สภา "ปลาน้ำลึก-ปลาน้ำตื้น"


เพิ่มเพื่อน    

       ประชาธิปไตย.....

                มันก็ "แบรนด์เนม" ของนอก เหมือนสินค้ายี่ห้อฮิต อย่าง ตะเข้ ตะกวด ที่เห่อกัน

                แพงเท่าไหร่ ก็ต้องซื้อมาติดตัว-ติดระบบรัฐสภาไทยไว้

                เพราะ.........

                มันเป็น "ของที่ต้องมี" ไม่งั้นฝรั่งไม่คบ!

                ฉะนั้น ไม่ต้องไปตกอก-ตกใจกับเรื่อง "สภาล่ม" สองวันซ้อน ว่าพรรคร่วมรัฐบาลแทงข้างหน้า-ข้างหลังกันเอง

                มันเป็น "แท็กติก" การเมืองทั่วไปของสภาน่ะ

                กับ "บางเรื่อง-บางญัตติ" ที่ซ่อนแง่-ซ่อนคม ลักษณะ "ไก่เห็นตีนงู-งูเห็นนมไก่" ที่ต่างฝ่ายต่างแย่งชิงการได้เปรียบ-เสียเปรียบกันทางเชิงกล

                มัน "รู้เชิง-รู้เกม" กันอยู่ในที.........

                ในเมื่อพูดไม่ได้ ฝ่ายค้าน-ฝ่ายรัฐบาล ก็ต้องงัด "วิชาเทพ-วิชามาร" มาเล่นกัน เพื่อชิงชั้น-เอาเชิง

                ผลก็อย่างที่เห็น คือ "ล่มแล้ว-ล่มอีก"........

                เหตุจากพรรคอนาคตใหม่ "ฝ่ายค้าน" เสนอญัตติ ขอตั้งกรรมาธิการวิสามัญศึกษาผลกระทบ, การกระทำ, ประกาศ, คำสั่ง คสช.และคำสั่งหัวหน้า คสช.ตามมาตรา ๔๔

                พรรคประชาธิปัตย์ "ฝ่ายรัฐบาล" ก็เสนอญัตติทำนองเดียวกันเข้าประกบ

                แต่อ้างขยายขอบเขตการศึกษาให้ครอบคลุมไปถึงคำสั่งคณะปฏิวัติอื่นๆ ด้วยทั้งหมด ไม่เพียงคำสั่ง คสช.

                แล้วที่ประชุมสภาก็โหวตว่า จะให้ตั้งหรือไม่ให้ตั้ง

                ผลออกมา ปรากฏว่า......

                ฝ่ายค้านเห็นชอบให้ตั้งมี ๒๓๖ เสียง ฝ่ายรัฐบาลไม่เห็นชอบมี ๒๓๑ เสียง งดออกเสียง ๒ เสียง

                สรุป ฝ่ายค้านชนะ ฝ่ายรัฐบาลแพ้!

                ที่แพ้ เพราะมี ส.ส.ประชาธิปัตย์ ๖ คน ไปยกมือให้กับฝ่ายค้าน

                อ้างว่า พรรคเขาเสนอญัตติฯ ด้วย เป็นเหตุที่ต้องยกมือสนับสนุน!?

                เนี่ย...

                ฝ่ายรัฐบาลเมื่อแพ้ ๔ เสียง ก็ขอนับคะแนนใหม่ ก็ทำได้ตามระเบียบที่ว่า เมื่อแพ้-ชนะห่างกันไม่เกิน ๒๕ เสียง ขอนับใหม่ได้

                ฝ่ายค้านไม่ยอม เดินออกจากที่ประชุม ทำให้สภา (๒๗ พ.ย.) ไม่ครบองค์ประชุม ประธานสภา "ชวน หลีกภัย" ต้องสั่งเลื่อนการประชุมออกไป

                มาเช้าวาน (๒๘ พ.ย.) เอากันต่อ ปรากฏว่า "ล่มอีก" เพราะองค์ประชุมไม่ครบ

                ฝ่ายค้านนั้นมา......

                แต่ส่วนหนึ่งไม่เข้าห้องประชุม ส่วนหนึ่งเข้าประชุม แต่ไม่กดบัตรแสดงตนว่ามาประชุม!

                ก็เป็นว่า การตั้ง กมธ.ศึกษาหรือซักฟอกคำสั่ง คสช.ตามต้องการของปิยบุตร "อนาคตใหม่" ยัง "ครึ่งบก-ครึ่งน้ำ"

                เฉพาะกรณี "สภาล่ม"

                ถ้าต้องการด่า.....

                ต้องด่า "ซีกรัฐบาล" ไปด่า "ซีกค้าน" ไม่ได้!

                เพราะตามหลักการ ฝ่ายรัฐบาลเป็น "เสียงข้างมาก" ของ ส.ส. ๕๐๐ ในสภา

                การประชุมสภาแต่ละครั้ง เป็นหน้าที่ของฝ่ายรัฐบาล ต้องมาทำให้สภา "ครบองค์ประชุม" ทุกครั้ง

                พูดง่ายๆ ส.ส.ต้องมาให้มากกว่า ๒๕๐ คนขึ้นไป!

                ส่วนฝ่ายค้าน เสียงเขาน้อยกว่าอยู่แล้ว ไม่มาประชุมหรือมาน้อย ไปโทษว่าเขาเป็นเหตุให้สภาไม่ครบองค์ประชุมไม่ได้

                จะด่าได้ ก็แต่ในประเด็น เป็น "ตัวแทนประชาชน" แล้วไม่ทำหน้าที่ เงินเดือนเอา แต่งานไม่ทำ ระยำ..ระยำ ประมาณนั้น

                ทีนี้ มาดูที่ "ฝ่ายรัฐบาล" ทำสภาล่ม ฝ่ายค้านกระโดดขึ้นหลังคา แล้วตีปีกปั๊บๆ โก่งคอขัน อวดชัยชยะ

                ถามว่า.......

                จริงๆ แล้ว การชิงไหว-ชิงพริบกันในเกมนี้ "ใครชนะ?"

                ฝ่ายค้าน โดยเฉพาะอนาคตใหม่ บอก เขาชนะ

                แต่ฝ่ายรัฐบาล แยกเป็น ๒ ส่วน

                ในซีกพลังประชารัฐ ซึ่งไม่ประสงค์ให้ตั้ง กมธ. เพราะรู้เกมฝ่ายค้าน ที่จะอาศัยคำว่าศึกษา หวังใช้ย้อนเกล็ดกะซวกนายกฯ ประยุทธ์

                ดังนั้น แพ้โหวตครั้งนี้ เป็น "แพ้ในชนะ" กลายๆ!

                ส่วนรัฐบาลในซีกประชาธิปัตย์......

                เหมือนเจตนาดี ที่เสนอญัตติประกบ การให้ศึกษากว้างไปกว่าคำสั่ง คสช.ประหนึ่งว่า ช่วยกันทางให้นายกฯ

                แต่นั่นแหละ เขี้ยว ก็คือ เขี้ยว

                มันเป็นเจตนาดีที่หวังสางแค้น-สะใจอยู่ในซอกแคบอกอาศัยลูกชุลมุนช่วยเขี่ยบอลเข้าประตูรัฐบาล

                แล้วอ้าง "หลักการประชาธิปัตย์"....

                ก็ทำไงได้ล่ะครับ ในเมื่อเป็นญัตติของพรรค เสนอแล้วก็ต้องโหวตสนับสนุน

                เมื่อโหวตพร้อมกัน ก็ไม่ได้ยกมือให้ญัตติฝ่ายค้าน ยกให้พรรคตัวเองตะหาก ก็ไปนับรวมกับของฝ่ายค้านไปเอง ทำนองนั้น!

                สรุปแล้ว.......

                วิน-วิน-วิน ด้วยกันทั้งหมด ทั้งฝ่ายค้าน-ฝ่ายรัฐบาล มีแต่ปิยบุตร-อนาคตใหม่ เท่านั้น ที่ยังเป็นปลาบ่อในหมู่ปลาทะเล

                ลากไป-ลากมา....ล่มไป-ล่มมา ผลคือ

                ญัตติตั้งกรรมาธิการศึกษารัฐธรรมนูญ ก็ดี

                ญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ก็ดี

                ในเมื่อ "ญัตติล่ม" ยังคาอยู่.......

                ฝ่ายค้านที่คอยคิว ก็คอยแข็งรอคิวแหง็กอยู่นั่น และทำท่าต้องรอไปข้ามปีจนได้!

                พวกเรา "คนดู" ไม่ต้องหวั่นวิตกว่า "รัฐบาลจะล่ม" หรอก

                ล่ม ก็ลุก "ตั้งใหม่" ได้

                ฝ่ายที่หวั่น ไม่ใช่พลังประชารัฐ หากแต่เป็นพรรคร่วม โดยเฉพาะประชาธิปัตย์-ภูมิใจไทย นั่นแหละ

                ที่ผายลมดมเอง ว่าสองพรรคไปจับมือเพื่อไทย-อนาคตใหม่เป็นเสียงข้างมากตั้งรัฐบาลแทนรัฐบาลประยุทธ์นั้น

                ถ้ายังหลงกลิ่นตดตัวเอง...ก็เชิญ!

                นั่นคือ ปากเก่ง-ถนัดเกมกันไปอย่างนั้น ลึกในใจ ไม่มีใครอยากทิ้งชามข้าวที่คาปากหรอก

                รอเมื่อ "งบประมาณแผ่นดิน" ผ่านสภาวาระแรกไปแล้ว ถ้าพรรคร่วมยังเล่นบอลเป็นทีมไม่เป็น

                นายกฯ หมั่นไส้ "ยุบสภา" ขึ้นมาละก็

                ตานี้แหละ..........

                จะได้ซึ้งกันซะที ว่าจากบทเรียนประชาธิปไตย เลือกมามีแต่สถุล..ถ่อย

                เลือกใหม่ครั้งนี้ ประชาชนจะเลือกตัวแทนของเขาแบบไหน ประเภทไหน ให้เข้าสภา?

                ประชาธิปไตย เป็นเรื่องรถไฟหวานเย็น ต้องจอดสถานีรายทางทุกสถานี อย่างที่นายกฯ ชาติชายเคยพูด

                จะโทษใครฝ่ายเดียวไม่ได้ ทั้ง ส.ส. ทั้งรัฐสภา ทั้งรัฐบาล ในระบอบประชาธิปไตย

                พวกเราในนามประชาชนผู้หย่อนบัตรนี่แหละ เป็นผู้เลือกพวกเขาเข้าไปเองกับมือกับตีน

                ฉะนั้น ถ้าจะโทษ ต้องโทษตัวเองด้วย!

                ทางแก้ไขมีทางเดียว คือแก้ไขตัวเอง "ตอนเลือกตั้ง"

                ถ้าประชาชน "ไม่แก้ไข"....

                เมื่อทางประชาธิปไตยมันฉุดลากประเทศลงห้วย-ลงเหว มันก็จำเป็นที่กองทัพต้องโดดเข้ามาดึงลากประเทศให้พ้นจากจมซากประชาธิปไตย

                แล้วก็จะด่าทหารกันอีก วนเวียนเป็นงูงับหางจนขย้อนตัวเองเกือบถึงหัวตัวเองอยู่รอมมะร่อ

                ในยุคสงครามการค้าสู่การเพาะเชื้อสงครามโลก ที่จะเข้ามาใช้ภูมิภาคนี้เป็นสมรภูมิฉะกัน

                แบรนด์ "ประชาธิปไตย" ถ้าจะรักษาตลาด ต้องดิสรัปต์เหมือนกัน

                คือต้องปรับจากประชาธิปไตยยุโรปจ๋า เป็นแบบ "ประชาธิปไตยสหรัฐ" ถึงจะไปรอด-อยู่รอด

                คือ ทำอย่างไรก็ได้........

                "ให้ประชาชนและประเทศชาติตัวเองรอดก่อน" นั่นคือ "ประชาธิปไตยดิสรัปต์" สู่ศตวรรษที่ ๒๑

                พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ตั้งแต่ ๒๒ พ.ค.๕๗ มาจนถึงวันนี้ ๒๙ พ.ย.๖๒

                เมื่อวานนี้แหละ ประกายนายกฯ ประชาธิปไตยดิสรัปต์เจิดจ้า

                ต้องขอบันทึก ทัศนคติ ความคิด คำพูด ผู้นำดิสรัปต์ไว้ตรงนี้เลย สะท้อนจากเหตุการณ์ "พรรคร่วมรัฐบาล" แพ้โหวต

                "เป็นเรื่องธรรมดา ผมติดตามดูแล้ว เพราะ "พรรคร่วมรัฐบาล" หลายคน ติดราชการต่างประเทศ

                บางคนไปต่างประเทศกับผม กลับมาไม่ทัน

                เรื่องกฎหมายก็ว่ากันไป เป็นระบบของสภา “ไม่ใช่เรื่องของความไม่มั่นคงของรัฐบาล" ผมยังเชื่อมั่นในความมั่นคงอยู่

                “ผมถือว่าผมเป็นทหารเก่า ผมถือว่าสัญญาลูกผู้ชาย สุภาพบุรุษ สำคัญที่สุด

                การเป็นพรรคร่วมรัฐบาล..........

                ก็ต้องเป็นพรรคร่วมรัฐบาลจริงๆ รัฐบาลทำในสิ่งที่ถูกต้อง จะไปมองเรื่องนี้เรื่องเดียว ไม่ใช่ต่อสู้กันทางการเมืองอย่างเดียวเลย

                จะมองไปในเรื่องการเลือกตั้งในอนาคต แต่มันยังไม่ถึงเวลาเลือกตั้ง ถึงเวลาค่อยว่ากันอีกที

                แต่วันนี้บ้านเมืองกำลังมีปัญหาความมั่นคง และมีปัญหาเรื่องความขัดแย้งสงครามการค้า แล้วเราไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องเหล่านี้เลยหรือ

                โจมตีกันไปมา ไม่เกิดประโยชน์อะไรกับใครทั้งสิ้น แม้แต่กับพรรคการเมืองของตัวเอง ประชาชนเรียนรู้และตัดสินใจได้เองในวันหน้า เมื่อมีการเลือกตั้ง

                การทำงาน อย่ามองว่ารัฐบาลสอนให้คนขี้เกียจ เรามองคนที่เขาไม่มี เขาจะทำยังไง

                มีอะไร ก็เสนอมา การโจมตีไปมา ก็ไม่ได้อะไรขึ้นมา ประชาชนจะได้เห็นว่าสภาของเรา ส.ส.ของเรา ทำงานให้ประชาชน”

                ผมให้ ๑๐๐ คะแนนเต็มครับ!. 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"