ดินไหวถึงขอนแก่น รพ.อพยพคนไข้หนี


เพิ่มเพื่อน    


    แผ่นดินไหวในลาวห่างจากจังหวัดน่านแค่ 10 กิโลเท่านั้น แรงสั่นสะเทือนสูงสุด 6.4 และมีอาฟเตอร์ช็อกกว่า 100 ครั้ง สร้างความเสียหายแก่อาคาร โบสก์เก่าแก่อายุกว่า 400 ปี โรงไฟฟ้าหงสาแจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯ โครงสร้างหลักไม่ได้รับผลกระทบ ไทยรับรู้ได้ตั้งแต่ภาคเหนือ อีสานกระทั่ง กทม. รพ.เอกชนในขอนแก่นอพยพคนไข้ออกจากตึกโกลาหล
    เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายนนี้ กองเฝ้าระวังแผ่นดินไหว กรมอุตุนิยมวิทยา แจ้งว่า ได้เกิดแผ่นดินไหวในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และอาฟเตอร์ช็อกหลายครั้ง เริ่มตั้งแต่เวลา 23.49 น. วันที่ 20 พ.ย. ความแรง 2.9 แมกนิจูด ต่อมาเวลา 04.03 น. วันที่ 21 พ.ย. เกิดแผ่นดินไหว ความแรง 5.9 เวลา 04.19 น. ความแรง 4.3 เวลา 04.23 น. ความแรง 3.1 เวลา 04.33 น. ความแรง 3.9 เวลา 04.41 น. ความแรง 3.6 เวลา 04.59 น. ความแรง 3.5 เวลา 05.07 น. ความแรง 2.3 เวลา 05.10 น. ความแรง 3.3 เวลา 05.17 น. ความแรง 3.5 เวลา 05.30 น. ความแรง 3.0 เวลา 05.51 น. ความแรง 3.2 เวลา 06.28 น. ความแรง 2.3 และล่าสุดเมื่อ 06.50 น. ความแรงวัดได้ได้ถึง 6.4 แมกนิจูด 
    ทั้งนี้ ศูนย์กลางแผ่นดินไหวและอาฟเตอร์ช็อกที่เกิดขึ้นต่อเนื่องทั้งคืนที่ผ่านมา ทั้งหมดอยู่ใน สปป.ลาว แต่หลายครั้งแรงสั่นสะเทือนรู้สึกได้ในหลายจังหวัดของภาคเหนือ โดยเฉพาะกรณีเกิดแผ่นดินไหวครั้งล่าสุดความแรง 6.4 แมกนิจูด ทุกครั้งมีศูนย์กลางห่างจากบ้านน้ำซาง ต.ขุนน่าน อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.น่าน ระหว่าง 10-20 กม.เท่านั้น รู้สึกได้ทั้งในเชียงใหม่ เชียงราย พะเยา ลำปาง แพร่ น่าน ลำพูน
วัด-บ้านเรือนเสียหาย
    มีรายงานว่า ที่เมืองหงสา แขวงไซยะบุรี สปป.ลาว ซึ่งเป็นศูนย์กลางแผ่นดินไหวครั้งนี้ โบสถ์เก่าแก่อายุกว่า 400 ปี มีรอยแตกร้าวขนาดใหญ่ที่ผนังโบสถ์ จากแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว และผนังบ้านเรือนประชาชนหลายหลังแตกร้าวเสียหายอีกด้วย นอกจากนี้ที่เขื่อนไฟฟ้าหงสา คนงานได้บันทึกภาพเหตุการณ์เกิดการสั่นสะเทือนรุนแรง จนทำให้เหล่าคนงานที่กำลังทำงานอยู่วิ่งหลบหนีออกจากตัวอาคารเพื่อความปลอดภัย ขณะที่บ้านเรือนประชาชนชาวเมืองหงสา และอีกหลายเมืองของแขวงไซยะบุรี ได้รับความเสียหาย อาคารหลายหลังแตกร้าว ฝ้าเพดานพังลงมา บ้านบางหลังทรุดตัวลง เสาศาลาวัดซึ่งมีภาพจิตรกรรมฝาผนังเก่าแก่แตกร้าว
    กรมอุตุนิยมและอุทกศาสตร์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สปป.ลาว ได้ออกประกาศว่า ในวันที่ 21 พ.ย.2562 ได้เกิดแผ่นดินไหวในขอบเขต สปป.ลาว 18 ครั้ง ซึ่งครั้งที่ 2 มีความรุนแรง 5.9 ริกเตอร์ เวลา 04.03 น. ครั้งที่ 17 มีความแรง 6.4 ริกเตอร์ เวลา 06.50 น. อยู่ที่เมืองหงสา แขวงไซยะบุรี และรู้สึกสั่นสะเทือนในบรรดาแขวงทางเหนือ จนถึงนครหลวงเวียงจันทน์ ดังนั้นจึงแจ้งให้ประชาชนที่อยู่ในเขตดังกล่าวจงมีสติ ระวังตัวต่อสถานการณ์เกิดแผ่นดินไหว และให้ติดตามข้อมูลจากกรมอุตุนิยมและอุทกศาสตร์เป็นระยะ
    นายกิจจา ศรีพัฑฒางกุระ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ราชกรุ๊ป แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ถึงเหตุการณ์แผ่นดินไหว ขนาด 5.9 ริกเตอร์ และอาฟเตอร์ช็อกที่เกิดขึ้นต่อเนื่อง โดยมีศูนย์กลางในเมืองหงสา แขวงไซยะบุรี สปป. ลาว ส่งผลให้ระบบป้องกันของโรงไฟฟ้าพลังความร้อนหงสาทำงานอัตโนมัติ และหยุดการเดินเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้าเป็นการชั่วคราว แต่จากการตรวจสอบเบื้องต้นไม่พบผู้บาดเจ็บและความเสียหาย รวมทั้งโครงสร้างหลักของโรงไฟฟ้าไม่ได้รับผลกระทบ โดยบริษัท ไฟฟ้า หงสา จำกัด อยู่ระหว่างการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะได้รายงานความคืบหน้าในโอกาสต่อไป
    สำหรับโรงไฟฟ้าพลังความร้อนหงสา เป็นโรงไฟฟ้าที่ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง ขนาดกำลังผลิตติดตั้งรวม 1,878 เมกะวัตต์ ตั้งอยู่ที่เมืองหงสา แขวงไซยะบุรี สปป.ลาว ดำเนินงานโดยบริษัท ไฟฟ้า หงสา จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างบริษัท อาร์เอช อินเตอร์เนชั่นแนล (สิงคโปร์) คอร์ปอเรชั่น จำกัด บริษัทย่อยทางอ้อมของบริษัท 40% บมจ.บ้านปู เพาเวอร์ 40% และลาว โฮลดิ้ง สเตท เอ็นเตอร์ไพรส์ 20%
    นายจรัญ คำเงิน ผู้ช่วยผู้ว่าการบริหารจัดการความยั่งยืน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในฐานะรองโฆษก กฟผ. กล่าวว่า แผ่นดินไหวครั้งนี้ไม่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของเขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแม่จาง เขื่อนภูมิพล และเขื่อนต่างๆ รวมทั้งโรงไฟฟ้า และโครงข่ายระบบส่งของ กฟผ. โดยเจ้าหน้าที่ กฟผ.ได้ดำเนินการตรวจสอบสภาพเขื่อนแล้ว พบว่ามีสภาพมั่นคงปกติ ขอให้ประชาชนมั่นใจในความปลอดภัยและความมั่นคงของระบบไฟฟ้าไทย
รพ.อพยพคนไข้โกลาหล
    หนองคาย ประชาชนในจังหวัดสามารถรับรู้ได้ถึงแรงสั่นสะเทือนของเหตุแผ่นดินไหวในครั้งนี้ ลักษณะโคลงเคลง สั่นไหว โดยชาวหนองคายมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลเหตุการณ์แผ่นดินไหว อาฟเตอร์ช็อกผ่านเฟซบุ๊กกันอย่างกว้างขวาง แต่ยังไม่มีรายงานความเสียหาย
    อุดรธานี  ขณะเกิดแผ่นดินไหว ชาวอุดรธานีสามารถรับรู้ถึงแรงสั่นสะเทือนได้นานราว 10 วินาที สร้างความตื่นเต้นระคนตื่นกลัวแก่ผู้คนได้พอสมควร ซึ่งต่อมา ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานีได้สั่งการให้นายอำเภอทุกอำเภอสำรวจผลกระทบที่เกิดขึ้นตามมา ทราบผลสรุปว่า จังหวัดอุดรธานีรับรู้แรงสั่นไหวได้ทั้ง 20 อำเภอ โดยที่อำเภอนายูง และอำเภอน้ำโสม ซึ่งอยู่ใกล้จุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวในลาวมากที่สุด รับรู้แรงสั่นสะเทือนมากกว่าพื้นที่อื่นๆ สำรวจเบื้องต้นไม่มีความเสียหายต่อสิ่งปลูกสร้างใดๆ 
    ขอนแก่น ผลกระทบจากเหตุแผ่นดินไหวเมื่อเวลา 06.50 น. ทำให้เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลราชพฤกษ์ในตัวเมืองขอนแก่น เร่งอพยพคนไข้กว่า 100 ชีวิตออกมาจากตัวอาคารโรงพยาบาลสูง 13 ชั้น ที่เกิดการสั่นไหว มายังจุดรวมพล ซึ่งอยู่ที่ลานจอดรถหน้าอาคาร ก่อนจะเคลื่อนย้ายผู้ป่วยกลับเข้าตัวอาคารโรงพยาบาลไปยังห้องพักเช่นเดิมในเวลา 07.30 น. เมื่อแรงสั่นสะเทือนได้สงบลงแล้ว
    น่าน อุโบสถอายุ 500 ปีของวัดพระธาตุเขาน้อย อ.เมืองน่าน ได้รับความเสียหายและมีรอยแตกร้าวรอบอุโบสถ ส่วนที่โรงเรียน ตชด. 100 ปี ต.บ่อเกลือเหนือ อ.บ่อเกลือ พบว่าหลังคาและฝ้าเพดานบางส่วนหลุดพังลงมาเสียหาย ขณะที่กระจกตึกแถวที่บริเวณธนาคารแห่งหนึ่ง สาขาท่าวังผา เกิดแตกร้าวจากแรงสั่นสะเทือน
    เลย มีผู้รับรู้แรงสั่นสะเทือน โดยมีผู้บันทึกภาพเหตุการณ์น้ำในสระน้ำกระเพื่อม นอกจากนี้ยังมีนักท่องเที่ยวบางส่วนในโรงแรมสูงกลางตัวเมืองต้องวิ่งลงมาจากตึก เนื่องจากตกใจกับแรงสั่นสะเทือน แต่ยังไม่มีรายงานความเสียดายใดๆ
ยันเขื่อนมั่นคงแข็งแรง
    เชียงใหม่ นายศุภมิตร กฤษณมิตร วิศกรชลประทานชำนาญการ หัวหน้าฝ่ายปลอดภัยเขื่อน สำนักงานชลประทานที่ 1 เปิดเผยว่า จุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวที่ลาว ซึ่งอยู่ใกล้กับจังหวัดน่านของประเทศไทย สามารถรับรู้ความสั่นไหวในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนและภาคอีสานเป็นวงกว้าง ซึ่งสำนักงานชลประทานที่ 1 โดยฝ่ายความปลอดภัยเขื่อน ได้ทำการสำรวจผลกระทบต่อเขื่อนขนาดใหญ่ และอ่างเก็บน้ำขนาดกลางสำคัญ จำนวน 6 แห่ง โดยมีการติดตั้งเครื่องมือวัดผลกระทบจากแผ่นดินไหวใน 5 แห่ง อยู่ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ 3 แห่ง คือ เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล อ.แม่แตง อ่างเก็บน้ำแม่ทะลบหลวง อ.ไชยปราการ อ่างเก็บน้ำห้วยแก้ว ภายในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และจังหวัดแม่ฮ่องสอน 2 แห่ง คือ อ่างเก็บน้ำห้วยแม่ฮ่องสอน และอ่างเก็บน้ำโป่งอ่อน อ.เมืองแม่ฮ่องสอน และการสำรวจโดยผู้เชี่ยวชาญอีก 1 แห่ง คือ เขื่อนแม่กวงอุดมธารา อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ ซึ่งเขื่อนขนาดใหญ่ทั้ง 2 แห่ง และอ่างเก็บน้ำทั้ง 4 แห่ง มีสภาพทางกายภาพที่มั่นคง แข็งแรง และมีความปลอดภัย สามารถใช้งานได้ตามปกติ
    กรุงเทพมหานคร หลายพื้นที่รับรู้ได้ถึงการสั่นไหวจากเหตุแผ่นดินไหม นอกจากนี้ ในสื่อออนไลน์ได้มีการแชร์คลิปวิดีโอที่เห็นถึงแรงสั่นสะเทือนจากเหตุแผ่นดินไหวที่มาจากประเทศเพื่อนบ้านได้ในหลายพื้นที่
    น.อ.สมศักดิ์ ขาวสุวรรณ์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวว่า การเกิดแผ่นดินไหวในประเทศลาว หากนับจำนวนเกิดการสั่นไหวตั้งแต่ช่วงเวลา 23.00 น. วันที่ 20 พ.ย.ที่ผ่านมา เกิดการสั่นไหวขนาด 2.9, 5.9 และ 4.3 เป็นต้น โดยเกิดขึ้นกว่า 100 ครั้ง เล็กบ้างใหญ่บ้างสลับกันไป ล่าสุดวันที่ 21 พ.ย. ขนาดของการสั่นไหววัดได้สูงสุดอยู่ในช่วงเวลา 06.50 น. ขนาด 6.4 ลึก 3 กม. ส่งผลให้ประเทศไทยในภาคเหนือเกือบทั้งภาค โดยเฉพาะจังหวัดน่าน พะเยา เชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง เลย และหลายจังหวัดในภาคอีสาน รวมถึงกรุงเทพฯ รับรู้ถึงความรู้สึกสั่นไหวได้
    ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนที่อยู่ในอาคารสูงอย่าอยู่ใกล้กับกระจก พัดลม ขณะรู้สึกถึงการสั่นไหว ส่วนบ้านเรือนที่มีสภาพไม่คงทนก็ไม่ควรพักอาศัยในช่วงนี้ เพราะอาจเกิดการทรุดตัว อย่างไรก็ตาม ไม่อยากให้ประชาชนวิตกกังวลจนเกินไป เพราะการเกิดแผ่นดินไหวครั้งนี้ไม่ได้เกิดที่ประเทศไทย โดยเกิดจากรอยเลื่อนแม่น้ำแดง ประเทศเวียดนาม ถือเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่เกิดจากการเคลื่อนที่อย่างฉับพลันของเปลือกโลก 
    พันเอกหญิงศิริจันทร์ งาทอง รองโฆษกกองทัพบก กล่าวว่า พลเอกอภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ. สั่งการให้ศูนย์บรรเทาสาธารณภัย กองทัพบก และหน่วยทหารในพื้นที่ เตรียมความพร้อมและเข้าให้การช่วยเหลือประชาชนอย่างรวดเร็วและทั่วถึงกรณีได้รับผลกระทบจากเหตุแผ่นดินไหวที่ลาว โดยเฉพาะการเฝ้าติดตามสถานการณ์ และสำรวจพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบโดยทันที ล่าสุดที่ จ.น่าน มณฑลทหารบกที่ 38 ได้ร่วมสำรวจความเสียหายในเบื้องต้น พบว่ามีโรงเรียนเสียหาย 3 แห่ง และบ้านเรือนราษฎรอีก 2 หลัง ใน อ.บ่อเกลือ พร้อมประสานส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเพื่อให้การช่วยเหลือในเบื้องต้นแล้ว
รพ.รัฐ 3 แห่งได้รับผลกระทบ
    นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ได้ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหว ได้แก่ จังหวัดน่าน พะเยา เชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง พิษณุโลก เลย ขอนแก่น อุดรธานี บึงกาฬ หนองคาย ประเมินผลกระทบต่อสถานบริการสาธารณสุข 5 ด้าน ได้แก่ อาคารสถานที่ ระบบออกซิเจน ระบบไฟฟ้าและไฟฟ้าสำรอง ระบบสาธารณูปโภค และ ผลกระทบต่อผู้ป่วยและเจ้าหน้าที่
    เบื้องต้นได้รับรายงานจากโรงพยาบาลว่า ผู้ป่วยและเจ้าหน้าที่ปลอดภัย ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บ ทุกแห่งเปิดให้บริการได้ตามปกติ มี 3 แห่งที่ได้รับผลกระทบ คือ โรงพยาบาลเชียงคำ จังหวัดพะเยา ผนังห้องผ่าตัดชั้น 3 ตึกอำนวยการ ร้าวเพิ่มเติมเล็กน้อยจากรอยร้าวเดิม ไม่มีผลกระทบต่อตึกและระบบต่างๆ ในการบริการผู้ป่วย โรงพยาบาลเลย ตึกสงฆ์มีรอยร้าวบริเวณผนัง ได้ย้ายผู้ป่วยห้องพิเศษ 10 รายไปอาคารผู้ป่วยใน อยู่ระหว่างสำรวจประเมินความปลอดภัยของโครงสร้างอาคารจากเจ้าหน้าที่โยธาธิการและผังเมืองจังหวัด และโรงพยาบาลยโสธร ได้ประสานสำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดยโสธร เข้าตรวจสอบอาคาร 10 ชั้น และอาคาร 9 ชั้น พบโครงสร้างหลักของอาคาร เช่น เสา คาน ไม่ได้รับผลกระทบ มีเพียงรอยร้าวเพิ่มจากรอยร้าวเดิม.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"