ฮึ่มเสรีพิศุทธ์ดื้อเรียกบิ๊กตู่เจอคุก


เพิ่มเพื่อน    

  “เสรีพิศุทธ์” แถแล้วยังโทษคนส่วนใหญ่ทำงานมาน้อย ไม่เข้าใจเซ็นตั้งที่ปรึกษา ปธ.กมธ.ล่วงหน้าไม่จำเป็นต้องขอมติที่ประชุม ลั่นเก้าอี้ประธานเป็นโควตาของพรรค เสนอปลดเหมือนการปล้น ปมถวายสัตย์ฯ ยังไม่จบ! "ประสาน" เข้าชี้แจง กมธ.แทน "นายกฯ-ประวิตร" ขณะที่เสรีฯ ทวงถามเอกสารที่ควักจากกระเป๋านายกฯ ที่ประชุมสุดยุ่งเหยิง มีทั้งชี้หน้า เถียงกันแหลก "ปารีณา" งัดปม "รีสอร์ทภูไพรธารน้ำ" ของเสรีฯ รุกล้ำลำน้ำ ตามจิกทำผิด 3 ข้อ จ่อร้องประธานสภาฯ-ป.ป.ช.เอาผิดซ้ำ   

     ที่รัฐสภา วันที่ 20 พฤศจิกายน พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส  ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเสรีรวมไทย ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ (ปปช.) สภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์ถึงการลงนามในเอกสารแต่งตั้งที่ปรึกษาของประธาน กมธ.ล่วงหน้า อีกทั้งยังอ้างมติของคณะ กมธ.ว่า คนส่วนใหญ่ทำงานมาน้อย ก็จะไม่เข้าใจขั้นตอนการทำงานของตนที่ต้องการความรวดเร็ว และที่ทำไปก็เพื่อที่ปรึกษาได้เข้ามานั่งทำงานได้ทันทีในวันนี้ ไม่ต้องเสียเวลาไปอีกสัปดาห์หนึ่ง คำสั่งแต่งตั้งข้าราชการก็ทำล่วงหน้าแบบนี้เช่นกัน เรื่องนี้เป็นอำนาจแต่งตั้งของตน ไม่จำเป็นต้องขอมติจากที่ประชุม แต่ให้เกียรติคณะ กมธ. รวมทั้งให้ กมธ.ของแต่ละพรรคการเมืองส่งตัวแทนของตนมา จึงได้เห็นชื่อของนายวัฒนา เมืองสุข เพราะพรรคเพื่อไทยเสนอ เช่นเดียวกับนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ส.ส.บัญชีรายชื่อ ก็เป็นตัวแทนของพรรคประชาธิปัตย์
    ประธาน กมธ.ป.ป.ช.กล่าวว่า สำหรับการพยายามของฝ่ายรัฐบาลในการจะปลดตนเองออกจากการเป็นประธาน กมธ.นั้น ขออธิบายว่า กมธ. 35 คณะตั้งโดยสภาผู้แทนราษฎร และตำแหน่งประธาน เป็นเรื่องที่วิปรัฐบาลและฝ่ายค้านได้หารือกันมาแล้ว โดยจัดสรรให้ตามสัดส่วนของ ส.ส.แต่ละพรรค ซึ่งประธาน กมธ.ชุดนี้เป็นสัดส่วนของพรรคเสรีรวมไทย เป็นเหมือนสมบัติของพรรคเราใครก็เอาไปไม่ได้ ต่อให้ 14 คนใน กมธ.เสนอปลดก็ไม่สามารถทำได้ เพราะมันเป็นโควตาของพรรค การเสนอจะให้ปลดแบบนี้เหมือนเป็นการปล้นกัน
     นายวัฒนา เมืองสุข กล่าวถึงกรณี พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์แต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษาฯ ว่าการแต่งตั้งที่ปรึกษาประธาน กมธ. เป็นอำนาจโดยตรงของประธาน กมธ. ไม่จำเป็นต้องให้ที่ประชุม กมธ.พิจารณาส่วนที่มีการระบุว่าตนเองยังมีคดีอาญาในศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนั้น ในรัฐธรรมนูญมาตรา 129 วรรค 4 กมธ.มีอำนาจเรียกบุคคลมาให้ถ้อยคำชี้แจงยกเว้นผู้พิพากษาและองค์กรอิสระ ดังนั้นตนเข้ามาเป็นที่ปรึกษาฯ ก็ไม่มีอำนาจให้คุณให้โทษแก่ผู้พิพากษา เนื่องจาก รธน.มาตราดังกล่าวได้คุ้มครองไว้แล้ว อีกทั้ง รธน.ยังกำหนดให้ผู้ถูกกล่าวหาในคดีอาญาถูกสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด 
    ด้านนายสิระ เจนจาคะ กล่าวว่า ตนได้ทำหนังสือถึงประธานกมธ.ป.ป.ช. เพื่อขอให้ที่ประชุมลงมติปลด พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ออกจากการเป็นประธาน เนื่องจากดำเนินการไม่เป็นมติ กมธ. ดังนี้ 1.การลงนามในหนังสือเรียกนายกฯ และรองนายกฯ ให้มาชี้แจงในวันที่ 20 พ.ย. ไม่เป็นไปตามมติของ กมธ. เมื่อวันพุธที่ 13 พ.ย. 2.การมีประกาศแต่งตั้งที่ปรึกษาประธานล่วงหน้าก่อนมีการประชุมในวันที่ 20 พ.ย. ซึ่งคาดว่าเรื่องนี้จะได้รับการพิจารณาภายในสัปดาห์หน้า ซึ่งเป็นการกระทำที่ขัดต่อกฎหมาย จะยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ในวันที่ 22 หรือ 25 พ.ย. เพื่อให้ดำเนินการทางอาญากับ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ต่อไป
กมธ.ถกกันเดือดซัดกันเละ
    ขณะที่นายประสาน หวังรัตนปราณี ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ สัมภาษณ์ก่อนการเข้าร่วมชี้แจงต่อ กมธ.ป.ป.ช.ว่า ได้นำเอกสารคำชี้แจงอย่างเป็นลายลักษณ์อักษร ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และ รมว.กลาโหม 15 ข้อ และของ พล.อ.ประวิตร 14 ข้อ มอบให้กับ กมธ. ในเอกสารได้ตอบไว้ทุกคำถาม หาก กมธ.ต้องการให้ พล.อ.ประยุทธ์และ พล.อ.ประวิตรชี้แจงด้วยตนเองอีก ต้องพิจารณาบนกรอบของกฎหมายที่เกี่ยวข้อง หากพบการกระทำที่ไม่ยึดกรอบของกฎหมาย อาทิ กฎหมายคำสั่งเรียกปี 2554 กมธ.อาจมีความผิดและได้รับโทษรุนแรงคือจำคุก 1-10 ปี ซึ่งรุนแรงกว่าผู้ที่ถูกเรียกมาชี้แจงที่จะได้รับโทษ จำคุก 3 เดือน ผมไม่ได้ขู่ กมธ. แต่การใช้ดุลยพินิจหรือมีมติเพื่อเรียกบุคคลมาชี้แจงซ้ำโดยมีเจตนาไม่สุจริตต้องระวังว่าอาจเข้าข่ายการกระทำที่อาจผิดประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ได้
         ต่อมาเวลา 09.30 น. มีการประชุม กมธ.ป.ป.ช. ที่มี พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ทำหน้าที่ประธาน โดยเชิญ พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.ประวิตรมาชี้แจงกรณีการจัดทำร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ไม่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ แต่ปรากฏว่า พล.อ.ประยุทธ์และ พล.อ.ประวิตรติดภารกิจ ขอเลื่อนการชี้แจงต่อ กมธ.ด้วยตนเอง โดยส่งหนังสือชี้แจงเป็นลายลักษณ์อักษรแทน ในส่วนของ พล.อ.ประวิตร ยังได้ส่งนายประสานมาชี้แจงแทนด้วย
    ในการประชุม กมธ.ยังได้รับหนังสือร้องเรียนจากนายอิทธิพร สังข์แก้ว รองนายกเทศมนตรีเทศบาลกะรน จ.ภูเก็ต ที่ยื่นเรื่องให้ตรวจการรุกที่ป่าของรีสอร์ตแห่งหนึ่ง โดยมีเจ้าหน้าที่รัฐให้การช่วยเหลือในการออกเอกสารสิทธิ ซึ่งนายอิทธิพรกล่าวว่า ก่อนหน้านี้ที่นายสิระ เจนจาคะ ลงพื้นที่ จ.ภูเก็ต แต่กลับไม่ได้รับการตอบรับ จึงต้องมายื่นร้องเรียนเรื่องดังกล่าวต่อ กมธ.เอง ระหว่างนั้น น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี พรรค พปชร. กมธ.ซีกฝ่ายรัฐบาล ขอให้นายอิทธิพรอยู่ในห้องประชุมก่อน เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ เคยเกิดขึ้นในประเทศไทยมาแล้วในเรื่องการถมหินรุกล้ำ อย่างรีสอร์ทภูไพรธารน้ำ ที่ อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี ของ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ก็เคยกระทำความผิดมาแล้ว ทำให้นายสิระที่นั่งอยู่ข้าง น.ส.ปารีณาตบมือเชียร์เสียงดังลั่นห้องประชุม     
    ขณะที่ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์กล่าวสวนทันทีด้วยน้ำเสียงขึงขังว่า "เดี๋ยวคุณจะโดน จะกล่าวหาอะไรผม ขอให้ทำหนังสือมาเลย ผมยินดีให้ตรวจสอบ" ซึ่ง น.ส.ปารีณากล่าวตอบโต้ว่า "ไม่ได้กล่าวหา  เพราะถือว่าเป็นความผิดสำเร็จแล้ว" 
     ต่อมาเวลา 15.00 น. นายประสาน หวังรัตนปราณี ได้เข้าชี้แจงต่อ กมธ.ป.ป.ช. ในฐานะตัวแทนของ พล.อ.ประวิตร แต่ปรากฏว่านายสิระได้บอกให้นายประสานกลับไม่ต้องชี้แจง เพราะหนังสือที่กมธ.เชิญ พล.อ.ประยุทธ์และ พล.อ.ประวิตรมาชี้แจง ใช้อำนาจตามมาตรา 6 ตาม พ.ร.บ.คำสั่งเรียก ซึ่งขัดกับมติของที่ประชุมกมธ.ที่ให้เชิญทั้งสองคนมาชี้แจง ดังนั้นนายประสานไม่จำเป็นต้องอยู่ชี้แจง เพราะ กมธ.ใช้อำนาจไม่ถูกต้อง
    ทำให้ที่ประชุมเกิดการโต้เถียงกันไปมากับ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ที่ต่างฝ่ายต่างอ้างข้อกฎหมายมาใส่กัน ในที่สุดที่ประชุมยินยอมให้นายประสานชี้แจง และต้องลงมติโหวตเห็นชอบให้รับหนังสือของ พล.อ.ประยุทธ์ 
    ขณะที่ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์กลับทวงเอกสารเพิ่มเติมจากนายประสาน 2 ฉบับที่ กมธ.ยังไม่ได้รับคือ 1.กระดาษที่ พล.อ.ประยุทธ์ควักออกมาจากกระเป๋าเสื้อก่อนที่จะอ่านคำถวายสัตย์ปฏิญาณ 2.เอกสารที่มติ ครม.เกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ที่นายกฯ เสนอต่อประธานสภาฯ เพื่อบรรจุเข้าสู่การประชุมสภาในวาระ1 หากได้เอกสาร 2 ฉบับมาแล้ว ค่อยมาพิจารณาว่าจะต้องเชิญ พล.อ.ประยุทธ์และ พล.อ.ประวิตรมาชี้แจงต่อ กมธ.อีกหรือไม่ หากยังไม่ได้เอกสารดังกล่าว กมธ.ก็ต้องเรียกทั้งสองคนมาชี้แจงต่อไป
จ่อร้องเอาผิดเสรีฯ 3 ข้อหา
     ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมครั้งนี้ บรรยากาศเป็นไปอย่างดุเดือด โดยเฉพาะการโต้เถียงระหว่าง พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์กับนายสิระ ที่มีการชี้หน้ากันไปมาตลอดเวลาตั้งแต่เริ่มการประชุม โดย พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ได้ต่อว่านายสิระว่า “อย่ามาชี้หน้าผม” แต่นายสิระก็สวนกลับทันทีว่า “คุณก็อย่ามาชี้หน้าผมเหมือนกัน” 
     ภายหลังการประชุม นายประสานกล่าวว่า คิดว่าคงไม่จำเป็นต้องให้ พล.อ.ประยุทธ์และ พล.อ.ประวิตรมาชี้แจงอีกแล้ว เนื่องจากในส่วนของ พล.อ.ประวิตรเรียบร้อยแล้ว 
    ส่วน พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์กล่าวว่า ต้องรอเอกสารอีก 2 ฉบับจากนายกฯ เมื่อได้เอกสารมาแล้วค่อยไปพิจารณาในที่ประชุม กมธ.อีกครั้งในสัปดาห์ว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป
    ขณะที่ น.ส.ปารีณากล่าวว่า พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ทำผิดระเบียบ และข้อกฎหมายหลายกระทง 1.ในระหว่างการประชุม กมธ.ได้สอบถาม พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ถึงกรณีนายวัฒนาโพสต์เฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 18 พ.ย. ตามที่ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ลงนามคำสั่งแต่งตั้งที่ปรึกษาฯ ให้มีผลวันที่ 20 พ.ย. ซึ่งก่อนหน้าตนได้ไปแจ้งความเอาผิดนายวัฒนา ตามความผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์เอาไว้ เมื่อพล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ได้ขอนำเฟซบุ๊กนายวัฒนาไปดู และยอมรับว่า ใช่ ได้ลงนามแต่งตั้งที่ปรึกษาจริง จากประเด็นตรงนี้ทำให้นายวัฒนาพ้นจากข้อกล่าวหาเอาความเท็จลงในโลกออนไลน์  ในทางกลับกัน พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์กลายเป็นคนทำผิดกฎหมายเสียเอง จะโดนข้อหาลงนามในหนังสือราชการอันเป็นเท็จ การประชุมวันนี้คือวันที่ 20 พ.ย. ไม่เคยมีมติจาก กมธ.เห็นชอบตามที่ประธานกล่าวอ้าง
    2.ทำผิดระเบียบ กรณีการเชิญ พล.อ.ประยุทธ์ พล.อ.ประวิตร มาชี้แจงต่อ กมธ. ในการประชุมอาทิตย์ที่แล้ว พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ระบุว่าจะเชิญนายกฯ และรองนายกฯ มาชี้แจง แต่ในหนังสือที่ส่งไปกลับเป็นหนังสือเรียก แสดงว่าใช้เจตนาบิดเบือน 3.ในฐานะประธาน ตามข้อบังคับการประชุม ไม่มีสิทธิออกเสียง เว้นแต่เสียงโหวตในที่ประชุมเท่ากัน แต่การประชุมวันที่ 20 พ.ย. พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์กลับมายกมือสนับสนุนด้วย ถือเป็นการทำผิดข้อบังคับการประชุมอย่างชัดเจน
    "จากข้อหาความผิดในหลายๆ เหตุผล ดิฉันจะไปยื่นหนังสือต่อประธานสภาฯ เพื่อให้สอบจริยธรรม พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ และจะไปยื่นต่อ ป.ป.ช. เอาผิด พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ" น.ส.ปารีณากล่าว 
    นายเทวัญ ลิปตพัลลภ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ปรึกษาและวิปรัฐบาล กล่าวถึงความคืบหน้าการสรรหาคณะกรรมาธิการวิสามัญ (กมธ.) ศึกษาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญฝ่ายรัฐบาลว่า คืบหน้าแล้ว 70-80 เปอร์เซ็นต์ หารือกับนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ และหลายฝ่ายแล้ว และในที่ประชุมวิปรัฐบาลวันนี้อาจเชิญบุคคลภายนอกภาคธุรกิจ เช่น สภาอุตสาหกรรม หรือธุรกิจที่เห็นว่าอาจได้รับผลกระทบมีส่วนได้ส่วนเสียเมื่อมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ร่วมเป็น กมธ.เพื่อช่วยดูว่าอยากได้รัฐธรรมนูญแบบไหน
    นายเทวัญกล่าวว่า ที่แน่นอนแล้วมีนายปกรณ์ นิลประพันธ์ ว่าที่เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา, นายวุฒิสาร ตันไชย เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า, นายไพบูลย์ นิติตะวัน อดีต กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ สมัยนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธาน และได้ทาบทามอดีต กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญอีก 4-5 คน โดยไม่มีส.ว. ซึ่งจะได้สรุปในที่ประชุมวิปรัฐบาล โดยสัดส่วน ครม. 12 คน แบ่งตนและนายวิษณุ ร่วมสรรหา 6 คน ที่เหลือ 6 คนให้วิปรัฐบาลพิจารณา สำหรับประธาน กมธ.แก้รัฐธรรมนูญ ยังยืนยันให้ กมธ.แก้รัฐธรรมนูญเลือกกันเอง 
    วันเดียวกัน ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายสุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาฯ คนที่ 1 เป็นประธานการประชุม นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย ขอเสนอให้ที่ประชุมสภาเปลี่ยนระเบียบวาระการประชุม โดยให้นำญัตติเรื่องการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญขึ้นมาพิจารณา ต่อจากเรื่องด่วน จากนั้นนายสุชาติได้ขอมติจากที่ประชุมเนื่องจากไม่สามารถหาข้อสรุปได้ ปรากฏว่าที่ประชุมมีมติเสียงข้างมาก 228 ต่อ 240 เสียง ไม่เห็นด้วยกับการให้เลื่อนญัตติฯ มาพิจารณาต่อจาก พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาและคุ้มครองสถาบันครอบครัว พ.ศ.2562.  


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"