พระราชวังหลวงพระบางและบาร์ฮังกาเรียน


เพิ่มเพื่อน    

 

            วิถีการนอนกลางวัน หรือเซียสตา (Siesta) ของชาวละติน ที่นอกจากจะถือปฏิบัติกันในละตินยุโรปและลามไปถึงละตินอเมริกาแล้วก็ยังคงตกค้างอยู่ในอดีตประเทศอาณานิคมของละตินยุโรปกระทั่งทุกวันนี้ เพราะไม่มีใครต้องการยกเลิก หากมีการทำประชามติรับรองว่าผ่านเกิน 90 เปอร์เซ็นต์ อีกทั้งในทางการแพทย์ก็ยืนยันแล้วว่ามีประโยชน์ต่อร่างกายหลายประการ

                 อดีตประเทศอาณานิคมชาติละติน (กลุ่มชาติละตินหลักๆ ประกอบด้วย ฝรั่งเศส อิตาลี สเปน และโปรตุเกส) ใกล้ๆ บ้านเราอย่างลาวและเวียดนามยังคงมีธรรมเนียมการพักเที่ยงยาวๆ กันอยู่เพื่อให้พลเมืองได้กินมื้อเที่ยงต่อด้วยการงีบหลับ ทำให้สถานที่ท่องเที่ยวต้องปิดกลางวันประมาณ 2 ชั่วโมง (ยกเว้นศูนย์เก็บกู้ระเบิดแห่งหลวงพระบาง หรือ UXO Visitor Centre ที่ผมเพิ่งเดินออกมา)


หอพิพิธภัณฑ์พระราชวังหลวงพระบาง

                 หลังจากพลาดการเข้าเยี่ยมชมเมื่อวานนี้ เพราะเผลอไปนำวิถีเซียสตามาใช้กับตัวเองจนไปตื่นเอาบ่ายแก่ ผมก็หมายมั่นว่ายังไงเสียวันนี้ต้องเข้าหอพิพิธภัณฑ์พระราชวังให้ได้ พรุ่งนี้คงต้องลาหลวงพระบางไปเมืองหนองเขียวเสียที เสร็จมื้อเที่ยงไม่ห่างจากศูนย์ UXO ผมก็เดินฝ่าแดดร้อนราว 1 กิโลเมตร ไปยังเขตเมืองเก่าหลวงพระบาง แต่ยังไม่ถึงเวลาพิพิธภัณฑ์เปิดรอบบ่าย 13.30 น. จึงแวะ Joma Bakery Cafe ใกล้ๆ สี่แยกที่ทำการไปรษณีย์หลวงพระบาง ดื่มกาแฟแก้วที่ 2 ของวัน

                 คาเฟ่ชื่อเดียวกันนี้มีอยู่อย่างน้อย 2 แห่งในหลวงพระบาง พายฟักทองคงเป็นเบเกอรี่ขึ้นชื่อ เพราะเป็นเมนูแนะนำอยู่ในแผ่นพับตั้งโต๊ะ แต่ผมดื่มแค่เอสเปรซโซ่ช็อตเดียว ราคาแก้วละ 14,000 กีบ หรือประมาณ 50 บาท หากเพิ่มเป็นดับเบิลช็อตราคาไม่ได้ดับเบิลตาม แต่จ่ายเพียง 17,000 กีบ นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินเข้า-ออกร้านนี้ไม่ขาดระยะ โต๊ะชั้นล่างเต็มก็ขึ้นไปชั้น 2

                ผมรอจนได้เวลาก็ออกเดินไปหอพิพิธภัณฑ์พระราชวัง ซื้อตั๋วหน้าประตู 30,000 กีบ หรือประมาณ 110 บาท แล้วเดินไปทางซ้ายมือ ผ่านรูปปั้นขนาดใหญ่ของเจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวงศ์ไปยังโรงละครพะลักพะลาม (พระลักษณ์-พระราม) เพื่อฝากกล้องถ่ายรูปในล็อกเกอร์ตามกฎของพิพิธภัณฑ์ เจ้าหน้าที่ในนี้ไม่ค่อยสนใจว่าใครจะทำอะไร คงเพราะเซียสตามาไม่เต็มอิ่ม

                จากนั้นเดินผ่านสระน้ำและลานหญ้าไปยังหอพิพิธภัณฑ์หรือหอคำ ซึ่งในอดีตก็คือพระราชวังหลวงพระบาง เป็นอาคารชั้นเดียว แต่ยกพื้นสูง ตัวอาคารเป็นคอนกรีตแบบโคโลเนียล หลังคาเป็นแบบล้านช้าง บริเวณหน้าประตูปูหินอ่อนจากอิตาลี สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2477 ในสมัยเจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวงศ์ และสิ้นสุดการเป็นบรมมหาราชวังลงในยุคเจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวัฒนา เท่ากับมีสถานะเป็นวังหลวงอยู่เพียง 2 รัชกาล เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาสู่ระบอบคอมมิวนิสต์ พระราชวังก็กลายเป็นพิพิธภัณฑ์

                ผู้เข้าเยี่ยมชมต้องถอดรองเท้าวางไว้บนชั้นวางข้างๆ ประตู ส่วนใครที่สวมหมวกก็ต้องถอดออกเสียก่อน แล้วเดินอ้อมทางซ้ายไปผ่านเจ้าหน้าที่ให้ตอกรูลงบนตั๋ว นึกว่าจะหมดขั้นตอนแล้ว แต่ยังต้องผ่านการสแกนบาร์โค้ดในตั๋วอีกชั้นหนึ่ง

                ห้องฟังธรรมของเจ้ามหาชีวิตคือห้องแรก มีพระพุทธรูปจำนวนหนึ่ง รวมถึงธรรมาสน์ของพระสังฆราช ด้านหลังเป็นท้องพระโรง แต่ยังเดินเข้าไปไม่ได้ ทางเดินบังคับให้ไปทางขวามือแล้วจึงวนซ้ายต่อไปเรื่อยๆ ห้องโถงใหญ่ที่เลี้ยวไปเจอคือห้องรับรองราชอาคันตุกะ ตามผนังมีภาพเขียนขึ้นไปจนถึงเพดาน แสดงกิจกรรม วิถีชีวิต การจ่ายตลาด วัฒนธรรมประเพณีของคนลาว รวมถึงรูปขบวนเจ้ามหาชีวิตเสด็จไปสรงน้ำพระที่วัดเชียงทองและวัดใหม่สุวันนะพูมาราม เป็นภาพเขียนแนวอิมเพรสชั่นนิสต์ เขียนโดยจิตรกรชาวฝรั่งเศส มีไอเดียเก๋ไก๋เป็นอย่างยิ่ง ออกแบบให้แสงที่ส่องเข้ามาในตอนเช้าตกต้องผนังฝั่งที่แสดงวิถีชีวิตในช่วงเช้า แสงที่เข้ามากระทบผนังในช่วงเย็นก็แสดงวิถีชีวิตตอนเย็น นอกจากนี้ยังมีรูปปั้นครึ่งพระองค์ของเจ้ามหาชีวิตลาว 4 พระองค์ และภาพรามเกียรติ์ปิดทองเคลือบเงาจากศิลปินลาว


 สระน้ำภายในพระราชวังหลวงพระบาง

                จากนั้นเป็นท้องพระโรง เป็นห้องที่มีขนาดใหญ่สุด มีบัลลังก์หรือราชอาสน์ เครื่องราชกกุธภัณฑ์ ผนังและเพดานพื้นเป็นสีแดง ประดับด้วยกระเบื้องโมเสครูปต่างๆ ทั้งการเสด็จบนหลังช้างของพระมหากษัตริย์ วิถีชีวิต ประเพณีของชาวลาว ภาพแข่งเรือก็มี นอกจากนี้ยังประดิษฐานพระพุทธรูปขนาดเล็กจำนวนมาก ส่วนใหญ่ระบุไว้ว่านำมาจากวัดที่ถูกทำลาย

                ออกจากท้องพระโรงวนซ้ายไปจะพบภาพมหาเวสสันดรชาดก พร้อมคำบรรยาย เว้นระยะห่างแต่ละภาพ จนครบ 16 ภาพ เมื่อเดินวนจนสุดพื้นที่ส่วนพระองค์ที่อยู่ทางซีกหลังของพระราชวัง อันประกอบไปด้วยห้องประทับ ห้องบรรทมของพระราชินี ห้องบรรทมของเจ้ามหาชีวิต ซึ่งเตียงสูงกว่าปกติ เก้าอี้ก็สูงกว่าปกติ เพราะเจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวัฒนา กษัตริย์พระองค์สุดท้ายของลาวมีพระวรกายสูงใหญ่ จากนั้นเป็นห้องบรรทมของพระโอรส-พระธิดา แต่ได้กลายเป็นห้องเก็บเครื่องดนตรี เครื่องแต่งกายนางแก้วและเครื่องเล่นแผ่นเสียงโบราณ ตั้งแต่พระราชวังถูกเปลี่ยนเป็นพิพิธภัณฑ์เมื่อปี ค.ศ.1976  

                ส่วนที่ติดผนังทางด้านขวามือตั้งเรียงกันไปคือ ศิลาจารึกจำนวนหลายหลัก เก่าแก่สุดระบุคริสต์ศตวรรษที่ 7 จารึกเป็นภาษาลาวโบราณ และยังมีส่วนแสดงภูษาอาภรณ์ เครื่องประดับ เหรียญตราต่างๆ ฯลฯ

                ถัดจากห้องเสวยก็มาถึงห้องรับรองราชอาคันตุกะของพระนางคำผูย พระราชินีองค์สุดท้ายของลาว มีภาพเขียนขนาดใหญ่ของเจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวัฒนา พระนางคำผูย และเจ้าฟ้าชายวงศ์สว่าง เขียนโดย “อิลยา กลาซูนอฟ” ศิลปินใหญ่ชาวรัสเซีย ผมได้ยินไกด์ชาวลาวพูดภาษาอังกฤษกับลูกทัวร์ของเขา (ทัวร์เดี่ยว) ว่าภาพเขียนเจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวัฒนามีความคล้ายภาพเขียนโมนาลิซาของดาวินชี นั่นคือพระเนตรจะมองมาที่ผู้ชมไม่ว่าจะขยับไปทางไหน และที่พิเศษมากคือปลายพระบาทข้างซ้ายก็จะชี้มาที่ผู้ชมไม่ว่าจะเดินไปทางไหนเช่นกัน ผมแอบฟังแล้วลองขยับไปทางซ้ายก็เห็นว่าปลายพระบาทขยับตามมาจริงๆ

                ห้องสุดท้ายก่อนจะวนออกสู่ประตูทางเข้าเป็นห้องเก็บของที่ระลึกจากผู้นำต่างชาติหลายประเทศ รวมถึงไทย ผมมาอ่านข้อมูลในอินเทอร์เน็ตภายหลังทราบว่ามีการแบ่งสิ่งของเหล่านี้เป็นกลุ่มประเทศสังคมนิยมและกลุ่มประเทศประชาธิปไตย

                ด้านหลังของหอพิพิธภัณฑ์มีอาคารเก็บราชพาหนะ เดินเข้าไปดูมี Sea Horse 35, Lincoln Continental 2 คัน, Edsel, Jeep, Citroen, โมเดลของราชรถ นอกจากนี้ก็มีราชรถอยู่ด้านนอก 2 องค์

                ผมเดินกลับไปยังหอพระลักษณ์พระรามเพื่อรับกล้องถ่ายรูปคืน แล้วเดินไปยังหอพระบาง ซึ่งอยู่ทางด้านขวามือของประตูใหญ่ ภายในประดิษฐานพระบาง พระพุทธรูปทองคำปางห้ามสมุทร พระคู่บ้านคู่เมืองหลวงพระบาง และเป็นที่มาของชื่อเมืองหลวงพระบาง จากก่อนหน้านั้นชื่อเมืองเชียงทอง


 หอพระบาง ประดิษฐานพระบาง พระคู่บ้านคู่เมืองหลวงพระบาง

                ตำนานมีว่าสร้างขึ้นในอินเดียเมื่อเกือบ 2,000 ปีก่อน ไปประดิษฐานอยู่ที่ศรีลังหา และมาสู่การครอบครองของอาณาจักรขอม ก่อนจะถวายให้เจ้าฟ้างุ้มกษัตริย์องค์แรกของล้านช้าง ผู้มีมเหสีเป็นพระญาติกับกษัตริย์ขอม เพื่อให้ล้านช้างได้ชื่อว่าเป็นชาติที่นับถือพุทธศาสนา ราชอาณาจักรสยามเคยได้นำมาไว้ที่กรุงเทพฯ แต่ก็ต้องมอบกลับคืนแก่ลาวด้วยอาถรรพ์บางอย่าง

                ใกล้จะ 4 โมงเย็นแล้ว ตอนที่ผมเดินออกมาจากพิพิธภัณฑ์ แต่ก็ยังแวะดื่มกาแฟแก้วที่ 3 ของวันที่ร้าน Indigo Café เพราะว่าตั้งใจจะกลับที่พักไปเขียนคอลัมน์ส่งกองบรรณาธิการไทยโพสต์ ลาเต้ร้อนเป็นกาแฟที่อ่อนฤทธิ์ลงไปหน่อย เพราะมีนมมาแบ่งเบา เหมาะกับการดื่มต่อจากแก้วก่อนหน้าที่เว้นระยะไม่นาน

                ทว่าเมื่อกลับไปถึงที่พักโปรแกรมเวิร์ดในคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กกลับมีปัญหา ต้องขอความช่วยเหลือจากเพื่อนที่กรุงเทพฯ ผู้ชำนาญด้านไอที เขาส่งลิงค์มาให้ พอคลิกเข้าไปก็จะปรากฏหมายเลขเครื่อง ถ่ายรูปส่งไลน์กลับไปให้ เขาก็จัดการแก้ไขปัญหาจากทางไกลที่เรียกว่า “รีโมต” เคอร์เซอร์วิ่งไปวิ่งมาบนจอที่หลวงพระบางจากการควบคุมสั่งการอยู่ที่กรุงเทพฯ ผมรู้สึกว่าอยู่ในโลกล้ำยุคเหมือนหนังไซไฟ ทั้งที่ในแวดวงคนใช้คอมพิวเตอร์ถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา 

                อย่างไรก็ตาม เพื่อนของผมได้เวลาเลิกงานและขอเวลาไปทำต่อที่บ้าน ขับรถประมาณ 45 นาที และกว่าจะแก้ปัญหาเสร็จก็ปาเข้าไปทุ่มครึ่ง นอกจากปรากฏอาการหิวแล้ว อาการขี้เกียจชัดเจนกว่า ตัดสินใจว่ายกยอดไปเขียนวันพรุ่งนี้ทันทีที่ถึงเมืองหนอกเขียว

                หลังกินไก่เกาหลีและมันทอดตรงตลาดใกล้ 4 แยกที่ทำการไปรษณีย์แล้วก็ล้วงเงินหยวนออกมาแลกเป็นเงินกีบเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับคืนนี้ ด้วยเกรงจะมีคนหาว่าคนไทยไม่รักษาคำพูด


 เจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวงศ์ทอดพระเนตรไปทางหอพระบาง

                Icon Klub ตั้งอยู่ตรงตีนเขาทางขึ้นพูสีฝั่งตะวันออก ใกล้ๆ สี่แยกที่ถนนสีสะหว่างวงส่งไม้ต่อให้กับถนนสักกะลิน เจ้าของร้านจำผมได้ทั้งที่ไม่เคยใช้บริการ วานนี้ผมบอกเธอว่าลงจากพระธาตุจอมสีแล้วจะแวะมาดื่ม แต่ผมผิดสัญญา เพราะร่างกายล้าเกินไป

                ลูกค้ายังไม่มีแม้แต่คนเดียวตอนที่ผมเดินเข้าร้าน เจ๊ฮังกาเรียน (ลิซ่า) ถามว่าจะดื่มอะไร ผมถามหาซิงเกิลมอลต์ เธอตอบว่ามี Talisker ผมจึงสั่งทันที และนี่คือวิสกี้แก้วแรกนับตั้งแต่ออกจากเมืองไทย เจ้าซิงเกิลมอลต์จากเกาะสกายในสกอตแลนด์ตัวนี้นุ่มละมุนและมีกลิ่นถ่านหินเลนหรือ “พีท” กำลังดี เป็นหนึ่งในซิงเกิลมอลต์ที่ผมชอบที่สุด ลิซ่าเสิร์ฟพร้อมช็อกโกแลตเค้กชิ้นเล็ก ผมเพิ่งทราบว่า Talisker ต้องกินคู่กับช็อกโกแลตเค้ก ซึ่งเข้ากันได้ดีอย่างเหลือเชื่อ แต่คำหลังๆ เริ่มเลี่ยน สุดท้ายหมดแต่วิสกี้ เค้กเหลือ  

                ลองหยิบเมนูมาเปิดดูเครื่องดื่มตัวอื่น ก็เห็นราคา Talisker ระบุ 90,000 กีบ หรือประมาณ 350 บาท ถือว่าไม่เบาเหมือนกัน หันไปมองบนชั้นวางขวดเครื่องดื่ม เห็นซิงเกิลมอลต์อีกตัวคือ Auchentoshan แต่ผมขอเปลี่ยนสายไปเป็นเบอร์เบิน เพราะลิซ่าโฆษณาว่านอกจากค็อกเทลแล้วอีกอย่างที่เธอเชี่ยวชาญคือเบอร์เบิน ผมสั่ง Woodford Reserve มาดื่มต่อ แล้วถามลิซ่าว่าไม่ดื่มหรือ? เธอตอบว่ากำลังจะวิ่งมาราธอนในอีกไม่กี่วันข้างหน้า ช่วงนี้จึงงดดื่ม แต่เมื่อคุยกันไปได้สักพัก ผมยกแก้วขึ้นพูดกับเธอว่า “เอเกเชเกเดร” ซึ่งเป็นภาษาฮังกาเรียน หมายถึง Cheers เธอก็อดใจไม่ไหว รินบางอย่างลงแก้วแล้วยื่นมาชนกับผม

                ลิซ่าพบรักกับหนุ่มลาวเมื่อยี่สิบกว่าปีก่อนในกรุงบูดาเปสต์ เธอตามแฟนหนุ่มมายังหลวงพระบาง มีลูกสาวด้วยกัน 1 คน ก่อนจะแยกทางกันในอีกไม่กี่ปีต่อมา หมดรักกับหนุ่มลาว แต่หลงรักหลวงพระบางแทน เธออยู่ยาวจนกระทั่งเดี๋ยวนี้ กลับไปเยี่ยมฮังการีปีละ 2 ครั้ง ขณะนี้ลูกสาวของเธอกำลังเรียนมหาวิทยาลัยที่กรุงบูดาเปสต์ โดยก่อนนี้ในระดับประถมเรียนในหลวงพระบาง และมัธยมเรียนที่เวียงจันทน์

                เธอเริ่มวิ่งเมื่อ 3-4 ปีที่ผ่านมา ตอนที่อายุเลยเลข 4 มาแล้ว เป็นการวิ่งเพื่อสุขภาพก่อนจะขยับมาเป็นเรื่องจริงจัง นั่นคือการเข้าร่วมในมินิมาราธอน และกำลังจะวิ่งฮาล์ฟมาราธอน 21 กิโลเมตร บนถนนในหลวงพระบางแห่งนี้

                “การวิ่งมาราธอนทำให้ฉันรู้ศักยภาพของร่างกายว่ามีมากกว่าที่เคยคิด และสามารถขยายลิมิตมันออกไปได้” ลิซ่าพิสูจน์มาแล้ว

                บทสนทนาข้ามเคาน์เตอร์บาร์ของเราลื่นไหลอยู่อีกเป็นชั่วโมง กว่าจะมีลูกค้าคนที่ 2 เดินเข้ามา. 

แกลลอรี่


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"