ผมอ่านเจอคำให้สัมภาษณ์คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ใน "ไทยโพสต์" วันอาทิตย์ก่อนโน้น ตอนหนึ่งท่านบอกว่า
"ผมเป็นห่วงว่าช่องว่างระหว่างรุ่น ช่องว่างระหว่างขั้วการเมืองดูจะไม่ลดลง และยังมีแนวโน้มที่จะถูกปลุก ถูกจุดให้มากขึ้น ความรุนแรงมากขึ้นอยู่ตลอดเวลา มีความรู้สึกว่าความคาดหวังของคนรุ่นใหม่ การมองการเมืองของเขากับคนอีกรุ่นหนึ่งดูจะแตกต่างกันมาก จนบางทีต้องบอกว่าแทบจะไปถึงจุดที่จะสื่อสารกันไม่รู้เรื่อง การพยายามแบ่งขั้วทางการเมืองโดยการเอาความเกลียดโยนใส่กันก็ยังไม่หยุด ทั้งจากฝ่ายอนุรักษนิยมและฝ่ายที่อ้างว่าต้องเรียกร้องประชาธิปไตย..."
เป็นวันเดียวกันกับที่ผมอ่านหนังสือเรื่อง การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ของโลกที่ทุกอย่างกำลังเปลี่ยนไปจากเดิมอย่างชนิดที่เราจะจำไม่ได้ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า
การตามให้ทันกับ "ความป่วน" อันเกิดจากเทคโนโลยีนั้น จะนำมาซึ่งการยกเครื่องระบบการศึกษาทุกระดับอย่างมีนัยสำคัญ
ทำให้ผมถามตัวเองว่า "ความขัดแย้งทางความคิดอ่านทางการเมือง" ของคนไทยที่ลากยาวมาสิบกว่าปีนั้นจะปรับเปลี่ยนอย่างไร หากเราก้าวเข้าสู่ความท้าทายของปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งใหม่ที่ทั้งรุนแรงและหนักหน่วง
เป็นคำถามที่คนไทยทุกภาคส่วนต้องช่วยกันหาคำตอบก่อนที่จะสายเกินไป
เพราะความขัดแย้งของคนไทยที่เราเห็นอยู่วันนี้ เป็นกรอบคิดแบบเก่าที่ยังหมกมุ่นอยู่กับเรื่องผลประโยชน์ทางการเมืองและวิธีคิดแบบเดิม ขณะที่โลกกำลังขับเคลื่อนไปอีกเส้นทางหนึ่งแล้ว
เราพูดถึงความขัดแย้งแบบเดิมๆ ในรูปแบบของ analog แต่โลกกำลังแสวงหาโอกาสในโลก digital ที่มีความแปลกใหม่ในทุกๆ ด้าน
โลกกำลังพูดถึง
อินเตอร์เน็ตแห่งสรรพสิ่ง Internet of Things (IoT)
เทคโนโลยีความจริงเสมือน Virtual Reality
เทคโนโลยีโลกเสมือนผสานโลกความจริง Mixed Reality
ปัญญาประดิษฐ์ Artificial Intelligence
และล่าสุด Quantum Computing ที่จะมีกำลังการประเมินผลสูงกว่า Super Computer ปัจจุบันที่มีอยู่เป็นพันๆ หมื่นๆ เท่า
เรากำลังพูดถึงการล่มสลายของระบบมหาวิทยาลัยแบบดั้งเดิม ทดแทนโดยมหาวิทยาลัยไซเบอร์ ซึ่งในประเทศไทยก็เริ่มเห็นสิ่งที่เรียกว่า Thailand Cyber University (TCU) ของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) แล้ว
ภายใต้แนวคิดนี้จะมีการสร้างระบบเรียนรู้ทางไกลผ่านระบบเครือข่ายสารสนเทศหรือ e-learning ให้ทุกคนเรียนได้ตลอดเวลาและทุกสถานที่ที่เรียกว่า Everyone can learn, anywhere, anytime
นั่นคือการเรียนรู้ตลอดชีวิต
หากเราเข้าสู่โหมดการเรียนรู้ตลอดชีวิต เราจะสามารถปรับให้สังคมไทยเรียนรู้ซึ่งกันและกันเพื่อลดความขัดแย้ง หันมาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นผ่านเทคโนโลยีที่เอื้อต่อการเรียนรู้มากขึ้นกว่าเดิมหลายร้อยเท่าได้หรือไม่
นั่นเป็นคำถามของผมขณะที่มองไปรอบด้านเพื่อหาหนทางที่จะแก้ปัญหาที่ทำให้ประเทศไทยยังล้าหลังอยู่ทุกวันนี้
เทคโนโลยีใหม่ๆ เหล่านี้จะทำให้การเรียนรู้ของคนรุ่นใหม่มีความก้าวหน้าพัฒนาอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน
เราจะเห็นความเปลี่ยนแปลงในสิ่งแวดล้อมในห้องเรียน ตำราเรียนที่เป็นกระดาษจะหายไป การเรียนจะใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์แบบโมบายล์มากขึ้น จนทุกอย่างจะเป็นอุปกรณ์พกพาเคลื่อนที่ได้
การเรียนผ่านระบบการเรียนออนไลน์ฟรีด้วยหลักสูตรที่มีอาจารย์ที่เก่งที่สุดของโลกมาสอนวิชาที่ยังไม่มีวันนี้ แต่คาดว่าจะสำคัญในอนาคต
เขาเรียกระบบนี้ว่า Massive Open Online Courses หรือ MOOC ซึ่งหลายมหาวิทยาลัยเริ่มทำบ้างแล้ว แต่ยังทำแบบ "ค่อยเป็นค่อยไป" ซึ่งไม่อาจจะตามทันความเปลี่ยนแปลงของโลกได้
หรือที่เรียกว่า "คลังทรัพยากรการศึกษาแบบเปิด" Open Education Resources (OER) ซึ่งเสนอคลิปวิดีโอการบรรยายโดยผู้เชี่ยวชาญระดับสากลที่มีความเก่งกาจในแต่ละด้านโดยไม่มีข้อจำกัด
คนสอนไม่จำเป็นต้องเป็นศาสตราจารย์ ไม่จำเป็นต้องเป็นดอกเตอร์ แต่หากมีประสบการณ์ของความเป็นเลิศด้านใดด้านหนึ่ง เขาและเธอก็คือ "อาจารย์ออนไลน์" ของคนทั้งโลก
ผมมองเห็นความล้าหลังในรูปแบบความขัดแย้งที่เกิดจากความคับแคบทางความคิดและการฟังและรับรู้แต่เพียงข้อมูลที่ตนอยากเชื่อและที่สนับสนุนความเชื่อเดิมๆ กับการก้าวกระโดดของการเรียนรู้ระดับโลกแล้ว...ก็เกิดคำถามว่า
แล้วเราจะรอดได้อย่างไร?
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |