ศาลยกฟ้อง 'พานทองแท้' คดีฟอกเงินแบงก์กรุงไทย


เพิ่มเพื่อน    

25 พ.ย 62 - ที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ถ.นครไชยศรี ศาลอ่านคำพิพากษาคดีฟอกเงินทุจริตการปล่อยสินเชื่อของ ธ.กรุงไทยฯ ให้ธุรกิจเครือกฤดามหานคร คดีหมายเลขดำ อท.245/2561 ที่พนักงานอัยการคดีพิเศษ 4 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายพานทองแท้ หรือโอ๊ค ชินวัตร อายุ 41 ปี บุตรชายคนโตของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นจำเลย ในความผิดฐานร่วมกันฟอกเงิน และสมคบคบกันฟอกเงิน ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 5, 9, 60 และ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2558 มาตรา 10 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91 

คดีนี้อัยการยื่นฟ้องนายพานทองแท้ เมื่อวันที่ 10 ต.ค. 2561 บรรยายพฤติการณ์สรุปว่า เมื่อวันที่ 17 พ.ค. 2547 หลังจากนายวิชัย กฤษดาธานนท์ อดีตผู้บริหารเครือกฤษดามหานคร กับพวก ร่วมกันกระทำผิดกับอดีตผู้บริหาร ธ.กรุงไทยฯ ในการอนุมัติสินเชื่อโดยมิชอบ ทำให้ธนาคารเสียหายจำนวน 10,400,000,000 (หนึ่งหมื่นสี่ร้อยล้านบาท) แล้วนายวิชัยกับพวกร่วมกันฟอกเงินที่ได้จากการกระทำผิด โดยนายวิชัย ได้นำบริษัท โกลเด้น เทคโนโลยี อินดัสเทรียล พาร์ค จำกัด ที่มีนายรัชฎา กฤษดาธานนท์ บุตรชายนายวิชัย, นายสุบิน แสงสุวรรณเมฆา เป็นกรรมการฯ บริษัทแกรนด์แซทเทิลไลท์คอมมูนิเคชั่น จำกัด ที่มีนายเชื้อ ช่อสลิด เป็นกรรมการฯ มาใช้ในการรับโอนเงิน แล้วนำเงินนั้นไปซื้อขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) เป็นการเปลี่ยนสภาพทรัพย์สิน โดยนายวิชัยได้โอนเงินจากการขายหุ้นนั้นให้นายพานทองแท้ จำเลย จำนวน 10 ล้านบาท ซึ่งเป็นเพื่อนกับนายรัชฎา และบุคคลในครอบครัวทั้งสองมีความรู้จักเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน

โดยนายวิชัย สั่งจ่ายเช็คลงวันที่ 17 พ.ค. 2547 จากบัญชีกระแสรายวัน ธ.ไทยธนาคาร สาขาบางพลัด ระบุชื่อนายพานทองแท้ ต่อมาวันที่ 18 พ.ค. 2547 จำเลยได้นำเช็คนั้นเรียกเก็บเงินเข้าบัญชีออมทรัพย์ ธ.กรุงเทพ สาขาบางพลัดของจำเลย และวันที่ 24 พ.ค. 2547 จำเลยได้ถอนเงิน 10 ล้านบาทเข้าบัญชีออมทรัพย์ ธ.กรุงเทพ สาขาซอยอารีย์ของจำเลยอีกอัน จากนั้นระหว่างวันที่ 24 พ.ค. - 26 พ.ย. 2547 จำเลยได้ถอนเงินออกจากบัญชีผ่าน ATM ครั้งละ 5,000 - 20,000 บาทรวม 11 ครั้ง

และช่วงในวันที่ 14 มิ.ย. 2547 มีเงินฝากเข้าบัญชี ธ.กรุงเทพ สาขาซอยอารีย์ของจำเลย 80,000 บาท วันที่ 30 พ.ย. 2547 จำเลยได้ถอนเงิน 8,800,000 บาทจากบัญชีดังกล่าว เข้าฝากบัญชีกระแสรายวัน ธ.กรุงเทพ สาขาซอยอารีย์ ซึ่งมียอดเงินรวมในบัญชี 14,720,352.07 บาท ต่อมาวันที่ 2 ธ.ค. 2547 จำเลยได้สั่งจ่ายเช็คจำนวน 14,700,000 บาทจากบัญชีกระแสรายวัน ธ.กรุงเทพสาขาซอยอารีย์ โดยนายวิชัย (ปัจจุบัน อายุ 80 ปี) , นายรัชฎา (ปัจจุบัน อายุ 53 ปี) กับพวก และอดีตผู้บริหาร ธ.กรุงไทยฯ (รวม 18 คน) ถูกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษาจำคุกคดีร่วมทุจริตการอนุมัติสินเชื่อ คนละตั้งแต่ 12-18 ปี เมื่อวันที่ 26 ส.ค. 2558  และอัยการยังได้ยื่นฟ้องนายวิชัย , นายรัชฎา กับพวกอีกรวม 6 คน ต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง เมื่อวันที่ 4 ก.ย. 2561 ในคดีหมายเลขดำ อท.214/2561 ความผิดฐานร่วมกันฟอกเงินและสมคบกันฟอกเงินด้วย (คดีอยู่ระหว่างไต่สวนพยาน)

ซึ่งชั้นพิจารณาในศาลอาญาคดีทุจริตฯ นายพานทองแท้ จำเลยให้การปฏิเสธ สู้คดีว่าไม่ได้กระทำผิดตามฟ้อง เงินดังกล่าวเป็นส่วนที่จะร่วมลงทุนธุรกิจนำเข้ารถซุปเปอร์คาร์กับนายรัชฎา ขณะที่นายพานทองแท้ได้รับการประกันตัวระหว่างพิจารณาคดี 1 ล้านบาท พร้อมเงื่อนไขห้ามเดินทางออกนอกประเทศ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาล

วันนี้ นายพานทองแท้เดินทางมาพร้อมกับ คุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร หรือดามาพงศ์ มารดา และ น.ส.พินทองทา , น.ส.แพทองธาร ขินวัตร น้องสาวทั้งสอง กับน้องเขย รวมทั้งแฟนสาวของนายพานทองแท้ , นายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ พี่ชายบุญธรรมคุณหญิงพจมาน เดินทางมาถึงศาลในเวลา 09.38 น. โดยมีบุคคลใกล้ชิดครอบครัว และเพื่อนสนิทกว่า 20 คน รวมถึงนักการเมือง อาทิ นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา แกนนำพรรคเพื่อไทย, นายก่อแก้ว พิกุลทอง, น.ส.ขัตติยา สวัสดิผล อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย ตามมาให้กำลังใจคับคั่ง

ก่อนเข้าฟังคำพิพกษา ผู้สื่อข่าวได้สอบถามนายพานทองแท้ว่าตื่นเต้นหรือไม่ในการฟังคำพิพากษา นายพานทองแท้ กล่าวด้วยสีหน้ายิ้มเล็กน้อยว่า "รู้สึกตื่นเต้นเล็กน้อย" ส่วนคุณหญิงพจมานได้ยิ้มทักทาย ทั้งนี้ บริเวณศาลได้มีการประสานกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจจาก บก.น.1 ประมาณ 50 นายเพื่อดูแลความเรียบร้อยบริเวณศาลด้วย

ต่อมาเวลาประมาณ 10.40 น. ศาลเริ่มอ่านคำพิพากษา โดยองค์คณะศาลอาญาคดีทุจริตฯ พิเคราะห์พยานโจทก์และจำเลยนำสืบหักล้างในชั้นไต่สวนพยานแล้ว คดีมีประเด็นต้องวินิจฉัยว่าจำเลยได้กระทำผิดตามฟ้องหรือไม่ จำเลยได้ต่อสู้คดีว่า หลังจากการกู้สินเชื่อ ธ.กรุงไทยแล้ว นายวิชัยได้นำเงินดังกล่าวไปซื้อหุ้นและดำเนินการต่างๆ ซึ่งถือเป็นการฟอกเงินจนเป็นเงินบริสุทธิ์แล้ว โดยเงิน 10 ล้านบาทที่นายวิชัยโอนเข้าบัญชีจำเลยนั้น เป็นส่วนที่นายรัชฎา จะร่วมลงทุนกับจำเลยในการดำเนินธุรกิจนำเข้ารถหรูนั้น ศาลเห็นว่า เงินดังกล่าวเป็นส่วนที่ได้จากการกระทำความผิดมูลฐานตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 3 (4) ความผิดเกี่ยวกับการยักยอกหรือฉ้อโกง หรือกระทำการโดยทุจริตตามกฎหมายว่าด้วยการธนาคารพาณิชย์ฯ ไม่ว่าเงินนั้นจะผ่านกระบวนการแปรสภาพทรัพย์สินมากี่ครั้งกี่หน ก็ยังคงเป็นเงินที่กระทำผิดฐานฟอกเงินตลอดไป ไม่ใช่เงินบริสุทธิ์ตามที่จำเลยอ้าง ข้อต่อสู้ของจำเลยนี้จึงไม่มีน้ำหนัก

ส่วนจำเลยกระทำผิดฐานรับโอนเงินที่ได้จากการกระทำผิดมูลฐานหรือไม่นั้น ตามกฎหมายต้องได้ความชัดเจนว่า ผู้ที่รับโอนเงินมานั้นจะต้องรับทราบว่าเงินดังกล่าว เป็นเงินส่วนหนึ่งหรือได้มาจากการกระทำความผิดนั้น ซึ่งคดีนี้ข้อเท็จจริงก็ปรากฏตามทางนำสืบ ในเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างครอบครัวของจำเลยกับครอบครัวของนายวิชัย เพียงว่า จำเลยเป็นบุตรของนายทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีซึ่งดำรงตำแหน่งขณะที่นายวิชัยได้ทำการกู้สินเชื่อกับธนาคารและได้รับอนุมัติ โดยจำเลยมีความสนิทสนมกับนายรัชฎาเพียงเท่านั้น ซึ่งในการโอนเงิน 10 ล้านบาทเข้าบัญชีจำเลยอาจจะเกิดจากการอนุมัติสินเชื่อธนาคารกรุงไทย 10,400,000,000 บาท ขณะที่บิดาของจำเลยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 

ในการดำเนินคดีกับนายวิชัย เจ้าหน้าที่ก็ระบุว่า นายวิชัยจะผิดหรือไม่ก็ต้องรอผลคำพิพากษา ซึ่งกรณีของนายวิชัยที่ถูกกล่าวหาร่วมทุจริตการกู้สินเชื่อธนาคารกรุงไทยนั้น ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ก็ได้มีคำพิพากษาในภายหลัง (ปี 2558) จากที่มีการโอนเงินเข้าบัญชีของจำเลย ที่ขณะนั้นอายุ 26 ปี ซึ่งเวลานั้นจำเลยเพิ่งจบการศึกษาคณะรัฐศาสตร์ ม.รามคำแหง จำเลยจึงย่อมไม่ทราบข้อเท็จจริงว่าเงินดังกล่าวได้มาจากการกระทำผิด โดยจำเลยเองเวลานั้นก็มีทรัพย์เป็นหุ้นในบริษัทจำนวน 4,000 ล้านบาทอยู่ก่อนแล้ว หากเทียบสัดส่วนเงิน 10 ล้านบาทที่โอนเข้าบัญชีกับมูลค่าหุ้นที่มีอยู่ ก็คิดเป็น 0.0025% และเมื่อเทียบกับจำนวนยอดเงินกู้สินเชื่อที่นายวิชัยได้ไปนั้นก็เพียง 0.001% เท่านั้น ซึ่งมีจำนวนน้อย

และที่โจทก์เห็นว่า แม้พยานจะไม่ชัดเจนว่าจำเลยรับรู้ว่าเงินนั้นได้มาจากการกระทำผิดหรือไม่ ก็ต้องฟังประกอบกับพยานแวดล้อม พร้อมอ้างแนวคำพิพากษาฎีกาการฟอกเงินคดียาเสพติดนั้นระหว่างสามี-ภรรยา ที่สามีกระทำผิดเกี่ยวกับยาเสพติด และตัดสินว่าภรรยาที่อยู่กินร่วมกันฉันท์สามีภรรยาย่อมรับรู้ว่าเงินนั้นมาจากการกระทำผิดด้วยนั้น โดยเป็นแนวทางที่นักวิชาการอิสระเองก็เห็นด้วย ศาลเห็นว่า ข้อเท็จจริงในคดีดังกล่าวถือว่ามีความแตกต่างกับคดีนี้เป็นอย่างมาก จึงไม่มีน้ำหนักรับฟังได้

นอกจากนี้ตามทางนำสืบยังพบว่า ในการทำธุรกรรมทางการเงินของจำเลยผ่านบัญชีต่างๆ ก็ยังเป็นการโอนและถอนลักษณะปกติ มีเงินหมุนเวียนในบัญชีประมาณ 7 เดือน ธนาคารแห่งประเทศไทยสามารถตรวจสอบได้ ไม่มีข้อที่ปกปิดในลักษณะเปิดเผยไม่ได้ หรือเป็นลักษณะซุกซ่อนปกปิดแหล่งที่มาของเงิน ซึ่งหากเห็นการทำธุรกรรมมีข้อสงสัยว่าเป็นการกระทำผิดหรือไม่ ทางธนาคารก็สามารถที่จะตรวจสอบธุรกรรมได้ พฤติการณ์ของจำเลยยังฟังไม่ได้ว่า จำเลยรู้หรือควรรู้ว่านายวิชัยได้เงินจากการทุจริต เมื่อจำเลยไม่รู้ จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยกระทำความผิดฐานฟอกเงิน พิพากษายกฟ้อง

ผู้สื่อรายงานว่า ภายหลังศาลอ่านคำพิพากษาให้คู่ความฟังแล้ว องค์คณะฯ ได้ชี้แจงให้คู่ความรับทราบด้วยว่า คดีนี้องค์คณะผู้พิพากษา (มี 2 คน) มีความเห็นต่างกันในการตัดสิน จึงได้นำความเห็นที่มีผลร้ายน้อยที่สุดกับจำเลยมาเป็นคำตัดสิน ขณะที่ความเห็นขององค์คณะอีกคนหนึ่งนั้นเห็นแย้งว่า จำเลยมีความผิด เห็นควรให้ลงโทษจำคุก 4 ปี ซึ่งก็จะมีการบันทึกไว้เป็นความเห็นแย้งท้ายคำพิพากษาด้วย หากคู่ความยื่นอุทธรณ์ ความเห็นแย้งนี้ในสำนวนก็จะขึ้นสู่ศาลอุทธรณ์ทราบเช่นกัน

ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า สำหรับความเห็นแย้งนั้นระบุว่า คดีนี้มีคำพิพากษายกฟ้อง โดยมีความเห็นแย้งกันเป็น 2 ฝ่าย หาเสียงข้างมากไม่ได้ จึงให้ผู้พิพากษาที่มีความเห็นเป็นผลร้ายแก่จำเลย ซึ่งเห็นว่าจำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินฯ มาตรา 5(1)(2), 60 ลงโทษจำคุก 4  ปี ยอมเห็นด้วยกับผู้พิพากษาซึ่งมีความเห็นเป็นผลร้ายแก่จำเลยน้อยกว่า คือยกฟ้อง


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"