เสวนา “ฝ่าวิกฤตโรคพิษสุนัขบ้า” ชี้ภาครัฐตื่นตัวมากขึ้น แต่สัตว์กลับเป็นโรคมากขึ้น สาเหตุหลักมาจากการให้วัคซีนไม่ทั่วถึง ทำได้แค่60% ของประชากรสัตว์ หนำซ้ำเจอวัคซีนตกมาตรฐานอื้อ เตรียมแก้กม.ให้กรมวิทย์ฯตรวจสอบคุณภาพวัคซีนสัตว์ที่นำเข้า ก่อนขึ้นทะเบียนในไทย
ที่จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย มีการเสวนาเรื่อง “ฝ่าวิกฤตโรคพิษสุนัขบ้า” โดยมี ศ.สพ.ญ.ดร.สันนิภา สุรทัตต์ รองคณบดีนโยบายและแผน และอาจารย์ประจำภาควิชาจุลชีววิทยา คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ สพ.ญ.เบญจวรรณ สิชฌนาสัย ผอ. สำนักงานสัตวแพทย์สาธารณสุข สำนักอนามัย กกม. น.สพ.วีระ เทพสุเมธานนท์ อดีตผู้ทรงคุณวุฒินายสัตวแพทย์ สถานเสาวภา สภากาชาดไทย และคุณบุญโฮม แสนเมืองชิน ผู้แทนกลุ่มสานสายใยชีวิต SOS ร่วมกันเสวนา
ศ.สพ.ญ.ดร.สันนิภา กล่าวว่า โรคพิษสุนัขบ้าเป็นโรคที่พบในประเทศไทยมาตลอด เกิดจากการสัมผัสหรือถูกกัดจากสัตว์ที่เป็นพาหะ โดยเชื้อกว่า 90% เกิดจากสุนัข ซึ่งช่วงนี้ได้กลับมาเป็นที่สนใจของประชาชน เพราะตั้งแต่ต้นปีมีผู้เสียชีวิตจากโรคดังกล่าวแล้ว 4 คน และในช่วง3-4 ปีนี้ที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2557-2560 จากข้อมูลของกรมปศุสัตว์พบว่ามีการกระจายตัวในวงกว้าง โดยเฉพาะในภาคใต้สูงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งการที่พบเชื้อมากขึ้น อาจเป็นเพราะการายงานในสื่อโซเชียลที่รวดเร็ว ทำให้เกิดการตื่นตัว ซึ่งแม้ว่าโรคจะมีความรุนแรงแต่สามารถป้องกันได้ด้วยการให้วัคซีน โดยในประเทศไทยค่อนข้างให้ความสำคัญในการป้องกันโรคโดยการให้วัคซีนต่อเนื่องแก่สุนัขทุกปี แต่จากข้อมูลปีที่ผ่านๆมาพบว่า ภาครัฐจะมีการให้วัคซีนแก่สุนัข 10 ล้านโดส ต่อประชากรสุนัขทั่วประเทศที่มีประมาณ 10 ล้านตัว แต่กลับได้ใช้วัคซีนเพียงปีละ 5-6 ล้านโดส และ บางตัวได้รับเกิน 1 เข็ม ทำให้มีประชากรสุนัขได้รับวัคซีนเพียง 30-50 % เท่านั้น จึงเป็นสาเหตุที่ว่าทำไมมีการให้วัคซีนทุกปีแต่กลับพบเชื้อมากขึ้น โดยจากข้อมูลการระบาดวิทยาระบุว่าการที่จะควบคุมโรคได้ สุนัขต้องได้รับวัคซีน 70% ของประชากรทั้งหมด อย่างไรก็ตาม ได้มีการเสนอให้มีการเพิ่มวัคซีนเป็น 20 โดส แต่ก็ได้รับการทักท้วงจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) แต่ในที่สุดกระทรวงมหาดไทยก็มีการออกกฏหมายออกมาว่าสามารถจัดซื้อจัดจ้างได้ อย่างไรก็ตาม แม้ว่าความตื่นตัวในระดับประเทศจะดีขึ้น แต่ก็ยังพบวิกฤติ เพราะในปี 2559 อย.ได้มีการเรียกคืนวัคซีนที่ไม่ได้มาตรฐานจำนวน 3 ล้านโดส
ศ.สพ.ญ.ดร.สันนิภา กล่าวอีกว่า ในการพบเชื้อพิษสุนัขบ้าในสุนัขที่ตายและถูกส่งมาตรวจในห้องปฏิบัติการ พบว่าตั้งแต่ปี 2557-2560 มีอุบัติการณ์เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ปี 2557พบ 250 ตัว ปี2558 พบ 330 ปี 2559 พบ ตัว 617 ตัว และปี2560 พบ 846 ตัวตามลำดับ และในปี 2561 ผ่านมาเกือบ 3 เดือน พบแล้ว 347 ตัว ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าประชากรสุนัขเพิ่มมากขึ้น แต่การให้วัคซีนยังไม่ทั่วถึง อีกทั้ง ยังพบปัญหาวัคซีนมีภูมิคุ้มกันต่ำกว่ามาตรฐาน ดังนั้น จึงควรมีการระดมการให้วัคซีนแก่สุนัขจรจัดก่อน โดยสุนัขที่มีเจ้าของเคยได้รับวัคซีนแล้ว เจ้าของก็ไม่ควรตื่นตระหนกจนรีบนำสุนัขไปฉีด รอไปก่อนได้จนกว่าสัตวแพทย์จะนัดไปฉีดซ้ำแลภาครัฐก็ควรให้ความสำคัญในการจัดหาวัคซีนที่ได้มาตรฐานและฉีดป้อกันในสุนัขให้ได้ตามสัดส่วนที่สามารถป้องกันโรคได้
สพ.ญ.เบญจวรรณ กล่าวว่า หากดูสถานการณ์ย้อนหลังในเขต กทม. พบว่าสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ เพราะตั้งแต่ปี 2554 เริ่มไม่มีผู้เสียชีวิตมีเพียงปี 2555 และ 2559 ที่มีผู้เสียชีวิตปีละ 1 คน หลังจากนั้นก็ยังไม่พบผู้เสียชีวิต แต่จากกระแสข่าวว่าพบผู้ติดเชื้อเสียชีวิต 6 ราย นั้นไม่เป็นความจริง เพราะ 6 รายนั้น คือ พบในสัตว์ไม่ใช่คน และจากปี 2552 -2561 ในภาพรวมของประเทศที่พบสุนัขติดเชื้อถึงปีละ 500- 600 ตัวนั้น กทม.พบเพียง 20-30 ตัว เพราะมีการดำเนินการป้องกัน โดยมีทีมเฝ้าระวังและสอบสวนโรคพิษสุนัขบ้าเคลื่อนที่เร็วลงไปฉีดวัคซีนแก่สุนัขและแมวจรจัดใน 50 เขต แบ่งเป็น 10 วันทำการ ลงไปวันละ 50 จุด 10 วัน ก็เป็น 500 จุดทั่ว กทม. โดยมีการดำเนินการตั้งแต่ มี.ค.- ก.ย 60 และมีการทำหมันในสุนัขและแมวจรจัดทุกตัวทั้งเพศผู้เพศเมียทั้งที่มีเจ้าของและไม่มีเจ้าของ เพื่อลดประชากร โดยมีการทำหมันปีละ 2-3 หมื่นตัว
ส่วนสัตว์ที่พบว่ามีการสัมผัสเชื้อและสงสัยว่าจะติดเชื้อ ก็จะนำส่งสถานควบคุมและพักพิงสุนัขเพื่อให้การดูแลจนกว่าจะหมดอายุขัยตามที่มีประชาชนร้องขอ โดยไม่ต้องมีการทำลายเพราะหากติดเชื้อสุนัขก็จะตายไปเองภายใน 10 วัน ซึ่งจากการดูสถิติย้อนหลัง ที่มีการทำลายสุนัขเพื่อตัดวงจรโรคก่อนที่จะมีการดำเนินการด้วยวีดังกล่าว พบว่าไม่ได้ทำให้อุบัติการณ์ของโรคลดลงได้ หากเป็นการทำหมันจะสามารถลดประชากรใหม่ และตัวที่ทำหมันเวลาผ่านไปก็จะตายไป ก็จะลดการเกิดโรคให้น้อยลงไปด้วย อย่างไรก็ตามในแต่ละปีในพื้นที่ที่มีการระบาดของ กทม.จะไม่ซ้ำกัน อาจเป็นเพราะในกทม. มีการเปลี่ยนแปลงของประชากรตลอดเวลา
น.สพ.วีระ กล่าววว่า ปัจจุบันทั่วประเทศมีห้องปฏิบัติการเพื่อตรวจหาข้อมูลการระบาดวิทยาของเชื้อพิษสุนัขบ้าที่ตายแล้วทั้งหมด 24 แห่งกระจายทั่วประเทศ ในกทม.มี 2 แห่ง ที่สถานเสาวภา และสถาบันสุขภาพแห่งชาติ กรมปศุสัตว์ โดยหากมีสัตว์ตายหรือสงสัยว่าติดเชื้อพิษสุนัขบ้าสามารถส่งตรวจได้ ส่วนภูมิภาคสามารถส่งซากสัตว์ให้แก่ปศุสัตว์จังหวัดให้นำไปตรวจสอบ หากสุนัขเกิดอาการป่วย แต่ไม่มีอาการซึมเศร้ามาก่อน และเกิน 10 วันยังไม่ตาย ให้สงสัยไว้ก่อนว่ายังไม่มีการติดเชื้อสุนัขบ้า.
ด้าน ดร.สุภาพร ภูมิอมร ผอ.สถาบันชีววัตถุ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงกรณีมีการเปิดเผยข้อมูลว่าสาเหตุที่โรคพิษสุนัขบ้าระบาดน่าจะมีสาเหตุจากวัคซีนไม่ได้มาตรฐาน โดยเฉพาะเมื่อปี 59-60 ถูกสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เรียกคืน3 ล็อต ว่า ที่ผ่านมาไม่มีกฎหมายบังคับให้เราต้องตรวจสอบวัคซีนในสัตว์ โดยเชื่อใบรับรองจากประเทศต้นทาง จนเกิดเหตุว่าพ่อค้าสุนัขที่ตลาดนัดจตุจักร เกิดติดเชื้อพิษสุนัขบ้าทั้งๆ ต้องมีการฉีดวัควีนป้องกันพิษสุนัขบ้าก่อนขายให้ลูกค้า รวมถึง มีการติดเชื้อในแถบภาคเหนือทำให้เกิดข้อสงสัยเรื่องคุณภาพวัคซีน กรมวิทย์ฯ เลยร่วมมือกับอย.และกรมปศุสัตว์ ทำการสำรวจคุณภาพของวัคซีนใน 17 จังหวัดภาคเหนือ ซึ่งมีวัคซีนนำเข้าจากบริษัทต่างประเทศ 7-8 แห่ง ก็พบว่ามีวัคซีนจาก 1 บริษัทที่ที่ไม่ได้มาตรฐาน จึงส่งเรื่องให้อย.เรียกคืน ซึ่งได้ส่งเข้ามา 5 ล็อต ซึ่งอย.ก็ต้องเรียกคืนทั้งหมด ส่วน 3 ล็อตที่เป็นข่าวว่าถูกเรียกคืนในปี 59-60 นั้น ก็เป็นล็อตที่เราตรวจเจอในครั้งนั้น ซึ่งหลังจากนั้นก็มีการตรวจสอบเข้มข้นขึ้น และอย.กับกรมวิทย์ฯ กำลังคุยกันว่าจากนี้ อย.จะมีการออกกฎหมาย หรือออกเป็นประกาศเพื่อให้อำนาจกรมวิทย์ฯ ในการตรวจสอบคุณภาพวัคซีนในสัตว์ ก่อนจะอนุญาตขึ้นทะเบียนในไทย จากเดิมที่เราไม่มีอำนาจ.
-------------------------