นายสกลธี ภัททิยกุล รองผู้ว่า กทม. (นั่งที่ 4 จากซ้าย)
ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร/ กทม.จับมือ พอช. และภาคีเครือข่ายแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยคนจนในกรุงเทพฯ ให้มีความมั่นคง มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นภายในปี 2565 โดยใช้วิธีการแก้ไขปัญหาทั้งเมือง/เขต เริ่มนำร่องที่เขตยานนาวา ก่อนขยายไป 14 เขต รวม 194 ชุมชน 36,815 ครัวเรือน
ตามที่รัฐบาลให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำ และพัฒนาที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อยให้มีที่อยู่อาศัยที่มั่นคงตามแผนแม่บทการพัฒนาที่อยู่อาศัยระยะ 20 ปี (พ.ศ.2560-2579) โดยสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ รับผิดชอบดำเนินงานพัฒนาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อยทั่วประเทศประมาณ 1,050,000 ครัวเรือน โดยมีวิสัยทัศน์ คือ “คนไทยทุกคนมีที่อยู่อาศัยถ้วนทั่ว และมีคุณภาพชีวิตที่ดีภายในปี 2579”
ล่าสุดวันนี้ (27 พ.ย.) ที่ห้องประชุมรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร มีการจัดกิจกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาที่อยู่อาศัยในพื้นที่กรุงเทพมหานคร “คนจน กทม. มีที่อยู่อาศัยที่ดีและมั่นคงถ้วนหน้าปี 2565” โดยมีนายสกลธี ภัททิยกุล รองผู้ว่า กทม.เป็นประธานในพิธี มีผู้บริหารสำนักงานเขต ผู้แทนหน่วยงานต่างๆ ผู้บริหารสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) สถาบันการศึกษา และผู้แทนชุมชนต่างๆ ในเขตกรุงเทพฯ เข้าร่วมงานประมาณ 500 คน ภายในงานมีการจัดนิทรรศการแสดงผลงานแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัย และการเสวนา
รองผู้ว่า กทม.ชมนิทรรศการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัย
นายสกลธี ภัททิยกุล รองผู้ว่า กทม. กล่าวว่า นโยบายการแก้ไขปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อยถือเป็นเรื่องใหม่ของกรุงเทพมหานคร โดย กทม.ได้รับนโยบายจากรัฐบาลในช่วงปลายปี 2561 เพื่อให้ประชาชนมีที่อยู่อาศัยครบถ้วนทุกคนภายในปี 2579 ซึ่งขณะนี้ กทม.ได้เริ่มดำเนินไปแล้ว โดยตั้งคณะกรรมการเพื่อแก้ไขกฎระเบียบหลายอย่างเพื่อให้เอื้อต่อการแก้ไขปัญหา เช่น การรับจดทะเบียนชุมชน จากเดิมต้องมีจำนวน 100 หลังคาเรือนขึ้นไป แต่ระเบียบใหม่ไม่ต้องถึง 100 หลังคาเรือนก็สามารถจดทะเบียนเป็นชุมชนได้ เพื่อจะได้รับสิทธิประโยชน์ต่างๆ จาก กทม. คาดว่าภายในต้นปี 2563 สามารถใช้ระเบียบใหม่นี้ได้ นอกจากนี้สำนักการโยธาฯ กทม.ได้ออกแบบบ้านราคาไม่เกินหลังละ 150,000 บาทเพื่อให้ประชาชนได้นำไปใช้สร้างบ้าน
รองผู้ว่า กทม.กล่าวด้วยว่า กรุงเทพมหานครจะร่วมมือกับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ และภาคีเครือข่าย เพื่อร่วมกันพัฒนาที่อยู่อาศัยของคนจนใน กทม.ให้มีที่อยู่อาศัยและมีคุณภาพชีวิตที่ดีและมั่นคงถ้วนหน้าภายในปี 2565 โดยจะเริ่มนำร่องในพื้นที่ 14 เขต คือ เขตคลองเตย คันนายาว จตุจักร ดอนเมือง ดุสิต บางกะปิ บางซื่อ ประเวศ ยานนาวา วัฒนา วังทองหลาง คลองสามวา บางบอน และเขตราชเทวี โดยคาดว่าจะมีประชาชนนับแสนครัวเรือนที่ยังไม่มีความมั่นคงในการอยู่อาศัย ไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเอง กทม.จึงพยายามแก้ไขปัญหานี้ เพื่อให้พี่น้องประชาชนในกรุงเทพฯ ได้รับสิทธิและเป็นพลเมืองเต็มขั้น และจะดำเนินการต่อไปให้ครบทั้ง 50 เขตเพื่อให้บรรลุเป้าหมายภายในปี 2579
นายสมชาติ ภาระสุวรรรณ ผอ.พอช. (ที่ 4 จากซ้าย)
นายสมชาติ ภาระสุวรรณ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาความไม่มั่นคงในที่อยู่อาศัยเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง หากแก้ไขเพียงหน่วยงานใดเพียงหน่วยงานเดียวคงจะสำเร็จได้ยาก โดยจะต้องมีภาคีเครือข่ายมาร่วมมือกัน โดยเฉพาะเครือข่ายชุมชน เพราะเป็นคนในพื้นที่จึงรู้ปัญหาดีกว่า และรู้ว่าจะแก้จากจุดไหนไปจุดไหน และจะต้องร่วมกันแก้ไขปัญหาทั้งเมือง ไม่ใช่ทำเป็นจุด หรือทำเป็นโครงการ เช่น เครือข่ายเมืองยานนาวา ที่มาร่วมกันแก้ไขปัญหาทั้งเมือง โดยฝ่ายนโยบายต้องให้การสนับสนุน และบูรณาการการทำงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดย พอช.จะมีบทบาทเป็นสะพานในการเชื่อมโยงระหว่างชุมชนและหน่วยงานต่างๆ เพื่อให้ประชาชนมีที่อยู่อาศัยที่มั่นคง
นางสาวสมสุข บุญญะบัญชา ประธานคณะอนุกรรมการบ้านมั่นคง สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ กล่าวว่า พอช.เริ่มทำบ้านมั่นคงตั้งแต่ปี 2546 ปัจจุบันเป็นเวลา 15 ปี พอช.ทำเรื่องบ้านมั่นคงได้ 50 ชุมชน รวมประมาณ 10,000 ครัวเรือน ซึ่งถือว่าทำได้เพียง 10 % แต่หลังจากนี้จะทำได้เร็วขึ้น เพราะมีหลายหน่วยงานมาร่วมกัน โดยเฉพาะกรุงเทพมหานคร และจะทำเป็นเขต ไม่ใช่ทำเป็นจุด เริ่มนำร่อง 14 เขต โดยจะชวนเขตที่อยู่ข้างเคียงมาเรียนรู้เพื่อแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยและความยากจนไปด้วย
“กระบวนการบ้านมั่นคง เป็นการสร้างความรู้ และเป็นองค์รวม ไม่ใช่จะทำเฉพาะเรื่องที่อยู่อาศัย แต่จะทำทุกมิติ ทั้งเรื่องการพัฒนาอาชีพ การสร้างรายได้ เรื่องสิ่งแวดล้อม และเชื่อมโยงหน่วยงานต่างๆ มาทำงานร่วมกัน เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาในทุกมิติ” นางสาวสมสุขกล่าว
นางสำลี ศรีระพุก ผู้แทนชุมชนเขตยานนาวา กล่าวถึงรูปธรรมการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยในเขตยานนาวาว่า ในเขตยานนาวามีชุมชนแออัด 17 ชุมชน อาศัยอยู่ในที่ดินต่างๆ เช่น การรถไฟ ที่ดินราชพัสดุ ที่ดินเอกชน และที่ดินวัด มีปัญหาความไม่มั่นคง เพราะที่ดินมีราคาแพง ตารางวาละประมาณ 2 แสนบาท เจ้าของที่ดินต้องการนำที่ดินไปขายหรือพัฒนาโครงการ ชุมชนจึงถูกไล่รื้อ ไม่ต่อสัญญาเช่า ชาวชุมชนต่างๆ จึงรวมตัวกันเป็นเครือข่ายเพื่อแก้ไขปัญหาร่วมกัน มีการแต่งตั้ง ‘คณะกรรมการเมือง’ ขึ้นมา โดยมีหลายหน่วยงานมาร่วมกัน มีผู้อำนวยการเขตยานนาวาเป็นประธานฯ เพื่อเป็นกลไกในการขับเคลื่อนและแก้ไขปัญหา ขณะนี้ดำเนินการแล้ว 2 ชุมชน คือ ชุมชนเชื้อเพลิง 2 จำนวน 149 ครัวเรือน และชุมชนเย็นอากาศ 2 จำนวน 262 ครัวเรือน
“ชุมชนที่จะเข้าร่วมโครงการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยจะต้องรวมตัวกัน มีการจัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมา เพื่อสำรวจข้อมูลปัญหา รวมกลุ่มกันออมทรัพย์เพื่อเป็นทุนในการสร้างบ้าน หลังจากนั้นจึงทำเรื่องขอเช่าที่ดินอย่างถูกต้องกับกรมธนารักษ์หรือเจ้าของที่ดิน โดยจัดตั้งเป็นสหกรณ์เคหสถานขึ้นมา เพื่อร่วมกันบริหารโครงการ โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนการพัฒนาชุมชนและสินเชื่อจาก พอช. เพื่อสร้างบ้าน สร้างชุมชนใหม่ ทำให้คนจนสามารถอยู่อาศัยในเมืองได้” นางสำลีกล่าวถึงกระบวนการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยในเขตยานนาวา
รองผู้ว่าฯ มอบงบสนับสนุนการพัฒนาที่อยู่อาศัย
ทั้งนี้นายสกลธี ภัททิยกุล รองผู้ว่า กทม. ได้มอบงบสนับสนุนจาก พอช.ให้แก่ผู้แทนเครือข่ายเมืองยานนาวาจำนวน 50,000 บาท มอบงบสนับสนุนการพัฒนาที่อยู่อาศัยให้แก่ชุมชนเชื้อเพลิง 2 ร่วมใจ (149 ครัวเรือน) จำนวน 8.4 ล้านบาทเศษ และชุมชนเย็นอากาศ 2 (262 ครัวเรือน) จำนวน 20 ล้านบาทเศษ และนอกจากการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยในเขตยานนาวาแล้ว กรุงเทพมหานครจะร่วมมือกับ พอช. และภาคีเครือข่ายต่างๆ ขยายการทำงานไปอีก 14 เขต เพื่อเป็นโครงการนำร่อง โดยมีแผนงานเบื้องต้นจำนวน 10 เขต จำนวน 194 ชุมชน รวม 36,815 ครัวเรือน มีเป้าหมายให้ประชาชนที่มีรายได้น้อยในกรุงเทพฯ มีที่อยู่อาศัยที่มั่นคงและมีคุณภาพชีวิตที่ดีภายในปี 2565
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |