"มนัญญา" สับกรมวิชาการเกษตร สั่งทำหนังสือด่วนชี้แจงขอยืดเวลาจัดเก็บ 3 สารเคมีไปอีก 6 เดือน ยกข้อตกลงในที่ประชุมอ้างเก็บเรียบจบได้ 1 เดือน ตีแสกหน้าบิ๊กข้าราชการกระทรวงเกษตรฯ ขณะที่นักวิชาการเตือนต้องมีมาตรการรองรับสร้างหลักประกันอาหารปลอดภัยระยะยาว ไม่กระทบเศรษฐกิจ
เมื่อวันอาทิตย์ น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า วันที่ 25 พ.ย. ตนจะสั่งการให้กรมวิชาการเกษตรทำหนังสือชี้แจงโดยด่วนถึงข้อเสนอเรื่องการยืดเวลาบังคับใช้ในการจัดเก็บคืนสารเคมีวัตถุอันตรายทางการเกษตร 3 ชนิด คือ พาราควอต ไกลโฟเซต คลอร์ไพริฟอส ออกไปอีก 180 วัน หรือ 6 เดือน ว่าจริงหรือไม่ที่เสนอคณะทำงานหามาตรการช่วยเหลือเกษตรให้พิจารณา โดยอ้างว่ามีสต๊อกเหลือกว่า 2.8 หมื่นตัน หลังจากที่มีการประกาศแบน 3 สาร วันที่ 1 ธ.ค.62
น.ส.มนัญญาระบุว่า ให้กรมวิชาการเกษตรชี้แจงมาโดยด่วน ถึงเหตุผลในการยืดเวลาจัดเก็บสาร เพราะที่ผ่านมาได้ประชุมหลายครั้ง ไม่ได้มีการแจ้งจะยืดเวลาจัดเก็บสารแต่อย่างใด เป็นที่น่าสังเกตว่าในช่วงเช้าเมื่อวันที่ 22 พ.ย. ตนได้เรียกประชุมสารวัตรเกษตรทั่วประเทศกว่า 300 คน ซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติในทุกขั้นตอนการจัดเก็บ 3 สารเคมี ซึ่งได้ถามย้ำถึง 3 รอบ และใกล้จบการประชุมยังถามย้ำอีกว่าใครมีปัญหาในการลงพื้นที่จัดเก็บสารเคมีหรือไม่ในเวลา 30 วัน และผู้บริหารกรมก็อยู่ ยกเว้นอธิบดี เพราะมีการประกาศแบน 3 สารให้มีผลวันที่ 1 ธ.ค. ต้องทำทันทีในการแจ้งครอบครองสาร 15 วัน และส่งมอบคืนใน 15 วัน ทุกคนบอกไม่มีปัญหา
"แต่ปรากฏว่าในช่วงบ่ายวันเดียวกัน กรมวิชาการเกษตรมาเสนอที่ประชุมคณะทำงานพิจารณามาตรการเยียวยาผลกระทบเกษตรกรหลังเลิกใช้ 3 สาร ที่มีปลัดกระทรวงเกษตรฯ เป็นประธาน กลับมีการเสนอขอยืดเวลาการบังคับใช้แบน 3 สารไปอีก 6 เดือน อ้างว่า 30 วันจัดเก็บสารส่งคืนบริษัทไม่ทัน ทั้งนี้ ยังมีเรื่องสต๊อกสารคงเหลือยังมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ประชุมวันที่ 21 พ.ย.รายงานเหลือ 3.8 หมื่นตัน มาอีกวันเหลือ 2.8 หมื่นตัน ดังนั้นกรมวิชาการเกษตรต้องทำหนังสือชี้แจงมาทั้งหมด" น.ส.มนัญญาระบุ
รมช.เกษตรและสหกรณ์ระบุด้วยว่า ตนจะมีหนังสือถามไปเรื่องเสนอยืดเวลาว่าทำไมตอนประชุมกรมวิชาการเกษตรไม่มีการคัดค้าน ได้ถามถึง 3-4 ครั้ง มีปัญหาไหมในการจัดเก็บคืน ซึ่งสื่อมวลชนและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องอยู่ฟังในห้องด้วยกันเป็นพยานได้ เรื่องนี้กรมวิชาการเกษตรต้องมีหนังสือมาตอบให้ชัดเจน และเป็นกรมที่อยู่ในความรับผิดชอบของตนเอง อีกทั้งตัวเลขงบเยียวยาเกษตรกรกว่า 3.2 หมื่นล้านบาท เป็นตัวเลขที่ห่างไกลกับกรมส่งเสริมสหกรณ์ ได้ของบในการดำเนินการเรื่องจักรกลการเกษตรมาช่วยลดต้นทุนทำเกษตร และมีความถาวร ซึ่งได้สอบถามความต้องการของเกษตรกรมาทั้งหมดเลย เป็นเกษตรกรแท้จริง มีตัวตน แท้จริง อยู่ที่ไหน ทำเพาะปลูกอะไร มีรายชื่อชัดเจน มีรายชื่อทุกสหกรณ์ ของบแค่กว่า 200 ล้าน เกษตรกรกว่า 1 แสนคนเท่านั้น
น.ส.มนัญญาย้ำด้วยว่า ในฐานะดูแลกรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมสหกรณ์ มีเจ้าหน้าที่ปฏิบัติทุกพื้นที่ ไม่มีปัญหาใด แต่คณะทำงานที่ปลัดเกษตรฯ เป็นประธานไปประชุมกันกลับเป็นอีกอย่าง ซึ่งไม่ทราบเช่นกันทำไมเปลี่ยนไป และยังไม่รู้ว่าจะนำเรื่องยืดเวลา 6 เดือน เข้าคณะกรรมการวัตถุอันตรายที่จะประชุมวันที่ 27 พ.ย.นี้ โดยมีนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม เป็นประธานหรือไม่ จึงต้องเรียกหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริงจากกรมวิชาการเกษตรมาถึงตนเองในวันจันทร์นี้
“พี่ทำมาสุดมือ ทำสุดเอื้อม เพื่อพี่น้องประชาชน รักษาพี่น้องคนไทย รักษาเกษตรกร ทำในฐานะที่ดูแลกรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมสหกรณ์ เพราะต้องการรักษาสุขภาพเกษตรกร รักษาสุขภาพคนไทยให้เป็นของขวัญปีใหม่ ไปเที่ยวกับครอบครัวทุกคนได้กินอาหารที่ปลอดภัย ได้สูดอากาศบริสุทธิ์” น.ส.มนัญญากล่าว
วันเดียวกัน ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อการปฏิรูป สถาบันเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ระบุว่า ควรมีทางเลือกอื่นๆ ทดแทนการใช้สารเคมี ต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน เพื่อรองรับการแบนสารเคมีกำจัดศัตรูพืชความเสี่ยงสูง 3 ชนิดให้ทันโดยไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อผู้ผลิตและเศรษฐกิจของประเทศ
ผศ.อนุสรณ์ระบุว่า เราควรเดินหน้าปรับเปลี่ยนประเทศไทยไปสู่การพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนให้ได้ 100% และคณะกรรมาธิการวิสามัญของสภาผู้แทนราษฎรได้ทำหน้าที่ศึกษาเรื่องดังกล่าว และยังได้เสนอให้รัฐบาลชดเชยและสนับสนุนเกษตรกรที่ต้องปรับเปลี่ยนจากการใช้สารเคมีที่มีความเสี่ยงสูงไปสู่การใช้สารทางเลือกและการพัฒนาไปสู่ระบบเกษตรกรรมที่ยั่งยืน
"ขอเตือนว่าเศรษฐกิจไทยอาจทรุดตัวลงไปอีก หากไม่มีมาตรการรองรับการแบน 3 สารเคมีจำกัดวัชพืชอันตรายหากภาคเกษตรกรรม ผู้ผลิตในอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง ผู้นำเข้าและผู้ส่งออกไม่สามารถปรับตัวได้ทัน ห่วงโซ่อุปทานและการผลิตเหล่านี้มีมูลค่าทางเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่า 2 ล้านล้านบาทต่อปี การมีมาตรการรองรับผลกระทบจากการแบนสารเคมีจึงเป็นการประกันความสำเร็จของความพยายามในการทำให้เกิดอาหารปลอดภัยในระยะยาว และไม่กระทบต่อเศรษฐกิจ ภาคการผลิต ภาคการค้า" ผศ.อนุสรณ์ระบุ.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |