การประท้วงกำลังลามไปหลายประเทศทั่วโลกในขณะนี้
ไม่ได้แปลว่ามีการนัดหมายกัน และไม่ได้แปลว่ามีการประสานกัน
แต่น่าจะมีปัญหาที่ละม้ายกัน
ตรงนี้คือประเด็นที่น่าสนใจ
เพราะการที่ผู้คนลุกขึ้นประท้วงรัฐบาลในหลายๆ ประเทศช่วงนี้น่าจะเกี่ยวกับปัญหาที่ระบอบที่เรียกว่า “เสรีประชาธิปไตย” และ “ประชานิยม” รวมไปถึง “โลกาภิวัตน์”
ไม่ว่าจะเป็นการประท้วงที่ฮ่องกง, เลบานอน, อินโดนีเซีย, ซาอุดีอาระเบียและโบลิเวีย
ผลจากการชุมนุมที่เลบานอนและโบลิเวียนำไปสู่การโค่นผู้นำทางการเมืองเรียบร้อยแล้ว
หากมองย้อนกลับไปเมื่อ 30 ปีก่อน เราอาจจะเห็นสัญญาณแรกๆ ของคลื่นแห่งความไม่พอใจที่แฝงอยู่ในสังคมโลกหลายๆ แห่ง
ไม่ว่าจะเป็นการล่มสลายของสหภาพโซเวียต
หรือการก่อเกิดของสิ่งที่เรียกว่า Globalisation หรือที่ไทยแปลว่า “โลกาภิวัตน์”
ตามมาด้วยการที่นักการเมืองใช้นโยบาย “ประชานิยม” เพื่อชนะใจผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งจนนำไปสู่การใช้งบประมาณภาษาประชาชนเพื่อชนะการเลือกตั้งในครั้งหน้าให้นักการเมืองเหล่านั้นสามารถดำรงอยู่ในตำแหน่งให้นานที่สุดเท่าที่จะนานได้
กรณีชัยชนะของโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ได้เป็นประธานาธิบดีสหรัฐเมื่อสามปีก่อนท่ามกลางความแปลกประหลาดใจของนักวิเคราะห์เกือบจะทุกสำนัก ก็เป็นการตอกย้ำถึงสาเหตุแห่งความไม่พอใจของชนชั้นกลางและหมู่ชนที่ตกอยู่ในสภาพที่ด้อยโอกาส
สิ่งที่เรียกว่า “ทุนนิยม...เสรีประชาธิปไตย...ตลาดเสรี” ทำให้เกิดช่องว่างระหว่างคนระดับบนกับชนชั้นล่างที่เพิ่งจะปรากฏชัดขึ้นในระยะหลัง
แต่ปัญหานี้สั่งสมมาหลายสิบปี จนเมื่อมีปัจจัยและจังหวะมาบรรจบกันก็ระเบิดขึ้นมาเป็นการรวมตัวของคนที่ไร้โอกาสเพื่อเรียกร้องสิทธิ์ของตนตามกติกาที่ควรจะมีควรจะเป็น
โลกาภิวัตน์และทุนนิย รวมถึงเสรีประชาธิปไตยนั้นได้ก่อให้เกิดช่องว่างระหว่างคนมีกับคนไม่มี, คนได้โอกาสกับคนเสียโอกาส, คนเมืองกับชนบท และคนวงในกับวงนอก
ยิ่งเข้าสู่ยุคอินเทอร์เน็ตและดิจิทัลก็ยิ่งจะเห็นช่องว่างระหว่างคนที่เข้าถึงเทคโนโลยีกับคนที่เข้าไม่ถึง
ปัญหานี้จะบานปลายกลายเป็นวิกฤติระดับโลกได้หากไม่มีการแก้ไขอย่างจริงจังและยั่งยืน
พอเกิดความไม่พอใจของชนชั้นกลางที่รู้สึกตัวว่าไม่มีสิทธิ์ไม่มีเสียง ก็ทำให้เกิดผู้นำการเมืองที่มีความโอนเอียงไปทางด้าน “ผู้นำรวมศูนย์” ที่ปลุกระดมให้เกิดความรู้สึก “ชาตินิยม” ถึง “คลั่งชาติ”
ผู้นำชาตินิยมเอียงขวาโผล่มาให้เห็นจากการเลือกตั้งในยุโรปตะวันออกและยุโรปกลางหลายประเทศ เช่น
วลาดิเมียร์ ปูติน แห่งรัสเซีย
วิกเตอร์ ออร์บาน แห่งฮังการี
ในลาตินอเมริกาผู้นำเอียงซ้ายที่ใช้แนวทางประชานิยมผสมชาตินิยมก็ได้รับการเลือกจากประชาชนอย่างล้นหลามเช่นกัน เช่น
ฮิวโก ชาเวซ แห่งเวเนซุเอลา ที่เสียชีวิตไปเมื่อ 6 ปีก่อน
นิโคลาส มาดูโร ที่สืบทอดต่อจากชาเวซก็เดินในแนวทางเดียวกัน
แม้แต่โลกตะวันตกอย่างสหรัฐและอังกฤษก็เกิดคลื่นที่ต้องการความเปลี่ยนแปลงที่มิได้เป็นแนวทางเดิมของสิ่งที่เรียกว่าทุนนิยมตะวันตก
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนคือ การที่โดนัลด์ ทรัมป์ ชนะเลือกตั้งและประชามติคนสหราชอาณาจักรที่ให้ออกจากสหภาพยุโรป ที่เรียกว่า Brexit
โลกตะวันออกกลางจะเห็นผู้นำที่มีแนวทางชาตินิยมและศาสนานิยมที่ขึ้นมามีอำนาจมากขึ้น
ในเอเชียผู้นำอย่าง สี จิ้นผิง ของจีน และนเรนทรา โมดี แห่งอินเดีย ก็เป็นผลผลิตของการปรับแนวทางห่างออกจากทุนนิยมสู่อำนาจนิยม และการรวมศูนย์แห่งอำนาจมาที่ตัวบุคคลและนโยบายการมุ่งเน้นความเด็ดขาดของอุดมการณ์ที่ผู้นำพยายามนำเสนอ “ผลงานที่จับต้องได้” มากกว่า “อุดมการณ์การเมืองที่มีผู้ได้ประโยชน์เพียงกลุ่มเดียว”
วันนี้เราเห็นแนวโน้ม “ประชานิยม” ทั้งจากขั้วซ้ายและขวา
จึงเป็นที่มาของปรากฏการณ์ “วิกฤติศรัทธา” ต่อคำว่า “เสรีประชาธิปไตย”
และนำมาสู่ความเปลี่ยนแปลงที่สร้างความตื่นตะลึงพอสมควร เมื่อผู้นำจีนกลายเป็นผู้นำการสร้างเขตการค้าเสรีและต่อต้านโรคร้อน ขณะที่สหรัฐกลับออกมาต่อสู้การค้าพหุภาคีและปฏิเสธปัญหาโลกร้อนอย่างสิ้นเชิง
โลกกำลังกลับตาลปัตร...ไทยเราอยู่ตรงไหนของสมการใหม่นี้
นั่นคือคำถามที่ใหญ่ที่สุดข้อหนึ่งสำหรับไทยวันนี้.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |