(บ้านโบราณที่ชาวบ้านอาศัยอยู่อายุนับร้อยปี 1 ใน 60 หลังของชุมชน)
แม้ “เลย” จะได้ชื่อว่าเป็นเมืองท่องเที่ยวที่โอบล้อมด้วยภูเขาสลับซับซ้อน อุดมไปด้วยพืชพรรณป่าไม้นานาชนิด มีหลายภูที่เชิญชวนให้ไปเยือน ทั้งภูหลวง ภูกระดึง หรือภูเรือ หรือมีเชียงคานที่ชื่อเสียงโด่งดัง แต่จริงๆ แล้วเลยยังมีชุมชนดั้งเดิมที่น่าสนใจไม่แพ้เชียงคานและน่าไปเยือน อย่าง “ชุมชนบ้านนาอ้อ” ต.นาอ้อ อ.เมือง จ.เลย ชุมชนเล็กๆ ที่มีบ้านโบราณอายุนับร้อยปีมากกว่า 60 หลัง และมีสถานที่สำคัญที่มี "เรื่องราว" เล่าขานต่อๆ กันมา แต่ละเรื่องน่าสนใจเหลือเกิน
ด้วยเหตุนี้ องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. จึงได้เลือกสนับสนุนการอนุรักษ์ พร้อมกับพัฒนาชุมชนบ้านนาอ้อให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวยั่งยืน พร้อมกับพาคณะสื่อมวลชนไปสัมผัส พอได้ไปรู้จัก สัมผัสชุมชนนี้ด้วยตัวเองแล้ว พร้อมกับทำความเข้าใจชุมชนไปทีละนิดๆ บอกได้เลยว่าไม่ว่าใครก็อาจจะตกหลุมรักชุมชนแห่งนี้ได้ง่ายๆ
ชุมชนนาอ้อนับว่าเก่าแก่มาก ตาม "ปูม" ท้องถิ่นเล่าขานว่าชุมชนตั้งมานานกว่า 450 ปี บรรพบุรุษของชาวนาอ้อมีเชื้อสายเผ่าไทลื้อ อพยพย้ายถิ่นฐานมาจากหลวงพระบางและเวียงจันทน์ วัฒนธรรมลาวจึงหลงเหลือให้เห็นทั้งวิถีชีวิต การทอผ้าถุง การนุ่งผ้าซิ่น เป็นต้น
(สักการะหลวงปู่ใจดี ผู้ปกปักรักษาชุมชน ต.นาอ้อ)
เราเริ่มต้นเยือนชุมชนนาอ้อด้วยการสักการะหลวงปู่ใจดี สิ่งศักดิ์สิทธิ์ดูแลปกปักรักษาชาวบ้าน องค์หลวงปู่มีโครงสร้างเป็นพระพุทธเมตตาบารมีพุทธชยันตี 2,600 ปี แห่งการตรัสรู้ โดยมีหน้าตักกว้าง 9 เมตร สูง 11 เมตร ผ่านพิธีพุทธาภิเษกมาแล้วในวันที่ 19 มกราคม พ.ศ.2561 โดยได้มีการอาราธนาพระเถรานุเถระจำนวน 31 รูปมานั่งปรกอธิษฐานจิตภาวนาเพื่อให้เกิดความเป็นสิริมงคลแด่องค์พระ แก่เทศบาลและชุมชน ใครที่มาเยือนชุมชนก็ต้องมากราบไหว้สักการะเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ตนเองด้วย
(บ้านโบราณสำหรับจัดกิจกรรมยามงานประเพณีบุญข้าวจี่ของ ต.นาอ้อ)
ใกล้ๆ กับองค์หลวงปู่ใจดีเป็นลานกว้างสำหรับประกอบพิธีกรรม ประเพณีต่างๆ โดยเฉพาะประเพณี "บุญข้าวจี่" ของชาวอีสาน งานประเพณีใหญ่ของชาว ต.นาอ้อกว่า 10 หมู่บ้าน จัดทุกปีในช่วงเดือนมกราคม โดยใช้พื้นที่ลานแห่งนี้ ซึ่งมีจุดเด่นตรงที่มีบ้านเรือนไทยโบราณกว่า 10 หลังคาเรือนตั้งอยู่รอบๆ
ชาวบ้านเล่าให้ฟังอีกว่า บ้านทรงไทยแต่ละหลังซึ่งข้างล่างเป็นใต้ถุนสูงจะอำนวยความสะดวกให้คนแต่ละหมู่บ้านในการทำบุญประเพณี ใต้ถุนบ้านแต่ละหลังที่ยกสูงจะจัดแต่งต่างกัน บางบ้านมีชิงช้าที่นำเชือกและไม้เป็นท่อนๆ มาผูกเชื่อมกัน บางเรือนก็มีอุปกรณ์ทำไร่ไถนา อุปกรณ์จับสัตว์พวกกุ้งหอยปูปลา ห้อยตามฝาบ้าน ซึ่งแสดงถึงวิถีชีวิตคนอีสานที่เวลาใช้อุปกรณ์พวกนี้เสร็จก็จะแขวนไว้ตามฝาผนังนอกบ้าน จะได้หยิบจับใช้สอยง่ายๆ ถ้าไม่ได้มาเห็นเครื่องมือเหล่านี้ยอมรับเลยว่าลืมไปแล้วบ้านเราก็เคยมีอุปกรณ์พวกนี้เหมือนกัน ยิ่งถ้าเป็นคนรุ่นใหม่ไม่แน่อาจจะไม่รู้จักเลย ที่นาอ้อจึงเป็นอีกหนึ่งแห่งที่ควรมาศึกษาวิถีชีวิตคนไทยสมัยก่อน
ส่วนตัวบ้านเรือนไทยทำมาจากวัสดุธรรมชาติเหมือนกัน แทบไม่น่าเชื่อตัวบ้านทำจากไม้ ส่วนหลังคาทำจากดิน ได้แต่คิดในใจว่าสมัยก่อนเราสร้างบ้านกันแบบง่ายๆ ยังอยู่ได้ สมัยนี้เปลี่ยนไปมาก ที่สำคัญชุมชนบ้านนาอ้อได้รับการยกย่องจากสภาวัฒนธรรมแห่งชาติให้เป็นหมู่บ้านวัฒนธรรมต้นแบบของ จ.เลย เมื่อปี 2542 ด้วย ก็เลยเป็นพื้นที่ให้คนแวะมาศึกษาดูงานอยู่บ่อยครั้ง
(นั่งรถซาเล้งทัวร์ชุมชนนาอ้อ)
พอพูดถึงการมาศึกษาดูงาน ที่นี่เขามีบริการรถซาเล้งให้นั่งไปชมหมู่บ้านเป็นกลุ่มๆ ได้ด้วย ค่าบริการแค่คนละ 10 บาท พาทัวร์หมู่บ้าน ชมบ้านเรือน และแวะจอดตามสถานที่สำคัญหรือสถานที่ที่เราอยากจะแวะ พวกเราได้แวะที่วัดศรีจันทร์ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่ เดิมชาวบ้านเรียกว่าวัดใหญ่บ้านนาอ้อ
คุณป้าขนิษฐา ทองน้วม นักสื่อความหมายชาวนาอ้อ เป็นผู้นำเสนอเรื่องราวของวัดศรีจันทร์ว่า ที่นี่มีเรื่องเล่าวีรกรรมของชาวนาอ้อด้วย เมื่อก่อนเป็นศูนย์กลางการศึกษาของสามเณร เพราะสมัยก่อนมีวัดเป็นโรงเรียน ถ้าย้อนอดีตลงไปไกลกว่านั้นวัดแห่งนี้เคยเป็นที่พักของกองทัพฝรั่งเศสที่ยกมาตีเมืองเลย ซึ่งพวกฝรั่งใช้ศาลาการเปรียญของวัดเป็นกองบัญชาการ เรื่องก็มีอยู่ว่า ชาวฝรั่งเศสได้เกลี้ยกล่อมให้ชาวบ้านเข้าร่วมเป็นพรรคพวก แต่ชาวบ้านไม่ยอมร่วมมือด้วย จนเมื่อกองกำลังราชการไทยยกเข้ามาตีชาวบ้านก็เลยลุกฮือต่อสู่กับทหารฝรั่งเศสจนทหารฝรั่งเศสเป็นฝ่ายแพ้
ไม่อยากจะเชื่อเลยว่าหมู่บ้านเล็กๆ จะมีวีรกรรมเรื่องราวสู้รบกับต่างชาติมหาอำนาจอย่างฝรั่งเศสด้วย แต่ก็ต้องเชื่อ เพราะคุณป้าได้นำหลักฐานสำคัญมาให้ดู ซึ่งก็คือ ที่เขี่ยบุหรี่ทองเหลืองที่เป็นของคนฝรั่งเศสทิ้งไว้ตอนนั้น ชาวบ้านเอามาเก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์ แต่ที่เห็นชัดที่สุดก็คือ ส้วมฝรั่งเศสที่ทำไว้ 2 ห้อง อยู่บริเวณหลังวัด ซึ่งรูปร่างหน้าตาไม่เหมือนห้องน้ำคนไทย ไม่เชื่อก็ต้องลองไปดูเองกับตา
ใกล้ๆ กับส้วมฝรั่งเศสหลังวัดจะเห็นเรือนไม้เก่าหลังหนึ่งยกใต้ถุนสูง เป็นพิพิธภัณฑ์ประภัศร์จันทโชติ หน้าพิพิธภัณฑ์มีหุ่นตายายนั่งจักสาน ตำหมาก เคี้ยวหมากอยู่เคียงข้างกัน บ่งบอกวิถีชีวิตคนเฒ่าคนแก่ในอดีต มีการจัดแสดงเครื่องใช้สำคัญในอดีต อย่างที่บอกไปก่อนหน้าว่ามีที่เขี่ยบุหรี่ทองเหลืองของฝรั่งเศส ซึ่งก็เก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์นี้ และก็มีเครื่องใช้อื่นๆ ตั้งแต่ หม้อ ไห อุปกรณ์ครัว กระต่ายขูดมะพร้าวโบราณ เครื่องพิมพ์ดีด ทีวีจอขาว-ดำ อุปกรณ์จับปลา ผ้าถุงผ้าซิ่น ฯลฯ คนที่ชอบดูของเก่าของโบราณจะต้องตื่นเต้นแน่นอน โดยรวมวัดนี้มีเอกลักษณ์อยู่อย่างหนึ่งที่เราสัมผัสได้คือ ในวัดไม่ได้บูรณะใหม่เลย แต่อาจมีซ่อมแซมส่วนที่ผุพังไปบ้าง ตั้งแต่โบสถ์ยันพิพิธภัณฑ์ยังคงความเก่าแก่ ซึ่งเราเองก็อธิบายไม่ถูก เอาเป็นว่าไม่ใช่แค่เก่า แต่เรากำลังจะบอกว่าวัดนี้มีความขลัง
ไม่เพียงเท่านั้น ที่ชุมชนนาอ้อก็มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวบ้านนับถืออีกแห่ง คือ ศาลเจ้าปู่คำแดง เป็นปูชนียสถานที่มีความศักดิ์สิทธิ์ตามความเชื่อของชาวบ้านนาอ้อ ครั้งที่เราไปเยือนได้ฟังเรื่องเล่าเกี่ยวกับความเชื่อของชาวบ้าน ทำเอาตื่นเต้นกันไปทั้งคณะเลย ชาวบ้านที่นี่เชื่อว่าหากคนไหนมีความทุกข์ทางใจก็จะมาบนบานศาลกล่าว นำตุ๊กตาช้าง ม้า วัว และควายมาบูชา ขอพร หรือถ้าเป็นในช่วงฤดูเพาะปลูก ประมาณช่วงพฤษภาคม จะมีบุญเลี้ยงบ้านประกอบพิธีกรรมขอฟ้าขอฝนและบนบานศาลกล่าวให้ศาลเจ้าปู่คำแดงปกปักรักษา นำโชคลาภมาสู่หมู่บ้านและชุมชน ช่วงเดือน 7 ก็จะมีบุญซำฮะบ้าน ตามประเพณีฮีต 12 ครอง 14 ของชาวอีสาน ใครไม่เคยเห็นบุญประเพณีนี้ชาวบ้านเขาก็เชิญชวนให้มาเยี่ยมเยือนได้ มีน้อยหมู่บ้านที่จะจัดงานนี้ ชาวบ้านเขาก็ไม่อยากให้คนหลงลืมบุญประเพณีสำคัญเลยจัดทุกๆ ปี และก็ยังมีเรื่องเล่าอีกมากมาย แต่รับรองว่าเป็นเรื่องน่าทึ่ง ตื่นเต้น ต้องไปฟังเอง
(หุ่นฟางช้างที่ในหลวง ร.9 และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ประทับทอดพระเนตรทัศนียภาพในอุทยานแห่งชาติภูกระดึง)
ตกบ่ายได้นั่งรถซาเล้งไปยังท้องนาเพื่อชมไฮไลต์ "หุ่นฟาง” เป็นแลนด์มาร์คแห่งใหม่ของชาวนาอ้อ ที่ร่วมกันทำประติมากรรมหุ่นฟางขึ้น โดยได้รับการสนับสนุนจาก อพท. เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวในชุมชน พอทำนาเกี่ยวข้าวเสร็จก็เอาฟางมาสร้างเป็นหุ่นรูปต่างๆ ตอนที่ไป มีหุ่นช้าง หุ่นควาย ปลา พญานาค ค่างแว่น หรือแม้แต่หุ่นรูปคนที่เป็นตัวแทนชาวนาอ้อ
(พญานาค สัญลักษณ์แห่งลำน้ำโขง ขยับตัวได้)
หุ่นทุกตัวไม่ได้สร้างขึ้นโดยไม่มีที่มาที่ไป แต่ละตัวมีความหมายทั้งนั้น อย่างปลา เขาทำเป็นปลาหลายชนิด ซึ่งเป็นตัวแทนปลาแม่น้ำโขง แม่น้ำสายหลักของอีสาน พญานาค ก็ทำเพราะว่าเป็นสัญลักษณ์แม่น้ำโขง หรือช้างก็เป็นสัญลักษณ์ช้างที่ในหลวง ร.9 เคยประทับเมื่อเสด็จฯ เลยในอดีต ใครมาถ้าได้ลอดใต้ท้องหุ่นช้างตัวนี้จะเสริมสิริมงคล ตามความเชื่อชาวบ้าน หุ่นบางตัวขยับได้ด้วย
(หุ่นฟางค่างแว่นถิ่นเหนือแห่งวัดถ้ำผาปู่ จ.เลย ขยับได้)
โดยหุ่นเหล่านี้จัดแสดงตั้งแต่เดือนมกราคม-เมษายน จะทำทุกปี เป็นอีกหนึ่งสถานที่ท่องเที่ยวระหว่างทางบนถนนเลย-เชียงคาน ยิ่งเป็นช่วงบ่ายๆ ใกล้เย็นบรรยากาศจะดีมากๆ ไม่ร้อน หรือถ้าฤดูหนาวก็จะได้บรรยากาศลมหนาวกลางทุ่ง และจะเหมาะมากๆ ถ้าได้ข้าวจี่ชุบไข่ร้อนๆ เสียบไม้ อาหารบ้านๆ ของชาวนาอ้อและคนอีสาน
พอตกเย็น ลองใช้ชีวิตอีกสักคืนที่ชุมชนนาอ้อ ด้วยการค้างโฮมสเตย์กับชาวบ้านซึ่งล้อมวงทำพิธีบายศรีสู่ขวัญให้กับคนต่างถิ่นที่แวะมาเยือน กินอาหารค่ำกับเมนูท้องถิ่น ส้มตำ ต้มยำ น้ำพริก ชมการแสดงพิเศษที่ชาวบ้านเตรียมไว้ให้ รับรองว่าสุขใจจนลืมความวุ่นวายที่เคยพบเจอมาเลย.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |