การประท้วงในหลายๆ ประเทศทั่วโลกขณะนี้ทำให้เกิดคำถามว่า?
คนที่ลุกขึ้นมาต่อต้านรัฐบาลในแต่ละประเทศนั้น มีความเดือดร้อนในเรื่องที่มีความเหมือนหรือต่างกันเพียงใด
ไม่ว่าจะเป็นที่เลบานอน, อิหร่าน, สเปน, ชิลี, โบลิเวีย, อินโดนีเซีย, ซาอุดีอาระเบีย, ฮ่องกง และอื่นๆ
อย่างที่ได้เขียนไว้เมื่อวานในคอลัมน์นี้ สาเหตุสำคัญน่าจะมาจากการที่ชนชั้นกลางและคนกลุ่มที่เสียเปรียบในสังคมเริ่มจะเห็นแล้วว่า การเมืองแบบ "เสรีประชาธิปไตย" และ "ทุนนิยมผูกขาด" และ "โลกาภิวัตน์" นั้นเป็นประโยชน์ก็แต่ชนชั้นปกครองและผู้มีอันจะกินเท่านั้น
แต่คนส่วนใหญ่ในสังคมกลับถูกเบียดตกขอบ นอกจากจะไม่ได้ประโยชน์จากนโยบายการเมืองและเศรษฐกิจแบบที่อ้างว่าเป็นเสรีประชาธิปไตยแล้ว ทรัพยากรของชาติยังถูกคนที่ได้เปรียบเอาไปแปลงเป็นผลประโยชน์เฉพาะกลุ่มของตนอีกต่างหาก
ความไม่พอใจเหล่านี้มาจากการที่เห็นระบบทุนนิยมจับมือกับระบอบการเมืองเสรีประชาธิปไตยและโลกาภิวัตน์ จนเกิดปัญหาใหญ่ๆ ที่นักการเมืองรับปากกี่ครั้งกี่รูปแบบก็แก้ไขไม่สำเร็จ เช่น
ความเหลื่อมล้ำ
คอร์รัปชัน
ค่าครองชีพที่สูงขึ้นแต่รายได้ไม่กระเตื้อง
การถูกจำกัดเสรีภาพทางการเมือง
วิกฤติโลกร้อน
ในหลายๆ ประเทศการประท้วงเริ่มต้นจากการขึ้นราคาของบริการพื้นฐานประจำวัน
ที่อิหร่าน นักศึกษาและประชาชนออกมาเดินขบวนต่อต้านการขึ้นราคาน้ำมัน เป็นการประท้วงที่กระจายไปในหลายๆ เมือง
รัฐบาลตอบโต้ด้วยการปิดการสื่อสารทางอินเทอร์เน็ต ยิ่งทำให้ผู้คนโกรธแค้นหนักขึ้น
ผู้นำอิหร่านอ้างว่าสหรัฐฯ อยู่เบื้องหลังการลุกฮือของประชาชน แต่ผู้ประท้วงยืนยันว่าที่ออกมาต่อสู้เป็นเรื่องปากท้องจริงๆ ไม่เกี่ยวกับการเมืองระหว่างประเทศแต่อย่างใด
เช่นในกรณีเอกวาดอร์ ผู้คนออกมากลางถนนเพื่อต่อต้านคำประกาศของรัฐบาลที่จะเลิกอุดหนุนราคาน้ำมัน เพราะกองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือไอเอ็มเอฟกำหนดกติกาไว้เป็นเงื่อนไขหากต้องการรับความช่วยเหลือ
พอราคาน้ำมันพุ่ง ชาวบ้านก็เดือดร้อน เพราะค่าใช้จ่ายประจำวันเพิ่มขึ้นทันทีโดยที่รายได้ยังเหมือนเดิม นั่นคือปัญหาปากท้องที่เห็นชัดๆ
การเดินขบวนดำเนินไปได้ไม่กี่วันรัฐบาลก็ต้องถอย ยกเลิกนโยบายขึ้นราคาปลีกของน้ำมัน
ที่โบลิเวีย ประธานาธิบดีอีโว โมราเลสต้องลาออก หลังจากการออกมาเดินขบวนของประชาชนจำนวนมากเพื่อร้องเรียนปัญหาปากท้องและความยากจน
ตอนที่เขาขึ้นมารับตำแหน่งเมื่อปี 2006 อัตรา "ความยากจนอย่างยิ่ง" ของประเทศอยู่ที่ 38% เขาอ้างว่าสองปีต่อมารัฐบาลสามารถลดปัญหานี้เหลือ 17% แต่คนที่ต่อต้านเขาบอกว่าคนยากจนข้นแค้นกลับมาเพิ่มมากขึ้นอีกเพราะความล้มเหลวในการบริหารประเทศ
ที่ชิลี การประท้วงก็เกิดจากราคาพลังงาน ทำให้ต้องขึ้นค่ารถเมล์และรถใต้ดิน โดยที่รัฐบาลอ้างว่าราคาน้ำมันแพงขึ้นและอัตราแลกเปลี่ยนของเงินสกุลประเทศอ่อนตัวลง
แต่ประชาชนไม่ฟังคำชี้แจงของรัฐบาล คืนวันหนึ่งผู้ประท้วงปะทะกับตำรวจ แต่กลับมีภาพของประธานาธิบดีเซบัสเตียน พิเนรานั่งกินอาหารในภัตตาคารอิตาเลียนกลางเมืองหน้าตาเฉย
นั่นคือสัญลักษณ์แห่งความเหลื่อมล้ำระหว่างชาวบ้านกับผู้นำประเทศที่ยิ่งทำให้เกิดความโกรธแค้นหนักหน่วงขึ้น
เวเนซุเอลาเป็นตัวอย่างคลาสสิกของประเทศที่เคยร่ำรวยเพราะมีน้ำมันมากมาย แต่ไปๆ มาๆ เศรษฐกิจของประเทศกลับตกต่ำ ประชาชนยากไร้ การเมืองล้มเหลว
เหตุเพราะระบอบการเมืองรวบอำนาจ ผู้นำใช้ "ประชานิยม" แจกเงินและสิ่งของให้ประชาชนเพื่อหวังจะได้รับเลือกตั้งกลับมา โดยไม่สนใจแก้ปัญหาของชาติอย่างจริงจังและยั่งยืน
ที่เลบานอน รัฐบาลถูกต่อต้านทันทีที่จะเก็บภาษีคนใช้ WhatsApp ซึ่งนำไปสู่การประท้วงต่อปัญหาเศรษฐกิจ, ทุจริต ประพฤติมิชอบ และความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยกับคนจน
ที่อิรัก ผู้ประท้วงก็ต้องการจะให้ผู้นำเปลี่ยนระบอบการเมืองที่พวกเขาเห็นว่ามีแต่จะทำให้ความไม่เท่าเทียมหนักหน่วงขึ้น และนักการเมืองส่วนใหญ่ฉวยโอกาสสร้างความร่ำรวยให้ตนเอง แทนที่จะเสียสละทำงานเพื่อประเทศชาติอย่างที่รับปากเอาไว้ตอนหาเสียง
ในบางประเทศ ปัญหาโลกร้อนก็ทำให้เกิดการเดินขบวนเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลเอาจริงกับการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม, มลพิษ และความล้มเหลวของโครงการต่างๆ ของรัฐบาล
ความวุ่นวายที่ฮ่องกงมีส่วนผสมผสานของหลายๆ ปัญหา ตั้งแต่ความเหลื่อมล้ำ, เสรีภาพทางการเมือง, ความไม่ศรัทธาต่อผู้ปกครอง และความสิ้นหวังของคนรุ่นใหม่ต่ออนาคตตัวเอง
สังคมไทยควรจะต้องเรียนรู้จากวิกฤติระดับโลก...เพราะปัญหาที่เป็นสาเหตุของการประท้วงในหลายๆ ประเทศนั้นไม่ใช่สิ่งที่คนไทยไม่คุ้นเคย
ความจริงหลายๆ ประเด็นเหล่านี้มีปรากฏให้เห็นทั้งที่ชัดเจนและที่แฝงตัวอยู่ในระดับต่างๆ
หากไม่หาทางป้องกันอย่างจริงจัง และสร้างกลไกสังคมที่ให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา เราก็อาจจะไม่ได้อยู่ห่างไกลวิกฤตินั้นเท่าใดนัก.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |