรนำเข้า 7.76 บาทต่อซอง และแอลแอนด์เอ็ม ราคา 5.88 บาทต่อซอง เป็นการตั้งราคาตามอำเภอใจ เพื่อให้จ่ายภาษีได้น้อยลง
ในขณะที่คู่แข่งนำเข้าบุหรี่ต่างประเทศรายอื่น แจ้งราคาซีไอเอฟมาร์ลโบโร นำเข้า 27 บาทต่อซอง และแอลแอนด์เอ็ม 16 บาทต่อซอง เห็นได้ว่าการนำเข้าบุหรี่จากฟิลิปปินส์และมาเลเซียเป็นกลุ่มบริษัทในเครือบริษัท ฟิลลิป มอร์ริสฯ ซึ่งเป็นบริษัทแม่ที่ตั้งอยู่สหรัฐ มีโลโก้เป็นรูปม้า 2 ตัว และอักษรคำว่าฟิลลิป มอร์ริส ภาษาอังกฤษแบบเดียวกัน
นอกจากนี้ พยานยังระบุว่า ระหว่างปี 2546-2550 จำเลยที่ 1 โอนเงินค่าสินค้าไปยังบริษัทในเครือของบริษัทแม่ที่ฟิลิปปินส์, ฮ่องกง, ออสเตรเลีย, สวิตเซอร์แลนด์, อินโดนีเซีย, มาเลเซีย, สหรัฐ และสิงคโปร์ ซึ่งการตรวจสอบธุรกรรมทางการเงินของจำเลยนั้น โจทก์มีหลักฐานจำนวนเงินที่แน่นอน ซึ่งเกี่ยวข้องกับบริษัทจำเลยที่ 1 ในการนำเข้าบุหรี่ยี่ห้อมาร์ลโบโรและแอลแอนด์เอ็ม ดังนั้น การนำเข้าบุหรี่ทั้งสองยี่ห้อของจำเลยเป็นการสำแดงราคาที่ต่ำลงและคงที่อยู่นานถึง 3 ปี ซึ่งมีมูลค่าต่ำกว่าผู้นำเข้ารายอื่นหลายเท่า ที่จำเลยที่ 1 ต่อสู้ว่าสำแดงราคาถูกต้อง และการนำเข้าไม่มีการโต้แย้งจากเจ้าหน้าที่ศุลกากรนั้น ไม่อาจต่อสู้หักล้างพยานฐานโจทก์ได้ จำเลยที่ 1 สำแดงราคาต่ำกว่าความเป็นจริง เพื่อหลบเลี่ยงภาษี
ทั้งนี้ จำเลยที่ 1 สำแดงราคาสินค้าตามใบขน 272 ฉบับ ราคา 12,270,608,315 บาท โดยคำนวณจากราคาของผู้ค้าในดิวตี้ฟรี เป็นฐานคำนวณเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่จำเลยที่ 1 เห็นสมควรกำหนดราคาลงกึ่งหนึ่งคงเหลือ 6,135,304,157.50 บาท เมื่อคำนวณเป็นภาษีอากรที่ต้องชำระเป็นเงิน 306,497,667.87 บาท จำเลยที่ 1 กระทำผิดตามฟ้อง
ส่วนประเด็นที่จำเลยต่อสู้ว่า การดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 1 ขัดต่อความตกลงว่าด้วยการประเมินราคาศุลกากรเนื่องจากไม่อาจนำราคาซื้อของบริษัท คิง เพาเวอร์ฯ มาใช้เป็นราคาซื้อขายของที่เหมือนกันหรือคล้ายกันโดยไม่ชอบ ซึ่งข้อเท็จจริงส่วนนี้องค์การการค้าโลก (WTO) ได้มีคำที่ใช้ไปแล้วนั้น เห็นว่าการดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 1 กับพวก ดีเอสไอได้นำใบขนส่งสินค้าบุหรี่ทั้ง 2 ยี่ห้อ มีลักษณะเป็นอย่างเดียวกันในกระบวนการผลิตของกลุ่มธุรกิจเดียวกันหรือกลุ่มทุนเดียวกันมาใช้เป็นพยานหลักฐานดำเนินคดีเพื่อทราบว่าจำเลยที่ 1 สำแดงราคาสินค้าบุหรี่ซึ่งมียี่ห้อเดียวกัน มีราคาแตกต่างกัน อันเป็นลักษณะเป็นการสำแดงราคาที่แท้จริงหรือไม่ การรวบรวมพยานหลักฐานส่วนนี้มุ่งหมายเพื่อพิสูจน์ความผิดของจำเลยที่ 1 มิได้มีวัตถุประสงค์เพื่อนำมาเปรียบเทียบเพื่อประเมินราคาศุลกากรจากใบขนทั้ง 272 ฉบับ เพื่อให้จำเลยที่ 1 ต้องชำระราคาหรือหวังเงินเพิ่มแต่อย่างใด เนื่องจากกระบวนการส่วนนี้ผ่านพ้นการดำเนินการพิธีศุลกากรไปครบถ้วนแล้ว การที่โจทก์ดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 1 กับพวกอีก 7 คน จึงไม่ได้ขัดต่อความตกลงทั่วไปว่าด้วยศุลกากรและการค้า หรือการประเมินราคาตามความตกลง พยานหลักฐานจำเลยที่ 1 จึงไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานหลักฐานโจทก์ได้ จำเลยที่ 1 จึงมีความผิดตามฟ้อง
ประเด็นต่อมา จำเลยที่ 2-8 ร่วมรู้เห็นกับการกระทำผิดของจำเลยที่ 1 หรือไม่ จำเลยที่ 2-8 ยอมรับว่าลงลายมือชื่อในการทำธุรกรรมทางการค้าไปตามหน้าที่ในฐานะลูกจ้างเท่านั้น เมื่อพิจารณาจากการเจรจานำเข้าบุหรี่จากต่างประเทศ เห็นว่าเป็นการกระทำของจำเลยที่ 1 กับบริษัทต่างประเทศในเครือ ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2-8 ร่วมรู้เห็นด้วย พยานหลักฐานไม่พอรับฟังให้ลงโทษจำเลยที่ 2-8 ได้
พิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 ลงโทษปรับ 4 เท่าของค่าภาษีอากรที่ต้องชำระจำนวน 306,497,667.87 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 1,225,990,671.50 บาท และให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2-8
ด้านนายเจอรัลด์กล่าวหลังฟังคำพิพากษาว่า ยินดีกับพนักงานทั้ง 7 คนที่ศาลพิพากษายกฟ้อง ส่วนคำตัดสินในของบริษัท ก็ให้ความเคารพ แต่จะยื่นอุทธรณ์ต่อไป เนื่องจากมองว่าไม่ตรงกับคำตัดสินขององค์การการค้าโลกที่เคยมีคำตัดสินไปก่อนหน้านี้ โดยยืนยันว่าบริษัทได้ปฏิบัติตามข้อกฎหมายของไทยในเรื่องของการแสดงราคาสินค้าและการยื่นสำแดงภาษีนำเข้าบุหรี่.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |