จ่อเชือด‘เสรีพิศุทธ์-ไก่’ มติโดเรมอนตั้ง8กุนซือ


เพิ่มเพื่อน    

  "บิ๊กตู่-บิ๊กป้อม" ไม่ไปชี้แจง กมธ.ป.ป.ช.รอบ 4 มอบตัวแทนเช่นเดิม "ประวิตร" ข้องใจ "เสรีพิศุทธ์" ตั้ง "วัฒนา" ล่วงหน้า 2 วันได้ด้วยเหรอ "สิระ" ลั่น "เสรีฯ-เสี่ยไก่" ต้องมีคนทำผิดแน่ "อดีตผู้ว่าฯ สตง.-พีระพันธุ์" งงชื่อโผล่นั่งที่ปรึกษา ปธ.กมธ.ป.ป.ช. พร้อมใจปฏิเสธร่วมงาน "ชวน" แปลกใจฝ่ายค้านมีปัญหาระเบียบสภาฯ ระบุสภาชุดก่อนก็ใช้อยู่ กรีด "วันนอร์" ปูดปิดห้องซื้องูเห่าในสภา บอกสัตว์ทุกชนิดต้องระวังเพราะเป็นพิษภัย "ปธ.วิปฝ่ายค้าน" ทำใจญัตติตั้ง กมธ.ศึกษาแก้ไข รธน.ไม่ทันสัปดาห์นี้ เตรียมยื่นโหวตเลื่อนญัตติอีกรอบ ลุ้นสัปดาห์หน้าแทรกเข้าพิจารณา

    เมื่อวันที่ 19 พ.ย. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ปฏิเสธจะแสดงความคิดเห็นกรณีมีการแต่งตั้งนายวัฒนา เมืองสุข แกนนำพรรคเพื่อไทย (พท.) เป็นที่ปรึกษาประธานคณะกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ (กมธ.ป.ป.ช.) ที่มี พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส เป็นประธาน กมธ.ป.ป.ช. และเรื่องโควตาสัดส่วนของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญศึกษาปัญหาและแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า ตนไม่ขอตอบ เพราะเรื่องดังกล่าวเป็นการดำเนินการตามขั้นตอน 
    "เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นก็เป็นเรื่องการแก้ไข มีการตั้งคณะกรรมาธิการศึกษาฯ ผมไม่เข้าไปเกี่ยวข้อง" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
    พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณี กมธ.ป.ป.ช.เชิญไปชี้แจงครั้งที่ 4 วันที่ 20 พ.ย.นี้ว่า ได้ตอบคำถามไปหมดแล้ว ซึ่งตนจะให้ตัวแทนไปมอบให้ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ และเชื่อว่าในส่วนของ พล.อ.ประยุทธ์ ก็มอบผู้แทนไปชี้แจงเช่นเดียวกัน 
    "แม้ว่าการเชิญไปชี้แจงจะเป็นครั้งที่ 4 แล้ว ก็แล้วแต่เขา ผมก็คิดของผมแบบนี้ ส่วนจะเป็นการใช้อำนาจหน้าที่โดยไม่ชอบหรือไม่นั้น ไม่รู้ เรื่องนี้ต้องให้ฝ่ายกฎหมายดู อย่างไรก็ตาม ไม่ได้รู้สึกว่าถูกกลั่นแกล้ง เขาอยากทำอะไรก็ทำหากมีอำนาจ ซึ่งผมก็มีอำนาจของผมเช่นเดียวกัน" พล.อ.ประวิตรกล่าว
    ถามถึงการแต่งตั้งนายวัฒนาเป็นที่ปรึกษาประธาน กมธ.ป.ป.ช. พล.อ.ประวิตรย้อนถามพร้อมอมยิ้มว่า “ตั้งได้เหรอ วันนี้ (19 พ.ย.) แต่หนังสือดังกล่าวจะลงวันที่ 20 พ.ย."
    พอถามว่ามองเรื่องนี้อย่างไร พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า “มันถูกหรือ ไม่ถูกหรอก”
    ที่ทำเนียบรัฐบาล ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เวลา 09.45 น. นายสิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม. พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) และกรรมการ กมธ.ป.ป.ช. ได้เดินทางมาตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งกำลังมีการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อยู่ โดยปฏิเสธที่จะตอบคำถามว่ามาพบกับใคร นอกจากนี้ ในเวลาไล่เลี่ยกัน น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี พรรค พปชร. ซึ่งเป็น กมธ.ชุดดังกล่าวด้วย ก็ได้เดินทางมาที่ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบฯ เช่นกัน
    นายสิระกล่าวถึงคำสั่งแต่งตั้งนายวัฒนาเป็นที่ปรึกษาประธาน กมธ.ป.ป.ช. ลงวันที่ 20 พ.ย.62 แต่นายวัฒนาโพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัววันที่ 18 พ.ย. ล่วงหน้า 2 วันว่า หาก พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์เซ็นเอกสารจริง จะต้องเป็นคนรับผิดชอบ หากบอกว่าไม่ได้เซ็นก่อนที่จะมีมติของ กมธ. ตัว พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ก็ต้องรับผิดชอบเองเช่นกัน อาจจะเข้าข่ายความผิดประพฤติมิชอบ ส่วนนายวัฒนาก็อาจจะมีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทําความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2560 ที่เอาข้อมูลเป็นเท็จมาโพสต์ลงเฟซบุ๊ก 
    "คิดว่าเรื่องนี้จะมีคนใดคนหนึ่งกระทำความผิด นอกจากนี้ผมยังเห็นว่านายวัฒนาไม่เหมาะสมที่จะนั่งที่ปรึกษาประธาน กมธ. เพราะเคยถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในคดีทุจริตโครงการบ้านเอื้ออาทร" นายสิระกล่าว
    ถามว่า ก่อนหน้านี้ทาง กมธ.ได้ทราบและระแคะระคายเรื่องนี้หรือไม่ กรรมการ กมธ.ป.ป.ช.ผู้นี้กล่าวว่า ที่ผ่านมาไม่ทราบว่ามีการแต่งตั้งนายวัฒนาเป็นที่ปรึกษาเลย ตนเห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ เพราะส่งผลต่อความเชื่อมั่นของ กมธ.ที่ทำหน้าที่ปราบปรามการทุจริต และยังกระทบถึงการทำหน้าที่ของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งไม่ใช่ว่าใครจะคิดทำอะไรก็ได้ เพราะมีกฎหมายและข้อบังคับ หากฝ่ายนิติบัญญัติไม่เคารพกฎหมาย ถือว่าเป็นความผิดรุนแรงมาก ตอนนี้กำลังเก็บรวบรวมหลักฐานในเรื่องนี้อยู่
    นายสิระกล่าวว่า วันที่ 19 พ.ย. ตนจะไปฟ้องศาลเพื่อเอาผิดพล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ข้อหาหมิ่นประมาท ขณะเดียวกันจะขอให้ กมธ.ใช้ดุลยพินิจตัดสินว่า พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์เหมาะสมที่จะเป็นประธาน กมธ.หรือไม่ ซึ่งยืนยันสามารถเอา พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์พ้นจากตำแหน่งได้ เพียงแต่ตัวประธาน กมธ.ยังต้องยึดโควตาฝ่ายค้านอยู่
    ขณะที่นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส อดีตผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ซึ่งมีรายชื่อในประกาศที่นายวัฒนาอ้างถึงได้รับแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษาประธาน กมธ.ป.ป.ช.ด้วยว่า ไม่รู้มาก่อนว่า พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ตั้งนั่งที่ปรึกษาประธาน กมธ. เพิ่งทราบจากข่าวเอกสารที่นายวัฒนาโพสต์มติล่วงหน้า
    “ยืนยันไม่เคยได้รับทาบทามหรือคุยกับ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์มาก่อน ขอเดินหน้าทำงานในฐานะภาคประชาชน” อดีตผู้ว่าการการตรวจเงินแผ่นดินกล่าว
    เช่นเดียวกับ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ และเป็น 1 ใน 8 รายชื่อที่ปรึกษาประธาน กมธ.ป.ป.ช. กล่าวว่า ตนขอบอกตรงนี้เลยว่าไม่ทราบจริงๆ แต่คงเกิดจากความเข้าใจผิดหรือความสับสนอะไรสักอย่าง ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการจะถูกเสนอชื่อโดยผู้ที่เป็นกรรมาธิการจากพรรคการเมืองต่างๆ ในคณะกรรมาธิการฯ และแต่งตั้งโดยมติคณะกรรมาธิการฯ แต่ที่ปรึกษาประธานคณะกรรมาธิการ เป็นสิทธิส่วนตัวของผู้เป็นประธานที่จะแต่งตั้ง โดยไม่ต้องมีมติคณะกรรมาธิการฯ เพราะเป็นที่ปรึกษาส่วนตัวของประธาน มิใช่ที่ปรึกษาของคณะกรรมาธิการฯ และคงไม่ต้องมีประกาศของคณะกรรมาธิการฯ ในเรื่องนี้ เพราะเป็นเรื่องส่วนตัวของผู้เป็นประธานไม่ใช่เรื่องของคณะกรรมาธิการฯ 
    นายพีระพันธุ์กล่าวว่า น้องๆ ส.ส.ที่เป็นกรรมาธิการ ป.ป.ช. ในสัดส่วนของพรรคประชาธิปัตย์บอกตนมานานแล้วตั้งแต่มีการตั้งคณะกรรมาธิการฯ แรกๆ ว่าจะเสนอชื่อเป็นที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการ เพราะเห็นว่าเคยเป็นประธานคณะกรรมาธิการฯ คณะนี้มาก่อน น่าจะช่วยเป็นที่ปรึกษาให้น้องๆ ได้ ตนก็ไม่ขัดข้องแต่ก็หายเงียบไปจนลืมไปแล้ว 
    "เมื่อไม่นานมานี้น้องๆ มาบอกว่าเสนอชื่อผมเป็นที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการแล้ว แต่จู่ๆ กลับมีประกาศคณะกรรมาธิการ ป.ป.ช. ลงวันที่ล่วงหน้า คือวันที่ 20 พ.ย.2562 ว่าประธานแต่งตั้งผมเป็นที่ปรึกษาประธานคณะกรรมาธิการ ซึ่งไม่ใช่ตามที่ผมได้รับทราบมา และยังกำหนดห้ามมิให้ที่ปรึกษาประธานนี้ทำหน้าที่สอบหาข้อเท็จจริงอีกต่างหาก แล้วจะให้ผมทำอะไร ในเมื่องานถนัดของผมคือการสอบหาข้อเท็จจริง เมื่อเป็นเช่นนี้ ผมคงต้องขออภัยด้วย ผมรับงานนี้ไม่ได้ครับ" นายพีระพันธุ์กล่าว
    ที่รัฐสภา นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงกรณีฝ่ายค้านออกมาระบุการออกระเบียบให้คณะกรรมาธิการ(กมธ.) สามัญปฏิบัติในช่วงที่คณะกรรมาธิการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร เชิญ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม มาชี้แจง เหมือนเป็นการเอื้อให้ พล.อ.ประยุทธ์ ว่าระเบียบออกมาตามข้อบังคับการประชุมสภา ซึ่งมีระเบียบทำนองเดียวกันตั้งแต่สภาชุดก่อนๆ เพียงแต่ข้อปฏิบัติเปลี่ยนไป แต่เนื้อความเหมือนกันคือกรรมาธิการต้องรายงานประธานสภาฯ
    “ไม่ได้มีอะไรแปลกไป เพียงแต่แปลกใจว่าทำไมถึงมีปัญหา เพราะสภาชุดก่อนตั้งแต่ปี 2552 เขาก็เป็นอย่างนี้ ไม่เห็นมีใครบ่น และการออกประกาศครั้งนี้ไม่ได้เกี่ยวกับ พล.อ.ประยุทธ์ เขาคิดไปเองตามความรู้สึก ประเภทที่คิดว่าคนอื่นจะคิดอย่างเขา แต่ประธานไม่ได้คิดอย่างนั้น เราทำตามหน้าที่และตามข้อบังคับ และเรื่องนี้ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ เพียงแต่คนอาจจะลืมไปอ่านระเบียบเดิม สมัยที่พวกเขาเป็นรัฐบาลและประธานสภาฯ ถ้าอ่านก็จะรู้ว่าของเดิมเป็นอย่างนี้ ระเบียบเป็นอย่างนี้ ประธานก็ต้องลงนาม และกรรมาธิการแต่ละชุดก็จะรายงานโดยผ่านเลขาธิการ” นายชวนกล่าว
    ถามถึงกรณีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคประชาชาติ ระบุถึงการปิดห้องซื้องูเห่าในสภา นายชวนกล่าวว่า ตนไม่เคยได้ยินข่าวนี้ สัตว์ทุกชนิดก็ต้องระวังไม่ให้เข้ามา เพราะจะเป็นพิษเป็นภัย
    ซักว่าข่าวนี้จะทำให้ภาพพจน์ของสภาเสียหายหรือไม่ ประธานสภาฯ กล่าวว่า ไม่อยากออกความเห็นในสิ่งที่สมมุติขึ้นมา เดี๋ยวจะมีปัญหากระทบกัน คงต้องไปถามนายวันมูหะมัดนอร์
    นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม ในฐานะแกนนำพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กล่าวถึงเรื่องเปิดห้องซื้องูเห่ากลางสภาว่า ตนไม่เห็นข่าวดังกล่าว และข้อเท็จจริงเป็นอย่างไรก็ไม่รู้
    นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม ในฐานะแกนนำพรรค พปชร. ก็กล่าวว่า  ไม่มี ไม่เห็น เรื่องงูเห่ามีการพูดกันมาเป็นข่าวตั้งแต่ช่วงต้นรัฐบาล แต่ส่วนตัวไม่รู้ในรายละเอียดว่าเป็นอย่างไร ถ้าสื่ออยากรู้จะไปตรวจสอบให้ และที่ผ่านมาไม่เคยมีใครมาปรึกษาเรื่องการซื้องูเห่า ตนไม่อยู่ในข่ายไปรับผิดชอบพูดคุยเรื่องดังกล่าวเลย อาจจะมีหรือไม่มีที่พูดคุยกันตรงนี้ แต่ช่วงนี้ตนยืนยันว่าไม่น่าจะเป็นความจริง
    "ผมยังไม่รู้ว่าฝ่ายค้านจะอภิปรายใครบ้าง แล้วใครจะเป็นคนไปซื้อ ผมว่าเป็นบทของสภาที่จะมีการพูดคุยเรื่องนี้ทุกครั้งก่อนอภิปรายไม่ไว้วางใจว่าคนนั้นจะต้องไปวิ่งเต้น เอาเสียงจากพรรคโน้นพรรคนี้ พูดกันมาเช่นนี้โดยตลอด เหมือนเป็นการเรียกเรตติ้งในการประชุม เป็นบทที่ทุกคนช่วยกันสร้าง แต่วันนี้ยังไม่รู้ว่าจะอภิปรายใคร มีการตีโพยตีพายกันไปทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้าน จึงคิดว่ายังไม่ถึงเวลา" นายสมศักดิ์กล่าว
    ถามว่าภาพรวมการอภิปรายเป็นเรื่องน่ากังวลหรือไม่ นายสมศักดิ์กล่าวว่า การอภิปรายแต่ละครั้งก็เห็นนายกฯ ชี้แจงได้หมด คงไม่เหนื่อยเท่าไหร่ 
    วันเดียวกัน นายชวน หลีกภัย ประธานสภาฯ ยังกล่าวถึงกำหนดการตั้งกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า สัปดาห์นี้มีวาระแต่งตั้งเพื่อทราบจำนวน 5 เรื่อง ก็ต้องเอาให้จบ คาดว่าน่าจะเสร็จในสัปดาห์นี้ และยังมีเรื่องที่คณะ กมธ.พิจารณาเสร็จแล้วอีกหนึ่งเรื่องคือ คณะ กมธ.วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการควบคุมการใช้สารเคมีในภาคเกษตรกรรม สภาผู้แทนราษฎร ส่วนวาระเพื่อทราบจะไม่มีการบรรจุเข้ามาใหม่
    "ก็มีความเห็นของสมาชิกแตกต่างกันอยู่ บางคนสนใจในเรื่องของวาระเพื่อทราบ แต่บางคนก็บอกว่าเบื่อที่จะฟังแล้ว ผมจะเรียกมาพูดคุยว่าต้องเป็นไปตามกฎหมาย ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ แต่บางคนมาหาว่าเขาอยากอภิปรายเรื่องเพื่อทราบ" ประธานสภาฯ กล่าว
    นพ.สุกิจ อัถโถปกรณ์ ที่ปรึกษาประธานสภาฯ กล่าวว่า ในการประชุมสภานัดพิเศษวันที่ 22 พ.ย. เป็นเฉพาะการพิจารณาญัตติทั่วไปที่ค้างอยู่เท่านั้น โดยไม่มีการพิจารณาญัตติที่เกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด
    ที่พรรคเพื่อไทย (พท.) มีการประชุมร่วมกันของคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) ทั้ง 7 พรรค โดยมีตัวแทนแต่ละพรรคเข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง เพื่อพิจารณาวาระการประชุมสภาฯ โดยเฉพาะญัตติตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 2560 และญัตติเสนอตั้งกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาผลกระทบจากมาตรา 44 ของ คสช.
    นายสุทิน คลังแสง ประธานวิปฝ่ายค้าน แถลงผลประชุมร่วมกับวิปฝ่ายค้านว่า จากข้อตกลงสัปดาห์ที่แล้วเราเสนอให้มีการปรับเปลี่ยนวาระญัตติตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 2560 ให้พิจารณาในสัปดาห์นี้ แต่คงไม่ได้เป็นตามนั้น เพราะมีวาระเพื่อทราบจากสัปดาห์ที่แล้วยังพิจารณาไม่จบเข้ามาเบียดญัตติตั้ง กมธ.วิสามัญเรื่องรัฐธรรมนูญ และวาระพิจารณาผลกระทบจากคำสั่ง คสช. และมาตรา 44 รวมทั้งมีวาระพิจารณาเรื่องสารพิษ วาระ พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาและคุ้มครองสถาบันครอบครัว พ.ศ.2562 ทำให้สัปดาห์นี้เรื่องญัตติรัฐธรรมนูญและผลกระทบจากคำสั่ง คสช.และมาตรา 44 คงยังมาไม่ถึงแน่นอน 
    "สัปดาห์หน้าจะได้พิจารณาหรือไม่ก็ยังไม่มั่นใจ จึงเหลือทางรอดทางเดียว ขอเสนอให้พิจารณา พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาและคุ้มครองสถาบันครอบครัวก่อน แล้วต่อด้วยญัตติตั้ง กมธ.วิสามัญเรื่องศึกษารัฐธรรมนูญทันที โดยได้หารือไปทางรัฐบาลแล้ว ยังไม่ได้คำตอบ คงต้องไปโหวตกันในสภา ถ้าฝ่ายเราโหวตชชนะ ก็อาจได้เรื่องรัฐธรรมนูญเข้ามาพิจารณา ถ้าไม่ชนะคงต้องเลื่อนไปอีก กรณีดังกล่าวเป็นเรื่องที่เราผิดหวัง สัปดาห์นี้ก็ลุ้น ไปสัปดาห์หน้าก็ยังต้องลุ้นต่ออีก" ประธานวิปฝ่ายค้านกล่าว
    ถามว่าเรื่องนี้เป็นแท็กติกจากฝ่ายรัฐบาลหรือไม่ ที่ทำให้เรื่องรัฐธรรมนูญต้องเลื่อนออกไป นายสุทินกล่าวว่า ประธานสภาฯ คงมีข้อจำกัด พอมองเห็นเหตุผลได้ แต่รัฐบาลเมื่อดูเจตนาน่าจะยื้อเรื่องนี้ เพราะเมื่อเราขอเลื่อนเอาญัตติรัฐธรรมนูญขึ้นมาก็ไม่ค่อยให้ความร่วมมือ รมต.สำนักนายกฯ ที่เปิดเผยชื่อคนที่ทาบทามมาเป็นกรรมาธิการฯ ก็เห็นว่าเรื่องนี้ชักไม่ค่อยราบรื่น เมื่อมองประกอบกับวาระแล้วเราจึงไม่ค่อยไว้วางใจนัก  
    ส่วน น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ เลขาธิการพรรค พท. กล่าวถึง คณะกรรมาธิการศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในสัดส่วนโควตาของพรรคว่า คณะกรรมการยุทธศาสตร์ได้พูดคุยเตรียมการจัดสรรรายชื่อบุคลากรที่เหมาะสมเตรียมเสนอให้ที่ประชุมฝ่ายบริหารได้พิจารณา สำหรับตำแหน่งประธานกรรมาธิการฯ พรรคจะส่งคนแข่งหรือไม่ ต้องรอให้สภาอนุมัติแต่งตั้งกรรมาธิการให้แล้วเสร็จก่อน.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"