25 พ.ย 62 - ผู้สื่อรายงานว่า ภายหลังศาลอ่านคำพิพากษาให้คู่ความฟังแล้ว องค์คณะฯ ได้ชี้แจงให้คู่ความรับทราบด้วยว่า คดีนี้องค์คณะผู้พิพากษา (มี 2 คน) มีความเห็นต่างกันในการตัดสิน จึงได้นำความเห็นที่มีผลร้ายน้อยที่สุดกับจำเลยมาเป็นคำตัดสิน ขณะที่ความเห็นขององค์คณะอีกคนหนึ่งนั้นเห็นแย้งว่า จำเลยมีความผิด เห็นควรให้ลงโทษจำคุก 4 ปี ซึ่งก็จะมีการบันทึกไว้เป็นความเห็นแย้งท้ายคำพิพากษาด้วย หากคู่ความยื่นอุทธรณ์ ความเห็นแย้งนี้ในสำนวนก็จะขึ้นสู่ศาลอุทธรณ์ทราบเช่นกัน
ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า สำหรับความเห็นแย้งนั้นระบุว่า คดีนี้มีคำพิพากษายกฟ้อง โดยมีความเห็นแย้งกันเป็น 2 ฝ่าย หาเสียงข้างมากไม่ได้ จึงให้ผู้พิพากษาที่มีความเห็นเป็นผลร้ายแก่จำเลย ซึ่งเห็นว่าจำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินฯ มาตรา 5(1)(2), 60 ลงโทษจำคุก 4 ปี ยอมเห็นด้วยกับผู้พิพากษาซึ่งมีความเห็นเป็นผลร้ายแก่จำเลยน้อยกว่า คือยกฟ้อง
แหล่งข่าวอัยการ เปิดเผยถึงขั้นตอนการพิจารณาอุทธรณ์คดีว่า หลังจากนี้ก็ต้องคัดคำพิพากษา และเอกสารหลักฐานในสำนวน รวมทั้งความเห็นแย้งส่งให้คณะทำงานพิจารณา คดีนี้เราได้พิจารณาในรูปแบบคณะทำงานของอัยการ โดยจะต้องพิจารณาว่าเหตุผลในคำพิพากษาว่ารับฟังได้เพียงใด ผลยังไม่เบ็ดเสร็จเด็ดขาด โดยยังมีความเห็นแย้งในองค์คณะเป็น 2 ฝ่ายด้วย ขณะที่เหตุที่ศาลพิพากษายกฟ้อง เพราะเห็นว่าตามประมวลวิธีพิจารณาความอาญา (ป.วิ.อ.) มาตรา 184, 185 ว่าหากกรณีที่มีผลคำพิพากษาเป็น 2 ฝ่าย ไม่มีเสียงข้างมาก ก็ให้นำผลคำพิพากษาที่มีผลร้ายน้อยที่สุดกับจำเลยมาเป็นคำตัดสิน ดังนั้นเราก็ต้องนำรายละเอียดของความเห็นแย้งมาดูเหตุผลว่าอย่างไรที่จะตัดสินว่าควรจะลงโทษ คดีนี้เป็นที่สนใจของประชาชน ดังนั้นก็จะต้องเสนอผู้บังคับบัญชาพิจารณาอย่างรอบคอบด้วย จะยื่นอุทธรณ์คดีหรือไม่ต้องอธิบายและตอบคำถามบุคคลที่เกี่ยวข้องและสื่อมวลชนได้
อย่างไรก็ดี หากสุดท้ายตามขั้นตอนแล้ว อัยการสำนักงานคดีศาลสูงมีคำสั่งให้อุทธรณ์ หลังจากที่คณะทำงานสำนักงานสำนวนคดีชั้นต้นทำความเห็นเบื้องต้นเสนอไปแล้ว กระบวนการก็ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์ได้เลย แต่หากจะมีคำสั่งไม่อุทธรณ์ กรณีก็ยังไม่ถือว่าเป็นที่ยุติ ซึ่งขั้นตอนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 145 (กรณีที่มีคำสั่งไม่ฟ้อง และคำสั่งนั้นไม่ใช่ของอธิบดีกรมอัยการ ถ้าในกรุงเทพฯ ให้รีบส่งสำนวนการสอบสวนพร้อมกับคำสั่งเสนอไปยังอธิบดีกรมตำรวจฯ) และ พ.ร.บ.ว่าด้วยกรมสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.2547 มาตรา 34 (กรณีที่พนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องคดี ซึ่งได้สอบสวนโดยพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ให้การทำความเห็นแย้งตาม ป.วิ.อ.มาตรา 145 หรือกฎหมายเกี่ยวกับวิธีพิจารณาความอาญาอื่น เป็นอำนาจหน้าที่ของอธิบดีหรือผู้ดำรงตำแหน่งอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง) จะต้องแจ้งให้ดีเอสไอซึ่งเป็นพนักงานสอบสวนทำคดีนี้ทราบ ในลักษณะเป็นการรีวิว หากดีเอสไอเห็นแย้งก็จะต้องส่งให้อัยการสูงสุดเป็นผู้ชี้ขาดว่าจะอุทธรณ์หรือไม่
อัยการกล่าวด้วยว่า คดีนี้เท่าที่ฟังถือว่าเส้นทางการเงินเข้าออกบัญชีชัด แต่ที่ยกฟ้องคือเจตนาของจำเลยว่าไม่รู้ถึงแหล่งที่มาของเงิน โดยกรณีของนายวิชัยนั้นถูกศาลฎีกาฯ พิพากษาลงโทษหลังจากที่มีการรับโอนเงินกับจำเลย ซึ่งศาลเห็นว่าขณะรับโอนเงิน จำเลยไม่รู้ จำเลยจึงขาดเจตนา และเมื่อเทียบข้อเท็จจริงกับทรัพย์สินที่จำเลยนำเสนอว่ามีอยู่แล้ว 4,000 ล้าน จำนวนเงินโอนมีน้อยกว่า จึงน่าเชื่อว่าจำเลยไม่ได้รับรู้ว่าเงินนั้นมาจากการกระทำผิด
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ตามขั้นตอนในการยื่นอุทธรณ์คดีนั้นจะต้องยื่นภายใน 1 เดือน นับจากที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา ซึ่งหากระหว่างช่วงเวลาดังกล่าว คู่ความยังมีเหตุจำเป็นที่จะต้องจัดเตรียมเอกสารและเห็นว่าอาจจะยื่นอุทธรณ์ไม่ทันในระยะเวลาดังกล่าว ก็สามารถที่จะยื่นคำขอขยายเวลาอุทธรณ์ได้ ซึ่งศาลจะเป็นผู้ใช้ดุลยพินิจและมีคำสั่งว่าจะอนุญาตให้ขยายอุทธรณ์หรือไม่ เป็นระยะเวลาเท่าใด นอกจากนี้ ในส่วนของคดีที่อัยการได้ยื่นฟ้องนายวิชัยกับพวกรวม 6 คน ข้อหาร่วมกันฟอกเงินจากการทุจริตปล่อยกู้แบงค์กรุงไทย 10,400,000,000 ล้านบาทนั้น คดีอยู่ระหว่างรอการไต่สวนพยาน ซึ่งศาลอาญาคดีทุจริตกำหนดนัดไต่สวนพยานโจทก์นัดแรกในวันที่ 21 ม.ค. 2563 เวลา 13.30 น
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |