ยูนิลีเวอร์ ประเทศไทย ประกาศความร่วมมือ กับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กรมควบคุมมลพิษ, เทศบาลเมืองกระบี่, บ.ซีโร่เวสท์โยโล, บ.เบสท์โพลิเมอร์อินเตอร์เนชั่นแนล และ บ.จีอีพีพี สะอาด ฯลฯ เพื่อแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกนำร่องที่เมืองกระบี่ และสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนแก่ขยะพลาสติก ประเภทถุงขนม ถุงเติมสบู่ น้ำยาปรับผ้านุ่ม น้ำยาล้างจาน ฯลฯ หรือซองแชมพูประเภท Multilayer และขวดขุ่นประเภท HDPE หรือขวดทึบที่เป็นขวดนม ขวดสบู่เหลว แชมพู น้ำยาซักฟอก น้ำยาปรับผ้านุ่ม เนื่องจากเป็นชนิดพลาสติกที่ไม่มีมูลค่า หรือมูลค่าเชิงพาณิชยน์น้อย ทำให้ไม่เป็นที่นิยมรับซื้อ ภายใต้โครงการ “TRASH ร่วมเปลี่ยนโลก แปลงขยะให้มีค่า”
“TRASH” ย่อมาจาก Tourism to Recycling Actions for the Schools and Homes เป็นโครงการที่เกิดจากพันธมิตรที่หลากหลายไม่ว่าจะ ชุมชน หน่วยงานของรัฐ และหน่วยงานเอกชนที่จะร่วมสร้างวงจรชีวิต แก่ขยะพลาสติกที่ไม่ได้ถูกจัดเก็บ เพื่อป้องกันไม่ให้รั่วไหลไปสู่สิ่งแวดล้อม ชุมชน และทำลายทัศนียภาพของสถานที่ท่องเที่ยว แต่นำกลับมารีไซเคิลผลิตเป็นข้าวของเครื่องใช้เฟอร์นิเจอร์คืนสู่ชุมชน
นายโรเบิร์ต แคนเดลิโน ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มบริษัท ยูนิลีเวอร์ ประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบัน หนึ่งในความท้าทายทางสิ่งแวดล้อมที่เราต้องเผชิญคือเรื่องขยะพลาสติก ประเทศไทยถูกจัดเป็นประเทศที่ปล่อยขยะลงสู่ทะเลเป็นอันดับ 6 โดยมีขยะพลาสติก 2 ล้านตัน แต่สัดส่วนที่นำไปรีไซเคิล กลับน้อยกว่า 20% จึงเป็นเรื่องเศร้าที่ขยะพลาสติกส่วนที่เหลือสุดท้ายก็ไหลลงสู่คลอง บ่อฝังกลบ หรือเป็นขยะบนท้องถนน ซึ่งในบ้านทุกหลังของเมืองไทยน่าจะใช้ผลิตภัณฑ์ของยูนิลีเวอร์อย่างน้อย 3 ชิ้นต่อวัน เราจึงต้องแสดงความรับผิดชอบอีกครั้งด้วยการเป็นผู้นำในการกำหนดเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ที่จะจัดการกับขยะพลาสติก และเปลี่ยนแปลงธุรกิจของเราเพื่อมุ่งสู่การบรรลุเป้าหมายให้เป็นจริงที่ยูนิลิเวอร์ ได้ให้คำสัญญาว่าภายในปี 2568 จะเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ทั้งหมดของเรา ให้สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ สามารถรีไซเคิลได้และย่อยสลายได้ 100% และยังจะลดการใช้พลาสติกใหม่ในบรรจุภัณฑ์ลงครึ่งหนึ่ง และจะเก็บแปรรูปบรรจุภัณฑ์พลาสติกให้มากกว่าที่ขาย ทั้งนี้ทางยูนิลีเวอร์ ประเทศไทย ได้เปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ที่ผลิตจากพลาสติกใหม่เป็นพลาสติกรีไซเคิล post-consumer recycled (PCR) 100% สำหรับแบรนด์ที่ขายดีที่สุดอย่างซันไลต์และคอมฟอร์ท และแบรนด์ใหม่ที่เพิ่งเปิดตัว เซเว่นท์เจนเนอเรชั่น และเลิฟ บิวตี้ แอนด์ แพลนเน็ตแล้ว และบริษัทยังมีแผนที่จะเปลี่ยนมาใช้พลาสติก PCR ในบรรจุภัณฑ์ทุกแบรนด์ของยูนิลีเวอร์ภายใน 2 ปีนี้
นายโรเบิร์ต กล่าวต่อว่า สำหรับโครงการ TRASH ถือกำเนิดขึ้น เพื่อป้องกันขยะบนดินไหลลงสู่สิ่งแวดล้อมและเพื่อลดการใช้บ่อฝังกลบโดยการสร้างระบบนิเวศน์ที่จะหมุนเวียนพลาสติก ผ่านการสร้างองค์ความรู้แก่ชุมชนเพื่อระบบบริหารจัดการขยะพลาสติกที่เป็นระบบ ด้วยการแยกขยะ ทำความสะอาด และการสร้างระบบจัดเก็บเพื่อสามารถนำไปรีไซเคิลในท้ายที่สุด ภายใต้ผู้สนับสนุนหลักคือแบรนด์ซิตร้าที่มีปรัชญาจะคืนความสวยงามแก่ธรรมชาติ และลดขยะในสิ่งแวดล้อม ร่วมกับองค์กรพันธมิตรทั้ง 11 องค์กรที่ร่วมลงนามและประกาศความร่วมมือ โดยเริ่มที่กระบี่ เมืองท่องเที่ยวอันดับต้นๆ ของไทยก่อน
“Trash จะตั้งเหมือนเป็นเครื่องฮอตสปอร์ต ที่ทำหน้าที่เป็นแหล่งรวบรวมพลาสติกที่ชุมชนเอามาทิ้งในพื้นที่ แล้วเราก็จะทำงานกับหัวหน้าชุมชนในการส่งเสริมให้คนในชุมชนคัดแยกขยะ และนำขยะพลาสติกที่สามารถนำกลับมาใช้ได้ใหม่ ไปทำความสะอาดเข้าสู่ศูนย์ Upcycling จะมีเครื่องจักรีรีไซเคิลอยู่ในโรงงาน ซึ่งเครื่องจักรนี้ ทางยูนิลีเอวร์ได้ลงทุนและมอบให้กับชุมชน ทำหน้าที่เปลี่ยนบรรจุภัณฑ์พลาสติกเหล่านี้โดยการบดและอัดให้กลายเป็นเศษเล็กๆ ให้สามารถนำมาทำเป็นส่วนประกอบของเฟอร์นิเจอร์ ทำเป็นโต๊ะเก้าอี้ บริจาคให้กับชุมชน” นายโรเบิร์ต กล่าวรายละเอียดเพิ่มเติม
นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท) กล่าวว่า โครงการ TRASH เป็นโครงการที่สอดคล้อง กับนโยบายของ ททท. ที่รณรงค์เพื่อสร้างกระแสใส่ใจสิ่งแวดล้อม และปลูกจิตสำนึกให้นักท่องเที่ยวร่วมกันรับผิดชอบต่อทรัพยากร และสิ่งแวดล้อม ด้วยการลดการสร้างภาระขยะในแหล่งท่องเที่ยว มุ่งเป้าที่พลาสติกที่ใช้เพียงครั้งเดียว หรือ Single-use plastic และสนับสนุนการใช้วัสดุธรรมชาติทดแทน โดยททท.ดำเนินโครงการ “ลดโลกโลกเลอะ” และได้ทำปฏิญญา “เที่ยวไทยเท่ ไม่สร้างขยะ ลดโลกเลอะ” ร่วมกับหน่วยงาน ต่างๆ เมื่อปี 2561 จากนั้นได้รณรงค์ไปสู่ภาคประชาชนอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน รวมไปถึงรณรงค์ให้เจ้าของพื้นที่ได้ตระหนักถึงปัญหาขยะที่เกิดขึ้นในแหล่งท่องเที่ยวอีกด้วย ดังนั้น โครงการ TRASH จึงเป็นอีกหนึ่งโครงการที่สำคัญที่จะเป็นแนวร่วมในการรณรงค์ให้การดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมของประเทศไทยประสบความสำเร็จได้อย่างรวดเร็ว อันจะส่งผลให้แหล่งท่องเที่ยวของไทยยังคงความสวยงามและน่าเที่ยวต่อไป
ด้านนายประลอง ดำรงค์ไทย อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่า ทาง Trash พยายามทำโครงการขึ้นมา โดยจะสร้างความตระหนักกับชุมชน ในการจัดการพลาสติก หลายประการ ไม่ว่าจะเป็นการแยกพลาสติกในครัวเรือน การเก็บพลาสติกตามจุดฮอตสปอร์ต แปรพลาสติกให้เป็นสินค้ามูลค่าเพิ่ม เพราะ 10 ปีที่ผ่านมาพลาสติกในประเทศไทย มีจำนวนเพิ่มขึ้นมาโดยตลอด หรือประมาณ 12% ของจำนวนขยะทั้งหมด รัฐบาลจึงให้ความสำคัญถึงปัญหานี้อย่างต่อเนื่องโดยได้จัดทำโร้ดแมป การจัดการขยะพลาสติก พ.ศ. 2561 – 2573 ขึ้น เพื่อใช้เป็นกรอบและทิศทางการดำเนินการป้องกัน และแก้ไขปัญหาการจัดการขยะพลาสติกของประเทศโดยมีเป้าหมายที่ 1 คือ ลด และเลิกใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง 3 ชนิด ใน ปี 2562 ได้แก่ แคปซีล พลาสติกผสมสารอ็อกโซ่ และไมโครบีด และอีก 4 ชนิด ในปี 2565 ได้แก่ ถุงพลาสติกหูหิ้วแบบบางกว่า 36 ไมครอน โฟมบรรจุอาหาร แก้วพลาสติกแบบบาง และหลอดพลาสติก เป้าหมายที่ 2 คือ การนำขยะพลาสติกกลับเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน ร้อยละ 100 ภายในปี 2570
“ปัญหาสำคัญคือ พลาสติกพวกนี้เป็น multi-layer และ HDPE ค่อนข้างเป็นปัญหายากต่อการสลายหรือกำจัด หากเรายังไม่ช่วยกัน ปล่อยให้ภาครัฐทำฝ่ายเดียวมันก็ทำได้แค่ระดับหนึ่ง ปัญหาไม่จบง่ายๆ วันนี้ทางกรมควบคุมมลพิษ พยายามทำกฏหมาย กฏระเบียบ และพยายามคุยกับผู้ประกอบการแล้วว่า ถ้าหากยังใช้หูหิ้วแบบเดิม 400 ปีก็ยังไม่ย่อยสลาย ตัวเลข 2 ล้านตันที่เราพูดถึง เป็นเพียงแค่ตัวเลขจากขยะ 27.8 ล้านตันทั่วประเทศ เรายังไม่รู้เลยว่ายังมีจำนวนขยะที่ไม่ได้อยู่จำนวนนี้อีกกี่ล้านตัน เราต้องหาอะไรมาทดแทนพลาสติกให้ได้ เช่นพวกพลาสติกที่ย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติภายในสามเดือน ส่วนการร่วมงานกันครั้งนี้ นำร่องที่กระบี่แล้ว ก็หวังว่าจะมีการดำเนินการขยายไปยังพื้นที่จังหวัดอื่นๆ อีกทั่วประเทศในลำดับต่อไป” นายประลอง กล่าว
ส่วนนายชาญณรงค์ ลีลาบูรณพงศ์ รองนายกเทศมนตรีเมืองกระบี่ กล่าวว่า กระบี่ เป็นสถานที่นักท่องเที่ยวยอดนิยม แต่ละปีจะมีนักท่องเที่ยวมาเยือนประมาณ 6 ล้านคน มีรายได้จากการท่องเที่ยวโดยเฉลี่ยปีละ 118,000 ล้านบาท ที่ผ่านมากระบี่ มีการจัดการขยะอย่างเป็นระบบ สร้างโรดแมปการจัดการขยะแบบยั่งยืนให้เป็น “เมืองกระบี่สะอาด” ขยะที่รีไซเคิลได้ มี ขวดใสประเภท PET กระป๋องอะลูมิเนียม เหล็ก กระดาษ และเศษไม้ จะมีการซื้อขายผ่านศูนย์รับซื้อและซาเล้ง ในขณะที่ขยะที่ผู้คนเข้าใจว่ารีไซเคิลไม่ได้ อาทิ ขวดขุ่น ขวดทึบ ประเภทโพลีเอทีลีน และถุงขนมที่เคลือบ อะลูมิเนียม หรือฟอยล์ ถูกส่งไปยังบ่อฝังกลบ ปีหนึ่งมากถึง 25 ตัน ส่วนโครงการ TRASH จะสร้างความรู้แก่ชุมชนและ เปลี่ยนทศันคติของคนในชุมชนต่อ ขวดพลาสติกที่ใส่ แชมพู สบู่ น้ำยาปรับผ้านุ่ม หรือถุงขนมคบเขี้ยว ที่เคยถูก มองว่าเป็นขยะแท้จริงแล้วเป็นวัตถุดิบในสร้างข้าวของเครื่องใช้ และเฟอร์นิเจอร์ที่ทำมาจากพลาสติกรีไซเคิล
นางสาวมยุรี อรุณวรานนท์ ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท จีอีพีพี สะอาด จำกัด กล่าวว่า ความร่วมมือกับ บริษัท ยูนิลีเวอร์ เพื่อสร้างระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนให้กับบรรจุภัณฑ์โดยการสร้างมูลค่า โดยนำเอา “เก็บ” แพลตฟอร์มเข้ามาบันทึกและวิเคราะห์ข้อมูลการเก็บกลับบรรจุภัณฑ์ของโครงการฯ เพื่อทำให้การติดตามผลและการขยายผลมีประสิทธิภาพ ตอบสนองเป้าหมายการเก็บกลับบรรจุภัณฑ์ ให้ได้ 100% โดยบรรจุภัณฑ์ ทุกๆ ชิ้นที่ผ่านเข้ามาในระบบจะถูกบันทึกและรายงานผลบน “เก็บ” แพลตฟอร์ม ทำให้เรามั่นใจได้ว่าบรรจุภัณฑ์เหล่านั้นได้เดินทางไปสู่การรีไซเคิลจนถึงการสร้างรายได้ให้กับชุมชน เพื่อนำไปสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนแบบยั่งยืน