ถึงเวลาปรับรูปแบบการทำงานด้านเศรษฐกิจของรัฐบาล “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีให้เข้มข้นมากยิ่งขึ้น หลัง “บิ๊กตู่” รับฟังการรายงานสภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่ 3 ของปี 2562 และแนวโน้มปี 2562-2563 จากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช. ที่รายงานต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 19 พ.ย.ที่ผ่านมา
โดยผลการรายงานผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือจีดีพี ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2562 ขยายตัวร้อยละ 2.4 และโดยรวม 9 เดือนแรกของปี 2562 เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ร้อยละ 2.5 แต่ทั้งนี้ด้านการใช้จ่ายถึงแม้จะมีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวในเกณฑ์ดีของการบริโภคภาคเอกชน และการเร่งตัวขึ้นของการลงทุนภาคเอกชนและการใช้จ่ายของรัฐบาล แต่ในขณะเดียวกันปริมาณการส่งออกสินค้ากลับลดลงตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และมีผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้า
โดยการส่งออกสินค้ามีมูลค่า 63,295 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทรงตัวเทียบกับการลดลงร้อยละ 4.2 ในไตรมาสก่อนหน้า มีปริมาณการส่งออกลดลงร้อยละ 0.4 และราคาส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.4 โดยกลุ่มสินค้าส่งออกที่มูลค่าลดลง เช่น ข้าว ลดลงร้อยละ 35.1 มันสำปะหลัง ลดลงร้อยละ 27.3 ยางพาราลดลงร้อยละ 3.9 เป็นต้น ขณะที่ด้านการผลิตสาขาการขายส่ง การขายปลีก และการซ่อม สาขาก่อสร้าง และสาขาไฟฟ้า ก๊าซ ชะลอตัวลงจากไตรมาสก่อนหน้า ส่วนสาขาอุตสาหกรรมปรับตัวลดลงต่อเนื่อง แต่ทั้งนี้เสถียรภาพทางเศรษฐกิจยังอยู่ในเกณฑ์ดี
อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่าในที่ประชุม ครม.เมื่อวันที่ 19 พ.ย. มีรัฐมนตรีหลายคนได้แสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะหลังจากรับฟังรายงานด้านเศรษฐกิจของ สศช. โดยมองว่าการพัฒนาด้านเศรษฐกิจของประเทศควรจะเพิ่มเติมไปที่เศรษฐกิจฐานราก คือผู้มีรายได้น้อยด้วย เช่น การดูแลภาคเกษตรกรเพิ่มขึ้น ดูแลในส่วนของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือเอสเอ็มอี รวมถึงกลุ่มเอสเอ็มอีรายย่อย หรือไมโครเอสเอ็มอี ก็ต้องดูแล เพราะทุกระดับต้องไปด้วยกันหมด ขณะที่นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ ได้เสนอเรื่องการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ เพราะมองว่าที่ผ่านมาเราพึ่งการส่งออกเยอะ
และจากข้อเสนอแนะของ ครม. “บิ๊กตู่” จึงมองว่า สิ่งที่ต้องเร่งขับเคลื่อนในเวลานี้คือเศรษฐกิจภายในประเทศ ที่เราต้องเน้นการพึ่งพาตัวเองมากขึ้น ไม่ใช่พึ่งพาแต่เพียงการส่งออกเท่านั้น และที่สำคัญต้องลงไปถึงเศรษฐกิจฐานราก อย่างเช่นการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ เพื่อให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยในประเทศ อย่างมาตรการ “ชิมช้อปใช้” ทั้ง 3 เฟส ที่รัฐบาลดำเนินการ และจากนี้จะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาอีกเรื่อยๆ
ขณะเดียวกัน “บิ๊กตู่” ในฐานะหัวหน้าทีม “ครม.เศรษฐกิจ” ยังสั่งการให้ทีมเศรษฐกิจพัฒนาปรับปรุงการทำงาน เพื่อให้ครอบคลุมในหลายๆ มิติ รวมถึงทุกกระทรวงให้เสนอแนวทางต่างๆ เพื่อร่วมกันทำให้เศรษฐกิจไตรมาสสุดท้ายของปีดีขึ้น โดยมองว่าทีมเศรษฐกิจที่ผ่านมาอาจเน้นงานมหภาคเยอะ จากนี้ควรลงมาที่เศรษฐกิจฐานราก และสั่งให้นำข้อคิดเห็นของ ครม.ทั้งหมดไปปรับรูปแบบการทำงานของทีมเศรษฐกิจเพิ่มเติม ต้องมีความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ และให้กางแผนงานในภาพรวม รวมถึงนำแผนงานของแต่ละกระทรวงที่มีมาดูว่าการทำงานตรงไหนติดขัด เรื่องไหนจะขับเคลื่อนและผลักดันได้ ก็ให้นำเอามาช่วยกันผลักดันในครม.เศรษฐกิจ
พร้อมย้ำต้องครอบคลุมเศรษฐกิจทั้งมหภาคและจุลภาค ต้องลงไปถึงคนมีรายได้น้อย และการทำงาน ครม.เศรษฐกิจจากนี้ต้องเห็นผลมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี โดยข้อสั่งการทั้งหมดเป็นเพียงเรื่องการปรับรูปแบบการทำงาน ไม่ใช่การปรับตัวบุคคลใน ครม.เศรษฐกิจแต่อย่างใด
อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 22 พ.ย. จะมีการประชุม ครม.เศรษฐกิจ เพื่อประเมินถึงสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศ ตลอดจนดูถึงผลลัพธ์ของมาตรการทางเศรษฐกิจที่มีการออกมาในช่วงไตรมาสที่ 2 และ 3 ของปี ว่าสามารถส่งผลต่อกลไกเศรษฐกิจต่างๆ ได้อย่างไรบ้าง ซึ่งคงต้องดูว่า “บิ๊กตู่” จะมีข้อสั่งการใดเพิ่มเติม เพื่อให้เศรษฐกิจในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีที่เหลือเวลาอีกเพียงเดือนครึ่ง กระเตื้องขึ้นจนเป็นที่พอใจได้.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |