ธปท. จ่อทบทวนจีดีพีปี 61 ใหม่ แย้มสูงกว่า 3.9% แน่นอน


เพิ่มเพื่อน    

 

ธปท. จ่อทบทวนจีดีพีปี 2561 ใหม่ หลังพบสัญญาณบวกหนุนเศรษฐกิจอื้อ ชูพระเอกหลัก “ส่งออก-ท่องเที่ยว-นำเข้าสินค้า” หนุนเต็มสูบ แจงบาทแข็งค่าจากปัจจัยค่าเงินสหรัฐอ่อน ยืนยันมีการคุมไม่ให้ค่าเงินเคลื่อนไหวเร็วเกินไป ระบุเอกชนอย่าชะล่าใจว่าไม่มีใครดูแล

 

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท.จะมีการปรับประมาณการตัวเลขเศรษฐกิจไทยในปี 2561 รอบใหม่ ในช่วงปลายเดือน มี.ค.นี้ จากประมาณการล่าสุดเดือน ธ.ค.2560 ที่คาดว่าจะขยายตัว 3.9% ซึ่งขณะนี้ พบว่ามีปัจจัยสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ต่อเนื่อง จากภาคการส่งออกที่ได้รับอานิสงส์จากเศรษฐกิจโลกที่เริ่มเป็นทิศทางที่ขยายตัว ไม่ใช่การฟื้นตัว ทั้งภูมิภาคยุโรป สหรัฐ และญี่ปุ่น โดยการส่งออกไทยขยายตัวกระจายตัวมากขึ้น ไม่ใช่แค่รายใหญ่และสินค้าเดิมๆ ขณะเดียวกันกัน ภาคการท่องเที่ยวก็ยังเป็นเครื่องยนต์สำคัญทำให้เศรษฐกิจไทย เติบโตอย่างต่อเนื่องและมีศักยภาพ

 

“หลังประมาณการเศรษฐกิจไทยล่าสุดในเดือน ธ.ค. ช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมาในปีนี้ กิจกรรมทางเศรษฐกิจดีขึ้น ทั้งภาคการส่งออกและท่องเที่ยวที่ขยายตัวต่อเนื่อง ขณะที่การนำเข้าก็มีมูลค่าเกิน 2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐต่อเดือนต่อเนื่อง 2 เดือน สะท้อนให้เห็นการนำเข้าสินค้าทุนซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีกับภาคการลงทุนมีทิศทางที่ดีขึ้น”นายวิรไท กล่าว

 

นายวิรไท กล่าวอีกว่า แม้ว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้จะมีแนวโน้มการฟื้นตัวที่ชัดเจน แต่ก็ยอมรับว่าการฟื้นตัวไม่ได้กระจายตัวมาก ภาคเศรษฐกิจชนบทและต่างจังหวัดยังมีปัญหามาจากหลายปัจจัย เช่น ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมาการใช้นโยบายพยุงราคาสินค้า เช่น จำนำข้าว ทำให้เกิดดีมานด์เทียม ทำให้เกษตรกรก่อหนี้ มีการลงทุนและการผลิตส่วนเกินอยู่มาก รวมทั้งปัญหาภัยแล้งในช่วงปีที่ผ่านมา ทำให้เกษตรกรมีการก่อหนี้มากขึ้น กระทบกับการบริโภค และราคาสินค้าเกษตรทั่วโลกไม่ได้ดีขึ้น ทำให้รายได้ภาคการเกษตรถูกกดนิ่งไว้ ทั้งหมดจึงเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างทำให้เศรษฐกิจขยายตัวไม่กระจายไปชนบท

 

ขณะที่สถานการณ์ค่าเงินบาทในช่วงที่ผ่านมามีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น ปัญหาสำคัญมาจากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อน ซึ่งไม่ใช่เป็นปัญหาเฉพาะไทย จะเห็นได้ว่าตั้งแต่ปลายปี 2559 ที่มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ นักลงทุนก็คาดว่าสหรัฐจะมีมาตรการยาแรง ทำให้ค่าเงินดอลลาร์แข็งขึ้นเร็ว แต่เมื่อเวลาผ่านไปไม่สามารถทำนโยบายได้อย่างที่คาด แม้สหรัฐจะเศรษฐกิจดี มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย แต่ความมั่นใจของนักลงทุนและมุมมองตลาดก็เปลี่ยนไป ขณะที่การฟื้นตัวเศรษฐกิจเอเชีย ยุโรป มีความชัดเจนเงินที่คาดว่าจะลงทุนในสหรัฐก็กระจายไปยังภูมิภาคอื่นมากขึ้น

 

“มีความเข้าใจคลาดเคลื่อนว่าธปท.ไม่ทำอะไรกับเงินร้อน โดยข้อเท็จจริงที่ผ่านมามีเงินทุนไหลเข้าทั้งหุ้น และพันธบัตรกว่า 6 พันล้านเหรียญสหรัฐ มีการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด 4.9 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 10% ของจีดีพี ส่งผลให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น แต่ ธปท.ไม่ต้องการกำหนดให้ค่าเงินอยู่ในระดับใด ที่ทำคืออาจจะช่วยเข้าไปชะลอไม่ให้ค่าเงินเคลื่อนไหวเร็วเกินไป เพราะความผันผวนจะยังคงมีสูงขึ้นเรื่อยๆ ภาคเอกชนอย่าชะล่าใจว่าจะมีใครมาดูแล การบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนจึงมีความจำเป็น” นายวิรไท กล่าว

 

นายวิรไท กล่าวด้วยว่า ขณะนี้ ธปท.อยู่ระหว่างแก้ไข ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ.2485 ซึ่งในปีที่ผ่านมาได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เรียบร้อยแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในวาระที่ 1 โดยสาระสำคัญเพื่อต่ออายุกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน และเพิ่มกลไกอำนาจให้เข้าไปแก้ไขปัญหาวิกฤตสถาบันการเงิน ให้ครบถ้วนรอบด้านมากขึ้น ในกรณีที่สถาบันการเงินมีปัญหาวิกฤตจะต้องไม่ตกเป็นภาระของภาครัฐอย่างที่ผ่านมา คนที่รับภาระจะต้องเป็นผู้ที่ได้ประโยชน์จากสถาบันการเงิน ซึ่งบริหารโดยกองทุนฟื้นฟูเป็นกลไกสำคัญในการแก้ไขปัญหา

 

ทั้งนี้ การแก้ไขกฎหมายได้มีการสำรวจความเห็นจากสถาบันการเงินในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา พิจารณาว่าการดำเนินการของธนาคารอะไรที่ยังเป็นช่องโหว่และไม่เท่าทันโลก ต้องมีการปรับปรุงแก้ไข โดยศึกษากรณีวิกฤตสถาบันการเงินในช่วงปี 2008-2009 เพื่อให้มีกลไกควบคุมและเครื่องมือดูแลที่รอบด้านมากขึ้น ซึ่งยืนยันว่าการแก้ไขกฎหมาย ไม่ได้หมายความว่ามีสถาบันการเงินเจอปัญหาวิกฤต ธปท.หวังว่าจะไม่ต้องใช้ แต่ต้องเตรียมพร้อมไว้สำหรับอนาคต ซึ่งหลายประเทศก็ดำเนินการในลักษณะเดียวกัน


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"