ม็อบบีบรัฐเลิกมติแบน3สารพิษ


เพิ่มเพื่อน    

 "ม็อบชุดดำ" ต้านแบน 3 สารเคมีมาตามนัด บุกจี้ "บิ๊กตู่" ยุติการแบน อ้าง รธน.มาตรา 73 เปิดช่องให้อำนาจเกษตรกรมีสิทธิ์เลือก ตะเพิด "มนัญญา" พ้นเก้าอี้ เซ่นสร้างความเดือดร้อน "กลุ่มหนุน" ไป สธ. เดินหน้ายกเลิกใช้ 3 สารพิษต่อ "บิ๊กป๊อก" ขอ 2 ฝ่ายคุยกันหาทางออก "อนุทิน" ย้ำถ้าอันตรายต่อสุขภาพผ่อนผันไม่ได้ "รมช.เกษตรฯ" ขอรอฟังมติ คกก.วัตถุอันตรายหารือ 27 พ.ย.นี้ ลั่นหากล้างมติเดิมต้องมีเหตุผลมากกว่าแบน

    ตั้งแต่ช่วงเช้าวันที่ 26 พ.ย. กลุ่มคัดค้านการแบน 3 สารเคมีอันตราย ประมาณ 2,000 คน ซึ่งนัดหมายสวมใส่เสื้อผ้าสีดำ ประกอบด้วย กลุ่มเกษตรกรปลอดภัย นำโดยนายสุกรรณ์ สังข์วรรณะ เลขาธิการสมาพันธ์เกษตรกรปลอดภัย, กลุ่มเครือข่ายคนรักแม่กลอง นำโดย น.ส.อัญชุลี ลักษณ์อำนวยพร, กลุ่มเครือข่ายเกษตรกรและแนวร่วมผู้ได้รับผลกระทบจากการเเบน 3 สารเคมีเกษตร นำโดยนายชัยภัฏ จันทร์วิไล ประธานเครือข่าย และกลุ่ม 3 สมาคม นำโดย ดร.วีระวุฒิ กตัญญูกุล ประธานสมาคมไทยธุรกิจเกษตร, ดร.เสาวลักษณ์ พรกุลวัฒน์ ประธานสมาคมอารักขาพืชไทย และ ดร.วรณิกา นาควัชระ บีดิงเฮ้าส์ ประธานสมาคมการค้านวัตกรรมเพื่อการเกษตรไทย รวมทั้งเกษตรกร รวมตัวกันที่หน้ากระทรวงศึกษาธิการ จากนั้นเดินเท้าไปยังบริเวณประตู 4 ทำเนียบรัฐบาล เพื่อยื่นหนังสือคัดค้านการแบน 3 สารเคมี ถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เพื่อให้ทบทวนมติการแบนสารเคมีดังกล่าว มีนายสมพาศ นิลพันธ์ ที่ปรึกษาสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ออกมารับหนังสือร้องเรียน
    กลุ่มคัดค้านการแบน 3 สารเคมีอันตราย ได้ออกแถลงการณ์ร่วมคัดค้านการยกเลิกการใช้พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต ในภาคการเกษตร เพื่อเป็นการป้องกันและแก้ไขผลกระทบต่อเกษตรกรและเศรษฐกิจของประเทศ และจนถึงขณะนี้คณะกรรมการวัตถุอันตรายยังมิได้มีมาตรการรองรับผลกระทบจากการยกเลิกต่อเกษตรกร อุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร ตลอดจนผู้บริโภคที่จะได้รับผลกระทบ นอกจากนี้ การยกเลิกการใช้สารทั้ง 3 ชนิดอย่างเร่งรีบและไม่มีมาตรการรองรับ เป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญปี พ.ศ.2560 มาตรา 73 เนื่องจากการยกเลิกส่งผลกระทบทำให้เกษตรกรจำนวนมากกว่า 2 ล้านครัวเรือนไม่สามารถแข่งขันในตลาดได้
    "ฉะนั้นทางกลุ่มจึงขอให้รัฐบาลดำเนินการยุติการยกเลิกศาลทั้งสามชนิดจนกว่าจะมีผลการศึกษาทบทวนข้อมูลหลักฐานทางวิทยาศาสตร์และผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างถี่ถ้วน รอบคอบและเปิดเผยให้ประชาชนรับทราบผลการศึกษาอย่างชัดเจน และให้บังคับใช้มาตรการจำกัดการใช้ตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในระหว่างมีการศึกษาทบทวน เพื่อส่งเสริมการใช้สารเคมีเกษตรอย่างถูกต้องและปลอดภัยภายใต้แนวทางของเกษตรกรปลอดภัย" ท้ายแถลงการณ์ระบุ
    น.ส.อัญชุลี หนึ่งในแกนนำ กล่าวว่า ขอเรียกร้องไปยัง พล.อ.ประยุทธ์  5 ข้อ คือ 1.เกษตรกรขอใช้สิทธิ์ตามรัฐธรรมนูญปี 2560 ในมาตรา 43 (3) ประกอบมาตรา 77 ทวงสิทธิ์ผลการรับฟังความคิดเห็นว่าเสียงส่วนใหญ่คัดค้านการแบน 3 สาร 2.ขอให้ตระหนักถึงผลกระทบของเกษตรกรที่ได้รับความเดือดร้อน โดยในมติหรือการให้ความเห็นของคณะกรรมการ การให้ความเห็นชอบของรัฐมนตรีผู้รักษาการตามกฎหมายอื่น และการออกประกาศของ รมว.อุตสาหกรรม หรือรัฐมนตรีผู้รับผิดชอบ ให้คำนึงถึงสนธิสัญญาและข้อผูกพันระหว่างประเทศอื่นประกอบด้วย 3.ขอเรียกร้องให้ น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช.เกษตรและสหกรณ์ หยุดปฏิบัติหน้าที่ เพื่อแสดงความรับผิดชอบที่สร้างความเดือดร้อนอย่างร้ายแรงให้แก่เกษตรกรทั้งประเทศจนนำมาสู่การชุมนุมคัดค้านในวันนี้
    4.ขอเรียกร้องให้นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข ตลอดจนข้าราชการในกระทรวงสาธารณสุข และผู้อำนวยการศูนย์พัฒนานโยบายด้านสารเคมีแห่งชาติ ซึ่งเป็นกลุ่มบุคคลที่เสนอการแบนสารเคมีทางเกษตรทั้ง 3 ชนิด ให้นำข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะใบรายงานการตรวจสอบที่ยืนยันว่า ตรวจสารตกค้างของสารทั้ง 3 ชนิด ออกมายืนยัน 5.ขอเรียกร้องให้นักวิชาการแสดงความรับผิดชอบและยืนยันว่างานวิชาการที่ตนวิจัยนั้นมีความถูกต้องตามหลักวิชาการจริง
    จากนั้นเวลา 11.00 น. ทางกลุ่มเดินเท้าต่อไปที่กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อยื่นหนังสือกับทางรัฐมนตรี เพื่อคัดค้านการแบน 3 สารเคมีอันตรายดังกล่าวเช่นเดียวกัน นอกจากนี้ ในวันที่ 27 พ.ย. จะเดินทางไปยื่นหนังสือต่อ รมว.สาธารณสุขด้วย
    อย่างไรก็ตาม ในวันเดียวกัน ที่กระทรวงสาธารณสุข นายสุรนาถ แป้นประเสริฐ ผู้ประสานงานเครือข่ายเยาวชนลดปัจจัยเสี่ยง (Active youth) พร้อมด้วยแกนนำเยาวชนหลายเครือข่าย อาทิ เครือข่ายเยาวชนปกป้องสิทธิ, เครือข่ายเยาวชนจิตอาสา,  เครือข่ายเยาวชนนักขับเคลื่อนสังคม, เครือข่ายนักกฎหมายเพื่อเด็กและเยาวชน ฯลฯ กว่า 40 คน ยื่นหนังสือถึงนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข ผ่านทางนายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เพื่อแสดงจุดยืนสนับสนุน สธ.และรัฐบาล เดินหน้าแบน 3 สารพิษอันตราย เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้ลูกหลานไทย
    ขณะที่ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย กล่าวถึงการเคลื่อนไหวของกลุ่มค้านแบน 3 สารพิษ และกลุ่มสนับสนุนแบน 3 สารพิษว่า เมื่อความเห็นเป็นสองฝ่าย ต้องหาทางออกที่เหมาะสม โดยหารือร่วมกัน การแสดงออกทุกอย่างต้องอยู่ในขอบเขตของกฎหมาย เชื่อว่าการเคลื่อนไหวของประชาชนน่าจะอยู่ในขอบเขตของกฎหมาย ไม่จำเป็นต้องขัดแย้งกันถึงขนาดเกิดความรุนแรง
    "เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องต้องไปหาข้อมูล ซึ่งผมรับฟังข้อมูล โดยเฉพาะเกษตรกรที่บอกว่ามีความจำเป็นต้องใช้สารเคมีและยังไม่พร้อมจะใช้สารชนิดอื่น เพราะเกรงว่าจะมีราคาแพง ส่วนเจ้าหน้าที่ที่จะให้หยุดใช้ ก็พิจารณาบนพื้นฐานของสุขภาพประชาชน จึงต้องเก็บข้อมูลทั้งหมดมาพิจารณาว่าจะหาทางออกอย่างไร" รมว.มหาดไทยกล่าว
    ด้านนายอนุทิน ยืนยันไม่ได้มีปัญหาความขัดแย้งอะไรกับกลุ่มคัดค้านการแบน 3 สารพิษ แต่เรื่อง 3 สารเคมีทางการเกษตรก็ยังเป็นไปตามมติคณะกรรมการวัตถุอันตรายที่ประชุมไปเมื่อวันที่ 22 ต.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งชัดเจนแล้วว่าทั้ง 3 สารจะต้องหยุดใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค.นี้เป็นต้นไป  
    "ข้อเรียกร้องที่จะให้ขยายเวลาจากวันที่ 1 ธ.ค. ออกไป มีการพูดคุยกันหรือไม่ เป็นเรื่องของคณะกรรมการฯ เราต้องรับฟังทุกฝ่ายและมาประเมินว่าควรจะทำอย่างไรให้เกิดความขัดแย้งน้อยที่สุด แต่ผมรับผิดชอบกระทรวงสาธารณสุข นโยบายคืออะไรก็ตามที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพผ่อนผันให้ไม่ได้" นายอนุทินกล่าว
    ส่วน น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ขอให้รอมติที่ประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตรายในวันที่ 27 พ.ย.นี้ก่อน แล้วจะดำเนินการอย่างไรก็เป็นอีกขั้นตอนหนึ่ง ซึ่งแม้จะมีการชุมนุมคัดค้านการแบน 3 สารพิษออกมาเคลื่อนไหว สำหรับตนเองไม่มีผล เพราะทุกอย่างต้องดำเนินการไปตามกฎหมาย และตามมติของคณะกรรมการฯ ที่มีออกมาก่อนหน้านี้ ซึ่งอยู่ที่คณะกรรมการฯ จะเดินหน้าไปแบบไหนมากกว่า
    น.ส.มนัญญากล่าวว่า เรื่องนี้มีความเกี่ยวข้องหลายฝ่าย ก็ต้องให้หลายฝ่ายเป็นผู้ตัดสินดู ตอนนี้เรายื่นสุดมือแล้ว จากนี้ขอให้เป็นเรื่องของทางคณะกรรมการฯ ที่จะตัดสินว่าจะออกมาเป็นแบบไหน ซึ่งหลังจากวันที่ 27 พ.ย. เราจะมาประชุมกันอีกครั้งว่าจะมีแนวทางออกมาแบบไหน แต่ความจริงการลดละเลิกเป็นนโยบายของนายกฯ อยู่แล้ว ที่ต้องการจะลดละเลิกการใช้สารเคมีในประเทศไทยให้น้อยลง เราทำตามนโยบายของรัฐบาลอยู่แล้ว
    “หากจะมีการเปลี่ยนแปลงมติครั้งแรก ในครั้งที่สองมันก็ต้องมีความหนักแน่นว่ามีเหตุผลอะไรที่จะไปลบล้างคำสั่งหรือมติครั้งแรกได้” น.ส.มนัญญากล่าว.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"