มติ "คกก.วัตถุอันตรายชุดใหม่" ยกเลิกแบนสารไกลโฟเซต แค่จำกัดการใช้ พร้อมขยายเวลายกเลิกสารพาราควอต-คลอร์ไพริฟอสไปอีก 6 เดือน เริ่ม 1 มิ.ย.63 อ้างข้อมูลการไกลโฟเซตยังไม่พบส่งผลเสียต่อสุขภาพ แฉ "กรมวิชาการเกษตร" ทำหนังสือขยายเวลาแบนไม่ผ่าน รมช.เกษตรฯ "อนุทิน" ผิดหวังแต่ไม่เสียหน้า ยันไม่ใช่เกมการเมือง แค่จุดยืนทำงานต่างกัน "มนัญญา" ขอคืนกรมวิชาการเกษตรแลกกรมชลฯ บอกคุมไม่ได้แล้ว "ชาดา" ปลุก ปชช.จุดเทียนหน้าบ้านไม่เอาสารพิษ-รมต.หนุนสารพิษ
เมื่อวันที่ 27 พ.ย. นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม (รมว.ยุติธรรม) ในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย เป็นประธานการประชุม คกก.วัตถุอันตรายชุดใหม่ เพื่อพิจารณาเรื่องการเลื่อนการยกเลิกการใช้ 3 สารเคมีอันตรายทางการเกษตร ประกอบด้วย พาราควอต, ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส
นายสุริยะแถลงผลประชุมว่า ที่ประชุมมีมติเอกฉันท์จากจำนวนผู้เข้าประชุม 24 เสียง ให้เลื่อนการยกเลิกการใช้สารพาราควอต และคลอร์ไพริฟอส คือการปรับระดับสารเคมีทั้ง 2 จากวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ออกไปอีก 6 เดือน คือในวันที่ 1 มิ.ย.2563 จากเดิมที่กำหนดไว้ให้ยกเลิกการใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค.2562
"สารทั้ง 2 ชนิดส่งผลต่อสุขภาพประชาชน ส่วนที่เลื่อนยกเลิกการใช้ออกไป เพราะหากยกเลิกการใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค.2562 จะส่งผลกระทบต่อผู้ที่มีสารเคมีทั้ง 2 ไว้ในครอบครอง ทำให้เกิดความเสียหายหลายหมื่นล้านบาท" นายสุริยะกล่าว
ประธาน คกก.วัตถุอันตรายกล่าวว่า ในส่วนสารไกลโฟเซต ที่ประชุมมีมติเอกฉันท์ให้ใช้ได้ต่อไป แต่ต้องจำกัดการใช้ตามมติของคณะกรรมการวัตถุอันตรายชุดเดิมเมื่อวันที่ 23 พ.ย.2561 ซึ่งสาเหตุที่ให้ใช้ต่อ เพราะหากยกเลิกการใช้จะทำให้ไทยนำเข้าผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น ถั่วเหลืองไม่ได้ และจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมหลายอย่าง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอาหารสัตว์
ถามถึงการหาสารเคมีทดแทนสารเคมีทั้ง 2 ชนิด ประธาน คกก.วัตถุอันตรายกล่าวว่า ที่ประชุมได้ให้กรมวิชาการเกษตรและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ไปเร่งหามา แล้วให้นำมาเสนอต่อที่ประชุมในอีก 4 เดือนข้างหน้า เช่นเดียวกับการหามาตรการลดผลกระทบต่างๆ ที่จะเกิดกับทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง
นายประกอบ วิวิธจินดา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม อธิบายเพิ่มว่า ขณะนี้ห้ามนำสารพาราควอตและคลอร์ไพริฟอสเข้าประเทศแล้ว แต่ยังสามารถขายและใช้ได้ต่อไปจนถึงวันที่ 1 มิ.ย.2563 ส่วนไกลโฟเซตที่ให้ใช้ได้ต่อตามปกติ
"จากข้อมูลทางวิชาการยังไม่พบว่าจะส่งผลเสียต่อสุขภาพประชาชนและเกษตรกร ทั้งสหรัฐเองก็ไม่ได้ห้ามการใช้สารชนิดนี้ โดยปัจจุบันไทยมีสต๊อกของสารเคมีทั้ง 3 รวมกันอยู่ประมาณ 23,000 ตัน สำหรับสารไกลโฟเซต เป็นสารเคมีที่สหรัฐทำหนังสือให้รัฐบาลไทยทบทวนการยกเลิก" อธิบดีกรมโรงงานฯ กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังจากผลการประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย ยกเลิกการแบน สารไกลโฟเซต และขยายเวลาการยกเลิกการใช้สารพาราควอต และคลอร์ไพริฟอสไปอีก 6 เดือนนั้น กลุ่มงานสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ได้แจ้งหมายการประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 4/2562 ในวันศุกร์ที่ 29 พ.ย.2562 เวลา 09.30-11.00 น. ณ ห้องประชุมวีนัส ชั้น 3 โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น เขตหลักสี่ กทม. มีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข ในฐานะประธานกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เป็นประธานการประชุม
"แม้วาระการประชุมจะมีเรื่องความคืบหน้าการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 12 พ.ศ.2562 การทบทวนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ทำให้สังคมไทยไร้แร่ใยหิน วิถีเพศภาวะ: เสริมพลังสุขภาวะครอบครัว และ 4รวมพลังชุมชนต้านมะเร็ง แต่เชื่อว่าหลังการประชุมแล้วนายอนุทิน น่าจะมีการแถลงท่าทีกรณี คกก.วัตถุอันตราย ที่ยกเลิกการแบนสารพิษดังกล่าว" แหล่งข่าวกล่าว
'อนุทิน'ผิดหวังมติ คกก.
มีรายงานว่า หลังมติ คกก.วัตถุอันตรายออกมา น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช.เกษตรและสหกรณ์ ไม่พอใจกรมวิชาการเกษตรที่แอบทำหนังสือขอขยายระยะเวลา 3 กรณี หลังจากมติแบน 3 สารเคมีเกษตร โดยแบ่งเป็น 1.ขยายระยะเวลา 1 เดือน 2.ขยายระเวลา 3 เดือน 3.ขยายระยะเวลา 6 เดือน โดยไม่แจ้งให้ทราบ มาแอบเห็นเอกสารในภายหลังจากที่ส่งเข้าคณะกรรมการวัตถุอันตรายแล้ว
“รองนายกฯ อนุทินและ รมช.มนัญญามีความไม่พอใจอย่างมากที่กรมวิชาการเกษตร ทั้งที่เป็นหน่วยงานในการดูแลของ รมช.เกษตรฯ กลับไม่เสนอเอกสารมาให้ตรวจก่อนที่นำเข้าในการประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย ซึ่งเอกสารดังกล่าวลงนามโดยนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรฯ และปลัดกระทรวงเกษตรฯ นำส่งเข้าที่ประชุมทันที" แหล่งข่าวระบุ
มีรายงานด้วยว่า นายอนุทินได้เรียก น.ส.มนัญญาไปที่รัฐสภา เพื่อประชุมพรรค แสดงจุดยืนของพรรคภูมิใจไทย และรอมติของคณะกรรมการวัตถุอันตราย อีกทั้งนายอนุทินไม่พอใจอย่างมากและคาดว่าประเด็นนี้จะเป็นรอยร้าวในพรรคร่วมรัฐบาล
ขณะที่นายอนุทินกล่าวว่า ทราบจากตัวแทนของกระทรวงสาธารณสุข คือ นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ที่ร่วมประชุม คกก.วัตถุอันตรายว่า ในส่วนกระทรวงสาธารณสุขยืนยันต่อที่ประชุมให้มีการแบนสารเคมีในภาคเกษตร ในวันที่ 1 ธ.ค. ตามมติเดิมของคณะกรรมการฯ
"เสียงข้างมากในที่ประชุมวันนี้ ก็ให้การแบนพาราควอตและคลอไพริฟอสออกไปอีก 6 เดือน ส่วนไกลโฟเซต ให้กลับไปใช้มติเก่าคือการจำกัดการใช้ แล้วกระทรวงสาธารณสุขจะไปทำอะไรได้ ต้องก้มหน้าก้มตารักษาคนไข้ต่อไป" นายอนุทินกล่าว
ถามว่ามีกระแสข่าวเรื่องนี้มีผลต่อการร่วมรัฐบาล นายอนุทิน กล่าวว่า เป็นคนละเรื่องกัน เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องการเมือง แต่เป็นการพิจารณาของกรรมการแต่ละคนที่มีความเป็นอิสระ ซึ่งท่าทีของกระทรวงสาธารณสุขเห็นว่าอะไรที่มีปัญหากับสุขภาพประชาชนจะเห็นด้วยไม่ได้ และก็ยืนยันให้มีการแบน
รองนายกฯ และ รมว.สธ.กล่าวว่า คงต้องรอฟังก่อน เพราะกรรมการวัตถุอันตรายชุดนี้มีระดับ รมว.อุตสาหกรรมเป็นประธาน ก็ต้องฟังที่ท่านแถลง จากนี้ไปเป็นเรื่องที่ทางคณะกรรมการเป็นผู้บริหารจัดการประเด็นเหล่านี้ต่อไป กระทรวงสาธารณสุขสุดซอยแล้ว นางมนัญญาก็สุดซอยแล้ว ทำเต็มที่เพื่อปกป้องสุขภาพ และรักษาชีวิตพี่น้องประชาชนแล้ว เมื่อมีมติออกมาแล้ว ฝ่ายปกป้องชีวิตประชาชนเป็นเสียงข้างน้อยจะให้ทำอะไร ก็ต้องทำตามกฎหมาย เพราะมตินี้ออกโดยคณะกรรมการฯ ถ้าออกโดยรัฐมนตรีค่อยเป็นประเด็นทางการเมือง
"ส่วนตัวผิดหวัง แล้วจะอย่างไร หากมีกฎหมายที่ รมว.สาธารณสุขสามารถหักล้างมติคณะกรรมการวัตถุอันตรายได้ และสามารถสั่งการได้เอง ผมจะเซ็นเดี๋ยวนี้เลย แต่นี่ทำไม่ได้ อย่างไรก็ตาม เรื่องการแบนสารพิษนั้นไม่ใช่นโยบายของรัฐบาล เราต้องยอมรับว่าเรื่องนี้มีคณะกรรมการฯ ที่ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิ จากภาคส่วนต่างๆ เมื่อออกมติออกมาอย่างไรก็ต้องยอมรับ ถ้าไม่ยอมรับเท่ากับเราไม่เคารพกฎหมาย อีกหน่อยถ้าเราออกอะไรบ้างเขาไม่ยอมรับบ้างก็จะไม่จบ ดังนั้นเรื่องนี้ก็ต้องยอมรับไป กระทรวงสาธารณสุขก็ต้องกลับมาทำหน้าที่ของตัวเอง ถ้ามีปัญหาก็ขอให้ทุกคนโชคดี ส่วนกระทรวงสาธารณสุขก็ยินดีรับรักษา" รองนายกฯและ รมว.สธ.กล่าว
ซักว่า เรื่องนี้จะเป็นรูเล็กๆ บนเรือเหล็กที่อาจจะเป็นเหตุให้เรือล่ม นายอนุทินกล่าวว่า ไม่มี ตนเป็นช่างอ๊อก จบวิศวกรรมโลหะ
ฉุนกรมวิชาการเกษตร
เมื่อถามต่อว่า ดูเหมือนว่าพรรคภูมิใจไทยมีการขับเคลื่อนให้มีการแบนสารเคมีภาคเกษตร แต่พรรคประชาธิปัตย์กลับเป็นอีกแนวทางหนึ่ง นายอนุทินกล่าวว่า ไม่เป็นไร เพราะแต่ละคนมีภารกิจต่างกัน อุตสาหกรรมก็มีมุมมองทางด้านอุตสาหกรรม เกษตรก็มีมุมมองทางด้านเกษตร ส่วนสาธารณสุขก็มีมุมมองทางด้านสาธารณสุข สมมติว่าไม่มีกรรมการชุดนี้ก็แพ้อยู่ดี เพราะ 2 ต่อ 1 แต่เราต้องไม่แพ้แบบนักเลง เราต้องยอมรับว่าในเมื่อ 3 คนต้องมาให้ความเห็นร่วมกัน อย่างที่บอกว่าหากอยากให้มาเอาตามเราต้องไปขอกฎหมายที่เราสามารถทำได้ หากตนสามารถทำได้ด้วยตัวเองก็ทำอยู่แล้ว แต่นี่ทำไม่ได้ จึงต้องพยายามให้เกิดการมีส่วนร่วมเพื่อให้เกิดความเสียหายน้อยที่สุดกับประชาชน กับเกษตรที่ใช้สารเคมีเหล่านี้
ด้าน น.ส.มนัญญายืนยันว่า การประชุมวันนี้ไม่ได้มีการโหวต ยังเป็นมติเดิมของวันที่ 22 ต.ค. เพราะการประชุมครั้งนี้ไม่มีการสอบถาม ไม่มีการลงมติเปลี่ยนแปลงผลการประชุม จึงอยากถามว่าเขามาจากประชาธิปไตยหรือไม่ ซึ่งขณะนี้ไม่ใช่เผด็จการ ส่วนตนจะเดินหน้าอย่างไร ก็ขอให้ไปถามคณะกรรมการฯ ที่เข้าร่วมประชุมทั้งหมด ถ้าจะเดินหน้าต่อไป สุดท้ายก็ต้องขึ้นอยู่ที่ประชาชน ว่าจะทำอย่างไรกับเรื่องนี้
ถามถึงการคืนกรมวิชาการเกษตรหรือไม่ น.ส.มนัญญากล่าวว่า ถ้าอยากจะเอากรมที่เราชอบ ขอเป็นกรมชลประทาน และเอาวิชาการเกษตรคืนไป เพราะเรากำกับดูแลไม่ได้ และคนที่คิดว่ากำกับและสั่งการได้ก็เอาไปดูแลเลย เพราะผู้มีอำนาจเบ็ดเสร็จอยู่ในกระทรวงเกษตรฯ อยู่แล้ว เพราะตอนนี้กรมชลฯ ถูกทอดทิ้งชาวนาไม่มีน้ำใช้
ส่วนนายชาดา ไทยเศรษฐ์ ส.ส.อุทัยธานี พรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า ขณะนี้เป็นอำนาจหน้าที่ของ รมว.อุตสาหกรรม ซึ่งจะต้องรับผิดชอบต่อสังคม หากเกิดอะไรขึ้นต่อประเทศนี้ในเรื่องของสารพิษ และต้องบอกให้ได้ว่ามีเหตุผลอะไรจึงมีมติยกเลิกแบบนี้ออกมา จะต้องบอกให้ชัดเจนว่าเป็นการลงมติหรือการแถลง ซึ่งตามขั้นตอนแล้วจะต้องยกเลิกมติเดิมก่อน แล้วจึงจะมีการประชุมเพื่อขอมติ
"จากที่เราทราบมายังไม่ได้มีการลงมติเลย แต่มีการออกมาแถลงรวมๆ ถามว่าถูกต้องหรือไม่ แล้วมาอ้างว่ากรมวิชาการเกษตรไม่ทำอะไรเลย ซึ่งผมมองว่าหากไม่ทำอะไรเลยก็ไม่น่าอยู่แล้วกรมวิชาการเกษตร เพราะในช่วงเวลา 1 เดือน ไม่ได้ทำอะไรเลย ไม่มีแผน ไม่มีการทำอะไรเลย ซึ่งเป็นเรื่องที่กรมวิชาการเกษตรขาดไม่ได้เลยกับสารนี้ น่าจะเอาไปกินที่บ้าน" นายชาดากล่าว
ถามว่าได้มีการพูดคุยกับ น.ส.มนัญญาเรื่องใดบ้าง นายชาดา กล่าวว่า ก็คุยกันตามประสาพี่น้อง ว่าวันนี้เราทำหน้าที่และพยายามเต็มที่แล้ว แล้วเราจะคืนกรมวิชาการเกษตรให้กับรัฐมนตรีว่าการไปดูแลเอง เราขอเปลี่ยนกรมใหม่ เพราะหากอยู่ในสภาพแบบนี้เรารับไม่ได้ ส่วนกรมวิชาการเกษตรจะเอาไปให้ใครดูแลก็แล้วแต่ รมว.เกษตรฯ อย่างไรก็ตาม เท่าที่คุยกับ น.ส.มนัญญาก็ไม่แฮปปี้ ใครจะไปพอใจทุกคนก็ไม่แฮปปี้อยู่แล้ว แต่มันก็สุดทางเราแล้ว
"จะลาออกทำไม เราไม่ได้ทำอะไรผิด ไม่จำเป็นต้องลาออก เพราะคนที่จะต้องลาออกน่าจะเป็นคนที่ทำไม่ถูกต้อง วันนี้ตนคิดว่าประชาชนต้องออกมาดีกว่า หรือว่าจะให้จุดเทียนหน้าบ้าน ถ้าประชาชนจุดเทียนหน้าบ้านทุกหลังว่าไม่เอาสารพิษ รัฐมนตรีที่เอาสารพิษก็จบทุกอย่าง และต้องพิจารณาตัวเอง" นายชาดาตอบข้อถามที่ว่ามีความจำเป็นที่ น.ส.มนัญญาต้องลาออกหรือไม่.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |