เปิดเอกสาร 'อนค.-ปชป.' ขอตั้ง กมธ.วิสามัญ 'กิโยติน' คำสั่ง คสช.พ่วงทบทวนกฎหมาย


เพิ่มเพื่อน    

       ระหว่างสังคมจับตาการตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญศึกษาแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่าจะตั้งได้ในช่วงใด และมีใครเป็น กมธ.บ้าง

                อีกญัตติหนึ่งที่น่าสนใจและเป็นวาระลำดับก่อนการตั้ง กมธ.ศึกษารัฐธรรมนูญ คือญัตติด่วนของพรรคอนาคตใหม่ ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะ กมธ.วิสามัญเพื่อศึกษาผลกระทบจากการกระทำ ประกาศและคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และการใช้อำนาจของหัวหน้า คสช. มาตรา 44

                 หลายคนกำลังลุ้นว่าจะตั้ง กมธ.ชุดดังกล่าวได้หรือไม่ เพราะเป็นการศึกษาเพื่อจะยกเลิกบรรดาประกาศและคำสั่งของ คสช. หรือประกาศและคำสั่งของนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันนั่นเอง

                 ทั้งนี้ ในเอกสารเสนอของพรรคอนาคตใหม่ที่ยื่นญัตตินั้น ระบุเหตุผลที่จะต้องยกเลิกประกาศและคำสั่งของ คสช. โดยมีใจความว่า

                 “ตามที่ได้การเลือกตั้ง ส.ส.และแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีแล้ว และกำลังจะมีการตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่เข้าปฏิบัติหน้าที่ในอนาคตอันใกล้ ส่งผลให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 265 แต่การกระทำ ประกาศ คำสั่งฉบับต่างๆ ของ คสช.จะไม่สิ้นสุดลงไปด้วย เนื่องจากรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาตรา 279 ได้รับรองให้บรรดาประกาศ คำสั่ง และการกระทำของ คสช.หรือของหัวหน้า คสช.ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมาย อีกทั้งในระหว่างที่มีการบังคับใช้รัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว หัวหน้า คสช.และ คสช.ยังสามารถใช้อำนาจตามมาตรา 44 ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2557 ประกอบมาตรา 265 วรรคสองตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ซึ่งอำนาจดังกล่าวเป็นอำนาจที่ไม่สามารถตรวจสอบได้ ถือเป็นที่สุดและยังคงถูกบังคับใช้ แม้ว่าจะมีการจัดการเลือกตั้งและมีรัฐสภาที่เป็นผู้ใช้อำนาจนิติบัญญัติก็ตาม กล่าวได้ว่าระบอบรัฐประหารที่ถูกสถาปนาขึ้นในวันที่ 22 พ.ค.2557 ยังคงมีผลบังคับใช้อยู่จนถึงปัจจุบันผ่านรัฐธรรมนูญที่จัดทำขึ้นภายใต้กระบวนการของ คสช.”

                นอกจากนี้ ในเอกสารยังระบุอีกว่า การกระทำ ประกาศ คำสั่ง และการใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของหัวหน้า คสช.และ คสช. ได้ยังผลให้เกิดกระทบต่อประชาชนเป็นวงกว้างและร้ายแรง ไม่ว่าจะเป็นการจับกุมกักขังประชาชนที่ใช้สิทธิเสรีภาพการแสดงออกซึ่งการชุมนุมทางการเมือง

                การใช้สิทธิเสรีภาพในการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลว่ามีการทุจริตคอร์รัปชันหรือไม่ การดำเนินกระบวนพิจารณาต่อประชาชนในศาลทหาร และยังรวมถึงการใช้อำนาจไปในลักษณะของการเอื้อต่อกลุ่มทุนบางกลุ่ม ส่งผลกระทบต่อประชาชนอย่างกว้างขวาง ทั้งไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่ดินทำกิน วิถีชีวิต และความเป็นอยู่ของประชาชน ซึ่งรวมถึงการประกอบอาชีพในชีวิตประจำวันล้วนแล้วแต่กระทบกระเทือนทั้งสิ้นมากไปกว่านั้น การดำรงอยู่อาศัยในสภาพแวดล้อมที่ดีตามที่รัฐธรรมนูญได้รับรองเอาไว้

                ตลอดจนการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการและผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองท้องถิ่นอย่างไม่เป็นธรรม ความรุนแรงที่เกิดจากบรรดาการกระทำ ประกาศ คำสั่ง และการใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของหัวหน้า คสช.และ คสช.ที่ได้เกิดขึ้นในอดีต และยังมีผลร้ายแรงเป็นวงกว้างอยู่ในปัจจุบันนั้น จึงขออาศัยตามข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2551 ข้อ 41 และข้อ 42 ให้สภาฯ มีมติแต่งตั้งคณะ กมธ.วิสามัญ

                อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ยังมีพรรคประชาธิปัตย์ยื่นประกบด้วย และยังได้พ่วงให้มีการทบทวนกฎหมายต่างๆ ที่ออกโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)

                โดยมีสาระสำคัญตามเอกสารว่า ตามที่รัฐธรรมนูญได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 6 เม.ย.60 และได้มีการจัดการเลือกตั้งทั่วไป เมื่อวันที่ 24 มี.ค.62 เป็นผลให้มีรัฐสภาและรัฐบาลบริหารประเทศที่มาจากการเลือกตั้ง โดยเมื่อมีการจัดตั้ง ครม.แล้ว จะมีผลให้ คสช.พ้นจากตำแหน่งตามนัย มาตรา 265 ของรัฐธรรมนูญ

        เนื่องจากตลอดระยะเวลาที่ คสช.ใช้อำนาจในฐานะรัฏฐาธิปัตย์เป็นระยะเวลากว่า 5 ปีที่ผ่านมา ประเทศของเรามีปัญหาสถานการณ์ความมั่นคงที่กระทบต่อสังคมและเศรษฐกิจ จึงมีการออกประกาศ คำสั่งต่างๆ เพื่อใช้ในการควบคุม บริหารสถานการณ์ของประเทศในห้วงเวลานั้น

        แต่ในบางช่วงเวลาที่มีการประกาศหรือออกคำสั่งต่างๆ ขึ้น มีความเร่งด่วนฉุกเฉิน ทำให้ประกาศ คำสั่งบางฉบับขาดการพิจารณาอย่างรอบคอบเพียงพอ ทำให้มีผลกระทบต่อประชาชน

                 ประกอบกับในช่วงเวลาที่ผ่านมา ที่มีสภานิติบัญญัติแห่งชาติทำหน้าที่แทนสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ได้มีการบัญญัติกฎหมายจำนวนมาก แต่สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติมิได้เป็นผู้แทนราษฎร จึงไม่อาจเข้าใจสภาพปัญหาของสังคมและประชาชนได้เท่ากับ ส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้ง กฎหมายเหล่านั้นจึงอาจมีความไม่เหมาะสมและอาจมีผลกระทบต่อสภาพสังคมและเศรษฐกิจโดยไม่สมควร

        บัดนี้ รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มีผลบังคับใช้แล้ว และมี ส.ส.และ ส.ว.มาทำหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญแล้ว สมควรที่จะมีการยกเลิก ปรับปรุง แก้ไข บรรดาประกาศ คำสั่งต่างๆ ของคณะปฏิวัติในอดีตและของ คสช. เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ สังคมและการเมืองที่เปลี่ยนแปลงไป จึงสมควรมีการพิจารณาถึงผลกรระทบของประกาศ คำสั่งต่างๆ ดังกล่าว รวมทั้งบรรดากฎหมายที่ออกใช้บังคับโดยผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เพื่อหาแนวทางแก้ไขเพื่อประโยชน์ของประชาชนต่อไป

        อนึ่ง บรรดาประกาศ คำสั่งของ คสช. และกฎหมายที่ผ่านมา การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาตินั้น มีประเด็นว่าด้วยการใช้อำนาจของคณะรัฐประหาร ซึ่งไม่มีระบบตรวจสอบและขัดกับหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข สมควรพิจารณาหาแนวทางยกเลิกผลจากการใช้ทางนิติบัญญัติ เพื่อเป็นแนวทางที่จะใช้ในอนาคตต่อไปด้วย

        ดังนั้นจึงขอเสนอญัตติด่วนดังกล่าวมาเพื่อให้ที่ประชุมพิจารณาตั้ง กมธ.พิจารณาศึกษาในเรื่องผลกระทบและหาแนวทางแก้ไข ผลจากประกาศ คำสั่งคณะปฏิวัติคณะต่างๆ ประกาศและคำสั่งของ คสช. คำสั่งของหัวหน้า คสช. และศึกษาผลกระทบและความเหมาะสมของกฎหมายที่บัญญัติโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เพื่อหาแนวทางปรับแก้ให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญและสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ที่เปลี่ยนแปลงไป

        จากนี้ต่อไปคอยลุ้นว่าทั้ง 2 ญัตตินี้จะได้พิจารณาในที่ประชุมใหญ่สภาฯ เมื่อใด แว่วๆ ว่าพรรคพลังประชารัฐสั่งให้ ส.ส.ในสังกัดลุยขึ้นอภิปรายทุกเรื่องทุกวาระ เพื่อยื้อเวลาให้ได้มากที่สุด.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"