ปัจจุบันมูลค่าเกมออนไลน์เติบโตสูงมาก เกมมือถือโฆษณามากมายเจาะกลุ่มนักเรียน นักศึกษา และขยายตัวไปในกลุ่มของนักเรียนมัธยมเพิ่มมากขึ้น งานวิจัยชี้เด็กไทยเกือบ 90 % เล่นเกมออนไลน์ ใช้เวลาเฉลี่ยวันละ3-5 ชั่วโมงแช่หน้าจอ ยิ่งถ้าเป็นวันหยุดเล่นนานเกิน 8 ชั่วโมงต่อวันเลยทีเดียว
เห็นตัวเลขแบบนี้แล้ว คงไม่แปลกที่จะเห็นการแสดงออกทางพฤติกรรมและอารมณ์อันรุนแรงที่แฝงมากับเด็กติดเกม หรือแม้แต่การพนันออนไลน์ภัยเงียบทำลายอนาคตของเด็กและเยาวชน ปฏิเสธไม่ได้ว่าสถานการณ์การเล่นเกมออนไลน์ของเด็กไทยวันนี้น่าวิตก และต้องวางแนวทางป้องกันเชิงรุก มากกว่าแค่บอกให้เด็กเลิกเล่นเกม
กิจกรรมการสร้างความตระหนักและหามาตรการป้องกันยังมีต่อเนื่อง หนึ่งในนั้น คือเวทีเสวนาเรื่อง “เปิดวิถีออนไลน์...เด็กไทยกับภัยใกล้ตัว” จัดโดยสมาคมวิทยุและสื่อเพื่อเด็กและเยาวชน(สสดย.) ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ เมื่อวันก่อน งานนี้ เผยแพร่ผลการวิจัยเชิงสำรวจในหัวข้อ"สถานการณ์การเล่นเกมออนไลน์ของเด็กไทย" ประจำปี 2562 ซึ่งได้สำรวจนักเรียนระดับมัธยมศึกษาปีที่1–6 ชั้นประกาศนียบัตรวิชาชีพ(ปวช.) และชั้นประกาศนียบัตรขั้นสูง(ปวส.) รวม 3,056 คน จากทุกภูมิภาค ตั้งแต่เดือน ก.ย. – ต.ค. ที่ผ่านมา มีผลสรุปที่ต้องดันสู่นโยบายและแผนช่วยเหลือเด็กติดเกม
ดร.ธีรารัตน์ พันทวี วงศ์ธนะเอนกนายกสมาคมวิทยุและสื่อเพื่อเด็กและเยาวชน(สสดย.) กล่าวว่า เรากำลังอยู่ในโลกออนไลน์ กิจกรรมอันดับต้นๆ ของเด็กไทย คือ การแข่งขันวิดีโอเกมเพื่อชิงรางวัล ที่เรียกว่า อีสปอร์ต (E-Sport) ผ่านทางหน้าจอคอมพิวเตอร์หรือมือถือ รวมถึงร้านเกมที่ปัจจุบันได้เปลี่ยนมาเรียกตัวเองว่า ศูนย์กีฬาอีสปอร์ต มีห้องนอน ห้องน้ำ บริการอาหาร หรือผ่อนเงินเล่มเกมได้ ร้านเหล้านี้มีกิจกรรมจูงใจให้เด็กเล่นเกมตลอดเวลา ขณะนี้เด็กไทยติดเกมอยู่อันดับสามของโลก ที่หนึ่งฟิลิปปินส์ตามด้วยบราซิล นี่เป็นปรากฎการณ์ใหม่ ถ้าขาดองค์ความรู้แก้ปัญหาสื่อออนไลน์ไม่ได้
ดร.ธีรารัตน์ กล่าวว่า เวลานี้การแข่งขันเกมอีสปอร์ตที่สมาคมกีฬาอีสปอร์ตแห่งประเทศไทยรับรองมีเพียง 2 รายการ เกมอื่นๆ ที่จัดแข่งข้างร้านเกมและบนโลกออนไลน์ ซึ่งเป็นเกมที่มีความรุนแรง เพราะมาตรฐานอีสปอร์ตระดับสากลจะต้องเล่นแบบมีวินัย ไม่รุนแรง และอายุมากกว่า 18 ปีเท่านั้นถึงแข่งขันได้ จากการวิจัยพบว่า เด็กไทยทั่วประเทศเล่มเกมออนไลน์เกือบร้อยละ 90 ส่วนใหญ่เล่นที่บ้านและโรงเรียน เพราะเกมออนไลน์อยู่ในมือถือ ปัญหาเกมออนไลน์ในกรุงเทพฯ หนักสุด รองลงมาภาคเหนือผลการศึกษาจากเด็กที่เคยเล่นเกมออนไลน์ 2,730 คน ระบุว่า ภาษาที่ใช้มีความรุนแรงและหยาบคายมากขึ้น
พฤติกรรมของกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เล่นเกมประเภทเกมต่อสู้เพื่อความอยู่รอด เช่น PUBG ร้อยละ 54 และชื่นชอบเกม ROV รองลงมา คือ เกมPUBG MOBILE ,DOTA2 จากงานวิจัยน่ากังวลเด็กได้รับการเชิญชวนให้เล่นเกมออนไลน์จากผู้ประกอบการมือถือ รองลงมายูทิวเบอร์ มีการโฆษณาเกม กระตุ้นให้ผู้เล่นสนใจ รัฐบาลและทุกภาคส่วนจะปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชนจากเกมนี้ให้ทั่วถึง
ดร.ธีรารัตน์ ยอมรับว่า หนักใจกับผลศึกษา เพราะพบว่า เด็กกว่าร้อยละ60 เข้าใจถึงคำว่า อีสปอร์ต คิดว่า คือกีฬาและมีพฤติกรรมการเล่นเกมที่นานมากกว่าผู้ที่ไม่คิดว่าอีสปอร์ตเป็นกีฬา นี่คือภัยอันตราย เพราะองค์การอนามัยโลกระบุว่าการเล่นเกมต่อเนื่องเป็นอาการป่วยอย่างหนึ่ง นอกจากนี้ วงพนันกับวงเกมเชื่อมโยงกัน ไทยขาดความตระหนักถึงเรื่องนี้ ทำให้สุขภาวะเด็กเสีย ล่าสุดจีนออกกฎหมายควบคุม แต่ไทยยังไม่ขยับในระดับนโยบาย
นอกจากนี้ เธอระบุอาการติดเกมเมื่อถูกบอกให้หยุดเล่นเกม พบว่า ร้อยละ 29 เก็บความไม่พอใจไว้ภายในทั้งหงุดหงิดไม่พอใจ เก็บตัว ไม่ไปโรงเรียนไม่คุยกับใคร และอีกเกือบร้อยละ10 เถียงกับคนบอกให้เลิกเล่น ทะเลาะกับคนในครอบครัว เผลอๆทำร้ายพ่อแม่ นอกจากนี้ยิ่งเล่นเกมนานยิ่งอารมณ์รุนแรงมากสบถด้วยคำ ไอ้ อี
“ ปัจจุบันสมัชชาสุขภาพแห่งชาติรับรองมติความรับผิดชอบร่วมกันในการปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชนในการแข่งขันอีสปอร์ต ขณะนี้ได้จัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อเข้าสู่การพิจารณาคณะรัฐมนตรีต่อไป นอกจากนี้ ไทยต้องพัฒนากฎหมาย ตนเองร่วมร่างกฎหมายกำกับดูแลการประกอบกิจกรรมเกมในประเทศไทย คาดว่าการยกร่างกฎหมายเกมจะเสร็จมีนาคมปีหน้า ต้องหาเจ้าภาพผลักดันให้กฎหมายออกมา ทุกวันนี้ใครก็จัดแข่งขันได้ มีโปรเล่นไม่อั้น ดึงดูดให้เด็กเล่นเกมตลอดเวลา อุตสาหกรรมเกม 4 ปีเติบโต ร้อยละ12.7 แต่ปีหน้าคาดว่าจะโตถึงร้อยละ 13 ไม่อยากให้รัฐบาลคิดแค่มิติเศรษฐกิจ แต่ควรปกป้องเด็กที่ตกเป็นเหยื่อ คำนึงสุขภาพของเด็ก ต้องรับผิดชอบร่วมกัน อยากให้สังคมตระหนักภัยใกล้ตัววิถีออนไลน์ เด็กเล่มเกมแล้วตายก็มีทั้งที่บ้าน ร้านเกม เสียอนาคตก็มาก “ ดร.ธีรารัตน์ กล่าว
เวลานี้มีความจำเป็นเร่งด่วนในการรับมือกับภัยออนไลน์ รวมถึงสร้างองค์ความรู้ให้รู้ทันอย่างเข้าใจสื่อออนไลน์และอีสปอร์ต ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม รักษาการผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมระบบสื่อและสุขภาวะทางสุขภาพ สสส. กล่าวว่า สสส. สื่อสารเพื่อส่งเสริมการใช้สื่อออนไลน์อย่างถูกต้อง ผลกระทบของเด็กติดอีสปอร์ตกระทบต่อสุขภาวะของเด็กในด้านต่างๆ ตั้งแต่ร่างกายมีโรคอ้วนนั่งเล่นไม่ขยับร่างกาย สายตาเสียจากจ้องหน้าจอนานๆ นอกจากก่อโรคปัจจุบันแล้วยังกระตุ้นโรคในอนาคต ด้านจิตใจก็ทรุดโทรมบางรายซึมเศร้า เกิดอาการวิตกกังวล แล้วยังมีเรื่องปฏิสัมพันธ์ทางสังคม และที่กังวลสติปัญญา มีการฝังรากเรื่องพฤติกรรมรุนแรงจากในเกม ตนเห็นด้วยกับการทำงานร่วมกัน เด็กติดเกมยาปฏิชีวนะรักษาไม่ได้ ต้องใช้ยาทางสังคมแก้ปัญหา
ดร.นพ.ไพโรจน์ กล่าวต่อว่า นอกจากภัยจากการใช้สื่อออนไลน์ของเด็กไทยแล้ว การพนันในเกมที่เด็กสามารถเข้าเล่นได้ตลอดเวลา ส่งผลกระทบต่อสุขภาพกายสุขภาพจิตที่เกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้แล้ว ยังพบว่า เวลานี้เด็กต้องเผชิญกับการกลั่นแกล้งรังแกออนไลน์หลายรูปแบบจนอาจนำไปสู่การทำร้ายตนเองและผู้อื่นทั้งทางร่างกายทางจิตใจและทางสังคมโดยเฉพาะกรณีการกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์ ภาคส่วนต่างๆ จำเป็นต้องมีการสร้างความฉลาดทางดิจิทัลให้กับเด็กและเยาวชนควบคู่ไปเพื่อให้เท่าทันต่อกระบวนการกลั่นแกล้งทางออนไลน์ เช่นสอนให้เด็กจัดการตัวตนและชื่อเสียงออนไลน์ รับผิดชอบต่อการกระทำบนโลกออนไลน์ สอนให้ใช้เวลาออนไลน์อย่างพอเหมาะ ไม่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ การงานสอนให้ยืดหยุ่น เข้มแข็ง รับมือกับการกลั่นแกล้งได้ดี สอนให้ตั้งรหัสผ่านป้องกันไวรัสคอมพิวเตอร์และการโจมตีระบบ สอนให้รักษาความเป็นส่วนตัว ปกป้องข้อมูลส่วนบุคคล ไม่ละเมิดลิขสิทธิ์ สอนให้คิดวิเคราะห์ไม่เชื่อทุกอย่างที่เห็นหรือรับมา ให้ตระหนักการกระทำบนโลกออนไลน์มีร่องรอยให้ตามสืบตามตัวได้และสุดท้ายบริหารจัดการอารมณ์ตนเองบนโลกออนไลน์
“ ส่วนประเด็นเด็กติดเกมผู้ปกครองต้องให้ความสำคัญในเนื้อหาของเกมที่ลูกเล่นว่าเหมาะสมหรือไม่พ่อแม่ควรมีส่วนร่วมเลือกเกมให้ลูกร่วมตัดสินใจซื้อหรือเข้าไปเล่นเกมกับเด็กด้วย เพราะนอกจากจะได้เข้าไปกำกับดูแลเนื้อหาในเกมจะได้สังเกตดูพฤติกรรมและการตอบสนองของลูกต่อเกมต่างๆ รวมถึงจำกัดเวลาในการเล่นของลูกให้ชัดเจนที่สำคัญหากิจกรรมเสริม เช่น ชวนลูกไปเล่นกีฬา ทำงานศิลปะ ปลูกต้นไม้ ทำอาหาร อ่านหนังสือทัศนศึกษาให้ความรู้ความเข้าใจสร้างภูมิคุ้มกันให้เท่าทันสื่อ” ดร.นพ.ไพโรจน์ย้ำบทบาทครอบครัว
แนวทางการบรรเทาปัญหาเกมออนไลน์นั้น ดร.นพ.ไพโรจน์ กล่าวว่าแนวทางจะต้องทำอย่างเป็นระบบรวมถึงกฎหมายต่างๆ ต้องพัฒนาอีกแนวทางการณรงค์สื่อสารให้ผู้ได้รับผลกระทบช่วยแก้ปัญหาและสื่อสารผลกระทบออกมา ขณะนี้ครอบครัวต้องฟูมฟักและมีส่วนร่วมแก้ปัญหาจัดการเวลาเล่มเกมได้ จัดสรรเวลาเรียนการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ พ่อแม่ก็ต้องเข้าใจด้วยการเล่นเกมเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเด็ก ขณะเดียวกันนโยบายรัฐต้องออกแบบให้ผู้ประกอบการมีส่วนร่วมแก้ปัญหาเด็กติดเกมด้วย
อีกทัศนะจากผู้คลุกคลีปัญหาเกมออนไลน์ ดร.ศรีดา ตันทะอธิพานิช นักวิชาการจากมูลนิธิอินเตอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย ผู้ร่วมยกร่างกฎหมายเกม กล่าวว่า ในประเทศอื่นๆ ปัญหาไม่ได้ยิ่งหย่อนไปกว่าไทย แม้แต่เกาหลีใต้ที่เป็นแชมป์ ROV และแชมป์อีสปอร์ต ก็พบปัญหาเด็กเสพติดเกม ในเกาหลีใต้ควบคุมอีสปอร์ตเป็นกีฬาของผู้ใหญ่และมีกฎหมายส่งเสริมอุตสาหกรรมเกม ทั้งวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี ซอฟต์แวร์ เพื่อให้ธุรกิจนี้สร้างรายได้ ไม่เน้นจัดแข่งขันอีสปอร์ต รวมทั้งมีกฎหมายคุ้มครองผู้เยาว์ที่เกี่ยวข้องกับอีสปอร์ต โดยผู้ประกอบการมีหน้าที่ดูแล มีการควบคุม เช่น ผู้ให้บริการต้องได้รับความยินยอมจากผู้ปกครองก่อน ถ้าอายุต่ำกว่า 16 ปี รวมถึงผู้ให้บริการต้องแจ้งข้อมูลลักษณะเกม เรตติ้งเกม การคิดค่าบริการเกม ส่วนประเทศจีนรัฐออกมาตรการต่อต้านการติดเกมออนไลน์ โดยยืนยันอายุและจำกัดเวลาของผู้เล่น ซึ่งผู้ประกอบการต้องพัฒนาโปรแกรม ถ้าไม่ปฏิบัติ ไม่อนุญาตให้บริการ นโยบายยืนยันตัวตนนี้ครอบคลุมเกมออนไลน์หมด ดังนั้น เป็นสิ่งที่ไทยต้องบังคับใช้กฎหมายให้จริงจังเพื่อให้เท่าทันกับสถานการณ์ออนไลน์ในปัจจุบันกับปัญหาเด็กติดเกมที่รุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะ พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กและเยาวชน
“ ปัญหาออนไลน์กระทบรุนแรงผู้ปกครองต้องดูแลและชี้แนะแต่ปัญหาพ่อแม่ไม่มีเวลา รวมถึงขาดความรู้ ฉะนั้น รัฐต้องเผยแพร่ความรู้ให้ทั่วถึงและมีหลักสูตรรู้เท่าทันสื่อใส่ในหลักสูตร โรงเรียนก็มีบทบาทในการเฝ้าระวังคัดกรองและส่งต่อกระทรวงสาธารณสุขเพื่อเยียวยา การดูแลคุ้มครองเด็กเป็นเรื่องใหญ่ ที่สำคัญเรื่องกฎหมายและระบบดูแลระดับประเทศ เพราะผู้ให้บริการปัจจุบันมาจากต่างประเทศ ต้องกำกับ เด็กมีสิทธิมีส่วนร่วม มีสิทธิเล่น แต่เมื่อโดนกรอกหูด้วยการเล่นเกมออนไลน์จะเป็นการรอนสิทธิด้านอื่นๆ ของเด็ก ทุกหน่วยงานต้องช่วยกันคนละไม้คนละมือคุ้มครองเด็ก“ ดร.ศรีดา กล่าวในท้าย