26พ.ย.62-นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานให้กับนักเรียนในโครงการโรงเรียนประชารัฐจังหวัดชายแดนภาคใต้ ระยะเวลาการดำเนินการ 5 ปีงบประมาณ (พ.ศ.2562-2566) ในกรอบวงเงินงบประมาณทั้งสิ้นกว่า 3,700 ล้านบาท โดยในปีงบประมาณ2561-2562 สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ใช้งบประมาณของส่วนราชการสนับสนุนการดำเนินงานโครงการจำนวนกว่า 300 ล้านบาท และในปีงบประมาณ 2563-2566 สพฐ.ขอความเห็นชอบหลักการและกรอบงบประมาณ 2563-2566 กว่า 3,400 ล้านบาท สำหรับโครงการดังกล่าวเป็นการช่วยเหลือนักเรียนที่มีความเสี่ยงที่อาจจะออกนอกระบบการศึกษา เนื่องจากประสบปัญหาทางเศรษฐกิจ เพราะอยู่ในครอบครัวที่มีรายได้น้อย มีปัญหาสังคม โดยการสนับสนุนให้นักเรียนเข้ามาอยู่ในความดูแลของโรงเรียนมีอาหาร มีที่พักอย่างเพียงพอ จะช่วยลดภาระทางเศรษฐกิจของครอบครัวในจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้มากกว่า 4,000 ครอบครัว ทั้งนี้การจัดการศึกษาสำหรับโครงการโรงเรียนประชารัฐจังหวัดชายแดนภาคใต้จะส่งเสริมให้เด็กมีทักษะอาชีพด้วย เพื่อเด็กจบการศึกษาไปแล้วจะได้มีงานทำ
นายณัฏฐพล กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ในที่ประชุม ครม.ยังได้มีอภิปรายถึงกองกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ซึ่งเป็นกองทุนที่ช่วยเหลือเด็กยากจน โดยปีงบประมาณ 2563 สำนักงบประมาณ กระทรวงการคลัง ได้จัดสรรงบประมาณให้เพียงจำนวน 5,000 ล้านบาท จากเดิมที่มีกองทุนดังกล่าวตั้งต้นขอการตั้งงบประมาณของกองทุนนี้ไว้ ร้อยละ 5 ของงบประมาณด้านการศึกษา หรือประมาณ 25,000 ล้านบาท ซึ่งถือว่างบประมาณไม่เพียงพอต่อภารกิจที่ดำเนินการอยู่ เพราะกองทุน กสศ.เป็นกองทุนที่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาอย่างแท้จริง ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และ กระทรวงการคลัง จะมาพิจารณาร่วมกันอีกครั้ง เนื่องจากถือว่าการลงทุนที่เป็นเรื่องของการลงทุนทางการศึกษาจะมีประโยชน์อย่างมาก หากผ่านมาจากกองทุนนี้ เพราะถือว่าเงินที่ได้รับจัดสรรเข้าถึงเด็กโดยตรง ขณะเดียวกัน รมว.คลัง ยังสนับสนุนแนวคิดที่จะให้ดำเนินการลดหย่อนภาษีให้แก่ภาคเอกชนที่เข้ามาสนับสนุนการศึกษา ในโครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา (Partnership School) จำนวน 200% ของจำนวนเงินที่สนับสนุนการศึกษาที่กำลังจะหมดอายุลงด้วย