'พระปกเกล้าฯ' ทรงเกรงอยู่แล้วว่าจะเกิดกบฏบวรเดช


เพิ่มเพื่อน    

      
    ในวันที่ ๑๑ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๗๕ เพียง ๑๐ วันหลังจากที่หลวงประดิษฐ์มนูธรรม ซึ่งได้เดินทางกลับมา ได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรี พลเอก พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช เสนาบดีกระทรวงกลาโหม ซึ่งใน พ.ศ.๒๔๗๔ ได้ทรงลาออกจากรัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เพราะไม่พอพระทัยที่มีการตัดงบประมาณของกองทัพ ได้นำทัพของกลุ่มซึ่งเรียกตนเองว่า คณะกู้บ้านกู้เมือง จากแหล่งรวมกำลังที่นครราชสีมามาประชิดพระนครที่ทุ่งดอนเมือง ในวันเดียวกันนั้นเอง พ.อ.พระยาศรีสิทธิสงคราม (ดิ่น ท่าราบ) นายทหารซึ่งถูกปลดออกหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.๒๔๗๕ ได้มีหนังสือถึงพระยาพหลฯ ยื่นคำขาดให้คณะรัฐมนตรีลาออก เพราะไม่ได้ปฏิบัติตามนโยบายต่อต้านคอมมิวนิสต์ที่ได้ประกาศไว้ กลับสนับสนุนคอมมิวนิสต์ เช่นเพิกเฉยปล่อยให้มีการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และจัดการเรียกหลวงประดิษฐ์มนูธรรมกลับมา ทั้งนี้ ที่กล่าวว่าหมิ่นพระบรมเดชานุภาพนั้นคือการที่นายถวัติ ฤทธิเดช เลขานุการสมาคมกรรมกรรถราง เป็นโจทก์ยื่นฟ้องพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวต่อสภาผู้แทนราษฎรว่าทรงหมิ่นประมาทผู้นำกรรมกรไว้ในพระราชวิจารณ์เค้าโครงการเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม
    ฝ่ายรัฐบาลไม่ได้ทำตามคำยื่นคำขาด แต่ได้ออกแถลงการณ์ในวันรุ่งขึ้นว่าคณะกู้บ้านกู้เมืองเป็น  ผู้ก่อการจลาจล และในวันต่อมาว่าเป็น กบฏ พร้อมกันนั้นหลวงพิบูลสงครามได้ทำการปราบปรามอย่างเด็ดขาดด้วยการนำทหารบกรุก ส่วนทหารเรือภายใต้นาวาเอก พระยาวิชิตชลธี (ทองดี สุวรรณพฤกษ์) ผู้บัญชาการทหารเรือ ได้ถอนทัพเรือออกไปที่ปากอ่าวไทย ไม่ยอมยิงปืนใหญ่ใส่คณะกู้บ้านกู้เมือง ในขณะที่หลวงสินธุสงครามชัย (สินธุ กมลนาวิน) นายทหารเรือคนสำคัญของคณะราษฎรถูกกักตัวอยู่ที่วังปารุสกวัน กองบัญชาการของพระยาพหลฯ

พลเอก พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช 
    คณะกู้บ้านกู้เมืองนั้นเป็นการรวมตัวกันอย่างไม่เหนียวแน่นนักระหว่างทหารหัวเมืองซึ่งจงรักภักดีต่อพระองค์เจ้าบวรเดช พระยาสิทธิสงครามและพวก อีกทั้งพลเรือน (รวมทั้งหม่อมเจ้า ๒-๓ พระองค์)  ซึ่งเป็นสมาชิกของคณะชาติซึ่งไม่ได้รับอนุญาตให้ตั้งคณะการเมืองมาก่อนหน้านี้ในสมัยรัฐบาลพระยามโนฯ ดังนั้น จึงคล้ายกับว่าเป็นแนวร่วมระหว่างกลุ่มซึ่งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรงเรียกคำข้างต้นว่าเป็น พวกนิยมกษัตริย์ในระบอบรัฐธรรมนูญ กับ พวกนิยมสมบูรณาญาสิทธิราชย์อย่างถอนตัวไม่ขึ้น คณะกู้บ้านกู้เมืองตั้งความหวังไว้ด้วยว่าทหารบกบางส่วนในกรุงเทพฯ ซึ่งภักดีต่อพระยาทรงสุรเดชจะให้การสนับสนุน หากแต่ว่าทหารบกส่วนนี้ได้วางเฉยและเป็นทีว่าได้ปล่อยข่าวแผนการของคณะกู้บ้านกู้เมืองให้หลวงพิบูลสงครามทราบนับเป็นปัจจัยที่ทำให้ฝ่าย "กบฏ" มีกำลังน้อยกว่าที่คาด
    ในวันที่ ๑๓ ตุลาคม ซึ่งฝ่ายรัฐบาลเริ่มรุก คณะกู้บ้านกู้เมืองโดยพระองค์เจ้าบวรเดชได้ประกาศ  หลักความมุ่งหมาย ๖ ประการ ของตน ความโดยสังเขปว่า ๑.ต้องจัดการให้สยามมีพระมหากษัตริย์ปกครองภายใต้รัฐธรรมนูญชั่วกัลปาวสาน ๒.ต้องดำเนินการโดยรัฐธรรมนูญอย่างแท้จริง คือการตั้งและการถอดถอนคณะรัฐบาลเป็นไปโดยเสียงหมู่มาก ไม่ใช่โดยการจับอาวุธ และต้องยอมให้มีคณะการเมืองโดยชอบด้วยกฎหมาย ๓.ต้องแยกข้าราชการประจำกับข้าราชการการเมืองออกจากกัน ๔.ให้ถือคุณวุฒิความสามารถเป็นหลักในการแต่งตั้งบุคคลในตำแหน่งราชการ ไม่ถือเอาความเกี่ยวข้องในทางการเมืองเป็นความชอบหรือข้อรังเกียจ ๕.ให้พระมหากษัตริย์ทรงเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ ๒ (ประเภทแต่งตั้ง) และ ๖.การปกครองกองทัพบกต้องมีหน่วยผสมตามหลักยุทธวิธี เฉลี่ยอาวุธสำคัญแยกกันไปประจำตามท้องถิ่น ไม่ให้กำลังมีภาพใหญ่อยู่เฉพาะแห่งใดแห่งหนึ่ง

พระยาพหลพลพยุหเสนา
    ตั้งข้อสังเกตได้ว่า หลักความมุ่งหมาย ๖ ประการนี้เป็นการผสมผสานระหว่างความคิดและความต้องการที่มีไม่เหมือนกันในคณะกู้บ้านกู้เมืองเอง โดยข้อที่ ๑ และข้อที่ ๕ ดูจะเป็นความพยายามที่จะสื่อว่าการยกกำลังพลมาเป็นไปเพื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และมีความมุ่งหมายที่จะดึงพระองค์เป็นพวกหรือไม่ก็ที่จะผูกมัดพระองค์ ข้อที่ ๒ นั้น ในเมื่อคณะกู้บ้านกู้เมืองเองได้นำกองกำลังทหารมายื่นคำขาดให้รัฐบาลลาออก ข้อนี้จึงดูไม่จริงใจ หากแต่ว่าการที่ต้องการให้มีคณะการเมืองโดยชอบด้วยกฎหมายก็แสดงถึงความพร้อมที่จะเล่นเกมตามระบอบรัฐธรรมนูญ หากรัฐบาลยอมที่จะเจรจาต่อรอง ส่วนข้ออื่นๆ นั้น แม้ว่าจะมีความชอบธรรมตามวิถีประชาธิปไตย ก็มองภายใต้สถานการณ์ทางการเมืองในขณะนั้นได้ว่าเป็นกลเม็ดในการระดมความสนับสนุนจากข้าราชการประจำ และเพื่อที่จะปรับสนามการแข่งขันทางการเมืองให้เป็นประโยชน์แก่ฝ่ายตนมากกว่าที่เป็นอยู่
    แต่ฝ่ายรัฐบาลไม่ต้องการจะเจรจาต่อรองด้วย และได้ประกาศกฎอัยการศึกและนำกำลังเข้าปราบปรามฝ่าย "กบฏ" ในขณะเดียวกัน พระยาพหลฯ ได้ส่งความไปกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ที่หัวหินเกี่ยวกับการกบฏและรายงานให้ทรงทราบถึงสิ่งที่ฝ่ายรัฐบาลกำลังทำอยู่ พร้อมกันนี้ได้เชิญเสด็จฯ กลับสู่พระนคร
    พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงต้องทรงเผชิญกับภาวะทางสองแพร่ง ทั้งนี้เพราะทั้งสองฝ่ายตั้งความหวังว่าพระองค์จะทรงเลือกสนับสนุนฝ่ายของตน ฝ่ายรัฐบาลอ้างว่าตนเป็น รัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตามรัฐธรรมนูญ ในขณะเดียวกัน ฝ่ายคณะกู้บ้านกู้เมืองก็ดูจะกำลังแสวงหาสนามการแข่งขันทางการเมืองที่ยุติธรรมและสิทธิทางการเมือง อีกทั้งกำลังที่ถูกระดมมาก็เชื่อตามที่พระองค์เจ้าบวรเดชทรงทำให้เข้าใจว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงอยู่ข้างเขา

พระราชวังบางปะอิน
    จึงชัดเจนว่า สิ่งที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเกรงอยู่ว่าจะเกิดขึ้น คือการมีเจ้านายทำการลุกขึ้นสู้กับฝ่ายรัฐบาล ได้เกิดขึ้นจริงๆ แล้ว ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริง ไม่ได้พระราชทานความสนับสนุน และได้ทรงเตือนพระองค์เจ้าบวรเดชไว้ก่อนหน้านั้นแล้ว ไม่ให้ทรงมีส่วนในการกระทำการ เพราะจะนำมาซึ่งความหายนะของสถาบันพระมหากษัตริย์ นอกจากนั้น ก่อนหน้านั้นไม่นานพระองค์ได้ตัดสินพระราชหฤทัยไม่เสด็จฯ ไปยังพระราชวังบางปะอินที่อยุธยาเพื่อพระราชทานพระกฐินหลวงตามราชประเพณีซึ่งทรงปฏิบัติเป็นประจำ เพราะทรงเกรงว่าหากทหารหัวเมืองยกทัพผ่านลงมาจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือก็จะกักพระองค์ไว้เป็น "ตัวประกัน" อย่างไรก็ตาม เป็นไปได้อย่างยิ่งว่าฝ่ายรัฐบาลเชื่อว่าพระองค์ทรงมีส่วนรู้เห็นในแผนการของฝ่ายคณะกู้บ้านกู้เมือง และมี "เรื่องบอกเล่า" ของกลุ่มคณะราษฎรว่าพระราชทานทุนทรัพย์สนับสนุน
    แต่โดยที่ทั้งสองฝ่ายที่กำลังจะรบกันอยู่ได้ออกประกาศและกราบบังคมทูลว่าจงรักภักดีต่อพระองค์  พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงตัดสินพระราชหฤทัยประทับอยู่ที่หัวหินต่อไป ไม่เสด็จฯ กลับพระนคร พร้อมกันนั้นได้ทรงเสนอพระองค์เป็น คนกลาง ในการเจรจาระหว่างทั้งสองฝ่ายเพื่อที่จะได้ไม่ต้องรบกัน หากแต่ว่าไม่นานต่อมาการรบพุ่งกันได้เริ่มขึ้น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสลดพระราชหฤทัยยิ่งนักที่คนไทยด้วยกันรบกันเอง โดยมีการเสียเลือดเนื้อด้วยกันทั้งสองฝ่าย สิ่งเดียวที่พระองค์ทรงสามารถทำได้ในขณะนั้นก็คือการรักษาพระองค์ให้ปลอดภัยด้วยกองทหารรักษาวังที่มีจำนวนไม่มาก พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรงขอให้ทั้งสองฝ่ายเจรจากันโดยมีพระองค์เป็น คนกลาง รวม ๕ ครั้ง แต่ละครั้งฝ่ายรัฐบาลไม่ยอม ซึ่งก็เข้าใจได้เพราะรัฐบาลกำลังเผชิญกับการท้าทายที่ร้ายแรงที่สุดต่อความอยู่รอดของตน อีกทั้งมีความแคลงใจว่าพระองค์ทรงเป็นกลางจริงหรือไม่ รัฐบาลได้ส่งผู้แทนไปกราบบังคมทูลเชิญเสด็จฯ กลับพระนครเช่นเดิม
    ครั้นวันที่ ๑๖ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๗๖ ฝ่ายคณะกู้บ้านกู้เมืองได้ทิ้งใบปลิวจากเครื่องบินกราบบังคมทูลว่าฝ่ายตนกำลังจะยอมแพ้ ซึ่งอาจเป็นความพยายามครั้งสุดท้ายที่จะโน้มน้าวให้พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ตัดสินพระราชหฤทัยเข้าข้างฝ่ายตน หลังจากนั้นไม่นาน กำลังทหารที่เพชรบุรีใกล้ที่ประทับหัวหิน ซึ่งยากที่จะวิเคราะห์ได้ว่าเป็นฝ่ายคณะกู้บ้านกู้เมืองหรือจงรักภักดีต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ยอมจำนนต่อกำลังทหารฝ่ายรัฐบาล เปิดทางให้ผู้แทนรัฐบาลคนที่สองเดินทางผ่านไปหัวหินเพื่อเข้าเฝ้าฯ

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว-สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี
    ในวันที่ ๑๗ ตุลาคม พระยานิติศาสตร์ไพศาล (วัน จามรมาน) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ผู้แทนรัฐบาล ได้ไปถึงหัวหิน แต่ยังไม่ได้เฝ้าฯ ค่ำวันนั้น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ เจ้านายที่เป็นข้าราชบริพารในพระองค์ได้เสด็จฯ โดยกะทันหันด้วยเรือยนต์พระที่นั่ง "ศรวรุณ" ลำเล็ก ซึ่งจุคนได้ไม่ถึง ๒๐ คน มุ่งหน้าไปทางใต้สู่สงขลา นับว่าอาจต้องทรงเผชิญกับภัยธรรมชาติจากคลื่นลมกลางทะเลในความมืด ปรากฏตามบันทึกของนาวาเอกหลวงประติยัตินาวายุทธิ์ (เฉียบ แสง-ชูโต) ผู้ทำหน้าที่กัปตันเรือว่า ในระหว่างทางมีเรือทหารเรือตามมา แต่ได้ยอมให้เรือศรวรุณเดินทางต่อไปได้ แต่ติดตามอยู่ห่างๆ เรือศรวรุณเผชิญกับภาวะน้ำมันหมด ต้องส่งคนขึ้นบกไปหาที่ชุมพร การเดินทางใช้เวลาถึง ๒ วันครึ่ง จึงเสด็จฯ ถึงสงขลาและเข้าประทับที่พระตำหนักเขาน้อย ที่ประทับเดิมของสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงลพบุรีราเมศว์ อดีตอุปราช ซึ่งสมุหเทศาภิบาลพำนักอยู่ในขณะนั้น ส่วนเจ้านายซึ่งประทับอยู่ตามตำหนักส่วนพระองค์ต่างๆ ที่หัวหินและข้าราชบริพารในพระองค์ที่เหลือ หม่อมเจ้าศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน์ นายทหารรักษาวัง ได้ทรงยึดรถไฟได้ขบวนหนึ่งให้เป็นพาหนะเดินทางไปยังสงขลาตามพระราชกระแสรับสั่ง และถึงก่อนที่จะเสด็จฯ ถึง
    เกี่ยวกับเหตุการณ์ช่วงนี้ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ได้ทรงยอมรับต่อเซอร์ อาร์. ฮอลแลนด์  และนายเจมส์ แบกซเตอร์ ผู้ที่รัฐบาลได้อนุญาตให้เข้าเฝ้าฯ ได้ เมื่อวันที่ ๒๖ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๗๖  หลังจากที่ได้เสด็จฯ คืนสู่พระนครจากสงขลาแล้ว ว่าแม้ว่าเหตุการณ์ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าจุดยืนของพระองค์ในวิกฤตการณ์นั้นถูกต้องแล้วก็ตาม แต่กระนั้น พระองค์ทรงถูกตำหนิจากทุกฝ่าย ฝ่ายรัฐบาลซึ่งมีความแคลงใจอยู่ ได้แสดงความไม่เกรงพระทัยโดยไม่ยอมรับข้อเสนอของพระองค์ที่จะทรงเป็น "คนกลาง" ในการเจรจา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเห็นว่าฝ่ายของเขากำลังประสบชัยชนะในการรบ ส่วนฝ่าย  "กบฏ" ซึ่งมีโอกาสประสบความสำเร็จอยู่บ้างหากพระองค์เจ้าบวรเดชไม่ได้ทรงมีส่วนเกี่ยวข้อง ก็ตำหนิพระองค์ว่าไม่ทรงสนับสนุนพวกตนและจึงได้นำพวกตนสู่ความปราชัย พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงอธิบายต่อไปว่า หากพระองค์ได้พระราชทานความสนับสนุนแก่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ก็ย่อมเท่ากับว่าได้ทรง ลงมาสู่เวทีการเมือง และ อาจได้นำอันตรายใหญ่หลวงมาสู่สถาบันพระมหากษัตริย์ อีกทั้งยังจะทรงเป็น "หมากเบี้ย" (pawn) ในอุ้งมือของฝ่ายที่สามารถควบคุมพระองค์ไว้ได้ แต่จากที่ทรงปฏิบัติไปนั้น ผู้คนดูจะพร้อมมากขึ้นที่จะเชื่อว่าพระองค์ ทรงมีความจริงจังมุ่งมั่นที่จะคัดค้านความพยายามใดๆ ที่จะสถาปนาระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ขึ้นใหม่

หลวงพิบูลสงคราม
    ครั้นถึงวันที่ ๒๓-๒๔ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๗๖ ฝ่ายรัฐบาลประสบความสำเร็จในการรุกไล่ฝ่ายกบฏให้พ่ายไป พระยาสิทธิสงครามถึงแก่กรรมในสนามรบ พระองค์เจ้าบวรเดชทรงหลบหนีไปยังดินแดนอินโดจีนของฝรั่งเศส มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บทั้งสองฝ่าย หลวงพิบูลสงคราม ผู้บัญชาการการปราบปรามได้รับการยกยกย่องว่าเป็นวีรบุรุษ พระยาพหลฯ และนายทหารกลุ่มหนุ่มมีความฮึกเหิม และได้จัดการจับกุมคุมขังฝ่ายกบฏไว้ประมาณ ๖๐๐ คน
    วันที่ ๒๕ ตุลาคม พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ มีพระราชกระแสแนะนำรัฐบาลว่า เพื่อเป็นการยุติการจลาจลอย่างละมุนละม่อม "เป็นการสมควรที่รัฐบาลจะประกาศอภัยโทษให้แก่ผู้ร่วมก่อการจลาจล ตลอดจนนายทหารและบุคคลที่ไม่ใช่หัวหน้าหรือคนสำคัญในการกระทำครั้งนี้เสียโดยเร็ว" แต่รัฐบาลปฏิเสธโดยอ้างหลักการที่ว่าจำต้องดำเนินคดีให้ถึงที่สุดเสียก่อน จึงจะพิจารณาให้อภัยโทษได้ซึ่งก็ไม่ผิด
    หากแต่ครั้นวันที่ ๒๙ ตุลาคม รัฐบาลได้ตราพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลพิเศษ พ.ศ.๒๔๗๖ ขึ้น (พร้อมด้วยคณะกรรมการอัยการพิเศษสำหรับฟ้องคดี) มีอำนาจหน้าที่พิจารณาพิพากษาคดีเกี่ยวกับการกบฏและจลาจล ไม่ว่าผู้ต้องหาจะเป็นทหารหรือพลเรือน มีวิธีการพิจารณาเช่นเดียวกับศาลทหาร  คำพิพากษาถือเป็นเด็ดขาดไม่มีอุทธรณ์ฎีกา และผู้ต้องหาไม่มีทนายความแก้ต่าง รวมความว่าไม่ได้เป็นศาลสถิตยุติธรรมปกติ และนับว่าไม่เป็นไปตามหลักนิติธรรม (The rule of law) ท้ายที่สุด คือเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๗๗ ในบรรดาผู้ที่ถูกจับ ๖๐๐ คน มีการส่งฟ้อง ๓๑๘ คน พบว่ามีความผิดต้องโทษ ๒๙๖ คน ในจำนวนนั้นต้องโทษประหารชีวิต ๖ คน จำคุกตลอดชีวิต ๒๔๔ คน
    วันที่ ๕ พฤศจิกายน รัฐบาลได้ตราพระราชบัญญัติจัดการป้องกันรัฐธรรมนูญ พ.ศ.๒๔๗๖ เพิ่มขึ้นมา ว่าด้วยการป้องกันและการลงโทษผู้ที่กระทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐธรรมนูญ หรือทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธาต่อการปกครองระบอบรัฐธรรมนูญ 

คณะราษฎร
    พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งตามธรรมเนียมการปกครองของสยาม ทรงเป็น "เจ้าชีวิต"  ผู้ทรงสิทธิแต่ผู้เดียวที่จะสั่งประหารชีวิตผู้ใด ทรงปฏิเสธที่จะทรงสั่งประหารชีวิตตามคำตัดสิน เรื่องจึงค้างคาอยู่จนกระทั่งหลังการทรงสละราชสมบัติ จึงได้มีการพระราชทานอภัยโทษจากประหารชีวิตเป็นจำคุกตลอดชีวิต และจากจำคุกตลอดชีวิตเป็นถูกเนรเทศไปเกาะตะรุเตา
    การเลือกตั้งทั่วไปสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรโดยทางอ้อมได้สิ้นสุดลง มีผู้มาใช้สิทธิร้อยละ ๔๑.๕ ได้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ ๑ มา ๗๘ คน รัฐบาลต้องการให้พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินคืนสู่พระนครเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยแต่งตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จำนวน  ๗๘ คนเท่ากัน และทรงประกอบรัฐพิธีเปิดสมัยประชุมสภาฯ ในวันที่ ๑๐ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๗๖ และได้กราบบังคมทูลว่าถ้าเสด็จฯ กลับ ก็จะยอมให้เสด็จฯ ไปผ่าต้อกระจกในพระเนตรซ้ายครั้งที่ ๒ ที่ยุโรป เป็นการต่อเนื่องจากที่ได้ผ่าครั้งที่หนึ่งแล้วที่สหรัฐอเมริกาเมื่อ พ.ศ.๒๔๗๔ ตามกำหนดที่วางไว้เดิม คือในเดือนมกราคมถัดมา พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรงต่อรองว่าผู้ใดที่ได้ถวายงานในครั้งการเสด็จฯ  มาสงขลา อย่าให้ได้มีโทษ รัฐบาลก็รับจะทำตามพระราชประสงค์ จึงได้เสด็จฯ คืนสู่พระนคร โดยเสด็จฯ  ออกจากสงขลาด้วยเรือ "หมุยหนำ" ของบริษัทอีสต์เอเชียติค ซึ่งผ่านสงขลามาจากฮ่องกงเมื่อวันที่ ๗  ธันวาคม และเสด็จฯ ถึงพระนครในวันที่ ๙ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๗๖ รวมระยะเวลาซึ่งประทับอยู่ที่สงขลา ๔๗ คืน ทั้งสองพระองค์เสด็จฯ ไปประทับที่พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน
    การณ์จึงดูเหมือนว่าได้มีการประนีประนอมกันในระดับหนึ่งระหว่างพระองค์กับรัฐบาลและคณะราษฎร.

 ----------------------
ขอบคุณข้อมูล: สถาบันพระปกเกล้า, รองศาสตราจารย์ ม.ร.ว.พฤทธิสาณ ชุมพล


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"