"ธนาธร" ลั่นพร้อมรับ กกต.จ่อเชือดอาญา พ้อเราสู้ไม่ได้อยู่แล้ว โต้ "ศรีสุวรรณ" ร้องเอาผิดเขียนประตูสภา แค่หาเรื่องเตะสกัด อนค. เทียบคดีโอนหุ้นกับดอน โวยเรื่องราวคล้ายกันแต่ผลลัพธ์ต่างสุดขั้ว "จตุพร" สอน "ทอน" ตั้งหลักหาทางสู้ มีอีก 3ดาบรอฟัน
เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ เดินทางไปพบปะสมาชิกพรรคอนาคตใหม่ที่ที่ทำการพรรคอนาคตใหม่ สาขา จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งก่อตั้งมาครบรอบ 1 ปี โดยกล่าวกับสมาชิกว่า ถึงจะไม่ได้เป็น ส.สแล้ว แต่ยังมี ส.ส.ของพรรคอนาคตใหม่ที่ยังทำงานอยู่ในสภาถึง 80 เสียง และตนยังสามารถทำงานด้านการเมือง ทำงานเพื่อพี่น้องประชาชน แม้พรรคอนาคตใหม่จะไม่ได้เป็นพรรครัฐบาล แต่จะนำนโยบายของพรรคที่ได้หาเสียงไว้กับพี่น้องประชาชนนำไปแก้กฎหมายและพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ต่างๆ เช่น พ.ร.บ.การรับราชการทหาร หรือการเกณฑ์ทหาร
ส่วนกรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เตรียมพิจารณาความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.มาตรา 151 นั้น มองว่า กกต.มีปากกาอยู่ในมือ จะเขียนหรือไม่เขียนอย่างไรก็ได้ เพราะเราไม่มีปากกา เราสู้ไม่ได้อยู่แล้ว เพราะฉะนั้นทุกอย่างตนเองพร้อมรับ
หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ยังกล่าวถึงกรณีนายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรเอาผิดสมาชิกพรรคอนาคตใหม่ ที่เขียนข้อความให้กำลังใจนายธนาธรที่ประตูกระจกรัฐสภาทำให้ทรัพย์สินของราชการเสียหายว่า ถามว่าไปดูกันหรือยังว่าเป็นยังไง จริงๆ แล้วจุดนั้นเป็นห้องประชุมของพรรค ซึ่งเป็นห้องกระจกใสๆ มีการเอาสติกเกอร์มีโลโก้ของพรรคไปติดเอาไว้
"วันนั้น ส.ส.ต้องการแสดงพลัง แสดงความห่วงใยกัน จึงได้มีการเขียนข้อความเอาไว้ ซึ่งมีอีกหลายเรื่องหลายประเด็นที่มีคนและมีกลุ่มคนฝ่ายตรงข้ามกับอนาคตใหม่พยายามสกัดกั้น สร้างเรื่องสร้างประเด็นให้พรรคอนาคตใหม่ ส.ส.ของพรรคอนาคตใหม่ รวมถึงตนเองต้องออกมาแก้ไข ชี้แจงทำให้เสียเวลากับเรื่องพวกนี้ จะได้ไม่มีเวลาไปหาทางต่อสู้กับการดำเนินการทางกฎหมายหลายเรื่องของพรรคของผมที่กำลังดำเนินการอยู่ ซึ่งเรื่องนี้ ส.ส ของพรรคและผมไม่ย่อท้อ ยังเดินหน้าในการทำงานเพื่อพี่น้องประชาชนต่อไป" นายธนาธรระบุ
นายคารม พลพรกลาง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ กล่าวตอบโต้นายวันชัย สอนศิริ ส.ว. ที่แสดงความเห็นวิพากษ์วิจารณ์นายธนาธรว่า ที่ผ่านมามี ส.ว. 2 คนที่มักออกมาวิพากษ์วิจารณ์พรรคอนาคตใหม่อยู่บ่อยครั้ง คือนายสมชาย แสวงการ และนายวันชัย ซึ่งเราสงสัยในการทำหน้าที่ของ ส.ว.ของทั้ง 2 คน เพราะทำหน้าที่ ส.ว. ไม่ใช่การโหวตเลือกนายกฯ แต่จะต้องทำหน้าที่ออกกฎหมายอย่างสร้างสรรค์ ขณะที่พรรคอนาคตใหม่ตั้งขึ้นมาเพื่อทำการเมืองอย่างสร้างสรรค์ อาจจะมีทั้งคนชอบและไม่ชอบพรรค ซึ่งในส่วนของนายธนาธร ที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยนั้น ประชาชนจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยก็เป็นสิทธิ์ของประชาชน
“ส.ว.ที่ไม่ได้มาจากประชาชน ไม่สมควรที่จะมาพูดให้ร้ายพรรคการเมือง และไม่ควรเป็น ส.ว. เพราะวุฒิภาวะไม่ถึง เป็นได้ก็แค่เพียงผ้าขี้ริ้วเช็ดรองเท้าท็อปบูตของทหารเท่านั้น ซึ่งในทางการเมือง คนเป็น ส.ว.ต้องมีวุฒิภาวะและระมัดระวังคำพูดตลอดเวลา ไม่ใช่อยู่ดีๆ จะมาให้ร้ายพรรคอนาคตใหม่ในทุกรูปแบบอย่างที่ทำอยู่” นายคารมระบุ
อนค.โวยเทียบคดีดอน
เพจเฟซบุ๊กพรรคอนาคตใหม่ได้โพสต์ข้อความในหัวข้อ "ความเหมือน-ต่าง ของคดีหุ้น “ดอนรอด-ธนาธรไม่รอด” ไล่ตั้งแต่ชั้น กกต. ไปจนถึงคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ" ว่าทั้ง 2 คดีมีความคล้ายกันในหลายจุด เริ่มจากมีผู้ไปร้องเรียน กกต. ว่านายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.การต่างประเทศ ในสมัยรัฐบาล คสช. และนายธนาธร ถือหุ้นต้องห้าม ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบความเหมือน-ต่างของคดีดอน-ธนาธร จึงสามารถตั้งข้อสังเกตและข้อเปรียบเทียบได้ ดังนี้
1.การสั่งการให้ยุติการปฏิบัติหน้าที่ เมื่อ กกต.ยื่นคำร้องของทั้งสองคนให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย เมื่อศาลรับคำร้องมาแล้วได้สั่งให้นายธนาธรหยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส.ชั่วคราว แต่ไม่ได้สั่งห้ามนายดอนหยุดปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรี นั้นคือความแตกต่างกรณีแรก
2.กกต.เชื่อว่าทั้งสองทำเอกสารโอนหุ้นย้อนหลัง ใน "ความเหมือน" นั้น ก็คือทั้งสองคนก็ได้ยกข้อกฎหมายเดียวกันมาต่อสู้ นั่นคือประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1129 และ 1141 (โดยนายธนาธรได้ยกแนวทางคำพิพากษาฎีกาที่เคยผ่านมาแล้วด้วย) โดยสรุปก็คือกฎหมายให้ถือ “ตราสารโอนหุ้น” เป็นพยานหลักฐานเอกสารหลักว่าได้โอนหุ้นไปแล้ว และให้บันทึกลงในสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นเอาไว้ อย่างไรก็ตาม ในการไต่สวนของศาลรัฐธรรมนูญ ศาลไม่ได้เน้นไต่สวนข้อเท็จจริงว่านายดอนได้มีการโอนหุ้นหรือทำสัญญาโอนหุ้นในวันที่อ้างจริงหรือเปล่า ส่วนนายธนาธรนั้น โดนจี้ถามหนักมาก รวมถึงรายละเอียดที่ไม่เกี่ยวข้อง หรือไม่เป็นสาระสำคัญหลักของคดี เช่น ถามว่าใครโทร.หานายธนาธรบ้างในวันที่ 8 มกราคม หรือยอดค่าหุ้นเท่าไหร่ (เขาจะไปจำตัวเลข 7 หลักซึ่งมีค่าเพียง 1% ของทรัพย์สินทั้งหมดที่เขามีได้อย่างไร?) แต่เมื่อตอบว่า “จำไม่ได้” ก็กลายเป็นเรื่องราวถูกวิพากษ์วิจารณ์ใหญ่โต
3.กระบวนการส่งสำเนาทะเบียนผู้ถือหุ้น หรือ บอจ.5 การส่งสำเนาทะเบียนผู้ถือหุ้นดังกล่าวนั้น บริษัทจะต้องส่งสำเนาให้กับกระทรวงพาณิชย์ หากดูในคดีของนายดอนนั้น ศาลไม่ได้ย้อนดูหรือนำมาเป็นประเด็นในการพิจารณา ศาลจึงยึดตามแนวทางประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1129 และตามตราสารโอนหุ้น ดังนั้นจึงเชื่อว่านายดอนได้มีการโอนหุ้นโดยชอบแล้ว แต่สำหรับนายธนาธร ศาลเห็นว่ามีการนำไปอัพเดต บอจ.5 กับกระทรวงพาณิชย์ในวันที่ 21 มี.ค. ที่แม้ไม่ผิดกฎหมาย แต่เมื่อรู้ว่าจะลงสมัครเลือกตั้ง ก็ควรจัดการให้เสร็จก่อนวันลงสมัครเลือกตั้ง 6 ก.พ. และเมื่อพิจารณา “พฤติการณ์แวดล้อมกรณี ซึ่งไม่เกี่ยวกับการโอนหุ้น” สามารถนำมาหักล้าง “พยานเอกสารที่เป็นหลักฐานการโอนหุ้นโดยตรง ซึ่งได้รับบทสันนิษฐานตามกฎหมายว่าถูกต้องเป็นจริง” ได้ ดังนั้นศาลจึงไม่เชื่อว่านายธนาธรโอนหุ้นแล้วในวันสมัครเลือกตั้ง จึงวินิจฉัยสั่งให้นายธนาธรพ้นจากตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในที่สุด
4.ระยะเวลาในการดำเนินการ หากนับตั้งแต่ชั้น กกต. จนถึงวันศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัย นายดอนมีเวลา 549 วัน ส่วนนายธนาธรมีเวลา 241 วัน นายดอนไม่พ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรี ในขณะที่นายธนาธรพ้นจากตำแหน่ง ส.ส.
ที่อิมพีเรียล ลาดพร้าว ชั้น 5 มีการจัดรายการลมหายใจ พีซทีวี เวทีทัศน์ ที่ออกอากาศผ่านทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมพีซทีวี โดยมีแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) มาพบปะพูดคุย ร้องรำทำเพลงกันสนุกสนานเป็นประจำทุกสัปดาห์ ทั้งนี้ นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช. วิเคราะห์สถานการณ์ทางการเมืองกรณีนายธนาธรว่า หลายคนไม่พอใจตนที่วิเคราะห์ในเรื่องคดีของนายธนาธรว่าจะไม่รอด ซึ่งก็ไม่รอดจริง เพราะนายธนาธรนั้นชัดเจนตั้งแต่การที่ไม่ได้ทำงานในสภาแม้แต่วันเดียว เป็นปรากฏการณ์ที่สรุปจบแล้วว่าถูกล็อกเป้า อย่างไรก็ไม่รอด สิ่งที่ต้องคิดต่อคือ จะสู้ต่อไปอย่างไร เลิกคิดเรื่องความถูกผิด อย่าถามหาข้อเท็จจริง ถ้าเราถามหาเรื่องแบบนั้น แสดงว่าไม่เข้าใจกระดานการเมือง คนที่เพิ่งเคยเจอสถานการณ์นี้ต้องตั้งหลัก คิดในมิติที่ไม่เข้าข้างตัวเอง ทำความเข้าใจว่าถูกชี้เป้าไว้แล้ว
อีก 3 ดาบรอฟัน "ธนาธร"
"นายธนาธรมีอย่างน้อย 4 ดาบที่ต้องเจอ ดาบแรกคือเรื่องพ้นสมาชิกภาพ ส.ส. ซึ่งเจอไปแล้ว ดาบที่สองคือเรื่องพรรคอนาคตใหม่ ถูกร้องเรียนเรื่องล้มล้างการปกครอง ต้นเดือนธันวาคมจะมีการตัดสิน ดาบที่สามคือเรื่องต่อเนื่อง จากพ้นสมาชิกภาพ ส.ส.คือคดีอาญา ในศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง โทษ 1-10 ปี ตัดสิทธิ์การเมืองถ้าเต็มที่ก็ 20 ปี และดาบที่สี่คือเรื่องที่นายธนาธรให้เงินกู้กับพรรคอนาคตใหม่ สถานการณ์ขณะนี้ ในฐานะคนผ่านเส้นทางนี้มาแล้ว รู้ว่าจะเจออะไร ควรหาทางสู้ สู้อย่างไรต้องไปคิด" นายจตุพรระบุ
วันเดียวกัน นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ออกแถลงการณ์สมาคมเรื่อง ขอเรียกร้องให้เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรเอาผิดพลพรรคอนาคตใหม่ที่มือบอนขีดเขียนประตูกระจกรัฐสภาทำให้ทรัพย์สินของราชการเสียหายว่า ตามที่ปรากฏภาพข่าวกรณีที่สมาชิกพรรคอนาคตใหม่ต่างไปช่วยกันขีดเขียนข้อความในเชิงให้กำลังใจนายธนาธร บริเวณประตูกระจกทางเข้าห้องพักของ ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ ในอาคารรัฐสภานั้น อาจถือได้ว่าเป็นการเจตนาที่จะทำให้ทรัพย์สินของทางราชการเสียหาย ซึ่งต้องห้ามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 360 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ นอกจากนั้นยังอาจเข้าข่ายความผิดตามมาตรา 12 ของ พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง 2535 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5 พันบาทอีกด้วย จึงขอเรียกร้องให้เลขาธิการสภาผู้แทนฯ ดำเนินการเอาผิดผู้ที่กระทำการฝ่าฝืนดังกล่าวโดยเร็ว เพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่างที่ไม่ดีต่อสังคมต่อไป
ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง “อยู่ไม่เป็นของพรรคอนาคตใหม่” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 19-20 พ.ย. จากประชาชน 1,262 คน พบว่า ประชาชนร้อยละ 40.57 เข้าใจคำว่า "อยู่เป็น" คือคนที่สามารถปรับตัว ตามสถานการณ์ให้สอดคล้องกับบริบทที่ดำรงอยู่, ร้อยละ 38.11 ระบุว่าคือคนที่ใช้วิธีการใดๆ ก็ได้ที่ทำให้สามารถดำรงชีวิตอยู่รอดปลอดภัย, ร้อยละ 15.53 ระบุว่าคือคนที่สามารถวิเคราะห์สถานการณ์และเข้าใจสังคม
ส่วนความเข้าใจต่อคำว่า “อยู่ไม่เป็น” ร้อยละ 35.18 ระบุว่าคือคนที่ไม่สามารถปรับตัวตามสถานการณ์ ให้สอดคล้องกับบริบทที่ดำรงอยู่, ร้อยละ 23.45 ระบุว่าคือคนที่กระทำสิ่งใดแล้วเกิดผลลบกับตนเอง, ร้อยละ 15.77 ระบุว่าคนที่ไม่รู้จักกาลเทศะ ดื้อรั้น หัวชนฝา เอาแต่ใจตนเองเป็นหลัก
ทั้งนี้ การสำรวจด้านการติดตามข่าว “อยู่ไม่เป็น” ของพรรคอนาคตใหม่ ร้อยละ 65.21 ไม่ติดตามเลย, ร้อยละ 27.73 ติดตามบ้าง, ร้อยละ 6.66 ติดตามตลอด และร้อยละ 0.40 ไม่รู้/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ เมื่อถามถึงความคิดเห็นต่อการประกาศและกิจกรรม “อยู่ไม่เป็น” จากผู้ที่ตอบติดตามตลอดและติดตามบ้าง พบว่า ร้อยละ 38.25 มองว่าเป็นการแสดงจุดยืนของพรรค, ร้อยละ 26.27 ระบุว่า เป็นการพูดความจริงเกี่ยวกับสังคม, ร้อยละ 21.20 ระบุว่าเป็นการสร้างกระแสในการเรียกคะแนนเสียงความสนใจจากประชาชน
สำหรับความคิดเห็นต่อพรรคอนาคตใหม่ว่า “อยู่ไม่เป็น” หรือ “อยู่เป็น” จากผู้ที่ตอบติดตามตลอดและติดตามบ้าง ร้อยละ 41.70 ระบุว่า “อยู่เป็น”, ร้อยละ 29.03 ระบุว่า “อยู่ไม่เป็น” และร้อยละ 20.05 ระบุว่าบางครั้งก็ “อยู่เป็น” บางครั้งก็ “อยู่ไม่เป็น”
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |