“บิ๊กตู่” ควงแขน “จุรินทร์-เฉลิมชัย” โชว์สื่อกลบข่าวรอยร้าวพรรคร่วมรัฐบาล ยันยิ่งกว่าเหนียวอีก ขออย่ากังวลให้ทุกคนเชื่อใจร่วมมือกันสร้างเสถียรภาพ "จุรินทร์" รับวิป ปชป.ต้องพูดคุยกับ 6 ส.ส.โหวตสวนรัฐบาล "เทพไท" แนะ รบ.ถอนญัตตินับคะแนนใหม่ ให้สัญญาหากตั้ง กมธ.ศึกษาผลกระทบจาก คสช.จะไม่เรียกนายกฯ มาแจง "ปิยบุตร" ซัดกลัวการตรวจสอบจนระบบพังไปหมด "ทอน" เล่นบทใหม่ลาออกจากที่ปรึกษา กมธ.งบฯ ไร้ทุกตำแหน่งในสภา อ้าง "เขาไม่ต้องการให้อยู่" จ่อลงถนนพบมวลชน 30 พ.ย.นี้ ปลุกลุกขึ้นไม่ยอมก้มหัวให้เผด็จการและอภิสิทธิ์ชน
เมื่อวันศุกร์ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ท่ามกลางกระแสข่าวรอยร้าวที่เกิดขึ้นในพรรคร่วมรัฐบาล ที่สืบเนื่องมาจากเสียงรัฐบาลแพ้โหวตในสภา จากญัตติการตั้งคณะกรรมาธิการศึกษาผลกระทบคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มาตรา 44 จนทำให้เกิดกระแสข่าวว่าผู้ใหญ่ในรัฐบาลไม่สบายใจ และได้มีการกำชับวิปรัฐบาลว่าจากนี้ไปเสียงโหวตในสภาจะแพ้ฝ่ายค้านไม่ได้ ช่วงเช้าวันศุกร์ได้มีความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจ
เมื่อเวลา 09.30 น. ที่ฮอลล์ 5 อิมแพ็ค เอ็กซิบิชั่น ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เป็นประธานเปิดงาน “Thailand Rubber Expo” โดยมีนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.), นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ เลขาธิการพรรค ปชป., พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย, นายถาวร เสนเนียม รมช.คมนาคม, นายนิพนธ์ บุญญามณี รมช.มหาดไทย, น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รวมถึงอดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ร่วมงาน
โดยก่อนที่ พล.อ.ประยุทธ์จะขึ้นเวทีกล่าวเปิดงาน ได้พูดคุยกับนายจุรินทร์และนายเฉลิมชัยที่นั่งอยู่ข้างๆ ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์มีสีหน้าเคร่งเครียด คาดว่ามีการหยิบยกประเด็นเสียงของรัฐบาลแตกจนทำให้สภาล่มซ้ำซากถึง 2 ครั้งมาหารือ รวมทั้งที่มีการวิจารณ์การทำงานของรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจของพรรคร่วมรัฐบาล
จากนั้น พล.อ.ประยุทธ์ขึ้นกล่าวเปิดงานตอนหนึ่งว่า เรากำลังเผชิญหน้าปัญหาเศรษฐกิจ ซึ่งประสบปัญหากันทั้งโลกและภูมิภาค ไม่มีประเทศไหนที่บอกว่าเศรษฐกิจดีเลย เพราะเป็นปัญหาห่วงโซ่ทั้งโลก ไม่ว่าจะเป็นการค้าการลงทุนและอุตสาหกรรม สิ่งสำคัญที่สุดโลกกำลังเปลี่ยนแปลงเข้าสู่เข้าสู่ยุคดิจิทัลออนไลน์ ดังนั้นเราต้องให้ความสำคัญทุกเรื่อง วันนี้เราต้องร่วมมือกันเพื่อเร่งทุกภาคส่วนสร้างงานใหม่ แก้ปัญหาเรื่องคนตกงาน ดังนั้นขอให้ทุกคนเชื่อใจและร่วมมือกันสร้างเสถียรภาพของประเทศของรัฐบาลให้ได้โดยเร็วที่สุด ไม่เช่นนั้นปัญหาแก้ไม่ได้เพราะต้องแก้ด้วยทางรัฐบาล เอกชน ภาคธุรกิจ ประชาชน และมิตรประเทศทุกฝ่ายต้องร่วมมือกัน
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ขอพูดนอกเรื่องสักนิด ช่วงนี้เป็นช่วงแห่งความเข้าใจ เป็นช่วงแห่งการสร้างมิตรภาพระหว่างกัน วันนี้ก็มีรัฐมนตรีมาจากหลายกระทรวงด้วยกัน ยืนยันว่าเรายังมีเสถียรภาพอยู่ทุกอย่าง อย่ากังวลเสียงของรัฐบาล ขอให้ทุกคนได้มั่นใจว่าตนในฐานะที่เป็นผู้นำก็จะทำเต็มที่ และจะพัฒนาเรื่องยางให้เต็มที่เช่นกัน มีอุปสรรคปัญหาตรงไหนจะเร่งแก้ไขให้
จากนั้น พล.ประยุทธ์ได้เดินเยี่ยมชมบูธกิจกรรมภายในงาน ซึ่งระหว่างเยี่ยมชม เป็นที่น่าสังเกตว่า พล.อ.ประยุทธ์ได้เรียกนายจุรินทร์และนายเฉลิมชัยให้มาเดินอยู่ใกล้ๆ ตลอดเวลา แม้กระทั่งในช่วงของการถ่ายภาพ ก็ยังคงเรียกให้สมาชิกทั้งหมดมาร่วมถ่ายภาพด้วยกัน ก่อนที่ช่วงหนึ่ง พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า "ขอให้จับมือกันเพื่อนำพาประเทศชาติไปในทิศทางที่สวยงาม เราต้องร่วมมือกัน"
รัฐบาลยิ่งกว่าเหนียวแน่น
ทั้งนี้ ก่อนเดินทางกลับผู้สื่อข่าวได้เชิญ พล.อ.ประยุทธ์มาให้สัมภาษณ์ ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ได้ถามผู้สื่อข่าวว่ามีอะไร ผู้สื่อข่าวจึงสอบถามว่ามีเสียงวิจารณ์อย่างหนักถึงความสัมพันธ์ของพรรคร่วมรัฐบาล วันนี้ยังมีความเหนียวแน่นอยู่ใช่หรือไม่ ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์หยุดให้สัมภาษณ์ พร้อมกับควงแขนนายจุรินทร์ และดึงแขนนายเฉลิมชัยที่เดินมาด้วยกันให้เข้ามายืนใกล้ๆ พร้อมกับกล่าวว่า “วันนี้มากันครบ ไม่มีปัญหา ส่วนเรื่องการเมืองก็ว่ากันไป ผมคิดว่าทุกคนทุกพรรคมองประเทศชาติเป็นหลักอยู่แล้ว ก็อย่างว่า เป็นเรื่องของคนหมู่มาก ก็หาวิธีการกันต่อไป อย่าไปมองเป็นเรื่องคอขาดบาดตาย”
เมื่อถามว่า การทำงานงานร่วมกันด้านเศรษฐกิจเป็นอย่างไร นายกฯ กล่าวว่า "ที่เดินอยู่ด้วยกันนี้ก็เศรษฐกิจไม่ใช่หรือ" เมื่อถามย้ำว่าพรรคร่วมรัฐบาลยังเหนียวแน่นอยู่ใช่หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า "ยิ่งกว่าเหนียวอีก" จากนั้น พล.อ.ประยุทธ์ได้ส่งยิ้มให้
ด้านนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ให้สัมภาษณ์ถึงเหตุสภาล่มถึง 2 ครั้งว่า เสถียรภาพของสภาขึ้นอยู่สองส่วน คือการทำงานร่วมกันภายใน ครม. ยืนยันว่าไม่ได้มีปัญหาอะไร ขณะที่ทีมเศรษฐกิจก็ยังทำงานร่วมกันได้ดี นายกฯ ก็นั่งหัวโต๊ะเป็นประธานประชุมในภาพรวม และเราเป็นระบบรัฐสภา โดยเสียงข้างมากในสภามีความสำคัญต่อเสถียรภาพของรัฐบาล เราไม่ใช่ระบบประธานาธิบดีที่แพ้หรือชนะแล้วเสียงจะไม่มีผลต่อประธานาธิบดี แต่ในระบบของเรารัฐบาลจะอยู่ได้ก็ขึ้นอยู่กับเสียงข้างมากในสภา ฉะนั้นเสียงของรัฐบาลจึงสำคัญ และกลไกวิปในสภาก็มีความสำคัญด้วยที่จะต้องรวบรวมเสียงเมื่อมีการโหวตเรื่องสำคัญ แต่ก็ไม่ใช่ทุกเรื่อง เช่น พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 อันนี้ถ้าไม่ผ่านก็มีผลกระทบต่อเสถียรภาพหรือกฎหมายที่รัฐบาลเป็นผู้เสนอ รัฐบาลต้องตัดสินใจทางการเมืองอย่างใดอย่างหนึ่ง เพราะถือว่าแพ้เสียงในสภา รัฐบาลก็ถือว่าอยู่ยาก
นายจุรินทร์กล่าวอีกว่า ถ้าเป็นเรื่องทั่วไปอาจจะมีผลบ้าง คือกระทบทางอ้อม ไม่ใช่กระทบโดยตรง ไม่ได้มีผลจะให้รัฐบาลอยู่ได้หรือไม่ได้ เช่น ญัตติตั้ง กมธ.พิจารณาศึกษาผลกระทบจากการกระทำของ คสช.ตามมาตรา 44 เป็นญัตติของสภา ไม่ใช่รัฐบาลจะแพ้ชนะหรือใครมากกว่าใครก็ไม่ได้มีผลกระทบโดยตรง แต่อาจจะมีการนำมาตีความข้างเคียงกับการเมืองได้บ้าง เป็นหน้าที่ของทุกพรรคการเมืองที่ร่วมรัฐบาลต้องช่วยกันทำให้รัฐบาลมีเสถียรภาพในสภา รัฐบาลนี้เสียงปริ่มน้ำตั้งแต่ต้นเกินมานิดเดียวก็อาจจะกระท่อนกระแท่นบ้างบางส่วน
เมื่อถามว่า มี 6 ส.ส.ปชป.โหวตหนุนฝ่ายค้านตั้ง กมธ.ศึกษากระทบจาก ม.44 นายกฯ ได้สอบถามหรือแนะนำอะไรหรือไม่ นายจุรินทร์กล่าวว่า วิปของพรรค ปชป.จะต้องไปพูดคุยกัน เพราะมีหน้าที่จะต้องไปทำความเข้าใจและเป็นผู้รวบรวมเสียงในสภา ในส่วนของพรรค ปชป. นายกฯ ไม่ได้ถามอะไร ท่านบอกว่าไม่มีปัญหา ท่านเข้าใจอยู่แล้ว ซึ่งท่านก็พูดคำสองคำก่อนจะขึ้นเปิดงานบนเวที ไม่ได้ขอร้องอะไร เพียงแต่เปรยขึ้นมา ทุกพรรคต้องช่วยกันในการรวบรวมเสียง เป็นภาระหน้าที่ร่วมกัน ในระบบรัฐสภา ทุกเสียงในสภาจึงมีความสำคัญ
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ กรณีที่ประชุมสภาล่มติดต่อกัน 2 วัน ต้องกำชับทางพรรคร่วมรัฐบาลอะไรเป็นพิเศษหรือไม่ ว่าอยู่ที่สปิริตของ ส.ส. เป็นเรื่องของบุคคล เพราะในเรื่องพรรคการเมืองเราก็พูดคุยกันหมดแล้ว
เมื่อถามว่า ต้องให้ทางวิปรัฐบาลไปต่อรองอะไรหรือไม่ เพราะหากการตั้ง กมธ.ศึกษาและผลกระทบจาก คสช. ไม่จบก็ไม่สามารถพิจารณาตั้ง กมธ.วิสามัญพิจารณาศึกษาหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญได้ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า ไม่ต้องไปต่อรองอะไร เพราะมันต้องผ่าน ไม่มีอะไร รอดูสัปดาห์หน้าเขาก็ประชุมใหม่ ส่วนแกนนำรัฐบาลเจอกันตลอดเวลาอยู่แล้ว เป็นเรื่องส่วนบุคคล เราจะไปตามทั้ง 250 คนไม่ได้ ภาพลักษณ์รัฐบาลไม่เสีย รัฐบาลยังมั่นคงอยู่ และนายกฯ ไม่ได้สั่งวิปรัฐบาลไม่ให้ กมธ. ศึกษาผลกระทบมาตรา 44 ผ่าน ความจริงเสียงมันปริ่มๆ คนไม่เห็นด้วยไม่กี่คน ก็เดี๋ยวรอดูกัน เดี๋ยวเขาคงคิดดูใหม่เอาใหม่
ขวางตั้ง กมธ.ศึกษา ม.44
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงสภาอยู่ระหว่างการพิจารณาญัตติตั้ง กมธ.ศึกษาผลกระทบจาก คสช.อยู่จะสามารถนำญัตติแต่งตั้ง กมธ.วิสามัญแก้ไขรัฐธรรมนูญมาพิจารณาก่อนได้หรือไม่ ว่าก็ให้เสร็จไปเป็นเรื่องๆ หากข้ามญัตติเก่าจะตกไปทันทีตามข้อบังคับ ซึ่ง ส.ส.ต้องไปคุยกัน นายชวน หลีกภัย สมัยเป็นนายกรัฐมนตรี เคยระบุว่าไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลเสียงข้างมากหรือเสียงข้างน้อย หน้าที่รักษาองค์ประชุมให้ครบเป็นหน้าที่ของพรรคร่วมรัฐบาล ฝ่ายค้านจะเดินออกเดินเข้าถือเป็นสิทธิของเขา
เมื่อถามว่า เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นแล้วจะต้องแสดงความรับผิดชอบอะไรหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า แล้วแต่เรื่อง ถ้าเรื่องใหญ่ต้องรับผิดชอบ ถ้าเรื่องธรรมดาปกติเช่นนี้ไม่ใช่เรื่องที่จะต้องไปรับผิดชอบอะไรมากกว่านี้ เช่น การเสนอกฎหมายถือเป็นเรื่องที่ต้องรับผิดชอบ แต่ครั้งนี้เป็นญัตติธรรมดา อีกทั้งเป็นญัตติฝ่ายค้านด้วย และตอนนี้คำสั่งและประกาศตามมาตรา 44 เหลือไม่กี่ฉบับ ความเห็นที่ไม่ควรตั้ง กมธ.ชุดนี้ขึ้นมา เพราะสามารถส่งไปยัง กมธ.สามัญชุดต่างๆ ได้ และน่าจะดีกว่า เพราะมันจะลึกกว่าการเข้า กมธ.วิสามัญเพียงชุดเดียว
"ครับ คือผมมองว่าไม่จำเป็น และความเห็นของผมไม่เกี่ยวกับการจะเรียกนายกฯ หรือใครไปชี้แจง เพราะชุดไหนก็เรียกได้" พล.อ.วิษณุกล่าวเมื่อถามย้ำว่าส่วนตัวไม่เห็นด้วยกับการตั้ง กมธ.ชุดนี้ใช่หรือไม่
นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กล่าวว่า เป็นปกติของรัฐสภาที่อาจจะเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวได้บ้าง เพราะอาจจะมี ส.ส.บางท่าน ติดภารกิจหลายอย่างในสภา ทำให้บางคนมาลงมติไม่ทัน ขณะที่รัฐมนตรีบางท่านก็ติดภารกิจต่างประเทศ ทั้งนี้ ตนเห็นด้วยกับนายกฯ ที่ระบุว่าการเป็นพรรคร่วมรัฐบาลนั้น ต้องเป็นพรรคร่วมรัฐบาลจริงๆ ซึ่งตรงนี้เชื่อว่าการทำงานของพรรคร่วมรัฐบาลนั้นต้องร่วมมือกันในการทำงานให้กับพี่น้องประชาชน ซึ่งที่ผ่านมาเราก็ร่วมกันทำงานมาด้วยดีโดยตลอด จึงไม่มีรอยร้าวในรัฐบาลให้ได้เห็น ตนเห็นใจนายกฯ ที่มุ่งมั่นทำงานให้กับประชาชนในการแก้ปัญหาต่างๆ ให้กับประเทศ จึงอยากให้ทุกฝ่ายเอาเวลามาทำงานให้พี่น้องประชาชนดีกว่าเล่นการเมือง ยังเชื่อมั่นในพรรคร่วมรัฐบาลว่าจะร่วมมือกันทำงานให้กับพี่น้องประชาชน แม้เสียงปริ่มน้ำแต่ก็ไม่มีปัญหาอะไร จะอยู่ครบวาระแน่นอน ไม่ต้องเป็นห่วง
นายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงองค์ประชุมสภาไม่ครบ 2 วันติดต่อกันว่า เป็นเรื่องปกติของการประชุมสภา ในอดีตที่ผ่านมาการประชุมสภาก็เคยล่ม ไม่ครบองค์ประชุมอยู่หลายครั้ง แต่ช่วงนี้อาจจะเป็นเพราะสภาล่ม 2วันติดต่อกัน ประกอบกับรัฐบาลชุดนี้มีเสียงสนับสนุนปริ่มน้ำ จึงทำให้สังคมเกิดความวิตกกังวลว่าสภาชุดนี้จะเดินหน้าต่อไปได้หรือไม่ อยากเสนอทั้ง 2 ฝ่ายต้องลดทิฐิ ถอยกันคนละก้าว ฝ่ายรัฐบาลก็ควรถอนญัตติ เรื่องการนับคะแนนใหม่ ฝ่ายค้านก็ต้องให้ความร่วมมือเข้าร่วมประชุมสภาเพื่อให้องค์ประชุมครบตามข้อบังคับ เมื่อถอนญัตตินับคะแนนใหม่ออกไปก็ใช้ผลการลงมติเดิม คือให้มีการตั้ง กมธ.วิสามัญศึกษาผลกระทบของการใช้ มาตรา 44 ซึ่งเป็นเรื่องปกติในการทำงานของฝ่ายนิติบัญญัติ
"ถ้าหากผมได้มีโอกาสเป็นกรรมาธิการชุดนี้ ผมขอให้สัญญาว่าจะไม่เชิญท่านเข้ามาเกี่ยวข้องหรือชี้แจงใดๆ ทั้งสิ้น ผมจะยึดถือสัญญาลูกผู้ชายเหมือนกับที่ท่านได้กล่าวอ้างไว้ แต่สัญญาลูกผู้ชายส่วนใหญ่จะใช้ ในวงการนักเลง วงการทหาร หรือในกองทัพ ส่วนฝ่ายการเมือง จะยึดถือสัญญาประชาคมเป็นหลัก ยึดเอาผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนเป็นที่ตั้ง” นายเทพไท กล่าว
กลัวตรวจสอบระบบพังหมด
นายเทพไทกล่าวต่อว่า การแสดงจุดยืนทางการเมืองของพวกตนทั้ง 6 คน ไม่ได้โหวตเข้าข้างฝ่ายค้าน เป็นการโหวตสนับสนุนญัตติของพวกเราเอง เราได้ยึดเอาความถูกต้องมากกว่าความถูกใจของใครบางคน ขอยืนยันว่าพวกเรามีสปิริตและมารยาททางการเมืองเพียงพอ เพราะเป็น ส.ส.มาแล้วหลายสมัย รู้ดีว่าอะไรควรหรือไม่ควรทางการเมือง แต่เหนือสิ่งอื่นใดเราต้องยึดเอาผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนเป็นที่ตั้ง
นายปิยบุตร แสงกนกกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) กล่าวว่า ที่ผ่านมามีการลงมติหลายครั้ง ฝ่ายรัฐบาลแพ้บ้าง ฝ่ายค้านแพ้บ่อยกว่า ในครั้งที่ฝ่ายรัฐบาลแพ้การลงมติที่ผ่านมาก็ไม่ได้ขอให้มีการนับคะแนนใหม่ แล้วทำไมญัตติการตั้ง กมธ.นี้ถึงเดิมพันสูงแบบนี้ทั้งที่ตั้งมาเพียงเพื่อศึกษา เสร็จแล้วก็จะได้รายงานหนึ่งฉบับนำเข้าสภา ไม่มีอำนาจใดๆ ไปบังคับสั่งการ เหตุใดฝ่ายรัฐบาล ถึงไม่ยอมแพ้ แพ้แล้วแต่ไม่ยอมแพ้จึงต้องขอนับคะแนนใหม่ หรือจะเป็นไปตามข่าววันนี้ว่ามีการสั่งการมาบอกว่าให้แพ้ไม่ได้ใช่หรือไม่
"หากข่าวที่ว่าบิ๊กๆ ในรัฐบาลไม่ยอมให้ตั้ง กมธ.ชุดนี้เป็นเรื่องจริง ก็จะสะท้อนถึงความคุ้นชินในการใช้อำนาจเผด็จการ การใช้อำนาจเผด็จการโดยไม่มีใครตรวจสอบมาตลอด 5 ปี วันนี้กลับเข้ามาสู่ระบบปกติ มีการเลือกตั้งมีสภาผู้แทนราษฎรมาจากการเลือกตั้ง ไม่ใช่ผู้ใต้บังคับบัญชาของคณะ คสช. ไม่ใช่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ เหมือนที่พวกท่านเคยทำกันมา พวกเราไม่ได้มาจากการแต่งตั้งของพวกท่าน ถ้าสภามีมติชัดเจนไปแล้ว ก็ควรจะแพ้ให้เป็น คุณกังวลใจกับการตรวจสอบพวกคุณมาก กังวลใจกับการสืบทอดอำนาจของพวกคุณมาก จนทำให้ระบบทั้งหลายพังไปหมดแล้ว" นายปิยบุตรกล่าว
นายปิยบุตรกล่าวอีกว่า อยากจะฝากไปถึงผู้มีอำนาจในรัฐบาลปัจจุบันว่า ท่านเรียกคนอื่นเข้าไปปรับทัศนคติมาโดยตลอด ท่านต้องไปปรับทัศนคติตัวท่านบ้างว่าตอนนี้คุณเป็นรัฐบาลภายใต้รัฐธรรมนูญแล้ว คุณเป็นรัฐบาลในระบบรัฐสภาแล้วต้องยอมรับการทำงานของสภา มติในสภา แพ้ก็คือแพ้ อย่าเป็นคนที่ยอมไม่ได้ หัดเรียนรู้การทำงานของระบบรัฐสภาบ้าง
นพ.ระวี มาศฉมาดล ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นการเล่นเกมทางการเมืองมากเกินไปทั้ง 2 ฝ่าย ไม่เป็นประโยชน์ ทำให้การทำงานของสภาต้องหยุดชะงัก จึงอยากให้ทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาลทบทวนบทบาทของตัวเองเสียใหม่ เพื่อไม่ให้ประชาชนเสื่อมศรัทธาและเบื่อหน่ายนักการเมืองมากไปกว่านี้ ถ้ารัฐบาลยอมถอยให้มีการตั้ง กมธ. วิสามัญศึกษาผลกระทบการใช้อำนาจตามมาตรา 44 ฝ่ายค้านก็ต้องมีคำมั่นสัญญาว่าจะใช้กรรมาธิการเพื่อการศึกษาจริงๆ ไม่ใช่นำ กมธ.มาเล่นเกมการเมืองแบบ กมธ.ป.ป.ช. ชุดที่มี พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส เป็นประธาน ที่มีการเชิญนายกรัฐมนตรีและ พล.อ.ประวิตรไปชี้แจงแบบไม่สมเหตุสมผล จนเกิดความวุ่นวายลุกลามกลายเป็นความขัดแย้ง
ที่รัฐสภา นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ แถลงว่า ตนได้รับการแต่งตั้งจากสภาผู้แทนราษฎร ให้เป็นที่ปรึกษา กมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 แต่เนื่องจากความผันผวนทางการเมืองในสัปดาห์ที่ผ่านมา ตนจึงตัดสินใจลาออกจากการทำหน้าที่ กมธ. นอกจากนี้ตนยังได้รับการแต่งตั้งให้เป็นอนุ กมธ.พิจารณางบท้องถิ่น งบองค์การบริหารส่วนจังหวัด ยกเว้น 5 จังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งตนก็ได้ลาออกจากการเป็นอนุ กมธ.ชุดนี้ด้วย หลังจากนี้จะคัดเลือกคนที่มีความรู้ความสามารถด้านการพิจารณางบประมาณจากพรรค อนค. ทั้งคนที่เป็น ส.ส.และไม่ได้เป็น ส.ส.เข้ามาทำหน้าที่แทน
"ทอน"เล่นบทใหม่จ่อลงถนน
“ถึงแม้ผมจะลาออกจากสภาไป แต่การทำงานของพรรคอนาคตใหม่ในสภาก็ยังมีนายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคเป็นผู้นำอยู่ เชื่อว่านายปิยบุตรจะทำให้การทำงานในสภาเป็นไปได้อย่างเต็มกำลัง สร้างสรรค์ และเป็นประโยชน์ต่อประชาชน การลาออกจาก กมธ.ในครั้งนี้ เพื่อกลับไปอยู่กับประชาชน ในเมื่อพวกเขาไม่ต้องการเห็นผมในสภา ผมก็ไม่ขออยู่ในสภา ผมจึงขอกลับไปอยู่กับประชาชน เชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อพี่น้องประชาชนลุกขึ้นยืนตรง ไม่ยอมก้มหัวให้เผด็จการ ไม่ยอมทนกับระบอบที่กดหัวประชาชนไว้อีกต่อไป สิ่งที่อภิสิทธิ์ชนพยายามทำอยู่ในสังคมไทยทุกวันนี้ คือการรวบอำนาจเข้าสู่ตัวเอง และพวกพ้อง และใช้กลไกเครื่องมือต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกองทัพ ส.ว. หรือคนร่างรัฐธรรมนูญที่เขาแต่งตั้งมาเอง นั่นคือการรวบอำนาจมาอยู่ที่กลุ่มอภิสิทธิ์ชน ซึ่งเป็นคนส่วนน้อยของประเทศ” นายธนาธรกล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า เหตุผลที่ลาออกเพราะถูกกดดันด้านการทำงานใน กมธ.ใช่หรือไม่ นายธนาธรกล่าวยืนยันว่า ไม่มีแรงกดดัน เพราะการทำงานร่วมกับ กมธ.ท่านอื่นๆ ก็ไม่ได้มีปัญหา ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี ส่วนสาเหตุที่ลาออกในวันนี้ก็ไม่เกี่ยวกับการพิจารณางบในส่วนของกระทรวงกลาโหมที่เสร็จเรียบร้อยแล้ว แต่เป็นเรื่องของการพิจารณาว่าในเมื่อเขาไม่ต้องการเห็นตนในสภา และตนก็ถูกตัดสิทธิ์จากการเป็น ส.ส. ตนก็จะไม่ขออยู่ และจะขอเริ่มทำงานกับประชาชนตั้งแต่วันที่ 30 พ.ย.เป็นต้นไป
ผู้สื่อข่าวถามว่า “เขา” ในที่นี้หมายถึงใคร นายธนาธรหัวเราะก่อนตอบว่า “ทุกคนก็น่าจะรู้”
เมื่อถามว่า หากมีการเสนอชื่อเข้าเป็น กมธ.วิสามัญศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะเข้าร่วมหรือไม่ นายธนาธรกล่าวว่า ต้องดูเป็นกรณีไป หากเป็นกรณีที่มีความสำคัญจริงๆ ก็จะเข้ามา การเป็นส.ส.หรือไม่เป็นก็ตาม จึงไม่สามารถหยุดยั้งตนและพรรคอนาคตใหม่ไม่ให้ก้าวเดินไปข้างหน้าได้
นายธนาธรกล่าวว่า ตนยังมีเวลารณรงค์และทำความเข้าใจกับประชาชน เรื่องปัญหาทางโครงสร้างว่ารัฐธรรมนูญนี้เป็นเครื่องมือของอภิสิทธิ์ชนอย่างไร เป็นเครื่องมือกดขี่ประชาชนอย่างไร และจะเดินหน้ารณรงค์ร่าง พ.ร.บ.ยกเลิกการเกณฑ์ทหาร ร่างพ.ร.บ.ปกป้องสิทธิแรงงาน และร่าง พ.ร.บ.ยกเลิกคำสั่ง คสช. เชื่อว่าร่าง พ.ร.บ.เหล่านี้จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชน เมื่อถามว่าการลาออกครั้งนี้เป็นการประกาศที่จะลงสู่ถนนอย่างเต็มตัวใช่หรือไม่ นายธนาธรหัวเราะและกล่าวว่า “อย่าเรียกอย่างนั้นดีกว่า”
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายธนาธรได้ยื่นหนังสือลาออกต่อนายอุตตม สาวนายน รมว.การคลัง ในฐานะประธาน กมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ก่อนที่จะลงมาแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนด้วยสีหน้ายิ้มแย้ม และภายหลังการแถลงเสร็จ ผู้สื่อข่าวได้ถามว่าลาออกจากทุกตำแหน่งในสภา แล้วจะกลับเข้าสภามาอีกครั้งด้วยตำแหน่งนายกฯ ใช่หรือไม่ นายธนาธรได้ยิ้ม และหันกลับมาทำท่าชูแขนสู้ๆ ก่อนกลับขึ้นไปยังห้องประชุมงบประมาณเพื่ออำลาอย่างเป็นทางการ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หนังสือลาออกจากตำแหน่ง กมธ.งบฯ ของนายธนาธร ได้ส่งถึงนายอุตตม เมื่อวันที่ 29 พ.ย. โดยระบุตอนหนึ่งว่า ข้าพเจ้าได้เรียนรู้ และได้ประสบการณ์อย่างมากในการทำหน้าที่ใน กมธ.ชุดนี้ และจะนำความรู้ และประสบการณ์ที่ได้ไปรับใช้ประชาชนให้ดีที่สุดต่อไป ข้าพเจ้าหวังว่าความคิดเห็นและข้อเสนอแนะของข้าพเจ้าจะเป็นประโยชน์กับ กมธ.บ้างไม่มากก็น้อย อนึ่ง ข้าพเจ้าขอไม่รับผลตอบแทนใดๆ จากทำงานในฐานะ กมธ. ที่ผ่านมา เมื่อพวกเขาไม่ต้องการให้ข้าพเจ้าเข้าสภา ข้าพเจ้าขออยู่กับประชาชน.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |