ปัญหาเชื้อดื้อยาปฏิชีวนะยังเป็นปัญหาใหญ่ที่ทั่วโลกกำลังเผชิญ ทำให้การติดเชื้อแบคทีเรียแม้เพียงเล็กน้อยก็คร่าชีวิตคนถึงตายได้ ขณะที่ประเทศไทยก็พบปัญหาเชื้อแบคทีเรียดื้อยาปฏิชีวนะสูงขึ้นๆ จากข้อมูลกระทรวงสาธารณสุข บางชนิดสูงทะลุกว่า30 เท่าตัว ต้นเหตุเพราะการใช้ยาพร่ำเพรื่อ ใช้ยาไม่ถูกโรคไม่ถูกวิธี ก่อปัญหาสุขภาพที่ไม่ควรมองข้าม
หนึ่งในวิธีการต่อสู้กับเชื้อดื้อยามหันตภัยคุกคามที่จำเป็นเร่งด่วน เป็นการเติมความรู้ด้านเชื้อดื้อยาแก่ประชาชนทุกวัยเพื่อให้รู้เท่าทันอันตราย งาน “ สัปดาห์รู้รักษ์ ตระหนักใช้ยาต้าแบคทีเรีย ปี 2562” ที่จัดขึ้นกลางเมือง ณศูนย์การค้าเอ็ม บี เค เซ็นเตอร์ เมื่อวันก่อน ใช้ช่องทางเดินรณรงค์ในห้าง ออกบูธด้านสุขภาพกว่า 14 บูธ ตลอดจนจัดนิทรรศการให้ความรู้การใช้ยาเพื่อเปลี่ยนความเข้าใจผิดๆ หยุดพฤติกรรมเสี่ยงก่อเชื้อดื้อยา หันมาป้องกันตัวเอง ช่วยลดการป่วยจากเชื้อดื้อยา โดยมี นพ.มล.สมชาย จักรพันธุ์ ประธานคณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทวงสาธารณสุข ร่วมงานในฐานะตัวแทนรัฐบาล จัดโดยศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา(กพย.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) กระทรวงสาธารณสุข องค์การอนามัยโลกประเทศไทย และภาคีเครือข่ายกิจกรรมครั้งนี้ ได้ดึงสาวๆ CM Cafe เกิร์ลกรุ๊ปชื่อดังร่วมรณรงค์หวังสื่อสารเรื่องดื้อยาไปยังกลุ่มคนรุ่นใหม่ด้วย
ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ กล่าวว่า งานสัปดาห์รู้รักษ์ตระหนักใช้ยาต้านแบคทีเรียจัดอย่างต่อเนื่อง ด้วยความมุ่งมั่นจะแก้ปัญหาการดื้อยาต้านจุลชีพ ปัจจุบันเป็นปัญหาที่สำคัญของไทยและโลก สสส. ร่วมกับ กพย. ผลักดันให้ประชาชนตระหนักรู้เกี่ยวกับปัญหาเชื้อดื้อยาทั้งในระดับชุมชนจนถึงระดับประเทศต่อเนื่อง ปีนี้ สสส.และภาคีเครือข่ายพร้อมใจประกาศเจตนารมณ์ต่อปัญหาวิกฤตเชื้อดื้อยา โดยสนับสนุนภาคีเครือข่ายผ่านการขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์การจัดการเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพประเทศไทย พ.ศ.2560-2564 โดยเฉพาะยุทธศาสตร์ 5 เรื่องการส่งเสริมความรู้ด้านเชื้อดื้อยาและความตระหนักด้านการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างเหมาะสมแก่ประชาชน รวมถึงรณรงค์สื่อสารสร้างความตระหนักด้านการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างเหมาะสมแก่ประชาชน จัดทำสปอตโฆษณารณรงค์ผ่านช่องทางสื่อกระแสหลักไม่ว่าจะเป็นโทรทัศน์ สื่อโซเชียลมีเดีย นอกจากนี้ พัฒนาคนไทยเฝ้าระวังและจัดการความรู้เพื่อจัดการปัญหาเชื้อดื้อยา เพื่อให้ประชาชนมีสุขภาพที่ดีปลอดภัยจากเชื้อดื้อยาตามที่ตั้งเป้าหมายไว้
“ การส่งเสริมความรู้เชื้อดื้อยาตามยุทธศาสตร์ที่ 5 เน้นสื่อสารไปยังประชาชนเรื่องการใช้ยาปฏิชีวนะกับโรคหวัด ซึ่งเป็นยาต้านแบคทีเรียไม่สามารถกำจัดโรคหวัด ซึ่งมากกว่าร้อยละ80 เกิดจากเชื้อไวรัส นอกจากไม่หายแล้วยังจะส่งผลให้เกิดเชื้อดื้อยาในร่างกาย จากการใช้ยาเกินความจำเป็น จากนี้จะเลือกสื่อสารด้านเชื้อดื้อยาให้ความรู้แก่คนเพิ่มขึ้นกิจกรรมสัปดาห์รู้รักษ์ ตระหนักใช้ยาต้านแบคทีเรีย จะกระตุ้นให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญ เมื่อสังคมตระหนักมากขึ้นนำมาสู่การขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์และการทำงานอย่างต่อเนื่อง” ดร.สุปรีดา กล่าว
เชื้อดื้อยา ปัญหาท้าทาย ผศ.ภญ.ดร.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา กล่าวว่า เชื้อดื้อยาเป็นปัญหาที่ทั่วโลกยอมรับว่ารุนแรงและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น องค์การอนามัยโลกระบุว่าแต่ละปีมีคนเสียชีวิตจากเชื้อดื้อยาสูงถึง 7 แสนคน และถ้าไม่เร่งแก้ไขคาดว่า ในพ.ศ.2593 จะตายสูงถึง 10 ล้านคน พร้อมประกาศเป็น 1 ใน10 ปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญ รายงานการศึกษาหลายฉบับชี้ชัดผลกระทบจากเชื้อดื้อยารุนแรงมากขึ้น ส่วนประเทศไทยมีการตายจากเชื้อดื้อยาปีละ 3 หมื่นคน รัฐบาลต้องให้ความสำคัญป้องกันการเกิดและควบคุมการกระจายทั้งในคน สัตว์ สิ่งแวดล้อม ทางคณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติแผนยุทธศาสตร์การจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพประเทศไทยเพื่อลดการป่วยการตายและความสูญเสียทางเศรษฐกิจจากเชื้อดื้อยา ปีนี้กระตุ้นการสื่อสารสาธารณะข้อความสำคัญ คือ เชื้อไวรัสหรือแบคทีเรียเช็กให้ชัด ควรใช้ยาปฏิชีวนะหรือไม่ โดยเฉพาะโรคหวัด พบจากติดเชื้อไวรัสบ่อยกว่า อาการเจ็บคอหายเองได้จากการพักผ่อน กลั้วคอด้วยน้ำเกลือ ไม่ต้องใช้ยา แล้วยังมีเรื่องหยุดกินยาเมื่อมีอาการดีขึ้น ซื้อยาปฏิชีวนะกินตามคนอื่น ซื้อยาเองที่เคยที่ได้รับจากแพทย์ครั้งก่อนหรือเปลี่ยนไปซื้อยาที่แรงกว่ากินเองซื้อยาแก้อักเสบกินเมื่อมีอาการปวดอักเสบแม้กระทั่งการแบ่งยาให้คนอื่น พฤติกรรมเหล่านี้ทำให้เกิดเชื้อดื้อยา ต้องหยุด สำหรับการรณรงค์เชื้อดื้อยาจะขับเคลื่อนทำงานในชุมชน วัด โรงเรียนมากขึ้น
“ แผนยุทธศาสตร์ชาติมีความคืบหน้า แต่สิ่งที่ล่าช้าคือยุทธศาสตร์ที่ 5 การส่งเสริมความรู้เชื้อดื้อยา ถ้าหนุนเสริมด้านนี้ความรู้ของประชาชนจะก้าวหน้ามากและเสริมอีก 4 ยุทธศาสตร์ให้ไปทิศทางเดียวกัน ต้องขอบคุณ สสส. ปีนี้สนับสนุนจัดทำและเผยแพร่สื่อสู่สาธารณะอย่างต่อเนื่อง ปีหน้าจะทำงานปิดช่องโหว่การสื่อสารที่ยังตกหล่นต่อไป“ ผศ.ภญ.ดร.นิยดา กล่าว
ความรู้ความเข้าใจของคนไทยที่คลาดเคลื่อนเป็นปัจจัยหลักให้สถานการณ์ไม่กระเตื้องขึ้น ผศ.ภญ.ดร.นิยดา กล่าวว่า คนไทยเรียกสับสนระหว่างยาแก้อักเสบกับยาปฏิชีวนะซึ่งยาปฏิชีวนะเป็นยาต้านแบคทีเรียฆ่าเชื้อไวรัสไม่ได้ ถัดมาเชื่อว่าเป็นหวัดต้องกินยาปฏิชีวนะ ซึ่งต้องลงไปสื่อสารตั้งแต่ระดับเด็กนักเรียนในโรงเรียน นอกจากนี้ไทยขาดกฎหมายควบคุมการซื้อยาปฏิชีวนะปัจจุบันประชาชนหาซื้อยาได้ในร้านขายของชำ ร้านสะดวกซื้อ ต้องทบทวนการขายยาปฏิชีวนะโดยอิสระ แต่ก็ต้องไม่เป็นอุปสรรคในการเข้าถึงยาของประชาชน จัดการควบคุมให้มีสมดุล พร้อมทั้งจัดประเภทยาปฏิชีวนะ สำหรับสูตรยาที่ไม่เหมาะสมกำจัดออกไป ควบคุมการโฆษณายาปฏิชีวนะ ยาสามัญประจำบ้าน และควบคุมการติดเชื้อในโรงพยาบาล หากไม่มีการจัดการที่รอบด้านปัญหาเชื้อดื้อยาจะไม่มีทางบรรเทา
การแก้ปัญหาอย่างต่อเนื่องสำคัญ ดร.ริชาร์ด บราวน์ ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย กล่าวว่าองค์การอนามัยโลกให้ความสำคัญกับปัญหาเชื้อดื้อยา ปีนี้มีประเด็นการรณรงค์คือ" อนาคตของยาปฏิชีวนะขึ้นอยู่กับเราทุกคน" เน้นการกระทำที่ป้องกันไม่ให้เกิดการแพร่กระจายของเชื้อดื้อยาปฏิชีวนะตั้งแต่การล้างมือหรือทำความสะอาดมือที่เหมาะสมช่วยป้องกันการติดเชื้อและการแพร่กระจายเชื้อและลดความจำเป็นในการใช้ยาปฏิชีวนะ ซึ่งทำให้การดื้อยาปฏิชีวนะอยู่ในวงจำกัด นอกจากนี้ยังแนะนำเรื่องสุขอนามัยในช่องปากที่ดี มีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัย การฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันการติดเชื้อ หลีกเลี่ยงการสัมผัสผู้ปวย รวมถึงให้ความสำคัญ ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์หรือเภสัชกรในการใช้ยาปฏิชีวนะ
สำหรับประเทศไทยการทำงานเรื่องการจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพมาอย่างดีและต่อเนื่องต้องชื่นชมสำหรับหน่วยงานและผู้ที่สนใจสื่อความรู้เชื้อดื้อยาเพื่อทำกิจกรรมรณรงค์ช่วยสร้างความรู้ให้ขยายวงกว้างมากขึ้นสามารถเข้าไปดูข้อมูลที่ได้ที่เว็บไซต์ http://atb-aware.thaidrugwatch.org หรือเฟซบุ๊ก https://www.facebook.com/thai.antibiotic.awareness วิกฤตเชื้อดื้อยาแก้ได้ เป็นหน้าที่ของทุกคน ต้องรวมพลังและทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ