สุภาษิตบทหนึ่งที่นักการเมืองและบุคคลสาธารณะควรจะทำความเข้าใจให้ลุ่มลึกเพื่อถือเป็นหลักปฏิบัติประจำตัว คือ
"พูดจาสุภาพไม่ใช่ความอ่อนแอ
พูดจาก้าวร้าวไม่ใช่ความแข็งแกร่ง"
ใครที่ติดตามข่าวคราวการเมืองทุกวันนี้ คงจะเห็นแนวโน้มของคนที่ต้องการจะแสดงความเหนือชั้นกว่าคนอื่นด้วยการใช้ถ้อยคำที่ดุดัน รุนแรง และก้าวร้าว
บางคนเชื่อว่าคนที่ตะโกนใส่คนอื่น ส่งเสียงดัง ใช้ถ้อยคำร้อนแรง ประชดประชัน เสียดสี เป็นคนเก่งกว่าเหนือกว่าอีกคนหนึ่ง
ความจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่
เพราะการสนทนาระหว่างผู้มีอารยะนั้นไม่จำเป็นต้องส่งเสียงดังและแรงใส่กัน หากแต่ต้องเป็นการแลกเปลี่ยนด้วยความเคารพในความเห็นของอีกฝ่ายหนึ่ง
ยิ่งเขาไม่เห็นด้วยกับเรา ยิ่งมีความจำเป็นที่เราต้องฟังอย่างตั้งใจ
เพราะหากเราฟังคนอื่นอย่างตั้งใจ เขาก็จะฟังเราด้วยความเคารพในความเห็นต่างนั้นเช่นกัน
แต่ในแวดวงการเมืองวันนี้ เรากลับได้ยินเสียงตะโกนโหวกเหวกที่เรียกว่า noise มากกว่าจะได้ฟังเหตุผลและการเสวนากันอย่างมีเหตุมีผล รับฟังกันและกันเพื่อทำความเข้าใจว่าทำไมอีกฝ่ายหนึ่งจึงเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับเรา
ความแตกต่างระหว่าง noise กับ voice อยู่ตรงนี้
ปัญหานี้สะท้อนได้ชัดมากจากการส่งเสียงด่าทอกันระหว่างสมาชิกของกรรมาธิการในสภาผู้แทนราษฎรบางชุด
พรรคการเมืองฝ่ายค้านกับรัฐบาลใช้กรรมาธิการเป็นสนามการประลองกำลังทางการเมืองมากกว่าที่จะทำหน้าที่ให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชน
ความวุ่นวายในคณะกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบของสภาผู้แทนราษฎรที่ผ่านมา เป็นตัวอย่างของการใช้ noise ทะเลาะกัน มิได้ใช้ voice เพื่อทำงานให้ประชาชนผู้เลือกท่านเหล่านั้นเข้ามาเพื่อส่งเสียงให้เกิดผลงานที่ประชาชนกำลังรออยู่
นักการเมืองบางคนอาจจะมีความภูมิใจที่ได้ชื่อว่าเป็น "ตัวจี๊ด" ที่มีบทบาท "ก่อกวน" ไม่ให้กรรมาธิการทำหน้าที่ตัวเองได้ เพียงเพราะกรรมาธิการที่มาจากอีกซีกหนึ่งกำลังจะทำสิ่งที่ตนไม่ชอบไม่เห็นด้วย
ขณะเดียวกัน นักการเมืองที่มีหน้าที่ดำเนินการให้คณะกรรมาธิการทำงานตามเป้าหมายที่วางเอาไว้ ก็กลายเป็น "คู่กรณี" มากกว่าจะเป็นผู้ประสานงานให้ทั้งคณะทำงานที่มีสาระอันเป็นที่คาดหวังของสาธารณชน
หากนักการเมืองบางคนรุ่นนี้ยังประพฤติตนเช่นนี้ ศรัทธาของประชาชนต่อระบอบรัฐสภาภายใต้กระบวนการประชาธิปไตยจะเริ่มเสื่อมถอย
และคนที่ไม่หวังดีต่อระบอบประชาธิปไตยจะอ้างได้ว่า คุณภาพของนักการเมืองบ้านเรายังไม่ได้มาตรฐาน มุ่งแต่จะสร้างคะแนนนิยมให้ตนเอง ตั้งหน้าตั้งตาเอาชนะคะคานกันด้วยวาทกรรมมากกว่าผลงานที่เป็นรูปธรรม
นักการเมืองรุ่นนี้จำนวนไม่น้อยได้แสดงความรู้ความสามารถ อภิปรายอย่างมีเนื้อหาสาระจากการทำการบ้านมาอย่างดี มีแนววิเคราะห์และข้อเสนอทางแก้ปัญหาของชาติบ้านเมืองที่เป็นเรื่องเป็นราว
จะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับความเห็นที่นำเสนอในสภา ไม่สำคัญเท่ากับการเปิดกว้างให้มีการนำเสนอทางออกให้บ้านเมืองโดยไม่ใช้ "ลูกเล่น" หรือ "ลูกล่อลูกชน" ทางการเมืองแบบเก่าๆ ที่รังแต่จะสร้างความน่ารำคาญและเบื่อหน่ายให้ประชาชนมากขึ้น
ถ้อยคำปะทะกันระหว่างนักการเมืองในสภาที่มุ่งแต่จะเป็นพาดหัวของข่าวนั้นอาจจะสร้าง rating หรือความสะใจให้คนที่ติดตามข่าวการเมืองด้วยความรู้สึกชอบและไม่ชอบบางกลุ่ม แต่ในท้ายที่สุดมาตรฐานการเมืองของเราจะถูกวัดด้วยผลงานและการทำหน้าที่อย่างรับผิดชอบของนักการเมือง
นักการเมืองที่มีผลงานไม่ใช่คนที่สามารถสร้างความขัดแย้ง แต่คือคนที่มีทักษะและศิลปะในการน้าวโน้มชักชวนให้คนที่เห็นต่างมาร่วมกันทำงาน เพื่อแสวงหาทางออกที่ประชาชนได้ประโยชน์อย่างแท้จริง
การส่งเสียงดังกว่า แรงกว่า ไม่ได้หมายถึงการมีเนื้อหาของการทำหน้าที่อย่างน่าชื่นชม
วาทะไม่ใช่ประเด็นตัดสิน
สาระและผลงานที่สร้างความเปลี่ยนแปลงต่างหากที่กำหนดว่าใครคือ "ผู้แทนของปวงชน" อย่างแท้จริง.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |